ถ้าเราตื่นขึ้นในเวลาอันแตกต่าง ในที่แตกต่าง เราจะตื่นขึ้นมาเป็นคนอื่นได้ไหม แนวคิดสำคัญจากภาพยนตร์สัญชาติอเมริกันที่โด่งดังเป็นอย่างมากในยุค 90’s Fight Club (1999) ดิบดวลดิบ ออกฉายเมื่อวันที่ 10 กันยายน ค.ศ.1999 ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย เดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher) และนำแสดงโดย แบรตพิตต์ (Brad Pitt) เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน (Edward Norton) และเฮเลน่า บอนแฮม คาเตอร์ (Helena Bonham Carter)

เรื่องราวของ Fight Club อาจจะสะท้อนสภาพของสังคมในช่วงเวลานั้น ที่เราใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยความซ้ำซาก จำเจ ตื่นนอน กินข้าว พบเจอผู้คน ไปทำงาน เรียนหนังสือ ชีวิตที่วนเวียนซ้ำไปซ้ำมา ทำอะไรคล้ายกัน ทุกคนถูกโปรแกรมไว้ว่าต้องมีชีวิตแบบนี้ พวกเขาจึงเบื่อหน่ายและอยากหาพื้นที่ระบายสิ่งที่อัดอั้น กดทับความมีชีวิตของพวกเขาไว้ จึงกลายมาเป็น Fight Club ชมรมแห่งการต่อสู้ที่ทำให้คุณได้ปลดปล่อยตนเอง ซัดกันด้วยหมัดต่อหมัด ให้เลือดสูบฉีดไปทั้งร่างกาย ความเจ็บปวดอาจจะทำให้รู้สึกว่า เราก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่มีเลือดเนื้อ มีชีวิต

ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ผู้เกิดในสังคม เติบโตท่ามกลางสังคม เรียนรู้เพื่อจะได้อยู่ร่วมกับสังคม จนสุดท้ายเราก็กลับถูกสิ่งที่เรียกว่าสังคมบีบเค้นให้กลายเป็นคนที่เราอาจไม่ต้องการจะเป็น นั่นคือสิ่งที่ตัวเอกในภาพยนตร์แอคชั่นสะท้อนสังคมเรื่อง Fight Club จำต้องเผชิญ เช่นเดียวกับใครหลายคนในโลกความเป็นจริงที่กำลังฝ่ามรสุมชีวิตอย่างเดียวดาย

ตัวละครนี้ไม่มีชื่อ หากแต่เราทุกคนเรียกเขาว่า The narrator นั่นเพราะเขาคือเสียงที่บอกเล่าทุกมุมมอง ทุกเหตุการณ์ และทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะดำเนินเรื่อง เขาเป็นมนุษย์เดินดินสองขาที่ตื่นเช้ามาทำงานหมายเลี้ยงชีพ เหมือนกับเรา เขาเป็นทาสการตลาด คอยจ้องจะจับจองสินค้าที่ถูกผลิตมาเพื่อผู้บริโภคหัววัตถุนิยม เหมือนกับเรา และเขาดำเนินชีวิตต่อไปอย่างเรื่อยเปื่อย ซ้ำไปซ้ำมา ไร้จุดหมายชัดเจน ไร้ความฝันที่เคยมีเมื่อครั้งเด็กเหมือนกับเรา

เขาจึงเริ่มต้องการฉีกตัวตนที่เป็นอยู่ออกให้เป็นชิ้น แปลกแยก ช่างหัวสังคม ช่างหัวแรงกดดัน และช่างหัวใครก็ตามที่คอยออกกฏให้เขาต้องอยู่ในกรอบ และนั่นเองที่ทำให้ Fight Club ถือกำเนิดขึ้น หากแต่เราจะไม่กล่าวถึงมันลึกนัก เพราะกฏข้อแรกและข้อที่สองของ Fight Club คือห้ามพูดถึง Fight Club

ตัวละคร The narrator เปรียบได้กับมนุษย์ทุกคนล้วนมีความต้องการที่จะเป็น ‘ตัวของตัวเอง’ อยู่เสมอ ไม่ใช่ร่างสวมหน้ากากที่เรามักใช้เพื่อให้อยู่ร่วมกับสิ่งที่เราเรียกกันว่า ‘สังคม’ ได้โดยสงบสุข เราต้องการปลดปล่อย เราต้องการแหกคอก และเราต้องการอ้าแขนให้กว้าง ทำทุกสิ่งโดยไม่สนใจใคร ทว่าน่าเสียดายที่ไม่มีทางทำอย่างนั้นได้ เพราะอย่างไรมนุษย์ก็คือสัตว์ที่มีความหลากหลาย สิ่งใดที่เราเห็นว่าดีหรือควรค่าจะทำ ในมุมมองอีกคนหนึ่งก็อาจเห็นว่ามันคือสิ่งเลวร้าย และด้วยเหตุผลนั้น ท่ามกลางคนนับหมื่นนับแสนรอบกาย สุดท้ายเราก็ไม่อาจสยายปีกให้กางจนสุดได้ตามที่ตนต้องการ

ฉะนั้น Fight Club จึงเป็นเหมือนดั่งสัญลักษณ์ของการปลดปล่อย ณ ที่แห่งนี้ คุณไม่มีเพศ คุณไม่มีตำแหน่ง คุณไม่มีฐานะ คุณไม่ใช่ใครเลย คุณเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องการปลดเปลื้องทุกสิ่งออก และแสดงความเป็นตัวเองออกมาให้เต็มที่โดยไม่มีใครเดือดร้อนแม้สักคนเดียว ราวกับได้ ‘ตื่นขึ้นมาเป็นคนอื่น’ ก็ไม่ปาน

แล้วคุณล่ะ ถ้าวันหนึ่งคุณได้โอกาสที่จะลืมตาขึ้นมาแล้วทำในสิ่งที่ตนต้องการได้ในฐานะ ‘คนอื่น’ คุณจะทำไหม หรือคุณจะยังกังวลต่อกฏเกณฑ์ของสังคม หรือกลับกัน คุณจะลุยให้สุดเหวี่ยงตราบที่ยังมีโอกาสหรือไม่

Reference & Bibliography

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา JR413 Newspaper Workshop, JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2564

Writer

นักฝัน นักพูด นักเขียน ผู้รักการถ่ายทอดอารมณ์ในหลากรูปแบบ แม้เขาจะเพิ่งก้าวสู่วงการนักเขียนเพียงไม่ถึงปี แต่อย่างไรโลกนี้ก็ยังมีอะไรให้เขาได้เรียนรู้อีกมากนัก