การเรียนออนไลน์และการทำงานจากที่บ้านกลายเป็นเรื่องปกติในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้การใช้เวลาอยู่หน้าจอเป็นระยะเวลานานอาจจะมีข้อเสียตามมา โดยเฉพาะข้อเสียที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายจากการนั่งแบบไม่ได้ขยับเขยื้อนร่างกายทำให้ก่อเกิดโรคร้ายแรงได้

ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เพราะไม่ขยับตัวเป็นเวลานาน

อาการปวดกล้ามเนื้อคือหนึ่งในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการใช้เวลาอยู่หน้าจอติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะกับนักเรียนหรือนักศึกษาผู้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อเรียนออนไลน์ ทำงาน ทำการบ้านส่ง หรือแม้กระทั่งการใช้เวลาเล่นเกมออนไลน์ พูดคุยกับเพื่อนในโปรแกรมออนไลน์ เช่น ดิสคอร์ด แบบไม่ได้พักผ่อน ซึ่งหากไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กล้ามเนื้อที่เกร็งค้างจากการนั่งหน้าจอเป็นประจำจะกลายเป็นก้อนปม และส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการปวดร้าวเรื้อรังในที่สุด

คุณธนโรจน์ ขาวแพร หนึ่งในนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่เคยประสบอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังหนักเข้าจนถึงขั้นต้องถูกหามส่งโรงพยาบาล “ตอนที่ผมกำลังจะนั่งเก็บโน๊ตบุ๊ค หลังของผมก็มีอาการช็อตขึ้นมากะทันหัน ก็คือ อยู่ ๆ มันก็เจ็บ แล้วผมก็ล้มลงไปกับพื้น ผมลุกไม่ขึ้นเพราะหลังมันเจ็บมาก ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ผมต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อน แล้วก็เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่อยู่ประจำหอให้หามผมส่งโรงพยาบาล”

ปรึกษาหาทางเยียวยา พบแพทย์เพื่อรับการรักษา

แพทย์วินิจฉัยว่ามีอาการหลังอักเสบ เกิดจากการคงอิริยาบถในท่าที่ผิดเป็นเวลานานและไม่ได้ลุกขึ้นทำกายบริหาร คุณธนโรจน์ยังกล่าวอีกว่า ตนเองนั้นโชคดีที่ไม่ได้มีอาการเจ็บเรื้อรังหนักจนถึงกระดูก จึงใช้เวลาเพียง 2-3 วันหลังรับการฉีดยาและนอนพักที่โรงพยาบาลเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้กลับมาใช้งานได้

หลังประสบเหตุการณ์ดังกล่าว ตนเองจึงตระหนักและเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนและทำงานอย่างเป็นระบบ ไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อมวลกล้ามเนื้อ “ต้องหมั่นลุกขึ้นมาเดิน อย่านั่งติดต่อกันนานหลายชั่วโมง ต้องดูเวลาในการทำงานของเรา สมมติว่างานนี้อาจทำสักสามชั่วโมง ก็ควรแบ่ง section ไว้ทุกครึ่งชั่วโมงให้ลุกออกมาเดินสักนาทีหนึ่ง เพื่อให้ร่างกายเราได้ขยับเขยื้อน”

อาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด หรือ Myofascial Pain Syndrome คืออาการของกล้ามเนื้อที่หดเกร็งจนเป็นก้อนแข็งจากการเกร็งเป็นระยะเวลานานโดยไม่คลายตัว และการใช้กล้ามเนื้อในท่าที่ไม่เหมาะสม ซึ่งระดับอาการจะขึ้นอยู่กับความเรื้อรัง ตั้งแต่ปวดตึงกล้ามเนื้อจนไปถึงปวดร้าวระดับลึก กล้ามเนื้อจับตัวเป็นก้อน รวมถึงนอนหลับยากเนื่องจากอาการปวดร้าว

วิธีการรักษาทั้งแพยท์ปกติและแพยท์แผนไทย

การรักษาอาการปวดตึงกล้ามเนื้อสามารถรักษาได้หลายวิธี เช่น รักษาโดยแพทย์ปกติ ตรวจอาการที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน รับประทานยาตามอาการ ขณะที่อีกหนึ่งวิธีคือการรักษาด้วยหลักสูตรแพทย์แผนไทย

คุณขวัญจิรา กองไชย นักศึกษาแพยท์แผนไทย ให้ข้อมูลว่าอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืดจะรักษาได้จากการทำหัตถการนวดตามสูตรพระราชสำนัก หัตถการนวดรีดเส้น และหัตถการกัวซา โดยทุกหลักสูตรจะเน้นคลายกล้ามเนื้อและกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต สลายอาการปวดเรื้อรัง จนกระทั่งมวลกล้ามเนื้อกลับเป็นปกติ

ส่วนด้านการป้องกัน คำแนะนำคือควรพักและเหยียดกล้ามเนื้อระหว่างทำงานเป็นครั้งคราว หลีกเลี่ยงการบิด ดัด สลัดกล้ามเนื้อแบบรุนแรง และทำกายบริหารโดยมีท่าแนะนำคือท่าท้าวแขน ท่าดึงแขนชูแขน และฤาษีดัดตน

ขยับร่างกาย ออกกำลังกาย ช่วยรักษาสุขภาพให้แข็งแรง

ปัญหาการไม่แบ่งเวลาขยับเขยื้อนร่างกาย หรือออกกำลังกายของคนวัยเรียนหรือวัยทำงาน เป็นปัญหาที่มีมานาน และคนทั่วไปอาจจะมองข้าม “ไม่มีใครรอดไปจากจุดนี้ได้ ถ้าเกิดยังทำพฤติกรรมแบบเดิมอยู่และไม่ปรับเปลี่ยน ยังไงก็เกิดขึ้นครับ” คุณธนโรจน์กล่าวทิ้งท้าย

การดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวันจึงเป็นสิ่งสำคัญ ขยับร่างกาย เดิน ยืดเส้นยืดสาย ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที โดยเน้นการดูแลสภาพกล้ามเนื้อไม่ให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืดจึงเป็นสิ่งจำเป็น พร้อมทั้งแบ่งเวลาในการทำงาน การเรียน และการพักผ่อน จะช่วยให้เรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงมากยิ่งขึ้น

Reference & Bibliography

  • คุณขวัญจิรา กองไชย นักศึกษาแพยท์แผนไทย
  • คุณธนโรจน์ ขาวแพร นักศึกษามหาวิทยาลัยที่เรียนออนไลน์
  • The Researcher. (2565). สถานการณ์โรค COVID-19 ในประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม พ.ศ. 2565, จาก https://covid-19.researcherth.co
  • ประภาวรรณ ตระกูลเกษมสุข, นิวัฒน์ พนมสารนรินทร์, เทพฤทธิ์ ยอดใส, สุภาวดี วงษ์สกุล (2564). วารสาร มจร สังคมศาสตร์ปริทรรศน์. ปีที่ 10 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2564. สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม พ.ศ. 2565, จาก https://so03.tci-thaijo.org/index.php/jssr/article/download/251377/170537
  • เชียงใหม่นิวส์. (2565). กรมอนามัย ดัน 10 Packages ให้กลุ่มคนวัยทำงาน ‘สุขภาพดี ปลอดภัยดี งานดี มีความสุข’ เตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัย. สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม พ.ศ. 2565, จาก https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1942542
  • 10 Packages ส่งเสริมสุขภาพกลุ่มคนวัยทำงาน. สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม พ.ศ. 2565, จาก https://www.bangkokbiznews.com/social/990422
  • ขอขอบคุณภาพหน้าปกประกอบเรื่อง Photo by Annie Spratt on Unsplash
  • ขอขอบคุณภาพประกอบ Unsplash: Beautiful Free Images & Pictures www.unsplash.com

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา JR413 Newspaper Workshop, JR414 Magazine Workshop, JR303 Convergence Journalism Editing ภาคการศึกษาที่ 2/2564

Writer

บ๊อกบ๊อก เอ๋งเอ๋ง

Writer

นักฝัน นักพูด นักเขียน ผู้รักการถ่ายทอดอารมณ์ในหลากรูปแบบ แม้เขาจะเพิ่งก้าวสู่วงการนักเขียนเพียงไม่ถึงปี แต่อย่างไรโลกนี้ก็ยังมีอะไรให้เขาได้เรียนรู้อีกมากนัก