เจาะเทรนด์กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมของคนรุ่นใหม่ กับ ท็อป-พิพัฒน์ และนุ่น-ศิรพันธ์ ภายใต้แนวคิด Circular Living การใช้ชีวิตควบคู่กับการรักษ์โลก ด้านนายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มองว่านักศึกษายังขาดความเข้าใจเรื่องการแยกขยะ

พี่นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา และพี่ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ ‘จีซี’ จัดโครงการ ‘U ปรับ โลกเปลี่ยน’ พร้อมได้รับเกียรติจาก คุณจษฎา ชำนาญสวน ผู้จัดการส่วนงานสื่อสารองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ร่วมพบปะกับนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ

คุณเจษฎา ชำนาญสวน ผู้จัดการส่วนงานสื่อสารองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

โครงการดังกล่าว ได้มีการนำเสนอแนวคิด ‘Circular Living’ อันเป็นการปรับตัวเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการใช้ชีวิตประจำวันที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ลดการสร้างขยะ เน้นการหมุนเวียนสิ่งของกลับมาใช้ซ้ำ โดยมี ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และนุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา สองนักแสดงที่สนใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เป็นวิทยากรให้ความรู้จากประสบการณ์ตรง ณ หอประชุมปองทิพย์ 3 ตึก C3 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตหลัก (Main Campus)

พี่ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และพี่นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ได้มีการให้ข้อมูลในเรื่องของการนำวัสดุที่ทำจากพลาสติกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และสามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน มีการใช้กระบวนการคัดแยกขยะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยกล่าวถึงเรื่องการนำขวดบรรจุภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำจากวัสดุพลาสติกที่ใช้แล้ว นำกลับมาทำความสะอาด จากนั้นจะนำไปเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นเส้นใย เพื่อใช้ถักทอให้เป็นเสื้อยืดที่สามารถนำสวมไปใส่ได้ในทุกโอกาส

กรณีดังกล่าวถือเป็นวิธีการคิดแนวใหม่ที่เรียกว่า ‘Circular Economy’ หรือ ‘เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน’ ซึ่งถือเป็นการรักษาคุณค่าของทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีประสิทธิภาพตั้งแต่กระบวนการผลิต การบริโภค จนถึงการนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบใหม่ แนวคิด Circular Economy เป็นแนวคิดที่ได้รับการนำไปใช้ในหลายธุรกิจ เพื่อสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจอีกด้วย

ทั้งนี้ยังมีการประยุกต์เรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันที่เรียกว่า ‘Circular Living’ เช่น เลือกใช้ภาชนะทดแทนการใช้ถุงพลาสติก ใช้ถุงผ้าในการจับจ่ายใช้สอยซื้อสิ่งของต่าง ๆ รวมถึงการนำภาชนะที่คงทนสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยนำมาทำความสะอาด ใช้แทนวัสดุที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

อาจารย์ณัฐพงศ์ สง่าแสง อาจารย์ประจำแผนกพัฒนากิจกรรมและสวัสดิการนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้กล่าวถึงการนำแนวคิดโครงการ ‘U ปรับ โลกเปลี่ยน’ มาปรับใช้ในมหาวิทยาลัยกรุงเทพว่า แผนกพัฒนากิจกรรมนักศึกษา มีหน้าที่ดูแลกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งได้มีการปลูกฝังนักศึกษาให้ใส่ใจถึงเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในสถาบัน โดยมีการรณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะ ซึ่งอยากให้นักศึกษาที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ได้นำสิ่งที่เรียนรู้จากโครงการดังกล่าวมาปรับใช้ด้วย ถึงแม้ว่าในชีวิตประจำวันเราอาจจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงควรคำนึงถึงการพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกในมหาวิทยาลัย

ขณะที่ มิ้น-ปนัดดา สกุลพิพัฒน์ นายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้กล่าวถึงเรื่องแผนการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมว่า ได้เล็งเห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพให้ความสำคัญ โดยการที่สโมสรนักศึกษามีความใกล้ชิดกับนักศึกษา จึงทราบถึงการใช้ชีวิต (Lifestyle) ของวัยรุ่น จึงได้มีการประสานงานกับ จีซี โดยทางองค์กรดังกล่าว มีความสนใจในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เนื่องจากมีการชูนโยบายในเรื่องการใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม

ในช่วงเวลานี้มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้มีการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างให้กับนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก ส่งเสริมให้พกถุงผ้า แก้วน้ำ กล่องอาหารของตนเอง อีกทั้งยังมีจุดแจกถุงผ้าให้กับนักศึกษาอีกด้วย

นายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยนั้นเกิดจากการที่นักศึกษาบางส่วน ไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องของการแยกขยะ โดยจากการสำรวจพบว่าเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับขั้นตอนการกำจัดขยะ

“ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พบเห็นในมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่จะเกิดจากความไม่เข้าใจของนักศึกษา ซึ่งทางสโมสรนักศึกษาก็ได้มีเก็บข้อมูลจนพบว่า คนที่ไม่ใส่ใจในการแยกขยะเพราะคิดว่าในกระบวนการคัดแยกขยะว่าสุดท้ายแล้วก็ต้องทิ้งรวมกันอยู่ดี ซึ่งความจริงแล้ว ขยะได้มีการคัดแยก เพราะบางอย่างสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้” นายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวอธิบาย

ภายในงาน U ปรับโลกเปลี่ยน พี่ท๊อป และพี่นุ่น ได้ใกล้ชิดกับนักศึกษาทำกิจกรรมด้วยการตอบคำถามอย่างเป็นกันเอง และก่อนปิดงานทั้งสองได้รับเกียรติจาก ดร.พีรชัย เกิดสินธ์ุ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถ่ายรูปร่วมกัน และมอบของที่ระลึก

การจัดโครงการในมหาวิทยาลัยครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักศึกษาเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก ในงานมีการแจกชานมไข่มุก ซึ่งใช้แก้วและหลอดที่ย่อยสลายได้ และหากนักศึกษาคนใดนำแก้วส่วนตัวมา ไม่จำเป็นต้องรอคิวรับชานมไข่มุก สามารถลัดคิวในการรับชานมไข่มุกได้เลย ถือเป็นกิจกรรมร่วมสนุกที่จูงใจวัยรุ่นและลดการใช้พลาสติกไปในตัวด้วย

ทั้งนี้ คุณเจษฎา ชำนาญสวน ผู้จัดการส่วนงานสื่อสารองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า โครงการ ‘U ปรับโลกเปลี่ยน’ มีการนำเสนอแนวคิด ‘Circular Living’ เพื่อให้นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้เกิดจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม และเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยมีการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการใช้ทรัพยากรอย่างต่าง ๆ อย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาลำดับที่ 5 ของจีซีที่เข้าร่วมกิจกรรม ในอนาคตจีซีจะมีแผนพัฒนาโครงการต่อไป

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411 Newspaper Workshop ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562

Writer

บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์บ้านกล้วยออนไลน์ ชอบเล่าเรื่องผ่านงานเขียน ประเภทข่าว บทความ และสารคดี ผู้ที่มีความศรัทธาในอำนาจพลังของปลายปากกา เชื่อมั่นว่าสามารถขีดเขียนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นได้

Photographer

บรรณาธิการโต๊ะเทคโนโลยี