ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ ชูระบบปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะรับมืออุทกภัยประจำปี 2562 พร้อมวอนขอประชาชนทิ้งขยะให้ลงถัง ลดปัญหาท่อระบายน้ำอุดตัน

จากกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศ ‘การคาดหมายลักษณะอากาศของประเทศไทยราย 3 เดือน’ เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2562 โดยตั้งแต่ เดือนกันยายน ถึง เดือนพฤศจิกายน มีการคาดการณ์ว่าในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีค่าปริมาณฝนใกล้เคียงกับค่าปกติ ประมาณ 565-660 มิลลิเมตร (ค่าปกติอยู่ที่ 612 มิลลิเมตร) แต่ในข้อควรระวังระบุภาพรวมว่า อาจจะมีพายุหมุนเขตร้อนก่อตัวขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกกระทบต่อประเทศไทยให้มีปริมาณน้ำฝนหนาแน่น และตกหนักในบางพื้นที่

จากประเด็นข้างต้นทำให้หลายฝ่ายเริ่มวางแผนและดำเนินการป้องกันรับมือกับปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนกันอย่างเต็มที่ โดยเราได้ลงพื้นที่ไปยัง สำนักชลประทานที่ 11 เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารการจัดการน้ำช่วงฤดูฝน ในพื้นที่ รังสิต-ปทุมธานี

คุณโบว์แดง ทาแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ สำนักชลประทานที่ 11 กรมชลประทาน กระทรวงกระเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ มีการวางแผนการบริหารการจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยจะมีการใช้ ‘ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ’ หรือ ‘SWOC’ (Smart Water Operation Center) อันเป็นเทคโนโลยีการสั่งการและตรวจสอบระดับของมวลน้ำผ่านจอแสดงผลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหากปริมาณน้ำที่อยู่หลังประตูกักน้ำสูงเกิน ระบบจะส่งสัญญาณมายังศูนย์ควบคุม และสามารถสั่งการปล่อยน้ำด้วยระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ทันที

นอกเหนือจากหน้าที่ในการเป็นศูนย์เตือนภัยแล้ว SWOC ยังมีหน้าที่วัดระดับน้ำเพื่อคำนวณและคิดผลประเมินเพื่อเตรียมกักเก็บน้ำในช่วงหน้าแล้งอีกด้วย ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ได้มีการทดสอบระบบและเริ่มใช้เป็นครั้งแรก เมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา

ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิต กล่าวต่อว่า นอกจากจะมีการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมแล้ว ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ ยังมีการวาง ‘ระบบการคาดการณ์’ ซึ่งเรียกกันว่า ‘ระบบ Forecast’ โดยระบบดังกล่าว จะเป็นการคาดการณ์ปริมาณของน้ำฝนในพื้นที่ เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อการบริหารการจัดการน้ำเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ รวมถึงยังการจัดทำ ‘แผนงานกำจัดวัชพืช ประจำปี 2562’ ซึ่งได้มีการเก็บผักตบชวาออกบริเวณคลองรังสิตประยูรศักดิ์ เพื่อให้น้ำสามารถไหลถ่ายเทได้อย่างสะดวก โดยทั้งระบบการคาดการณ์และแผนการกำจัดผักตบชวานี้ ได้มีการนำมาใช้ในเขตพื้นที่ในการดูแลของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2561

สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ เป็นโครงการชลประทานเก็บกักและระบายน้ำ มีพื้นที่ขอบความรับผิดชอบรวมทั้งสิ้น 703,300 ไร่ มีหน้าที่ควบคุมและบริหารการจัดการน้ำในพื้นที่คาบเกี่ยว 4 จังหวัด ได้แก่ 1) กรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก 2) จังหวัดปทุมธานี อำเภอธัญบุรี และอำเภอลำลูกกา 3) จังหวัดนครนายก อำเภอองครักษ์ 4) จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอวังน้ำเปรี้ยว

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ ได้ฝากแนวทางการปฏิบัติในช่วงหน้าฝนสำหรับประชาชนที่อยู่อาศัยย่านรังสิตไว้ว่า อยากให้ภาคประชาชนให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยการไม่ทิ้งเศษขยะ หรือสิ่งปฏิกูลลงท่อระบายน้ำทิ้ง เพราะจะทำให้เกิดการอุดตันส่งผลให้เวลาฝนตกจะไม่สามารถระบายน้ำลงสู่พื้นที่รับน้ำได้ทันท่วงที

“ขยะที่ไปอุดตันในท่อเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำที่ขังอยู่ไม่สามารถระบายลงคลองได้ ดังนั้นประชาชนจะต้องช่วยกันทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง เพราะต่อให้จะมีการทำแผนมาดีสักแค่ไหน แต่ถ้าชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือน้ำมันก็ท่วมอีก” นายโบว์แดง ทาแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ได้มีการสอบถามเพิ่มเติมจากผู้อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว คุณธัญญ์นิธิ สิทธิเดชวรศิลป์ ผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างที่อาศัยอยู่บริเวณคลองสอง รังสิต ฝั่งอำเภอธัญบุรี ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า บริเวณเลียบคลองรังสิตประยูรศักดิ์มักจะเกิดปัญหาน้ำท่วมขังเฉพาะช่วงเวลาที่ฝนตกหนักมากเท่านั้น ซึ่งตนเชื่อว่าสาเหตุหลักเกิดจากการที่ท่อระบายเกิดอุดตัน ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำออกสู่คลองสายหลักได้

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411 Newspaper Workshop ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562

Writer & Photographer

บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์บ้านกล้วยออนไลน์ ชอบเล่าเรื่องผ่านงานเขียน ประเภทข่าว บทความ และสารคดี ผู้ที่มีความศรัทธาในอำนาจพลังของปลายปากกา เชื่อมั่นว่าสามารถขีดเขียนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นได้