พักหลังนี้คุณอาจเริ่มรู้สึกปวดหลังตา ผิวตาแห้ง หรือแม้แต่ปวดคอเจ็บแปลบ มากพอจะดึงสติให้รู้ตัวว่าเผลอจ้องจอมาหลายชั่วโมงแล้ว ทั้งดูซีรีส์ เล่นเกม อ่านนิยายออนไลน์ เรามักไม่รู้ตัวเลยว่าเวลาผ่านไปเร็วเสียยิ่งกว่าเร็ว แต่เพราะอะไรล่ะ ทำไมแค่สื่อธรรมดาบนจอถึงสามารถตรึงความสนใจเราให้อยู่กับตรงนั้นได้นานขนาดนี้ เราจะย่อยข้อมูลให้คุณติดตามได้ง่ายเอง

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักเจ้า ‘โดปามีน’ ตัวละครหลักที่เล่นบทบาทสำคัญในการ ‘ติดจอ’ ของเราเสียก่อน โดปามีนคือโมเลกุลสื่อประสาทตัวหนึ่งที่จะหลั่งออกมาทุกครั้งที่เราทำอะไรสำเร็จ เพื่อย้ำเตือนสมองว่า “ที่เราทำไป ดีนะ” มอบความสุขแก่เรา ให้เราจดจำช่วงเวลาแห่งความสำเร็จนั้นไว้ และจะได้กลับมาทำอีก และการ ‘จะได้กลับมาทำอีก’ นั่นเอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นการ ‘ติดจอ’

แล้วเจ้าโดปามีนกับการติดสื่อเกี่ยวข้องกันอย่างไร คงต้องถามกลับว่าคุณเคย ‘รู้สึกถึงความสำเร็จ’ อะไรจากการเล่นอินเตอร์เน็ต ไถโซเชียลมีเดีย หรือดูหนังดูซีรีส์หรือเปล่า ถ้าใช่ ความรู้สึกนั้นแหละคือสมองคุณที่กำลังหลั่งโดปามีน

ทั้งตอนที่เราอิ่มเอิบหลังอ่านนิยายออนไลน์จบ ตอนที่เราเล่นเกมผ่านด่านยากหิน รวมถึงตอนที่เราดูหนังถึงฉากตัวเอกปิดฉากเหล่าวายร้ายได้จั๋งหนับ มอบความสุขและความพึงใจให้ และหากเป็นไปได้ เราก็พร้อมจะทำอีก เพื่อจะได้รู้สึกดีแบบนั้นอีก

“แต่ก็เรื่องปกติไม่ใช่เหรอ เรารู้สึกพอใจก็จริง แต่ไม่ได้ถึงขั้นเสพติดนี่” คุณอาจคิดแบบนี้ในหัวตอนอ่านย่อหน้าก่อนจบ ซึ่งถูกต้องตามนั้น ไม่ได้ถึงขั้นเสพติด แต่สุดท้ายก็กลายเป็น ‘ช่องว่าง’ ให้ผู้ออกแบบสื่อเล่นกับระบบการหลั่งโดปามีน หวังจะเรียกความสนใจจากผู้บริโภคให้จ้องจอให้ได้นานที่สุด

ยกตัวอย่างเช่นเกมมือถือแนวตลาด ที่มักให้เรียงไอเทมเป็นแถวเดียวเพื่อทำลาย หรือเกม RPG ที่ชอบมอบของรางวัลให้มหาศาลเมื่อจบเควสต์ กลไกเหล่านี้นี่เองที่เรียกโดปามีนในสมองผู้เล่นให้หลั่งออกมา เมื่อเราได้รับรางวัล ไม่ว่าในรูปแบบไอเทมหรือค่าประสบการณ์ เราก็มักรู้สึกพึงใจ และพร้อมจะทำเควสต์ต่อไปหมายคว้ารางวัลเหล่านั้นมาอีก

ซึ่งผู้พัฒนาเกมล้วนรู้ดีกว่าผู้เล่นเสมอ ฉะนั้นถ้าพวกเขาต้องการให้เราจดจ่อกับเกมไปเรื่อย ตะลุยภารกิจแบบไม่หยุดหย่อน ที่เขาต้องทำก็มีเพียงมอบเควสต์ใหม่ทุกครั้งที่คุณจบเควสต์ พร้อมล่อใจด้วยของรางวัลที่มากขึ้น ในแต่ละครั้ง และการไล่ตามกลิ่นหอมหวนที่จะกระตุ้นความรู้สึก ‘พึงพอใจ’ ของเรานี่เอง ที่ทำให้เราเสพติดสื่อในที่สุด

แต่ถึงจะเสพติดขนาดไหน สุดท้ายเราก็เริ่มเบื่อ นั่นเพราะสมองเรามีสิ่งที่เรียกว่า ‘Dopamine Receptor’ ซึ่งหน้าที่ก็ตรงตามชื่อ คอยรับโดปามีนที่ถูกหลั่งให้ไหลเวียน กระตุ้นให้ร่างกายรับรู้ถึงความพึงใจ เมื่อ Receptor เหล่านี้รับโดปามีนบ่อยมากไปในช่วงเวลาหนึ่ง สมองจะตอบสนองโดยการ ‘ปิด’ Receptor บางส่วน เพื่อเตือนร่างกายว่า “โดปามีนเยอะเกินไปแล้วนะ เพลาลงบ้าง”

ฟังดูเป็นเรื่องดี แต่กับมนุษย์ยุคดิจิทัลอย่างเรากับส่งผลตรงข้าม แทนที่เราจะวางมือถือลงแล้วไปทำอย่างอื่น เรากลับทุ่มสมาธิมากกว่าเดิม เพราะเมื่อเริ่มรู้สึกว่ารางวัลที่ได้ ‘ไม่พอ’ เราก็จะทำเต็มที่เพื่อให้ได้มาเพิ่ม จนกว่าเราจะ ‘พอใจ’

เป็นเพราะกลไกตามธรรมชาติของสมองที่มีหน้าที่สั่งให้เราจดจำโมเมนต์ความสำเร็จนี่เองที่เป็นช่องว่างให้สื่อจูงเราสู่วังวนความพอใจไม่สิ้นสุด และด้วยข้อมูลที่ไหลเวียนมากมายบนโลกออนไลน์ในปัจจุบัน หากให้ห้ามตนเองตลอดเวลาคงไม่ไหว เพราะงั้นการตระหนักให้ได้ว่าเรากำลัง ‘เล่นมือถือหรืออุปกรณ์ดิจิทัลเกินเวลาหรือเปล่า’ จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ลองเริ่มก้าวเล็ก ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตรงนี้ด้วยการ ‘สัญญา’ กับตัวเองไว้ระหว่างเล่นมือถือ เช่น สัญญาว่าหลังดูซีรีส์ตอนนี้จบ จะลุกไปดื่มน้ำ ยืดแขนยืดขาแล้วค่อยกลับมาดูต่อ หรือสัญญาว่าหลังเล่นเกมจบตา จะออกไปเดินเล่นคลายเส้น แล้วค่อยหยิบจอยมาหวดต่อก็ยังไม่สาย แม้จะแลดูไม่มาก แต่ถือว่าเป็นแนวคิดที่ไม่เลวที่จะผละเราให้ออกจากจอ พักสายตาและสมองให้ผ่อนคลาย

Reference & Bibliography

  • The Game Theorist. (2557). Game Theory: Candy Crush, Designed to ADDICT. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2565, จาก https://bit.ly/3I14iAg
  • Team Lemonade. Here’s Why You Can’t Stop Looking at Your Phone. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565, จาก https://bit.ly/3I9iQ0y
  • Wikipedia. Dopamine. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2565, จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Dopamine
  • ขอขอบคุณภาพประกอบ Pexels: Free Stock Photos www.pexels.com
  • ขอขอบคุณภาพประกอบ Unsplash: Beautiful Free Images & Pictures www.unsplash.com

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา JR413 Newspaper Workshop, JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2564

Writer

นักฝัน นักพูด นักเขียน ผู้รักการถ่ายทอดอารมณ์ในหลากรูปแบบ แม้เขาจะเพิ่งก้าวสู่วงการนักเขียนเพียงไม่ถึงปี แต่อย่างไรโลกนี้ก็ยังมีอะไรให้เขาได้เรียนรู้อีกมากนัก