ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ เป็นปัญหาที่มีประเด็นมายาวนาน แม้ผู้คนเริ่มหันมาสนใจถึงเรื่องลิขสิทธิ์ แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่สนใจและยังคงดูภาพยนตร์และแอนิเมชันในเว็บเถื่อน ทำให้วงการภาพยนตร์และแอนิเมชันของไทยไม่ได้รับการให้คุณค่ามากเท่าที่ควร
งานในวงการอุตสาหกรรมบันเทิง เช่น ภาพยนตร์ ซีรีส์ แอนิเมชัน ละคร ถือเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์ คือการได้รับการรับรองว่าเป็นงานสร้างสรรค์ ที่ผลิตจากกระบวนการคิด ค้นหาข้อมูล ใช้ความรู้ ความสามารถ และถ่ายทอดออกมาเป็นผลงาน ซึ่งได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาเช่นเดียวกัน
ถึงเวลาแล้วที่เราควรหันมาทำความเข้าใจปัญหาลิขสิทธิ์ให้มากยิ่งขึ้น ติดตามได้จากบทความชิ้นนี้ที่เราได้รวบรวมข้อมูลมานำเสนอ
กฎหมายลิขสิทธิ์และบทลงโทษ
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561 ได้นำเสนอรายละเอียดและปรับแก้ไขเพิ่มเติมจาก พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ไว้ดังนี้
มาตรา 15 เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมมีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน และให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง
มาตรา 27 การทำซ้ำหรือดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ตามอ้างอิงมาตรา 15 ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
มาตรา 29 การนำภาพยนตร์มาทำซ้ำหรือดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชนหรือกระทำเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าไม่ว่าทั้งหมดหรือแค่บางส่วน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ตามอ้างอิงมาตรา 15 ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
มาตรา 69 ผู้ใดกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตามมาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อการค้า ผู้กระทำต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
งบประมาณการสร้างและความเสียหายจากการดูเถื่อน
การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ ละคร แอนิเมชัน ล้วนมีค่าใช้จ่ายต่อเรื่องค่อนข้างสูง งบประมาณในการสร้างภาพยนตร์และแอนิเมชัน อยู่ที่ประมาณ 40-50 ล้านบาท ถือเป็นงบประมาณที่สูงสุดสำหรับการสร้างภาพยนตร์ ส่วนงบประมาณในสร้างแอนิเมชันอยู่ที่ 100 ล้านบาท
ตัวอย่างภาพยนตร์และแอนิเมชันที่นำมากล่าวถึงในที่นี้ก็ทำรายได้มหาศาล และมีงบประมาณในการลงทุนสูงเช่นเดียวกัน ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่องพี่มากพระโขนง มีงบประมาณในการสร้างอยู่ที่ 68 ล้านบาท แอนิเมชัน 9 ศาสตา มีงบประมาณในการสร้างอยู่ที่ 230 ล้านบาท ภาพยนตร์เรื่องนาคี 2 มีงบประมาณในการสร้างอยู่ที่ 50 ล้านบาท
การที่ภาพยนตร์และแอนิเมชันถูกนำมาเผยแพร่อย่างไม่ถูกลิขสิทธิ์ สร้างความเสียหายหลายอย่างให้แก่วงการภาพยนตร์และแอนิเมชัน ส่งผลให้แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งหลายค่ายเลือกที่จะลงทุนกับภาพยนตร์แอนิเมชันของต่างประเทศมากกว่า เพราะมียอดผู้รับชมแบบถูกลิขสิทธิ์มากกว่า อีกทั้งยังส่งผลให้เพดานรายได้ที่คาดว่าจะทำกำไรถึง 1 พันล้านบาทกลับต้องลดลงมา ยิ่งมีผู้เข้าชมภาพยนตร์ในเว็บเถื่อนมากเท่าใดจำนวนยอดตั๋วภาพยนตร์ก็หายไป
สมมติกรณีภาพยนตร์เรื่องพี่มากพระโขนง มีผู้เข้าชมเว็บเถื่อนอยู่ที่ 160,000 รอบ มาคูณกับราคาตั๋วที่ 200 บาท ความเสียหายอยู่ที่ราคาตั้ง 32 ล้านบาท เกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้
เสียงสะท้อนจากคนในอุตสาหกรรมบันเทิง
คุณนุชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับภาพยนตร์ อธิบายว่า การดูเถื่อนส่งผลเสียหลายอย่างในภาพรวม เพราะทำให้มูลค่าของภาพยนตร์นั้นถูกลดลง อีกทั้งเมื่อคนดูเถื่อนกันมาก ทำให้เรทราคาในการนำภาพยนตร์และแอนิเมชันของไทยลงแพลตฟอร์มออนไลน์น้อยลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตามความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นปัญหาเพียงเล็กน้อย อาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าผลกระทบมีมาก คุณจ๊อบ (ขอสงวนชื่อนามสกุลจริง) แสดงความคิดเห็นว่า ตนเองเข้าใจว่าการดูเถื่อนเป็นสิ่งไม่ดี แต่ภาพยนตร์บางเรื่องที่ดูเถื่อน เราก็เสียตังค์เข้าดูในโรงภาพยนต์แล้ว แต่ก็อยากกลับไปดูอีกครั้ง และบางเรื่องก็ออกจากโรงภาพยนตร์แล้วไม่รู้จะไปดูที่ไหน ก็หาดูในเว็บเถื่อนแทน ตนเองไม่คิดว่าจะส่งผลขนาดนี้กับวงการภาพยนตร์
แนวทางในการแก้ไขปัญหา
หลายฝ่ายพยายามจะแก้ไขปัญหาลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคได้รับประโยชน์มากที่สุด เราเสนอแนวคิดอยากให้รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดกับเว็บเถื่อน อาจจะตั้งรางวัลในการแจ้งข้อมูลตามสมควรแก่ผู้ที่ให้ข้อมูล เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการกับเว็บเถื่อน รวมทั้งยังเป็นการปลูกฝังค่านิยมในการส่งเสริมและเป็นกำลังใจแก่ผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานอีกด้วย
ทั้งนี้ยังมีหลากหลายแพลตฟอร์มที่ผู้บริโภคสามารถเข้าใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แม้แต่แพลตฟอร์มที่เสียค่าใช้จ่ายก็ยังมีหลายแพ็กเกจที่ให้เลือกบริการ ตามกำลังที่ผู้บริโภคสามารถจ่ายค่าบริการได้
ขณะที่ผู้ผลิตและเครือโรงภาพยนตร์อาจร่วมกันคิดราคาบัตรเข้าชมภาพยนตร์ให้ถูกลง โดยมองภาพรวมที่จำนวนยอดผู้เข้าชม อาจจะส่งผลให้ผู้บริโภคมองเห็นว่า เป็นราคาที่มีกำลังทรัพย์สามารถเข้ามารับชมได้
ช่องทางที่สามารถสนับสนุนงานอย่างถูกลิขสิทธิ์
ปัจจุบันมีหลายแพลตฟอร์มที่ผู้ชมทุกคนจะเลือกใช้บริการที่ทั้งแบบเสียค่าบริการและฟรี ได้แก่ Netflix, Disney+, DooNee, HBO Go, Viu, WeTV, QIY, BiliBili, Flixer, และ Line Tv โดยแบบเสียค่าบริการก็มีหลายแพ็คเกจให้ผู้ชมได้เลือกตามแต่ทุกคนสะดวก ราคาถูกไปยังราคาแพงสุด แต่ถ้าทุกคนลองคำนวณค่าบริการจะเห็นได้ว่าตกวันละไม่กี่บาท ทุกคนสามารถวางแผนเก็บเงินเพื่อจ่ายค่าบริการได้ แต่ละวันควรจะเก็บวันละเท่าไหร่ สำหรับคนที่ไม่อยากเสียค่าบริการก็ยังมีแพลตฟอร์มที่ฟรีให้แก่ทุกคนได้รับชมความบันเทิงอีกมากมาย
การเติบโตขึ้นของอุตสาหกรรมบันเทิงต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของผู้ผลิตและผู้บริโภค อยากให้ทุกคนช่วยสนับสนุนแพลตฟอร์มที่ถูกกฎหมาย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ในไทยได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพออกมาสู่สายตาผู้ชม อีกทั้งยังช่วยยกระดับวงการภาพยนตร์และแอนิเมชันของไทยให้ก้าวไกลเทียบเท่าต่างประเทศมากขึ้น
Reference & Bibliography
- พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2561. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564, จาก https://ictlawcenter.etda.or.th/files/law/file/95/7431834d10932a7037125146f387333d.PDF
- พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537. (2537, 9 ธันวาคม). กฎหมายลิขสิทธิ์และบทลงโทษ. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564, จาก http://www.fio.co.th/south/law/8/85.pdf
- ทรัพย์สินทางปัญญา เบื้องต้น ตัวอย่างและประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญา ความรู้ทางทรัพย์สินทางปัญญาเบื้องต้น. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564, จาก https://www.atpserve.com/ทรัพย์สินทางปัญญา
- Joy K. (2563, 30 มกราคม). เรื่อง GDH ปิดรายได้ปี 62 ที่ 471.29 ล้านบาท พร้อมเผยแผนปี 63 กับหนัง 2 และซีรี่ย์อีก 1 เรื่อง. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564, จาก https://marketeeronline.co/archives/143483
- ข้อมูลรูปภาพยนตร์. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564, จาก www.majorcineplex.com
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา JR402 Interpretation of Current Affairs ภาคการศึกษา 1/2 2564 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา รศ.วัฒณี ภูวทิศ