‘ผู้อำนวยการฝ่ายอาคาร ฯ’ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยแนวทางการพัฒนาพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน ตอบรับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการปรับภูมิทัศน์มหาวิทยาลัยให้น่าอยู่ สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้นักศึกษา
‘มหาวิทยาลัยกรุงเทพ’ จากอดีตจนถึงปัจจุบันปกคลุมล้อมรอบไปด้วยต้นไม้ ธรรมชาติสีเขียว สบายตา กว่าจะมาถึงอย่างวันนี้ต้องผ่านการทำนุบำรุงรักษาอย่างดี ต้นไม้และดอกไม้ล้วนช่วยสร้างบรรยากาศที่ร่มรื่น เป็นร่มเงาให้แก่นักศึกษา ก้าวแรกของผู้ที่มาเยือน จะสังเกตเห็นพื้นที่สีเขียวริมตลอดแนวทางเดิน
บ้านกล้วย ร่วมเปิดวิสัยทัศน์ มุมมองของผู้อำนวยการฝ่ายอาคารและสถานที่ประจำมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เกี่ยวกับเรื่องการจัดการและการดูแลพื้นที่สีเขียว สร้างความสดชื่น สบายตา สบายใจให้กับนักศึกษา ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษา
อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ สินธุสังข์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาคารสถานที่และภูมิทัศน์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการมาเป็นระยะเวลากว่า 16 ปี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ทุกวันนี้มีการควบคุมดูแลพื้นที่สีเขียว ต้นไม้ต้องมีรดน้ำ ปลูกเสริมตัดแต่ง ต้นไม้ที่เป็นไม้ทรงสูง เป็นไม้ต้นใหญ่ใน 1 ปี ก็จะมีกิ่งแขนง เราจะดูแลตัดแต่งไม่ให้กิ่งไม้ใหญ่เกินไป เพื่อที่เวลาพายุเข้าจะได้ไม่ล้ม”
เมื่อถามถึงการจัดสรรทรัพยากรบุคคล อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยมีนักการชุดเขียว ตอนนี้ทั้งหมด ประมาณ 25 คน โดยแบ่งเป็น 2 ชุด ซึ่งถือว่าเพียงพอเพราะงานสวนไม่ต้องทำทุกวัน การตัดหญ้าทั้งมหาวิทยาลัยจะใช้เวลาในการตัดประมาณ 7 วัน อย่างสนามฟุตบอล ปกติตัดสัปดาห์ละครั้ง ตัดทุกวันพฤหัสบดี ถ้ากรณีมีแข่งขัน แต่ดูแล้วหญ้าไม่โอเค ก็จะมีรอบพิเศษเพิ่มเข้าไป ต้องดูตามการใช้งาน”
อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์อธิบายต่อว่า ปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยไม่ได้ปลูกต้นไม้ใหญ่เพิ่ม แต่จะมีการปลูกแซมบ้าง ในกรณีที่ต้นไม้หมดอายุ หรือโดนวัชพืช ต้นไม้ที่แซมจะค่อย ๆ ขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลาสัก 10 – 15 ปี โดยพอต้นไม้ใหญ่ที่อยู่อายุเยอะมาก ก็อาจจะหักโค่น ต้นไม้อื่น ๆ จะโตขึ้นมาทันพอดี ส่วนไม้เล็กก็เวียนตามเทศกาล เอาที่มีสีสันมาแล้วแต่ความเหมาะสม
มหาวิทยาลัยให้ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก ตั้งแต่แรกเริ่มที่จำได้ เมื่อเข้ามาทำงานในฐานะผู้อำนวยการ ฯ ก็มีความเขียวครึ้มจากต้นไม้อย่างนี้มานานแล้ว ท่านอาจารย์สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกท่าน รักต้นไม้หมดทุกคน และท่านอยากให้ภาพของมหาวิทยาลัยที่ออกมาเป็นภาพในลักษณะนี้ อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์เล่าย้อนความให้ฟัง
การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมช่วยเติมเต็มชีวิตการเรียนรู้ของนักศึกษา และยังช่วยสอนให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมไปในตัว อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์เผยว่าเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจมากคือมหาวิทยาลัยไม่เคยปล่อยน้ำเสียออกนอกมหาวิทยาลัย ระบบสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อย่างเช่น ระบบรดน้ำต้นไม้ทั้งหมดจะใช้น้ำที่ทำการบำบัดแล้วทั้งสิ้น ไม่ได้ใช้น้ำประปา เป็นการ Reuse นำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม
ระบบบำบัดจะทิ้งน้ำ โดยบำบัดไปแล้วรอบหนึ่ง แล้วจึงทิ้งน้ำลงสู่คูน้ำ โดยคูน้ำจะเชื่อมถึงกันแล้วมีโรงบำบัดรวมอีกรอบ จะทำการหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ จากนั้นมีการเอาน้ำไปผ่านตรงสระเรือนไทย จะมีเครื่องเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ เพราะน้ำของเราไม่ใช่น้ำในแม่น้ำเป็นระบบแบบหมุนเวียนจึงต้องมีการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำอยู่ตลอด เพราะน้ำเสียมีค่าออกซิเจนที่ต่ำ
วิธีการเอาน้ำเข้า คือ ใช้น้ำพุตรงสระเรือนไทย น้ำที่พุ่งขึ้นมาไม่ได้ดูดมาจากน้ำในสระ แต่เป็นการเอาน้ำจากคูน้ำส่งเข้าไปในน้ำพุ เติมอากาศลงมาแล้วก็ไหลออกไปสู่ที่ขอบบริเวณอาคาร A4 ด้านหลังจะมีตัวปั๊มน้ำ หากไม่ได้สูบไปสระสามเหลี่ยมด้านหน้า น้ำก็จะกลับลงคูเข้าระบบเหมือนเดิมก็วนไปวนมา แล้วคูน้ำก็ยังเชื่อมทะลุมาถึงสระน้ำด้านหลังมหาวิทยาลัย หากถามว่าน้ำสะอาดเหมือนน้ำประปาไหม ในการอุปโภคบริโภคยังไม่สามารถใช้ได้ แต่ปลาและสิ่งมีชีวิตใต้น้ำอยู่ได้อย่างแน่นอน
การดูแลต้นไม้ ย่อมมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นตามปริมาณของต้นไม้ อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์กล่าวว่า “ด้านค่าบำรุงรักษา ระบุเป็นตัวเลขชัดเจนไม่ได้ เพราะการบำรุงรักษาหลัก ๆ จะหนักไปที่ ค่ายา ค่าปุ๋ย ค่าที่ต้องปรับปรุงถนน อย่างปุ๋ยก็มีทำเองบ้าง รวมถึงค่าจ้างพนักงานด้วย”
ด้านอนาคตพื้นที่สีเขียวของมหาวิทยาลัย อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ได้เผยว่า จะมีการพัฒนาพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่คิดไว้ คือ ต้องการให้นักศึกษาหรือคนในมหาวิทยาลัยเข้าไปใช้พื้นที่สีเขียวให้เพิ่มมากขึ้น โดยจะสังเกตเห็นว่าจะเริ่มมีเก้าอี้สีขาวไปตั้งตรงสวนต่าง ๆ บ้าง เอามาตั้งเพื่อให้เด็กนั่งผ่อนคลาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากไม่ได้ใช้ก็จะกลายเป็นขยะไร้ค่า อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์เน้นย้ำว่า “การจัดสวนไม่ได้มองแล้วสวยอย่างเดียว แต่ต้องเข้าไปใช้ด้วย”
อีกทั้งผู้อำนวยการฝ่ายอาคาร ฯ ยังเสริมอีกว่า อนาคตมีโครงการที่จะสร้างลู่วิ่ง ทำทางวิ่งบริเวณรอบสระน้ำเรือนไทย เนื่องจากปีหลัง ๆ นักศึกษาเริ่มนิยมวิ่งกันมากขึ้น โดยคาดว่าจะสร้างในช่วงปิดเทอมปีใหม่ที่กำลังจะถึงนี้ “ซึ่งข้างหน้าเป็นทางเท้าเหมือนเดิม แต่จะทำให้วิ่งได้ด้วย เพราะถ้าเป็นทางตัวหนอน มองว่ามันอันตราย มีโอกาสล้ม จึงตั้งใจจะทำเป็นปูนเรียบ เสริมสร้างบรรยากาศในมหาวิทยาลัยให้ดี ตลอดทางวิ่งจะมีการติดไฟเป็นทางยาว ให้แสงสว่างที่เพียงพอ เพื่อความปลอดภัยแก่นักศึกษา” การจัดการพื้นที่ในมหาวิทยาลัยจึงเป็นการส่งเสริมสุขภาพกายใจและทำให้นักศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดี
ขณะที่มุมมองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของนักศึกษา คุณจันทรัตน์ เหมาะสมสกุล นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า “ส่วนตัวแล้วเข้าไปใช้พื้นที่สีเขียวตรงทางเดินหน้าตึก A7 มากที่สุด เพราะมีความร่มรื่น น่านั่งพักผ่อน อีกทั้งสนามหญ้าคณะนิเทศ ฯ ใช้ทำกิจกรรมของชมรม และชอบไปถ่ายรูปตรงอุโมงค์ต้นไม้หลังตึกฟิล์ม เพราะสดชื่นและสบายตามาก ๆ”
เมื่อถามเพิ่มเติมอยากให้ปรับปรุงส่วนใด จันทรัตน์ กล่าวว่า “อยากให้ปรับปรุง เรื่องของต้นไม้บริเวณสระหลังมหาวิทยาลัย เพราะเป็นสระขนาดใหญ่ แต่ไม่ค่อยมีต้นไม้รอบ และอยากเห็นบริเวณตรงนั้นร่มรื่นเหมือนกับหน้ามหาวิทยาลัยบ้าง”
หากจะกล่าวถึงต้นไม้และธรรมชาติภายในมหาวิทยาลัย ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ร่มรื่น อุดมสมบูรณ์ สมกับความเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ที่ไม่ว่าจะอยู่ในบริเวณไหนของมหาวิทยาลัยก็ทำให้รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการเรียน การทำงาน อยากจะให้ความอุดมสมบูรณ์นี้คงอยู่กับ ‘มหาวิทยาลัยกรุงเทพ’ ตลอดไป
Additional Information
ผลงานเขียนชิ้นนี้