สมรสเท่าเทียม แนวคิดการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ที่มนุษย์คนหนึ่งอยากสร้างครอบครัวหรือมีคู่ชีวิต โดยได้รับสิทธิพื้นฐานทางกฎหมาย อย่างไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเพศ

เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับการสมรสเท่าเทียมและมุมมองต่อทิศทางสังคมไทย หากอนาคตสมรสเท่าเทียมถูกนำมาใช้ในชีวิตจริง ทั้งในภาคสังคมที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น หรือไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงในภาคกฎหมายที่อาจส่งผลให้ทั้ง LGBTQ+ และ Straight เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ ไม่ใช่ใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

เจาะลึกการสมรสแบบเท่าเทียม

สมรสเท่าเทียม คือ สิทธิมนุษยชน สิทธิการก่อตั้งครอบครัว หรือความเรียบง่ายที่มนุษย์คนหนึ่งจะสร้างครอบครัวโดยไม่มีข้อจำกัด

#สมรสเท่าเทียม เคยติดเทรนด์ทวิตเตอร์ระยะหนึ่ง โดยมีสาระสำคัญ คือ การแก้ไขถ้อยคำในหลายมาตราที่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) บัญญัติว่า “สามีและภรรยา” เป็น “คู่สมรส” มีการปรับถ้อยคำจากคำว่า “ชาย” หรือ “หญิง” เป็น “บุคคล” เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสมรสระหว่างบุคคล

มีการกำหนดให้บุคคลทุกคนได้การรับรองสิทธิต่าง ๆ เช่น สิทธิในการหมั้น สิทธิในการจดทะเบียนสมรส สิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส ซึ่งการแก้ไขนี้ จะทำให้สิทธิของบุคคลทุกคนเกิดความเท่าเทียม และได้รับการรับรองและคุ้มครองทางกฎหมาย สอดคล้องกับหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายและหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ.ดังกล่าวถูกเสนอโดย ส.ส.ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ จากพรรคก้าวไกล ซึ่งปัจจุบันได้เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ขั้นตอนพิจารณาของกฤษฎีกาและเสนอต่อ ครม.อีกครั้ง เพื่อให้เกิดเป็น “สมรสเท่าเทียม”

แรกเริ่มเดิมทีสมรสเท่าเทียมเกิดจากภาคประชาชน ที่มีคู่หญิงรักหญิงไปจดทะเบียนสมรสซึ่งถูกปฏิเสธและไม่ได้รับการจดทะเบียน เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ระบุว่า การสมรสจะทำได้ระหว่างชายและหญิงเท่านั้น

ดังนั้น จึงเป็นการขับเคลื่อนของกลุ่มภาคประชาชนที่กำลังพยายามบอกกับสังคมว่า กฎหมายสมรสในปัจจุบันเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งคือจุดเริ่มต้นในภาคประชาชนก่อนที่จะส่งต่อไปยังภาคกฎหมาย

คุณธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้รับฟังปัญหาของประชาชนและกลับมาทำการบ้าน ก่อนจะพัฒนาร่าง พ.ร.บ.ให้สมบูรณ์ และยื่นเข้าสู่สภาในที่สุด

4 สาระสำคัญ การสมรสเท่าเทียม มีดังนี้

การแก้ไขรายละเอียดเกี่ยวกับการสมรส จากเดิมที่ระบุ ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา เป็น ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส

ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา เป็น ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส รวมถึงมรดกของผู้ตายที่มีคู่สมรส โดยได้ขอแก้ไขถ้อยคำในหลายมาตราที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า สามีและภรรยา เป็น คู่สมรส

การสมรสให้บุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศ ซึ่งมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ สามารถสมรสกันได้ หรือหากมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ สำหรับเงื่อนไขการสมรสยังคงเดิม แต่มีการปรับถ้อยคำจาก ชายหรือหญิง เป็น บุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสมรสระหว่างบุคคล

การหมั้น แก้ไขรายละเอียดจากเดิมที่ระบุ ชายและหญิง ได้กำหนดศัพท์ขึ้นใหม่เป็น ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น แทน

มายาคติที่มีต่อเรื่องเพศในสังคมไทย

สังคมไทยในปัจจุบันมีความซับซ้อนและขัดแย้งอยู่มาก แม้ว่าสังคมจะมีคนบางกลุ่มยอมรับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ความชิงชังและอคติสำหรับคนบางกลุ่มที่มีต่อ LGBTQ+ ยังปรากฏให้เห็น อีกทั้งยังมีการเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้เนื่องด้วยหลากหลายเหตุผล ซึ่งเกิดขึ้นทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

เราขอตั้งข้อสังเกตในประเด็นต่อไปนี้

สังคมไทยมองว่า LGBTQ+ เป็นภัยคุกคามทางศาสนา เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ซึ่งมีมุมมองเชิงลบต่อวิถีทางเพศและอัตลักกษณ์ทางเพศที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ โดยมองว่าเป็นกรรมจากการทำบาปในชาติที่ผ่านมาหรือเป็นการขาดความสามารถในการควบคุมความต้องการทางเพศ

สังคมไทยมองว่ากลุ่มคน LGBTQ+ เสี่ยงต่อการติดโรคทางเพศสัมพันธ์และทำให้เกิดการแพร่กระจายโรคติดต่อ ได้แก่ เอชไอวี (HIV) จากการศึกษาค้นพบข้อมูลหลักฐานอย่างชัดเจนว่าชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสองมีอัตราการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) สูง

สังคมไทยมองว่า ความปลอดภัยในสังคมจะลดน้อยลง เพิ่มอัตราการก่อเหตุอาชญากรรม ยกตัวอย่าง ห้องน้ำสาธารณะในกรณีที่มีการสร้างขึ้นเพื่อความหลากหลายทางเพศ

สังคมไทยมองว่า หากสมรสเท่าเทียมถูกนำมาใช้ในชีวิตจริงจะส่งผลต่อโครงสร้างจำนวนประชากรของประเทศ เนื่องจากจะทำให้จำนวนประชากรลดลง เพราะสามารถแต่งงานกับเพศเดียวกันได้และส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

สังคมไทยถูกหล่อหลอมให้มีแนวคิดว่ากลุ่มคน LGBTQ+ เป็นกลุ่มคนหัวรุนแรง นิยมใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา ถูกมองว่าเป็นพวกหมกมุ่นทางเพศ เกี่ยวพันกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงการก่อเหตุอาชญากรรม

กลุ่ม LGBTQ+ ถูกมองว่าเป็นผู้ที่มีวิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศที่ถือว่าไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานของสังคม จึงทำให้กลุ่มคน LGBTQ+ ต้องเผชิญหน้ากับการเป็นที่ยอมรับจากคนในครอบครัวและคนในสังคม เนื่องจากไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานของสังคมทำให้ชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลเสื่อมเสีย

สมรสเท่าเทียม แท้จริงแล้วคือผลประโยชน์ของทุกคน!

สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ สู่ความเสมอภาคอย่างแท้จริง เช่น สิทธิในการหมั้น สิทธิในการจดทะเบียนสมรส สิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิในการเป็นทายาทโดยธรรม การรับบุตรบุญธรรม และการรับมรดกจากคู่สมรส ซึ่งการแก้ไขนี้ จะทำให้สิทธิของบุคคลทุกคนเกิดความเท่าเทียม และได้รับการรับรองและคุ้มครองทางกฎหมาย สอดคล้องกับหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายและหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวเป็นของทุกคน โดยคู่สมรสซึ่งเป็นเพศเดียวกันและจดทะเบียนสมรส สามารถรับเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ และให้มีสิทธิหน้าที่ระหว่างคู่สมรสด้วยกัน ระหว่างบิดา มารดา บุตร แล้วแต่กรณีตามบรรดากฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบบัญญัติ ซึ่งรวมไปถึงการได้รับสิทธิ สวัสดิการต่าง ๆ ในการสมรสอีกด้วย เช่น สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ สิทธิในการลดหย่อนภาษีบุตรบุญธรรม สิทธิในการยินยอมในการรักษาพยาบาล เช่น การผ่าตัดฉุกเฉิน รับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการรักษา คนเหล่านี้จะได้รับสิทธิที่เป็นครอบครัวอย่างแท้จริง

รื้อชุดความคิดเก่า ไม่ผลักภาระสินสอดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าคู่สมรสจะเป็นเพศใด ย่อมมีสิทธิรับมรดกของคู่สมรส แม้อีกฝ่ายจะไม่ได้ทำพินัยกรรมก็ตาม การหมั้นจะสมบูรณ์ได้ต่อเมื่อมีการมอบของหมั้น สำหรับเป็นหลักฐาน ป.พ.พ.เดิมกำหนดให้ฝ่ายชาย ซึ่งหมายถึงตัวชายคู่หมั้นรวมไปถึงบิดามารดาของชายคู่หมั้น ต้องมอบของหมั้นให้แก่ฝ่ายหญิง เมื่อหมั้นแล้วของหมั้นนั้นจะตกเป็นของฝ่ายหญิง

สำหรับร่างแก้ไขป.พ.พ.กำหนดให้ ฝ่าย ‘ผู้หมั้น’ ซึ่งหมายถึงตัวผู้หมั้นเองไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรก็ตาม รวมไปถึงบิดามารดาของผู้หมั้น ส่งมอบของหมั้นแก่ ‘ผู้รับหมั้น’ ของหมั้นตกเป็นของผู้รับหมั้น โดยเหตุที่ไม่ได้มีถ้อยคำที่จำกัดเพศ ย่อมหมายความว่าคู่หมั้นมีสิทธิที่จะเลือกรับของหมั้นแต่เพียงฝ่ายเดียวก็ได้ เพื่อให้เกิดการหมั้นตามกฎหมาย หรือหากไม่อยากเป็นฝ่ายรับของหมั้นแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่อยากแลกเปลี่ยนของหมั้นกัน ก็สามารถทำได้

สิทธิที่ดีมักจะตามมาด้วยเศรษฐกิจที่ดีเสมอ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งหากมีการแก้ไขที่เกิดขึ้นจริง กลุ่ม LGBT+ มีสิทธิในการมีครอบครัวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น สามารถกู้ซื้อบ้านด้วยกัน ทำประกันชีวิต หรือในเรื่องการลดหย่อนภาษี การรับบุตรบุญธรรม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะสามารถปลดล็อคศักดิ์ศรี สิทธิ และสวัสดิการ

“หากรัฐมองเห็นโอกาสตรงนี้ รัฐจะเห็นเม็ดเงินที่สะพัด ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ในเมื่อเวลาคนสามารถสร้างครอบครัวด้วยกันได้ เขาจะลงทุนกับสิ่งที่เขารัก ไม่ว่าจะบ้าน รถ ความรัก ที่จะลงทุนด้วยกัน ถ้ารัฐเคารพสิทธิมนุษยชน จะสามารถปลดล็อคในเรื่องสิทธิที่เท่าเทียมกัน และเรื่องเศรษฐกิจที่เติบโตไม่เต็มศักยภาพ”- คุณธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล

การยกระดับความก้าวหน้าทางกฎหมายของไทย ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้กับทุกคนได้เข้าถึง สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) และอนุสัญญาอีกหลายฉบับ เช่น แผนการพัฒนาโลกเพื่อความยั่งยืน (SDGs), กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR), กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR), อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี (CEDAW), อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC)

ทั่วโลกกำลังเปิดรับการสมรสอย่างเท่าเทียม

หลายประเทศทั่วโลกกำลังขับเคลื่อนเรื่องสมรสเท่าเทียม

รู้หรือไม่ ? ประเทศไหนบ้างที่คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสแบบถูกต้องตามกฎหมายได้ ซึ่งในปัจจุบันมีประเทศและดินแดนปกครองตนเองที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายถึง 30 ประเทศ โดยเนเธอร์แลนด์ถือเป็นประเทศแรกที่เริ่มใช้ในปี 2554 ก่อนจะมีอีกหลากหลายประเทศประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวในเวลาต่อมา

30 ประเทศที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้แก่ 1.เนเธอร์แลนด์ 2.สวีเดน 3.ฝรั่งเศส 4.ไอร์แลนด์ 5.เยอรมนี 6.เบลเยียม 7.โปรตุเกส 8.อรุกวัย 9.กรีนแลนด์ 10.ออสเตรเลีย 11.สเปน 12.ไอซ์แลนด์ 13.นิวซีแลนด์ 14.โคลอมเบีย 15.เมอร์บิวดา 16.แคนาดา 17.อาร์เจนตินา 18.สหราชอาณาจักร 19.ฟินแลนด์ 20.แอฟริกาใต้ 21.เดนมาร์ก 22.ลักเซมเบิร์ก 23.หมู่เกาะแฟไร 24.นอร์เวย์ 25.บราซิล 26.สหรัฐอเมริกา 27.มอลตา 28.ออสเตรีย 29.ไต้หวัน 30.คอสตาริกา

เปลี่ยนแปลงด้วยกฎหมายให้เป็นรูปธรรม

สมรสเท่าเทียม คือ สิทธิมนุษยชน สิทธิการก่อตั้งครอบครัว และความเรียบง่ายที่มนุษย์คนหนึ่งจะสร้างครอบครัวโดยไม่มีอะไรมาจำกัด

ในฐานะของผู้แทนราษฎร เราต้องรับฟังเสียงประชาชนอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อประชาชนมีการขับเคลื่อนและพยายามบอกกับสังคม หรือบอกกับเราว่ากฎหมายการสมรสในปัจจุบันมันเป็นการเลือกปฏิบัติ เราจึงกลับไปทำการบ้าน นำร่าง พ.ร.บ.เดิมที่มีอยู่มาพัฒนาให้สมบูรณ์ และยื่นเข้าสู่สภา

เมื่อกฎหมายดังกล่าวถูกยื่นเข้าสู่สภา จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและหน่วยงานของรัฐ จึงมีการเข้ามาแสดงความคิดเห็นกว่า 54,400 คน ดังนั้น กฎหมายนี้ถือว่าเป็นกฎหมายที่มีคนให้ความสนใจมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมือง

สำหรับทิศทางของความคิดเห็นจากภาคประชาชน ถือว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี ต้องยอมรับว่าความหลากหลายทางเพศถูกพูดถึงมากในช่วง 5 ปีหลัง เพราะ มีการขับเคลื่อนผ่านประเด็นต่าง ๆ แต่ก็มีข้อโต้แย้งที่เรารู้กันอยู่แล้ว เช่น ศาสนาและความเชื่อ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราโต้แย้งได้ เพราะว่าเรื่องศาสนาเป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล เขาจึงไม่สามารถบังคับให้เราเชื่อเหมือนเขาได้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เราต้องเคารพซึ่งกันและกัน

ตอนนี้สมรสเท่าเทียมที่ดูเหมือนเงียบหาย ความจริงแล้วมันไม่ได้หายไปไหน แต่กำลังบรรจุอยู่ในวาระการประชุมของสภา เป็นเหมือนกฎหมายที่กำลังต่อแถวยืนรอคิวและพิจารณากันไปตามวาระ เพราะฉะนั้นถามว่าเป็นปัญหาอะไรไหม คิดว่ากำลังไปได้ดีต่างหาก

หากในอนาคตสมรสเท่าเทียมถูกนำมาใช้จริง คาดว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปมาก ส่วนแรกสังคมเราจะมีความสุขมากขึ้น ส่วนที่สองเราจะได้การยอมรับจากนานาชาติ เพราะเราได้ยอมรับความเสมอภาคทางเพศ ไม่มีอคติกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และส่วนที่สามเศรษฐกิจจะดีขึ้น แน่นอนว่าเวลาคนที่สมรสกัน เขาจะลงทุนในสิ่งที่เขารัก ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือลงทุนกับครอบครัว ซึ่งมีข้อมูลอ้างอิงจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเศรษฐกิจของเขาดีขึ้นประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์

“รู้สึกขอบคุณที่เรามีความเห็นอกเห็นใจกัน ที่ทุกท่านให้ความยอมรับให้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ มันมีค่าสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ สำหรับคนที่ไม่เห็นด้วย สิ่งที่อยากจะฝากคือ เราเคารพทุกความเชื่อ ซึ่งความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามา เราเป็นเรา I am what I am เพราะฉะนั้นเราก็มีสิทธิที่จะสร้างครอบครัวของเราด้วยกัน”

คุณธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล

เคารพในตัวตนของกันและกัน

เพศไม่ใช่ตัวชี้วัดความผิดแปลกของชีวิตคู่ อยากให้มองว่า คนสองคนแค่อยากใช้ชีวิตคู่กันก็พอ

เราคิดว่าสมรสเท่าเทียมจะส่งผลดีกับสังคมไทย เพราะในการแต่งงานปัจจุบันผู้ชายจะถูกปิดกั้นด้วยคำว่าสินสอด แต่ถ้ามีสมรสเท่าเทียม จะทำให้เพิ่มอัตราการจดทะเบียนสมรสได้มากขึ้น ทำให้คนกลุ่มหนึ่งสามารถสร้างครอบครัวได้มากขึ้น แต่อาจจะเกิดผลเสียในช่วงแรกเพราะะมีคนบางกลุ่มไม่ยอมรับ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเสียงพวกนั้นจะตายไป

เราไม่รู้ว่ามันจะเร็วหรือช้าแค่ไหน แต่เมื่อใดที่สังคมไทยสามารถปรับตัวกับสิ่งเหล่านั้นได้ พร้อมทั้งส่งเสริมกลุ่มคน LGBTQ+ ให้ได้แสดงความสามารถ มีปากมีเสียงมากยิ่งขึ้น ศักยภาพส่วนนี้อาจถูกนำมาเพื่อพัฒนาประเทศ สร้างชุดความคิดที่ถูกต้องที่สุดหรือค่านิยมใหม่ที่ดีในการยอมรับของทุกคน

“สำหรับกลุ่มคนที่ยังปิดบังตัวเอง เราอยากให้คุณเชื่อในตัวเองและยอมรับตัวเอง ทำลายความคิดที่ว่าคุณเป็นตัวประหลาด เพราะสักวันหนึ่งในอนาคต ทุกคนจะพร้อมยินดีกับสิ่งที่คุณเป็น”

แพทเม่-พงศภัค โชคดี นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ

การเลือกมีคู่ชีวิตไม่ควรจำกัดด้วยกรอบของเพศ

เราเห็นด้วยกับสมรสเท่าเทียม เพราะถ้าไม่มีกฎหมายข้อนี้มารองรับ กลุ่มคน LGBTQ+ จะมีปัญหาในหลายอย่างตามมา เช่น มรดกที่สร้างร่วมกัน หรือแม้แต่เรื่องการเซ็นเอกสารรับรองเวลาเจ็บป่วย การเป็นคนรักกันก็มักอยากสร้างอะไรหลายอย่างร่วมกันอยู่แล้ว เพียงแต่ติดที่กฎหมายไม่รองรับ ถ้ามีสมรสเท่าเทียมเข้ามาน่าจะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้มากยิ่งขึ้น

เราคิดว่าถ้าในอนาคตสมรสเท่าเทียมถูกนำมาใช้สังคมไทยจะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนะ เพราะถ้าสมรสเท่าเทียมถูกนำมาใช้ในชีวิตจริง มันก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับกฎหมายการสมรสปกติ

ทำไมเราจะต้องไม่ยินดีล่ะ ? ในเมื่อกฎหมายข้อนี้มันแสดงให้เห็นถึงเสรีภาพทางด้านร่างกายและจิตใจของคนกลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ถือว่าเป็นประชาชนคนไทยเหมือนกับทุกคนในประเทศนี้

“ถ้าคุณกำลังไม่ยอมรับกฎหมายข้อนี้ คุณคงต้องกลับไปถามตัวเองแล้วว่า กำลังเดือดร้อนตรงไหนหรือเดือดร้อนอย่างไรกับกฎหมายข้อนี้ ? ถ้าคำตอบคือไม่เดือดร้อน ก็อย่าไปจำกัดสิทธิเสรีภาพคนอื่นเลย เราทุกคนเดินทางมาถึงศตวรรษที่ 21 แล้ว ควรให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเพศไหนก็ตาม”

จิ๊บ-วนิดา สุมะนานนท์ นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ

สิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิต

เป็นเรื่องที่ดีที่สังคมเปิดกว้าง แต่ความจริงแล้วมันก็ไม่เชิงหรอก เพราะจริง ๆ สังคมไม่ควรปิดกั้นตั้งแต่แรก สังคมไม่ควรแบ่งเพศสภาพตั้งแต่แรกแล้ว

เราเห็นด้วยกับสมรสเท่าเทียมนะ เพราะทุกวันนี้เราใช้ชีวิตแบบไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้เท่าไหร่ เอาแต่คิดว่ามันยากและเป็นไปไม่ได้ แต่พอมีคนออกมาเรียกร้อง มันเลยทำให้เราเปลี่ยนความคิด ‘ทั้ง ๆ ที่มันเป็นสิทธิของเรา ทำไมเราต้องทำงานหนักเพื่อจ่ายภาษีเท่ากับผู้หญิงผู้ชาย แต่สิทธิที่ได้รับทำไมมันน้อยกว่าหรือแทบไม่ได้เลย’

LGBTQ+ ไม่ใช่คนแปลก พวกเราเป็นมนุษย์ เป็นผู้ชายเป็นผู้หญิงเหมือนกัน เราแค่ต้องการสิทธิเสรีภาพในสังคม เราขอเป็นกำลังใจให้ LGBTQ+ ทุกคน และคนที่มีส่วนร่วมในการเรียกร้องสิทธิขับเคลื่อน อยากให้สู้ไปด้วยกันจนกว่าจะประสบความสำเร็จ

“ถ้าวันหนึ่งมันสำเร็จ เมื่อเราย้อนกลับมามองสิ่งที่เราต่อสู้กันมา มันจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามาก ๆ”

อัง-ประภัสสรา อุ่นแก้ว

ทุกคนควรเท่าเทียมกัน

การที่ประเทศไทยมีการพูดถึงเรื่อง LGBTQ+ เพิ่มมากขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีเลย แม้จะยังไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซนต์ เพราะสื่อและผู้ใหญ่หลายคนในประเทศยังมอง LGBTQ+ เป็นตัวตลกอยู่ แต่มันก็จะนำไปสู่การพัฒนาเรื่องทัศนคติทางเพศให้กับสังคมในอนาคตได้

เราเป็นอีกหนึ่งคนที่เห็นด้วยกับ สมรสเท่าเทียม เพราะมันคือความก้าวหน้าที่แท้จริง อะไรที่มีเรื่องของกฎหมายเข้ามาเกี่ยว มันแสดงให้เห็นว่าประเทศหรือสังคมนั้นเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศแบบ Officially และคนกลุ่มนี้ก็จะได้รับผลประโยชน์ที่เขาควรได้ในฐานะพลเมืองด้วย

ต้องบอกว่าการเรียกร้องหรือการเคลื่อนไหวทางสังคมมันไม่เคยง่าย ต้องใช้เวลาและความอดทนกว่าจะมีอะไรเปลี่ยน อยากให้ใจเย็น สม่ำเสมอ และยึดถืออุดมการณ์แห่งประชาธิปไตยไว้

“ขอฝากให้ทุกคนพิจารณาเรื่องนี้ให้ถี่ถ้วน มองถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนให้เท่ากัน ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปมาก เราต้องยอมรับว่าเทรนด์การเดินหน้าเรื่องมนุษยธรรมและความเท่าเทียมกำลังมา ถ้าไม่อยากให้ประเทศล้าหลัง ก็ควรเข้าใจเรื่องพวกนี้”

บอย-องค์กร เขียววิชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์

การที่รัฐบาลเห็นคุณค่าในความรักของคนกลุ่มนี้ อาจจะช่วยทำให้คนเปิดกว้างเรื่องเพศมากขึ้นอีก พอคนในสังคม Normalize กับเรื่องนี้ คนที่เป็น LGBTQ+ อาจจะเปิดเผยตัวตนของตัวเองมากขึ้น อาจจะกล้าทำในสิ่งที่พวกเขาไม่กล้ามาก่อน และมั่นใจว่าเรื่องนี้อาจจะทำให้เขารู้สึกว่าประเทศนี้ยังมีหวังและยังหาความสุขได้อยู่

“การที่เขาจะเป็นเพศอะไร มันเป็นเรื่องของเขาค่ะ การที่คุณไม่ยอมรับ นั่นเป็นปัญหาของคุณ ไปแก้ที่ตัวเองนะคะ”

แจน-ฐิติกานต์ สัตยาภักดีวงศ์ ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

กฎหมายต้องให้ความสำคัญกับคนทุกคน

เรามองว่าสมรสเท่าเทียมไม่ได้สร้างผลกระทบอะไรกับหญิงและชายให้แตกต่างไปจากเดิมมากนัก เพราะฉะนั้นเราคิดว่าสมรสเท่าเทียมเป็นอะไรที่ตอบโจทย์ เพราะสามารถทำให้กลุ่มคน LGBTQ+ มีบทบาททางกฎหมายเท่าเทียมกับทุกคน

ถ้าสมรสเท่าเทียมถูกนำมาใช้ในชีวิตจริง คงต้องใช้เวลานานในการตัดสินว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน อาจส่งผลให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง ไม่มีใครรู้…จนกว่าจะได้ใช้กฎหมายข้อนี้จริง ๆ

สมรสเท่าเทียม อาจเป็นสิ่งที่ทำให้คนกลุ่ม LGBTQ+ ได้มีสิทธิเท่าเทียมกับทุกคนอย่างเสมอภาค ไม่มีใครได้หรือเสียผลประโยชน์ไปมากกว่าใคร “เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความชอบของใครได้ แต่เราเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐควรทำคือการทำให้กฎหมายรองรับกับประชาชนทุกคน”

หวาน-กรรณิกา ทับมณี

เปิดใจ ยอมรับ และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

โลกมันเดินทางมาไกลแสนไกล มาจนถึงจุดที่คนสองคนรักกันตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน มันเลยทำให้เรามองว่า เมื่อไหร่ก็ตามเรายังพูดว่า “ทุกคนควรเท่าเทียมกัน” มันก็คือ ‘จบ’ เราไม่ต้องมานั่งคิดว่าผู้หญิง ผู้ชาย หรือ LGBTQ+ เพราะเรามองว่าทุกคนคือมนุษย์

อีกหนึ่งคนที่เห็นด้วยกับสมรสเท่าเทียม แต่สังคมไทยละเอียดอ่อนกว่านั้นมาก ถ้าวันหนึ่งกฎหมายตัวนี้ถูกนำมาใช้ในชีวิตจริง หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘กฎหมายถูกยอมรับ’ แต่การใช้ชีวิตในสังคมไทยล่ะจะถูกยอมรับด้วยหรือเปล่า เช่น หากวันหนึ่งสังคมไทยจะมีแม่สองคนหรือพ่อสองคนในครอบครัว เราจะสร้างภูมิคุ้มกันอย่างไรให้กับครอบครัว ดังนั้นครอบครัว LGBTQ+ อาจถูกคนในสังคมล้อเลียนหรือไม่เป็นมิตร

ในเชิงกฎหมาย วันหนึ่งกลุ่มคน LGBTQ+ อาจถูกยอมรับ แต่ในเชิงสังคม การทำให้คนเปิดรับและก็เรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกัน ใช้คำพูดที่เป็นมิตรต่อกัน บางทีอันนี้มันยากกว่ากฎหมายเสียอีก เพราะเวลาขับเคลื่อนกฎหมายใด ๆ ก็ตาม ในท้ายที่สุดมีคนไม่กี่คนที่บอกว่ามันผ่านหรือไม่ผ่าน ซึ่งเราต้องไปพยายามสื่อสารกับคนไม่กี่คนเหล่านั้น

“โลกมันก้าวหน้า เทคโนโลยีมันก้าวหน้า สังคมเองก็ดูเหมือนจะก้าวหน้า แต่เราทุกคนก็รู้ ถ้ามีคนกลุ่มหนึ่งไม่ก้าวไปกับเรา สังคมก็จะไม่สามารถไปข้างหน้าต่อได้ ถ้าเรายังมีความพยายาม และมั่นใจว่าสิ่งที่เราสื่อสารเป็นความตั้งใจที่ดี ไม่ได้ไปลิดรอนสิทธิคนอื่น เราแค่กำลังขอว่าสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็นมันควรได้รับการยอมรับ เชื่อว่าสักวันเราจะเดินทางไปถึง ไม่ว่าจะในภาคกฎหมายหรือในภาคสังคมก็ตาม”

อาจารย์ ดร.ญาณินี เพชรานันท์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ตระหนักรู้ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงความคิดของคนในสังคมไม่สามารถทำได้เพียงครั้งเดียว ไม่สามารถสื่อสารออกไปและเปลี่ยนความคิดของหลายคนได้ในเวลาเดียวกัน แต่สิ่งที่พวกเราทำได้คือการ ‘พยายามสื่อสาร’ ดังนั้นบุคคลสำคัญของหนทางสู่การเปลี่ยนแปลง ทั้งในภาคกฎหมายและภาคสังคมคือ รัฐบาลและสื่อมวลชน

สื่อมวลชนหรือผู้ที่มีหน้าที่เป็นสื่อ ควรทำหน้าที่ขัดเกลาสังคมผ่านสื่อที่นำเสนอ ควรให้ความรู้ความเข้าใจ ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมทางเพศใหม่ที่ไม่เลือกปฏิบัติ สร้างความคิดใหม่เรื่องเพศ เปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อที่ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศไม่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งความสัมพันธ์ระหว่างบทบาทของผู้ชายต่อผู้หญิง หรือ LGBTQ+ ก็ตาม

ซึ่งสื่อมวลชนสามารถนำเสนอชุดความคิดในการยอมรับทุกเพศอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้สังคมเรียนรู้และเข้าใจในบทบาทของตัวเองและยอมรับตัวตนของผู้อื่นที่แตกต่าง จึงจะสามารถขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติไปในอีกระดับได้

รัฐบาลหรือหน่วยงานต่าง ๆ ควรให้ความสำคัญกับเรื่องเพศและความเท่าเทียมกันแก่คนในสังคมทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เช่น ควรมีกฎหมายรองรับและมีสวัสดีการพร้อมให้บริการประชาชนทุกเพศ มีสื่อการเรียนการสอนและการปลูกฝังที่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดที่ล้าหลังได้

รัฐบาลและสื่อมวลชนเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทกำหนดทิศทางของสังคม หากรัฐบาลและสื่อมวลชนปฏิบัติกับคนในสังคมอย่างไม่เท่าเทียม ความเป็นคนเท่ากันในสังคมจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย ดังนั้นควรเริ่มที่รัฐบาล สื่อมวลชน และตัวเราทุกคน ซึ่งต้องเปิดใจ ยอมรับ เคารพในความเป็นมนุษย์ ปฏิบัติให้คนทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นเพศใดก็ตาม

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา JR402 Interpretation of Current Affairs ภาคการศึกษา 1/2 2564 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา รศ.วัฒณี ภูวทิศ

Writer & Graphic

งานเขียนไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่เราอยากทำ แต่เป็นสิ่งแรกที่เราจะทำ

Writer

ถึงเราไม่สนิทกัน แต่จรัญสนิทวงศ์

Writer

เป็นคนใจบาง บางวันชาบู บางวันหมูกระทะ

Writer

อยากเป็นนักเขียนสุดเท่ห์ แต่จริง ๆ แล้วตัวเองเป็น “เป็ด” ที่ทำได้เกือบทุกอย่างแต่ไม่ shine ซักอย่าง แต่หลัง ๆ เราค้นพบแล้วว่าการเป็นเป็ดมันก็ไม่ได้แย่อย่างที่คิดซักเท่าไหร่ : )

Writer

เวลาจะมีค่ามากขึ้น ตอนใกล้จะหมดเวลา