หลายครั้งที่เราอาจจะเคยถูกผู้คนทักว่าใส่เสื้อซ้ำ สวมชุดแบบเดิม หรือแม้กระทั่งชุดนี้ใส่ถ่ายรูปไปแล้ว จะใส่อีกได้ยังไง! ไปงานใดก็ต้องตัดชุดหรือหาซื้อชุดใหม่แทบทุกครั้ง คุณมีพฤติกรรมแบบนี้หรือไม่ เราลองมาทำความเข้าใจโลกของการผลิตเสื้อผ้าที่ส่งต่อสิ่งแวดล้อมของโลกอย่างมากมาย

เสื้อผ้าคือภาพลักษณ์ที่ต้องใส่ใจ

ลองสังเกตวิถีชีวิตของคนเมืองยุคใหม่ เราทุกคนต่างใส่ใจกับภาพลักษณ์ การแต่งกายมีความสำคัญและบ่งบอกความเป็นตัวเรา คนที่เป็นสายแฟชั่นจึงมักจะถ่ายรูปในชุดสวยหล่อและโพสต์เรื่องราวของตนเองลงทางสื่อโซเชียลมีเดีย ทุกคนนิยมแต่งตัวให้ดูดี มีสไตล์ ตามแฟชั่นในช่วงเวลานั้น

เราคงเคยได้ยินคำพูดที่ฮิตติดปากของสาวที่รักการแต่งตัวว่า ไม่มีอะไรจะใส่แล้ว! ทั้งที่มีเสื้อผ้าอยู่แน่นตู้ อีกทั้งบางคนเมื่อใส่เสื้อผ้าได้ไม่กี่ครั้งก็ทิ้ง แต่รู้ไหมว่า เสื้อผ้าที่คุณสวมใส่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่เปลี่ยนไปตามกระแสความนิยมของผู้คนที่ผลิตออกมาใหม่อยู่เสมอ เป็นการกระตุ้นการซื้อของผู้คน ที่เราเรียกกันว่า Fast Fashion อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มให้กับประชากรบนโลกเป็นจำนวนมาก จึงสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล และเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาที่เราจะปล่อยผ่านไปได้อีกแล้ว

Fast Fashion ผลิตเสื้อผ้าจานด่วน ใช้แล้วเปลี่ยนใหม่

อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าจะมีลักษณะการผลิตอยู่หลายลักษณะ รวมถึงวัสดุคุณภาพที่แตกต่างกัน ยิ่งไปกว่านั้นอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นการผลิตจำนวนมาก อาจจะไม่ได้คำนึงถึงการรักษาคุณภาพของเสื้อผ้า เพื่อให้นำไปใช้ได้อย่างยืนยาว เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่วางขายอยู่ทั่วไปมีราคาที่ถูกลง ทุกคนสามารถซื้อมาในราคาที่จับต้องได้ แต่เมื่อใส่ไปได้ไม่กี่ครั้งก็เริ่มจะมีสภาพที่ไม่ดี จนต้องซื้อชุดใหม่ในที่สุด

นั่นก็อาจเป็นเพราะเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายนั้นถูกผลิตมาจากอุตสาหกรรม Fast Fashion อุตสาหกรรมที่คำนึงถึงแต่การผลิตให้ได้ในปริมาณที่มาก ราคาถูกและต้นทุนการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ ทำให้ใช้เสื้อผ้าได้ไม่ยืนยาว และต้องเปลี่ยนใหม่อยู่เรื่อย การผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นจึงสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโลก

การผลิตเสื้อผ้าที่สร้างความสูญเสียต่อทรัพยากรของโลก

กระบวนการผลิตเสื้อผ้าที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ต้องใช้ทรัพยากรมาก โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำ ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการช่วยผลิตเส้นใยฝ้ายที่นำมาใช้ผลิตเสื้อผ้า ข้อมูลจาก Techsauce Team (2021) อธิบายว่าเสื้อผ้าหนึ่งตัวต้องใช้น้ำ 3,000 ลิตร เพราะในการสังเคราะห์ใยฝ้ายให้ได้ 1 กิโลกรม ใช้น้ำมากถึง 10,000 ลิตร เพราะฉะนั้นการผลิตเสื้อผ้าจึงสิ้นเปลืองน้ำปริมาณมาก รวมไปถึงการมีเสื้อผ้ามากก็ต้องซักทำความสะอาดมากตามไปด้วย

โพลีเอสเตอร์ในเสื้อผ้ามีผลต่อสิ่งแวดล้อม

เสื้อผ้าก็ทำให้โลกร้อนได้ ส่วนหนึ่งของเสื้อผ้าโดยปกติที่ผลิตกันจะมีส่วนประกอบของโพลีเอสเตอร์ การมีโพลีเอสเตอร์ช่วยให้เสื้อผ้าไม่เกิดรอยยับ เพราะโพลีเอสเตอร์คือพลาสติกรูปแบบหนึ่ง เมื่อนำเสื้อผ้าไปซัก ส่วนผสมของโพลีเอสเตอร์จะสามารถหลุดออกไปปนเปื้อนในสภาพแวดล้อม เป็นพลาสติกขนาดเล็กที่ปนเปื้อนในธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อสัตว์และผู้คนได้ เข้าไปสู่ห่วงโซ่อาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มนุษย์เองก็อาจจะได้รับสารปนเปื้อนจากพลาสติกตามไปด้วย และพลาสติกก็ทำให้สัตว์ทะเลเสียชีวิตได้ ถ้าสะสมในร่างกายอย่างมาก

กระบวนการผลิตเสื้อผ้า เร่ิมตั้งแต่เลือกวัตถุดิบ แปรสภาพ ไปจนถึงขั้นตอนการออกแบบตัดเย็บ ใช้ทรัพยากรและกำลังคนมหาศาล Techsauce Team (2021) ยังให้ข้อมูลอีกว่าอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าสามารถก๊าซเรือนกระจก 3.3 พันล้านต่อตันต่อปี คิดเป็น 8% เสื้อผ้าที่ตกเทรนด์ ตกยุค ใส่แล้วทิ้งเลยจึงกลายเป็นขยะมหาศาล หากเทียบเป็นจำนวนขวดพลาสติกแล้วจะมีถึง 50,000 ล้านขวด ย่อยสลายได้ยากตามไปด้วย วิธีการแก้ปัญหาตรงนี้คือนำเสื้อผ้าที่ยังพอใช้ได้กลับมาใช้ซ้ำหรือผ่านกระบวนการรีไซเคิลเสื้อผ้าให้กลายเป็นของใช้

อยากมีสุขภาพดีต้องใส่ใจการเลือกเสื้อผ้า

การสวมใส่เสื้อผ้าต้องเลือกให้เหมาะสม วัสดุที่ผลิต คุณภาพ และระยะเวลาการใช้งาน องค์ประกอบของเสื้อผ้าที่ผ่านการผลิตอาจจะมีการปนเปื้อนของสารเคมี แม้ว่าซักแล้วอาจจะตกค้างได้ โดยเฉพาะสารฟอร์มัลดีไฮด์ ที่มากับเสื้อผ้า ช่วยป้องกันการยับย่นและเชื้อรา สารนี้ส่งผลต่อผิวหนัง และอาจจะทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติได้ เราจึงต้องระมัดระวังในการเลือกเสื้อผ้า เพราะส่งผลต่อสุขภาพ

ให้คุณค่าและใส่ใจกับทรัพยากรแรงงานผลิตเสื้อผ้า

การผลิตเสื้อผ้ายังคงใช้แรงงานคนเป็นจำนวนมาก คนทำงานโรงงานต้องทำงานวันละหลายชั่วโมงควบคุมการผลิตอยู่หน้าเครื่องจักร ตัดเย็บเสื้อผ้า ทั่วโลกมีแรงงานที่ผลิตเสื้อผ้ากว่า 40 ล้านคน การดูแลสวัสดิการให้กับแรงงานเหล่านี้ในแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน

ธุรกิจอุตสาหกรรมเสื้อผ้าขนาดใหญ่ยังขับเคลื่อนต่อไปได้ก็จำเป็นต้องมีแรงงานผลิต การดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้กับคนทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ควบคุมจำนวนชั่วโมงการทำงานให้พอเหมาะพอดี รวมถึงมีการรักษาความปลอดภัยในการทำงาน จะช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยจากากรทำงานลงได้ อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าขนาดใหญ่ในหลายประเทศจึงไม่ควรละเลยในส่วนนี้ไป อีกทั้งอาจจะเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดในการทำงานได้ ดังเช่นเรื่องราวของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า Rana Plaza ในบังคลาเทศที่ถล่มลงเมื่อปีค.ศ.2013 มีผู้เสียชีวิต 1,134 คน เพราะฉะนั้นการจัดสรรพื้นที่การทำงานเพื่อการตัดเย็บเสื้อผ้าจึงต้องใส่ใจทรัพยากรบุคคลที่เป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าด้วยเช่นกัน

Slow Fashion ใช้เสื้อผ้าด้วยความเนิบช้า ใส่ใจ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

การผลิตและใช้เสื้อผ้าอย่างมากเกินไป ออกแบบเสื้อผ้าโดยคำนึงถึงกระแส ความใหม่ เปลี่ยนบ่อย ไม่ใช่แนวทางที่ดี จึงมีอีกแนวคิดหนึ่งถือกำเนิดขึ้นนั่นคือ Slow Fashion

Audrey Stanton (2022) อธิบายว่า Slow Fashion มุ่งเน้นการใช้เสื้อผ้าแบบระยะยาว คำนึงถึงคุณภาพมากกว่าระยะเวลา ไม่เน้นการผลิตจำนวนมาก หมุนเวียนนำเสื้อผ้ากลับมาใช้ซ้ำ เมื่อจะมีการผลิตเสื้อผ้าก็ผลิตอย่างมีคุณภาพ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ใช้ได้ยาวนาน

แนวคิดการผลิตเสื้อผ้าแบบ Slow Fashion นี้ได้รับการนำเสนอโดยอาจารย์เคท เฟลชเชอร์ (Professor Kate Fletcher) และกลุ่มนักออกแบบเสื้อผ้าที่คำนึงถึงสังคม

การขับเคลื่อนแนวคิด Slow Fashion ให้เป็นรูปธรรม เราควรซื้อเสื้อผ้าตามความจำเป็น ใช้ให้นานขึ้น ซื้อเสื้อผ้าที่สามารถนำมา Mix and Match ได้หลายแบบ ปรับเปลี่ยนความคิดที่ว่าการใส่เสื้อผ้าซ้ำไม่ใช่เรื่องน่าอาย ได้ช่วยโลกแล้ว ยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าเราอีกด้วย

การสวมใส่เสื้อผ้าที่ชื่นชอบช่วยสร้างสุขให้กับผู้คน อย่างไรก็ตามการซื้อเสื้อผ้าใหม่ก็ทำได้ ทว่าก็ต้องเลือก คิดและใส่ใจให้ละเอียดว่าเราจะใช้เสื้อผ้านั้นจริง ๆ ไม่ปล่อยทิ้งไว้ในตู้ อีกทั้งลองหวนกลับไปดูเสื้อผ้าที่เคยใส่ หรือเสื้อผ้ามือสองก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เราจะช่วยลดการเพิ่มปริมาณขยะเสื้อผ้าให้กับโลก มีสติก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ใช้เสื้อผ้าซ้ำอย่างสร้างสรรค์ ก็สนุกกับการแต่งตัวได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่ทุกครั้ง

Reference & Bibliography

  • Fast Fashion กับ Sustainability จะไปด้วยกันได้อย่างไร เมื่อการตลาดมีบทบาทสำคัญต่อการเลือกบริโภค. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2564, จาก https://bit.ly/34W8Jin
  • 3 แนวทางในการแก้ไขห่วงโซ่อุปทานของสินค้า fast-fashion ได้อย่างตรงจุด. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2564, จาก https://www.thaitextile.org/th/insign/detail.839.2.0.html
  • รู้จักฟอร์มัลดีไฮด์ สารอันตรายใกล้ตัว. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2564, จาก http://www.thailandindustry.com/indust_newweb/articles_preview.php?cid=19310
  • Bick, R., Halsey, E. & Ekenga, C.C. The global environmental injustice of fast fashion. Environ Health 17, 92 (2018). https://doi.org/10.1186/s12940-018-0433-7
  • Audrey Stanton. (2022). What Is Slow Fashion ? สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2564, จาก https://www.thegoodtrade.com/features/what-is-slow-fashion
  • ขอขอบคุณภาพหน้าปกประกอบเรื่อง Photo by bmx22c on Unsplash
  • ขอขอบคุณภาพประกอบ Unsplash: Beautiful Free Images & Pictures www.unsplash.com

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา JR211 Creative Writing for Journalism ภาคการศึกษาที่ 1/2 2564

Writer

คติประจำใจ “ไม่ยาก ถ้าอยากทำ”