อาชีพวิศวกร หลายคนมักมีภาพจำและตีกรอบว่า เป็นงานที่เหมาะกับผู้ชาย ทั้งในด้านความคล่องแคล่วและกำลัง ผู้หญิงจึงมักถูกมองว่าเติบโตได้ยากในงานสายนี้ การทำงานเป็นวิศวกรจึงมีความท้าทายสำหรับผู้หญิงเป็นอย่างมาก

เราขอนำเสนอเรื่องราวของวิศวกรหญิงสองท่าน คุณธนพร อ่อนฉ่ำ และ คุณอัจฉราพร เย็นทรวง ที่เรียนรู้อย่างจริงจังในสายงานวิศวกร จนก้าวขึ้นมาเป็นวิศวกรหญิง ทำงานได้อย่างเท่าเทียมกับวิศวกรชาย มาเจาะลึกเรื่องราวดอกไม้เหล็กแห่งวงการวิศวกรกัน

เส้นทางอาชีพวิศวกรหญิง

คุณธนพร อ่อนฉ่ำ วิศวกรหญิงด้านอิเล็กทรอนิกส์ ตำแหน่งรองผู้อำนวยการ บริษัท SVI บริษัทที่ให้บริการในด้านการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และวงจรไฟฟ้าแบบครบวงจร เธอคร่ำหวอดในวงการวิศวกรมากว่า 20 ปี เล่าให้เราฟังว่า ถ้าย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน งานวิศวกรกับผู้หญิงคงเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นตา โดยเฉพาะงานวิศวกรด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เป็นที่นิยมหรือไม่เป็นที่รู้จัก นับว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก

เธอยังเผยอีกว่า ความตั้งใจในการเรียนสายวิศวกร เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย สมัยนั้นวิศวกรและงานด้านอิเล็กทรอนิกส์แทบจะไม่มีคนรู้จักเลยด้วยซ้ำ ด้วยความชอบก็ยังเลือกที่จะทำ ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งใหม่และไม่คุ้นเคย แต่ก็คิดว่าถ้าชอบแล้วได้ลองทำสักครั้งคงไม่ต้องมาเสียใจภายหลัง การเลือกเรียนในสายวิศวกรก็ทำให้ได้พบว่า ตัวเองกลายเป็นผู้หญิงเพียงหนึ่งในสองคนที่เลือกเรียนสายนี้ ยุคนั้นความคิดของผู้หญิงที่กล้าเลือกเข้ามาเรียนสายนี้มีน้อยมาก ถ้าเทียบกับจำนวนในปัจจุบัน

มองย้อนกลับไปตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยรู้สึกว่าการเป็นผู้หญิงไม่กี่คนที่เรียนสายนี้ก็ไม่ยากอย่างที่คิด เพราะตอนเรียนเรามีความตั้งใจเรียนมาก เป็นสิ่งที่เราเลือกมาเอง จึงรู้สึกชอบที่จะเรียน ถึงตอนเรียนมีผู้หญิงอยู่แค่สองคนเท่านั้น และก็ไม่ได้รู้สึกถึงความแตกต่างของความเป็นผู้หญิงผู้ชาย เราคิดแค่ว่าเราก็ทำได้ มั่นใจในตัวเองเข้าไว้ ไม่เปรียบเทียบกับใคร และตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่

อุปสรรคทางการทำงานวิศวกร

การทำงานช่วงแรกก็ได้เจอทั้งอุปสรรคและความลำบากของการเป็นวิศวกรหญิง เพราะหลายคนยังคงมีความคิดที่ว่างานวิศวกรเหมาะกับผู้ชายมากกว่า ช่วงแรกที่ได้เริ่มงานเป็นวิศวกร ก็พบเห็นความคิดหลากหลายรูปแบบ แต่เราควรเลือกที่จะมุ่งพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น มากกว่าการที่จะเก็บคำเปรียบเทียบเหล่านั้นมาใส่ใจ

หากถามว่าเป็นผู้หญิงที่จบมาด้านวิศวกรนั้นหางานยากจริงหรือไม่ ส่วนตัวตอบเลยว่า หางานค่อนข้างยาก เพราะหลายคนยังมองว่าผู้ชายมีโอกาสที่จะทำงานและพัฒนาได้มากกว่า ตอนนั้นใช้ทั้งความสามารถ ความตั้งใจจริงแสดงออกมาให้เขาได้เห็น จำได้เลยว่าเงินเดือนนักศึกษาจบใหม่อยู่ที่หมื่นต้นเท่านั้น แต่เราได้เท่ากับเพื่อนผู้ชาย ก็รู้สึกว่าทุกอย่างดูเท่าเทียมกันทั้งชายและหญิง ติดตรงที่ว่าผู้ชายอาจได้รับการพิจารณาก่อนเท่านั้น หลังจากนั้นก็พยายามพัฒนาความสามารถของตัวเองให้เพิ่มมากขึ้นจากเดิมอยู่เสมอ

งานวิศวกรหญิงโตได้ยากจริงหรือไม่

ความเป็นผู้หญิงทำให้เติบโตได้ยากในสายวิศวกรจริงหรือไม่ เป็นคำถามที่หลายคนตั้งข้อสงสัย คุณธนพร แสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วยกับคำที่ว่าผู้หญิงกับการเป็นวิศวกรโตได้ยาก เพราะล้วนแต่มีการนำไปเปรียบเทียบกับผู้ชายอยู่บ่อยครั้ง ผู้ชายน่าจะทำงานได้มากกว่า

ทว่าเธอก็อธิบายว่า ช่วงเวลานั้นเราเลือกที่จะอดทนและแสดงศักยภาพให้เห็นว่าผู้ชายทำได้ เราก็ทำได้ พยายามพัฒนาตัวเองให้มากพอ ค้นคว้าหาความรู้มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน ถ้าถามถึงความเหมาะสมว่าเป็นงานที่เหมาะกับผู้ชายเท่านั้นหรือไม่ โดยส่วนตัวคิดว่าไม่จริง อาชีพวิศวกรมีการทำงานหลากหลายรูปแบบ บางด้านผู้หญิงก็ทำได้ดีกว่า จึงคิดว่างานวิศวกรจึงไม่ได้จำกัดเพศ อยู่ที่ตัวเรามากกว่า ถ้าเราชอบที่จะทำ ทำแล้วมีความสุข สิ่งนั้นก็จะเหมาะกับเราเอง

อย่ากลัวที่จะทำสิ่งที่ชอบ ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

ความท้าทายและยากลำบากในการทำงานเป็นเรื่องปกติที่ต้องพบเจอ เธออธิบายว่า บางทีความลำบากของคนเราอาจจะไม่เท่ากัน ย้อนกลับไปยอมรับเลยว่าลำบากจริง เพราะในบางครั้งลูกค้าแค่เห็นเราเป็นผู้หญิงก็รู้สึกไม่เชื่อถือเรา โดยเฉพาะในงานใหญ่ว่าเราจะทำงานได้จริงไหม เราก็ต้องแสดงออกมาให้เขาเห็นว่าเรามีความมั่นใจ เราสามารถทำได้

อย่าไปกลัว เพราะลูกค้าที่ทำงานด้วยส่วนใหญ่มักเป็นต่างชาติ การที่เราทำงานให้เขาเห็น ก็มักจะเกิดผลดี เขาแนะนำเราต่อกันไป ทำให้เรามีโอกาสในการโตขึ้นได้เอง บางคนยังมีความคิดที่ว่าผู้หญิงในการทำงานด้านวิศวกรยังสู้ผู้ชายไม่ได้ แต่เราต้องห้ามท้อหรือกลัว ถ้าเราหมดความพยายาม เขาก็จะไม่มีวันมองเห็นเราได้ ถึงแม้ว่าเราจะเป็นผู้หญิงก็จริง เราพัฒนาตัวเองให้ทำได้ในหลายด้าน

โอกาสในการร่วมงานกับชาวต่างชาติ

ในต่างประเทศการเป็นวิศวกรหญิงดูจะเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับมากกว่าในไทย การทำงานกับลูกค้าต่างชาติที่ไม่ได้มองวิศวกรว่าเป็นเพศไหน เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่เลือกที่จะมองที่การทำงานจริงมากกว่า ทำให้การทำงานในสายงานด้านนี้ร่วมกับชาวต่างชาติดูเป็นหนทางที่น่าสนใจสำหรับผู้หญิงที่อยากเป็นวิศวกร

คุณธนพรบอกว่า ช่วงที่ได้เข้าไปร่วมทำงานกับลูกค้าต่างชาติ สิ่งแรกที่จำเป็นต้องมีก็คือการที่เราต้องเข้ากับลูกค้าให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะว่าในระบบการทำงานทุกอย่างล้วนคล้ายคลึงกัน แตกต่างกันที่ด้านการช่วยเหลือจากลูกค้าและการตอบสนองความต้องการ ถ้าเราได้มีการพูดคุยและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก็จะยิ่งช่วยให้เราทำงานได้ตรงจุดและง่าย มีโอกาสได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง ลูกค้าต่างชาติไม่สนใจในความเป็นหญิงหรือชาย เน้นที่ตัวผลงาน ทำให้ทุกอย่างผ่านไปอย่างราบรื่น

เปิดกว้างให้กับความหลากหลายทางเพศ

ในยุคดิจิทัลต่างจากสมัยก่อน การรับสมัครงานด้านวิศวกรเปิดกว้างและดูที่ความสามารถในการทำงานมากกว่าเพศ คุณธนพรอธิบายว่า การรับเข้าทำงาน ไม่จริงเลยที่จะเลือกรับจากเพศชายก่อน แม้แต่เพศทางเลือกเองก็เป็นที่ต้องการให้เข้ามาในงานสายเช่นเดียวกัน เพราะทำงานได้อย่างคล่องแคล่วและก็มีความละเอียดอ่อนอยู่ด้วย ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันหมด ถ้าทัศนคติตรงกันก็คงทำงานด้วยกันสบายเลย ไม่ว่าจะเพศไหนก็ตาม

การรับพนักงานใหม่ในยุคนี้มีปัจจัยที่พิจารณาจากแต่ละบริษัทแตกต่างกัน คุณธนพรทิ้งท้ายว่า เท่าที่คัดเด็กมาในหลายครั้ง สิ่งแรกเลย เราไม่ได้ดูที่มหาวิทยาลัยหรือเกรดเฉลี่ยเป็นอันดับแรก แต่เน้นไปที่การพูดคุยหรือสัมภาษณ์ การวางตัว ทักษะการแก้ปัญหาหรือตอบคำถามมากกว่า สิ่งสำคัญคือภาษาอังกฤษต้องเด่นหรือได้ในระดับที่สามารถตอบโต้ได้ เรื่องของภาษาไม่ใช่เพียงแค่วิศวกร แต่สายงานอื่นก็ล้วนพิจารณาเรื่องภาษาก่อน

สำหรับงานวิศวกรยุคนี้ก็ไม่ได้จำกัดเพศแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน การที่เราจะเติบโตขึ้นได้นั้น เราต้องยอมรับในตัวของเราเองก่อนเลยเป็นอันดับแรก ถ้าเรายอมรับและเชื่อในตัวเอง การทำงานของเราก็จะมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เพื่อนร่วมงานก็จะยอมรับเราด้วยเช่นกัน อย่ากลัวที่จะทำ ถ้าเรายังกลัวก็ไม่มีทางก้าวต่อไปข้างหน้าได้เลย

วิศวกรหญิงจบใหม่ แนะว่าต้องเชื่อมั่นในตนเอง

การเริ่มต้นทำงานใหม่มีความท้าทายและมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมากมาย คุณอัจฉราพร เย็นทรวง เป็นหนึ่งคนที่เพิ่งเริ่มต้นงานในสายงานวิศวกร เธอทำงานในตำแหน่งวิศวกร NPI ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ บริษัท SVI

เธอบอกกับเราว่า ตอนที่เรียนเรื่องอุปสรรคหรือความลำบากของการเป็นผู้หญิงที่ต้องเรียนในสายนี้แทบไม่มีเลย เนื้อหาที่เรียนก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกท้อเลย เพราะเป็นสิ่งที่ได้เลือกมาแล้วว่าเราชอบจริง ๆ แต่ก็อาจจะมีความรู้สึกเหนื่อยบ้างเล็กน้อยในตอนเข้าวิชาปฏิบัติเท่านั้น

ขณะที่มุมมองต่อการเป็นผู้หญิงในสายวิศวกร จะมีความยากลำบากหรือเติบโตได้ยากหรือไม่นั้น เธอบอกว่าส่วนตัวแล้วคิดว่าอยู่ที่การพัฒนาตนเองและเห็นคุณค่าต่อตนเอง เพศยังมีส่วนในการทำงาน เพราะบางบริษัทก็มีการบอกคุณสมบัติตั้งแต่รับสมัครเข้าทำงานเลยว่ารับเฉพาะผู้ชายเท่านั้น อย่างไรก็ตามก็ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าจะรับมือและสามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคได้หรือไม่

เธอย้ำว่าไม่ได้รู้สึกว่าการเป็นผู้หญิงในสายงานนี้น่ากลัวหรือลำบากอะไรเลย เพราะคิดตั้งแต่แรกที่จะเข้ามาเรียนด้านนี้ เราคิดว่าชอบก็ลงมือทำเลยดีกว่า อยากให้คำแนะนำกับคนที่กำลังลังเลว่า ถ้าเราอยากจะทำอะไร ก็ลงมือทำไปเลยไม่ต้องคิดกังวลหรือกลัว ไม่ต้องสนใจกับคำพูดคนอื่น สุดท้ายแล้วต่อให้เราต้องเจอกับอะไร ก็เป็นสิ่งที่เราได้เลือกและได้ลองลงมือทำมา จะเป็นสิ่งที่เราไม่เสียใจภายหลัง

หลังจากได้ฟังเรื่องราวของสองวิศวกรหญิงทั้งสองท่าน ที่มีความแตกต่างกันในยุคสมัยและประสบการณ์ในการทำงาน พวกเธอต่างบอกว่าไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง การทำงานทุกอย่างต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เปลี่ยนมุมมองที่เป็นข้อจำกัดให้เป็นโอกาส กล้าที่จะก้าวข้ามและจัดการปัญหา

การเป็นผู้หญิงในสายงานวิศวกร สิ่งที่ควรทำคือการเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราทำได้ อย่าหยุดที่จะพัฒนาตัวเอง อย่ากลัวที่จะลงมือทำ ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราชอบ เราสามารถเรียนรู้ พัฒนาตนเองได้ตลอดเวลา ความเป็นชายหรือหญิงไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการทำงาน หากเราตั้งใจจริงและรักในงานที่ทำ เราก็สามารถเติบโตในสายงานที่เรารักได้อย่างแน่นอน

Reference & Bibliography

  • คุณธนพร อ่อนฉ่ำ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิศวกรอิเล็กทรอนิกส์ บริษัท SVI
  • คุณอัจฉราพร เย็นทรวง วิศวกร NPI ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ บริษัท SVI
  • บริษัท SVI. สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2564, จาก https://www.svi-hq.com
  • วิศวกรหญิงจบแล้วไปไหน. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2564, จาก https://medium.com/this-is-noon/วิศวกรหญิง-จบแล้วไปไหน-c18f447cc1a9
  • วิศวกรหญิงจบมาหางานยาก. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2564, จาก https://pantip.com/topic/34517158
  • เป็นผู้หญิงเรียนวิศวะดีไหม. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2564, จาก https://www.youtube.com/watch?v=NONvz_WkwNY
  • ขอขอบคุณภาพประกอบ Unsplash: Beautiful Free Images & Pictures www.unsplash.com

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CAX005 Arts of Storytelling ภาคการศึกษาที่ 1/2564 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ขจรจิต บุนนาค

Writer

นักศึกษาสาขาวิชาการผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์และประสบการณ์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ