ครอบครัว ไม่ได้สวยงามตามที่หลายคนวาดฝันเสมอไป แต่มีปัญหาความรุนแรงภายใน ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างมหาศาล มักถูกมองข้าม จากความเคยชิน หวาดกลัว และเกรงใจ

ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นถูกมองข้ามมาอย่างยาวนาน กลับมามีบทบาทในสังคมอีกครั้ง หลังจาก บริทนีย์ สเปียร์ ศิลปินชื่อดังชาวอเมริกัน เปิดเผยว่า เธอได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อยุติการพิทักษ์สิทธิควบคุมชีวิตส่วนตัวและทรัพย์สินของเธอจากบิดา จนเกิดกระแส #FreeBritney เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่เธอ เป็นเวลายาวนานกว่า 13 ปี จนในที่สุดก็สามารถชนะคดีนี้ได้สำเร็จ และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว

เราจะพาไปไขข้อสงสัยและตีแผ่เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวไทย สืบค้นปัญหา สาเหตุ และผลกระทบที่หลายคนมองข้าม พร้อมความคิดเห็นจาก คุณธันวา ชาวสวน กรรมการและทนายความ บริษัท สำนักกฎหมาย พับลิคแอนเทอร์นี จำกัด

ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาที่สร้างมากกว่าบาดแผล

ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่หลายคนมักมองข้ามว่าเป็นเพียงแค่การมีปากเสียงกันในครอบครัวปกติเท่านั้น โดยหารู้ไม่ว่าปัญหาเหล่านั้น เต็มไปด้วยการกระทำที่ไม่พึงประสงค์ ดั่งสุภาษิตที่ว่า รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ซึ่งสะท้อนถึงการปลูกฝังค่านิยมการเลี้ยงลูกด้วยการบังคับและใช้กำลังในการข่มเหงทั้งด้านร่างกายและยังรวมถึงด้านจิตใจ

ผลการสำรวจความรุนแรงในครอบครัวช่วงเดือนตุลาคม 2562-เมษายน 2563 จากเว็บไซต์กรมสุขภาพจิต ระบุว่า มีเพียง 17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่กล้าจะออกมาเปิดเผยและขอความช่วยเหลือ โดย 87 เปอร์เซ็นต์ เป็นความรุนแรงทางร่างกาย 9 เปอร์เซ็นต์ เป็นความรุนแรงทางเพศ และ 4 เปอร์เซ็นต์ เป็นความรุนแรงทางจิตใจ นอกจากนี้การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้อัตราการเกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้นถึง 68 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกิดจากอาการเครียดสะสม โดยมีเหยื่อหลักคือเด็กและสตรี

หลากหลายความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว

ประเภทของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว แบ่งออกมาได้หลากหลายรูปแบบ จากบทความวิจัย 3 เรื่องที่เราได้ศึกษาค้นคว้า อธิบายไว้ดังนี้

กรมสุขภาพจิต จัดแบ่งความรุนแรงไว้ 3 ประเภท ดังนี้

1.ความรุนแรงทางร่างกาย คือมีการทำร้ายร่างกายอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นทุบตี รวมไปถึงใช้อาวุธทำร้ายร่างกาย โดยเกิดจากความเครียดหรือได้รับปัญหามา จนมาระบายกับคนในครอบครัว

2.ความรุนแรงทางเพศ เกิดจากการใช้ความรุนแรงและการบีบบังคับ ทั้งทางร่างกาย อารมณ์หรือจิตใจ ต่อทั้งทุกเพศทุกวัย โดยใช้อำนาจความสัมพันธ์ที่เหนือกว่า

3.ความรุนแรงทางจิตใจ เกิดจากการทำร้ายทางจิตใจหรือถูกบังคับก็ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งทำให้คนนั้นรู้สึกอับอายและด้อยค่า

ดร.อภันตรี สาขากร นักจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลมนารมย์ เขียนบทความลงเว็บไซต์ของโรงพยาบาลมนารมย์ ซึ่งแบ่งประเภทความรุนแรงไว้ 3 ประเภท ประกอบด้วย

1.ความรุนแรงระหว่างคู่สมรส คู่สมรสเดิม ผู้ที่อยู่กินหรือเคยอยู่กินฉันสามีภรรยา (Intimate Partner Violence and Abuse) คือมีการทำร้ายร่างกายหรือแม้กระทั้งจิตใจของบุคคลภายในครอบครัว โดยสามารถเกิดได้ทั้งคู่สมรส คู่สมรสเดิม หรือผู้ที่เคยอยู่กินฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็ได้เช่นกัน

2.ความรุนแรงต่อเด็ก (Child Abuse) มักจะเกิดจากพ่อแม่ที่มีความเครียดสูง รวมไปถึงไม่รู้จักวิธีจัดการดูแลเด็กที่ถูกต้อง

3.ความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ (Elder Abuse) สามารถเกิดได้ไม่ว่าเราตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม โดยทำให้ผู้สูงอายุเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงการเอาเปรียบทางการเงินและทรัพย์สิน การทำร้ายทางเพศ หรือแม้กระทั่งการทอดทิ้งก็เป็นส่วนหนึ่งเช่นเดียวกัน

งานวิจัยของ ธีระญา ปราบปราม หลักสูตรนิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี กล่าวถึงความรุนแรงในครอบครัว สิทธิส่วนตัว สิทธิที่รัฐต้องเหลียวแล ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อใหญ่ (โดยจะเน้นเกี่ยวกับสิทธิสตรี)

1.ความรุนแรงต่อสตรี เกิดจากความอคติทางเพศ ซึ่งเป็นผลให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่สตรี รวมทั้งการขู่เข็ญ คุกคาม กีดกันเสรีภาพทั้งในที่สาธารณะและในชีวิตส่วนตัว

2.ความรุนแรงต่อคู่สมรส เป็นการทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การทะเลาะวิวาท โต้เถียง หรือไปจนถึงการใช้อาวุธ ซึ่งทำลายถึงแก่ชีวิต

ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย

การทำร้ายร่างกายคนในครอบครัว กรณีสามีทำร้ายภรรยา ด่าทอทำร้ายจิตใจลูก บางครั้งถึงขั้นใช้อาวุธ จากบทสัมภาษณ์ที่เราได้ค้นคว้าของเด็กหญิงรายหนึ่ง เธอได้เล่าด้วยน้ำเสียงขุ่นเคืองใจ ถึงบิดาของเธอ ที่มีอารมณ์รุนแรงเป็นอย่างมาก ห้ามคนในครอบครัวขัดใจหรือว่าโต้แย้ง ถ้าขัดใจเขาจะมีอารมณ์รุนแรงทันที ด่าทอภรรยา ด่าทอลูก และทำร้ายภรรยาอยู่เสมอ บางครั้งถึงขั้นใช้อาวุธในการบันดาลโทสะ อีกทั้งถ้าลูกเข้ามาห้ามปรามก็จะมีโอกาสโดนทำร้ายร่างกายด้วยเช่นกัน

ขณะที่ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เด็กหญิงรายที่สอง เธอได้กล่าวว่า เธอจะเห็นน้องถูกทุบตีอยู่เสมอ (น้องต่างบิดา คนที่ทำร้ายน้องถือเป็นบิดาโดยสายเลือด) บางครั้งรุนแรงถึงขั้นที่แผ่นหลังของน้องเป็นรอยมือของผู้เป็นพ่อ ทั้งที่เรื่องที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ต้องถึงขั้นลงไม้ลงมือ แต่ผู้เป็นพ่อกลับเลือกทางนี้ในการลงโทษบุตรของตนเอง ผู้เป็นพี่สาวได้กล่าวอีกว่า รู้ว่าพ่อทำไปเพราะน้องอาจจะดื้อ แต่บางครั้งการกระทำแบบนี้ก็ถือว่าเกิดกว่าเหตุ ถ้าเป็นไปได้อยากให้ตักเตือนโดยใช้เหตุผลมากกว่า

จุดเริ่มต้นมาตรา 1562

เรื่องครอบครัวในสังคมจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทำให้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว มักเรียกกันว่า คดีอุทลุม เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองกับผู้ปกครอง และเน้นย้ำถึงศีลธรรมอันดีที่ผู้น้อยหรือเด็กจะต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่

กฎหมายมาตรานี้มีจุดเริ่มต้นมาจาก คดีอุทลุม (อ่านว่า อุด-ทะ-ลุม) ที่เป็นศัพท์กฎหมายไทย อุทลุม เป็นคำวิเศษณ์ หมายความว่า ผิดประเพณี, ผิดธรรมะ, นอกแบบ, นอกทาง

คำว่า “อุทลุม” ใช้เรียกบุคคลและสิ่งต่าง ๆ ที่มีลักษณะดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่กระทำผิดธรรมะบังอาจฟ้องร้องบุพการีผู้มีพระคุณ เรียกว่า “คนอุทลุม” และเรียกคดีในกรณีนี้ว่า “คดีอุทลุม” ดังที่ปรากฏในประชุมกฎหมายรัชกาลที่ 1 (กฎหมายตราสามดวง) พระไอยการลักษณะรับฟ้อง

“มาตรา 21 อนึ่ง ในฟ้องนั้นเป็นคนอุทลุม มิได้รู้คุณพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย อันหาความแก่พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ดี ให้ยกฟ้องเสีย มาตรา 25 ผู้ใดเป็นคนอุทลุม มิได้รู้คุณบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ตา ยาย แลมันมาฟ้องร้องให้เรียกบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยายมัน ท่านให้มีโทษทวนมันด้วยลวดหนังโดยฉกรรจ์ อย่าให้มันคนร้ายนั้นดูเยี่ยงอย่างกันต่อไป แล้วอย่าให้บังคับบัญชาว่ากล่าวคดีของมันนั้นเลย”

การที่จะถูกเรียกว่าคดีอุทลุมได้นั้นก็ต่อเมื่อ ลูกหลานที่มีสายเลือดโดยแท้จริงเท่านั้นที่จะฟ้องร้องเอาผิดต่อบุพการีของตน ถึงแม้จะเป็นการเซ็นรับรองบุตรแต่ไม่ใช่สายเลือดโดยแท้จริงถ้าจะฟ้องร้องพ่อแม่บุญธรรมก็ไม่ถือว่าเป็นคดีอุทลุม ต่อมาได้กลายมาเป็นมาตรา 1562 ตามที่ได้บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้”

เวลาที่พูดถึงกฎหมายมาตรานี้นักกฎหมายจะทราบกันดีว่ามาตรานี้มีชื่อเรียกอีกหนึ่งชื่อว่า ‘คดีอุทลุม’ ด้วยความที่ว่า คดีอุทลุมนั้นมีมาตั้งแต่อดีตและมีความเชื่อมโยงกับความกตัญญูที่ถือเป็นค่านิยมของการเลี้ยงดูบุตรในสังคมไทย

กฎหมายมาตรานี้กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังจากที่มีกระแสความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มมากขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 เด็กและประชาชนเข้าไปขอความเป็นธรรมให้มีการ #ยกเลิกมาตรา1562 ในทวิตเตอร์ เพราะความรุนแรงส่วนมากมักเกิดขึ้นจากคนในครอบครัว อีกทั้งแฮชแท็กนี้ยังเป็นอีกช่องทางที่มีผู้คนเข้าไปเล่าเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่ตนเองพบเจอ

นอกจากนี้ยังมีเด็กและเยาวชนเป็นจำนวนมาก ตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงฟ้องพ่อแม่หรือบุพการีไม่ได้พ่อแม่หรือบุพการียังฟ้องลูกได้เลย ทำไมต้องให้อัยการเป็นคนฟ้องแทน ทำไมเราไม่สามารถเป็นโจทย์เองได้ ทั้งที่ผู้ถูกกระทำคือตัวเราเอง อย่างที่เด็กหญิงรายนี้กล่าวไว้ว่า “เราไม่เห็นด้วยกับกฎหมายข้อนี้ บางคนถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงจากพ่อแม่และครอบครัว แต่เรากับสนใจแต่คำว่ากตัญญู”

แนวทางการเปลี่ยนแปลงกฎหมายมาตรา 1562

กฎหมายมาตรา 1562 ยังไม่ได้มีการยื่นเรื่องให้ยกเลิกอย่างเป็นทางการ ถึงแม้จะมีเด็กและประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาเรียกร้องหรือตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับมาตรานี้

คุณธันวา ชาวสวน กรรมการและทนายความ บริษัท สำนักกฎหมาย พับลิค แอนเทอร์นี จำกัด แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายมาตรานี้ไว้ว่า “เมื่อกาลเวลาผ่านไปกฎหมายนี้จะถูกเปลี่ยนแปลงด้วยตัวมันเอง เพราะการเลี้ยงลูกให้กตัญญูต่อพ่อแม่บิดามารดาหรือบุพการีนั้นถือเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน การที่จะถูกปรับเปลี่ยนอย่างกระทันหันนั้นดูจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากอยู่พอสมควร” อีกทั้งนักกฎหมายก็ยังเชื่อมั่นว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไป กฎหมายมาตรานี้ต้องได้รับการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยอย่างแน่นอน

สิ่งหนึ่งที่คุณธันวาได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรา 1562 คือ “การที่จะให้เด็กมาเป็นโจทย์ด้วยตนเองในคดีอุทลุมนั้นไม่ใช่เรื่องยากตามความเป็นจริง แต่ความลำบากและความเจ็บปวดทั้งด้านร่างกายและจิตใจนั้นสำคัญกว่า การที่โจทย์ต้องเป็นคนที่มาเล่าเหตุการณ์นั้นด้วยตนเองซ้ำ ๆ อาจจะยิ่งตอกย้ำในความเจ็บปวดเพราะท้ายที่สุดแล้วความรุนแรงที่เกิดในครอบครัวถือเป็นสิ่งที่สร้างความเจ็บปวดและผลร้ายไม่ควรจะหยิบยกขึ้นมาว่ากล่าวซ้ำ และกฎหมายที่ถูกพิจารณาขึ้นมาเป็นกฎหมายนั้น นักกฎหมายมีความคิดเห็นว่า กฎหมายทุกกฎหมายหรือมาตราแต่ละมาตราผ่านการคิดวิเคราะห์มาอย่างถี่ถ้วนแล้ว รวมไปถึงกรณีแต่ละกรณีต่างมีกฎหมายรองรับในเรื่องนั้นอย่างสมควร”

เมื่อ ‘ความกตัญญู’ เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกและมีอิทธิพลอย่างมากในสังคมไทย เราจะทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนไม่ต้องเกิดคำถามเกี่ยวกับกฎหมายมาตรานี้อีก เพราะถ้าสถาบันครอบครัวเข้าใจและให้ความอบอุ่นอย่างถูกต้องและเป็นธรรม มองบุตรหลานเป็นผู้เป็นที่รักอย่างแท้จริง กระแสที่ให้มีการยกเลิกกฎหมายข้อนี้จะไม่เกิดขึ้น และความรักที่บุตรหลานมีต่อบุพการีจะไม่มีวันจางลงอย่างแน่นอน

ประเด็นสำคัญที่สุดซึ่งทุกฝ่ายในสถาบันครอบครัวตระหนักคือการต้องหันหน้าเข้าหากันและกัน ช่วยกันแก้ปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผล ลูกควรเชื่อฟังพ่อแม่ในสิ่งที่เหมาะที่ควร บิดามารดาและบุพการีต้องตระหนักว่าการอบรมสั่งสอนของเรานั้นเกินกว่าเหตุหรือไม่ มีการทำร้ายร่างกายขั้นรุนแรงหรือเปล่า จำกัดสิทธิเสรีภาพของบุตรหลานด้านความคิดหรือจิตใจหรือไม่ คำพูดทำร้ายจิตใจถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยง เพราะการอบรมที่ใช้ความรุนแรงและการพูดด้วยถ้อยคำรุนแรง ไม่ได้สร้างผลดีทั้งทางตรงและทางอ้อม เราจะเห็นได้ว่ามีเด็กหรือคนในครอบอีกไม่น้อย ที่ได้รับผลกระทบจากจุดนี้เป็นจำนวนมาก เพราะท้ายที่สุดการอบรมสั่งสอนที่ดีถือเป็นสิ่งที่บุพการีควรกระทำและบุตรหลานควรปฏิบัติตาม

การมีอยู่ของกฎหมายสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยม

กรณีมาตรา 1562 ก็สะท้อนให้เห็นถึงหลายอย่างในวัฒนธรรมครอบครัวของคนไทย ที่มีความ “อำนาจนิยม” อยู่ไม่น้อย เป็นผลกระทบที่เชื่อว่าใครหลายคนคงได้เคยพบเจอกันมาบ้างในชีวิต

การปลูกฝังความ “กตัญญู” ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี การตอบแทนใครสักคนด้วยความจริงใจนับเป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่กับบางกรณี ความกตัญญูก็ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการบีบบังคับได้เช่นกัน กลายเป็นความเชื่อปลูกฝังว่าบุตรต้องยอมทำตามในสิ่งที่บุพการีต้องการ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ยุติธรรมกับตัวบุตรหรือไม่ก็ตาม เมื่อมีการขัดขืน ไม่ว่าจะเป็นทางความคิดหรือการกระทำ ก็มีส่วนนำไปสู่ความรุนแรงได้ โดยครอบครัวที่เชื่อว่า “ชีวิตลูกเป็นของพ่อแม่” หรือ “พ่อแม่ให้กำเนิดลูก มีสิทธิในตัวของลูก” ยิ่งเป็นการตอกย้ำอำนาจของผู้ปกครองให้มีมากขึ้น

การปลูกฝังรูปแบบนี้ ส่งผลให้บุตรเกิดความเคยชินกับความรุนแรงในครอบครัว มองว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่กล้าคิดที่จะขัดขืน หรือแย่ไปกว่านั้น คือไม่กล้าคิดที่จะสงสัยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความรุนแรง ยิ่งเมื่อความรุนแรงนั้นไม่ใช่ทางร่างกายโดยตรง เช่น การบังคับให้ศรัทธาในบางสิ่งบางอย่าง การบังคับเส้นทางการศึกษา การบังคับในการประกอบอาชีพ หรือการบังคับในการเลือกคู่รัก

ความเชื่อทางศาสนา เรื่องของ “บุญ” และ “บาป” เมื่อความหลากหลายในความศรัทธาของคนไทย สร้างความเชื่อว่าการคิดหรือกระทำบางอย่างนับเป็นบาป ในบางครั้งซึ่งขัดกับหลักการและเหตุผล เช่น พ่อแม่ทำร้ายลูกไม่บาป แต่ถ้าลูกตอบโต้ถือเป็นบาปหนัก หรือ ลูกติดหนี้บุญคุณพ่อแม่ที่ให้กำเนิด หากไม่เลี้ยงดูพ่อแม่ถือว่าเป็นบาป ความเชื่อเหล่านี้เป็นเหมือนรากฐานของความรุนแรงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้บุพการีมีความกล้าที่จะใช้ความรุนแรงกับบุตรมากขึ้น และทางบุตรที่ถูกปลูกฝังมา ก็ไม่กล้าที่จะต่อต้าน

ในบางครั้งเรื่องเงินก็ถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการบีบบังคับ เช่น เมื่อบุตรไม่ปรารถนาที่จะทำตามสิ่งที่บุพการีต้องการ จะถูกขู่ว่าจะไม่เลี้ยง ไม่ส่งเสีย ไม่ส่งเรียน ตลอดไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ คนไทยมีค่านิยมจากเรื่องของบุญบาปว่าลูกต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ ต้องส่งเงินให้พ่อแม่ใช้ ต้องหางานที่ดีทำ เพื่อส่งเสียพ่อแม่ในวัยแก่เฒ่า ถ้าหากไม่ทำ จะเป็นลูกอกตัญญู ซึ่งแตกต่างจากการปลูกฝังลูกในต่างประเทศ ที่ลูกต่างมีชีวิตเป็นของตนเอง หากจะมีการช่วยเหลือบุพการีในด้านการเลี้ยงดู ก็จะมาจากความสมัครใจที่แท้จริง ไม่ได้มากจากความกดดัน หรือธรรมเนียมปฏิบัติ

การมีอยู่ของกฎหมายมาตรา 1562 เหมือนเป็นการตอกย้ำปัญหาความรุนแรงเข้าไปอีกขั้นหนึ่งว่า “ถึงลูกอยากจะฟ้อง ก็ไม่มีสิทธิ์ฟ้อง” แม้จะสามารถร้องขอให้อัยการฟ้องแทนได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เด็กสักคนที่เป็นเหยื่อความรุนแรง จะกล้าฝ่ากำแพงของความกตัญญูที่ถูกปลูกฝังแบบรุ่นสู่รุ่น เพื่อขอยืมมือคนนอกครอบครัวในการช่วยเหลือ ถือเป็นเรื่องน่าสลดใจ ที่ความรุนแรงเหล่านี้ ถูก normalize ด้วยความเคยชิน ความเกรงกลัว และความเชื่อทางศาสนา

ชัยชนะก้องโลก เมื่อบุตรปลดแอกจากความกดขี่ของบุพการี

ประเด็นของตำนานนักร้องหญิงชื่อดัง บริทนีย์ สเปียร์ส คือเรื่องที่โด่งดังทั่วโลกในเวลานี้ กับแฮชแท็ก #FreeBritney ที่เชื่อว่าผู้ติดตามสื่อบันเทิง ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก

เมื่อบริทนีย์ สเปียร์ส มีปัญหาทางสุขภาพจิตจนต้องเข้ารับการบำบัดตั้งแต่ในปี 2008 พ่อของเธอคือ เจมี สเปียร์ส ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้พิทักษ์ชีวิตและดูแลทรัพย์สินของเธอ (Conservatorship) แต่หลังจากนั้น ชีวิตของเธอก็ได้รับผลกระทบในทางที่ไม่ดี ทั้งการถูกบังคับให้ทำงานหนัก จนส่งผลเสียต่อสุขภาพ การถูกควบคุมการใช้จ่าย ถูกบังคับในการใส่ห่วงอนามัยเพื่อคุมกำเนิด ถูกเอาเปรียบรายได้จากงานที่เธอทำ จนทนายความของเธอต้องแจ้งต่อศาลว่า บริทนีย์จะไม่ทำการแสดงอีกต่อไป ตราบใดที่พ่อของเธอยังเป็นผู้พิทักษ์ของเธออยู่

ความเคลื่อนไหวของ #FreeBritney ถูกเริ่มต้นตั้งแต่ในปี 2009 เมื่อเหล่าแฟนคลับของซูเปอร์สตาร์ชื่อดัง เริ่มเห็นถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับเธอ บริทนีย์กับทนายของเธอเริ่มยื่นฟ้องที่จะยุติการพิทักษ์ชีวิตและทรัพย์สินของเธอ แต่ก็ยังถูกศาลปฏิเสธในเวลานั้น เธออดทนทำงานและต่อสู้มาเป็นเวลานาน จนในปี 2019 การให้การถึงความทุกข์ทรมานของเธอ ได้ปลุกกระแส #FreeBritney กลับมาอีกครั้ง ผู้คนจำนวนมากออกมาให้กำลังใจและเรียกร้องอิสรภาพให้กับเธอ รวมไปถึงศิลปินดาราชื่อดังที่ออกมาช่วยสนับสนุน

การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของเธอไม่ได้สูญเปล่า เมื่อศาลได้ตัดสินยุติบทบาทของ เจมี สเปียร์ส เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2021 และได้ประกาศยุติการพิทักษ์และดูแลทรัพย์สินของ บริทนีย์ สเปียร์ส เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ส่งผลให้บริทนีย์ได้เป็น “อิสระ” อย่างแท้จริง

กรณีที่เกิดขึ้นกับ บริทนีย์ สเปียร์ส คือหนึ่งในตัวอย่างชิ้นสำคัญ ที่บุตรคนหนึ่งจะไม่ยอมถูกกดขี่จากบุพการี แม้ว่าจะมีคำกล่าวอ้างของบุพการีที่ว่า “ทำไปเพราะความหวังดี” แต่เมื่อความหวังดีนั้นกลับกลายเป็นการบังคับ ความทุกข์ทรมาณ บุตรก็สามารถฟ้องร้อง ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของตนเองได้ เรื่องที่เกิดขึ้น ยังได้สะท้อนให้เห็น “ค่า” ของชีวิตคนคนหนึ่ง ที่ควรมีสิทธิและเสรีภาพในตนเอง ไม่ถูกตีกรอบบังคับด้วยขนบธรรมเนียมและค่านิยม

แนวทางการช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรง

คุณธันวา ชาวสวน ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าถึงแม้กฎหมายมาตรา 1562 จะยังไม่ได้รับการปรับเปลี่ยน แต่ในปัจจุบันมีกฎหมายและหน่วยงานที่พร้อมช่วยเหลือเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงจากคนในครอบครัวหลายฉบับและอีกหลายหน่วยงาน อย่างที่เรายกตัวอย่างมาให้ดังนี้

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก 2546 ที่บังคับใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ตามความในมาตรา 23 ดังนี้ “มาตรา 23 ผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนและพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตน ตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น แต่ทั้งนี้ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และต้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนมิให้ตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ”

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 จึงหมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส กฎหมายฉบับนี้ กำหนดหลักการปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใดให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญและไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมและกำหนดบทบาทหน้าที่ผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนและพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น

แต่ทั้งนี้ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและต้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนมิให้ตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ นอกจากพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 กำหนดเด็กที่พึงได้รับการสงเคราะห์ และเด็กที่พึงได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพ ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในกฎกระทรวงหลายฉบับ ประชาชนทั่วไปส่วนมากไม่ทราบรายละเอียดเหล่านี้ส่งผลให้เด็กไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนา ไม่ได้รับการสงเคราะห์หรือไม่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง ป้องกันความรุนแรง

ทั้งนี้ยังมีพรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550

“มาตรา 4 ผู้ใดกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัว ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ให้ความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นความผิดอันยอมความได้ แต่ไม่ลบล้างความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น หากการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ด้วย ให้ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้”

“มาตรา 5 ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ การแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง เมื่อได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง”

มูลนิธิและศูนย์คุ้มครองเด็กหรือผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงจากคนในครอบครัว เช่น มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เบอร์ติดต่อ 0-2412-1196 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม เบอร์ติดต่อ 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สายด่วน โทร 1300 มูลนิธิปวีณา หงสกุล เพื่อเด็กและสตรี เบอร์ติดต่อ 025770496

ถึงแม้จะมีกฎหมายและหน่วยงานที่พร้อมเข้าไปช่วยเหลือ แต่ยังมีเด็กและเหยื่อจากความรุนแรงในครอบครัวอีกมาก ที่ยังเข้าไม่ถึงหรือไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานอย่างทันท่วงที

เราขอความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วนให้ช่วยกันสอดส่องดูแลช่วยเหลือและแจ้งเบาะแส เพื่อให้เหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัวทุกคน ได้รับความเป็นธรรมและพ้นจากเหตุการณ์นั้นอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายที่ถึงแก่ชีวิต

ความรักคือการให้อิสระในการใช้ชีวิต

เราทราบกันดีว่าสังคมไทยมีจารีตประเพณีที่งดงามเราต่างชื่นชม ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เกิด สิ่งเหล่านี้ไม่อาจจะปรับเปลี่ยนไปได้ในเร็ววัน และเราไม่อาจลืมไปได้ว่าจารีตประเพณีบางอย่างก็เป็นดาบสองคมที่สร้างบาดแผลให้กับใครบางคนอยู่ อย่างเช่น “ความกตัญญู” ที่มีความเกี่ยวโยงกับสถาบันครอบครัวมาอย่างยาวนานและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เราไม่ควรนำสิ่งนี้มาใช้ในทางที่ผิด หรือมาใช้ในการกดขี่ขมเหงบุตรหลานหรือบังคับให้เขาทำในสิ่งที่บุพการีต้องการเพียงเพราะเราเป็นคนเลี้ยงดูเขา

เพราะสุดท้ายบุตรหลานหรือเด็กและเยาวชนต่างมีสิทธิเสรีภาพเป็นของตัวเอง ถ้าเราไปจำกัดหรือสร้างกฎเกณฑ์บังคับร่างกายและจิตใจที่เกินกว่าเหตุ รั้งแต่จะเป็นผลเสีย จนทำให้เกิดกรณี #ยกเลิกมาตรา1562 ตามมา และหลายคนไม่อยากให้เกิดกรณีการต่อสู้กันของคนในครอบครัว แม้กระทั่งนักกฎหมายก็คิดอย่างนี้เช่นเดียวกัน

ความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นได้จากครอบครัว

ครอบครัวถือเป็นสถาบันทางสังคมแห่งแรก ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะและเรียนรู้ความคิดและค่านิยม แก่สมาชิกตั้งแต่กำเนิด เพราะฉะนั้น ทุกคนไม่ว่าจะเป็นบุพการีหรือบุตรหลานต้องตระหนักเสมอว่า ควรจะทำอย่างไรให้สถาบันแรกของชีวิตเป็นสถาบันที่ดีและน่าภูมิใจ หลีกเลี่ยงใช้การกระทำรุนแรงที่มีผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจที่เกินกว่าเหตุ และร่วมมือกันสร้างสถาบันครอบครัวให้เป็นที่พักพิงที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน

Reference & Bibliography

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา JR402 Interpretation of Current Affairs ภาคการศึกษา 1/2 2564 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา รศ.วัฒณี ภูวทิศ

Writer

อยากเป็นนักข่าว อยากเป็นนักเขียน อยากเลี้ยงวาฬออร์กา อยากมีหมาลาบราดอร์

Writer

ชอบงานเขียนพอ ๆ กับที่ชอบแกนั่นแหละ : )

Writer

เป็นคนที่ชื่นชอบและรักในการเขียน (ทวิต) มาก

Writer

นักเขียนเรื่อง BALOR ที่อยากแมสใน readawrite

Graphic

โลกทั้งใบก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งในตัวผม โลกที่ผมสร้างสรรค์ทุกอย่างได้อย่างใจนึก