ต้นไม้ช่วยให้บ้านสดชื่น เพราะบ้านคือสถานที่พักกาย พักใจ ช่วงเวลาที่เราอยู่บ้านกันมากขึ้น การตกแต่งบ้านให้น่าอยู่และปราศจากมลพิษทางอากาศคือเรื่องจำเป็น
อากาศที่ไม่บริสุทธิ์เกิดจากสาเหตุหลายอย่าง เช่น แอมโมเนียจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด สารฟอร์มาดีไฮด์ที่ล่องลอย ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ เฟอร์นิเจอร์ ฝุ่น และสิ่งอื่น ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพร่างกายในระยะยาวแบบไม่รู้ตัว
การแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศเป็นพิษ เราต้องพึ่งพาต้นไม้ โดยเฉพาะต้นไม้ฟอกอากาศ กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ชั้นดีที่นอกจากสวยงามแล้ว สามารถดูดสารพิษ เพิ่มออกซิเจน ช่วยตกแต่งให้ที่อยู่อาศัยให้น่าอยู่ น่ามอง และสดชื่นอีกด้วย
เราจึงอยากจะพาทุกคนมาเปิดโลกพันธุ์ไม้และไขข้อสงสัยเบื้องต้นว่าต้นไม้ฟอกอากาศเป็นเพียงแค่กระแสการตลาดหรือมีความสามารถฟอกอากาศได้จริงหรือไม่ แต่ละพันธุ์มีความแตกต่างกันอย่างไร ต้องดูแลรักษาอย่างไรบ้าง และพันธุ์ใดที่นิยมใช้ในการตกแต่งที่อยู่อาศัย
กระบวนการทำงานของต้นไม้ฟอกอากาศ
ความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติออกแบบให้กับต้นไม้ ได้แก่ ระบบ โครงสร้าง และการทำงานของต้นไม้ ช่วยให้อากาศสดชื่น โดยเฉพาะกระบวนการการฟอกอากาศที่ต้นไม้ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสร้างก๊าซออกซิเจนที่จำเป็นต่อการหายใจของมนุษย์และช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย
ต้นไม้ฟอกอากาศ มีความสามารถและลักษณะที่แตกต่างจากต้นไม้ทั่วไป มี 3 ลักษณะดังนี้
ประการแรก คือต้นไม้ที่อาจจะดูดพิษในอากาศได้น้อย แต่คายออกซิเจนจากปากใบในอากาศได้สูง ซึ่งสามารถเพิ่มอากาศบริสุทธิ์ให้กับบริเวณที่เราจัดวางไว้ได้
ประการที่สอง คือมีความสามารถในการดูดสารพิษผ่านน้ำที่หล่อเลี้ยงราก เพราะมีจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยให้สารพิษกลายเป็นแหล่งอาหารของต้นไม้
ประการสุดท้าย คือต้นไม้ที่ดูดสารพิษจากอากาศได้โดยตรง ส่งสารพิษนั้นไปที่รากของต้นไม้ จุลินทรีย์ในรากของต้นไม้ก็ช่วยกำจัดสารพิษได้เช่นเดียวกัน
แสงแดดสำคัญกับต้นไม้
การจัดวางและตกแต่งต้นไม้ในที่อยู่อาศัยต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ใช่ทุกต้นจะสามารถเอามาตั้งภายในบ้านได้ อีกทั้งบางพันธุ์ไม่ควรวางไว้ในที่ถูกแสงแดด หรือบางพันธุ์ที่เหมาะสำหรับการตั้งไว้ในห้องนอน ซึ่งเป็นไปตามลักษณะของต้นไม้ที่แตกต่างกัน
ดังนั้นเราต้องเลือกว่าจะปลูกไม้ร่มและไม้แดดอย่างไร และตั้งไว้ส่วนใดของบ้าน ซึ่งก็ต้องสังเกตลักษณะของแสงธรรมชาติเข้าถึงบ้านเราตรงส่วนใดบ้าง
แสงแดดเป็นปัจจัยสำคัญในดูแลรักษาต้นไม้ เลือกประเภทของต้นไม้ให้เหมาะกับการจัดวางภายในที่อยู่อาศัย เพราะแสงแดดคือการสร้างอาหาร กำหนดการเจริญเติบโตของต้นไม้ ควรจัดแบ่งและแยกประเภทของต้นไม้ที่ต้องการแดดแรงแสงส่องทั่วถึง หรือต้องการแค่แสงรำไร เป็นตัวกำหนดพันธุ์ต้นไม้ อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงการจัดวาง ตกแต่งให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยภายในบ้าน
ปลูกต้นไม้ให้เหมาะกับพื้นที่
การจัดวางต้นไม้ฟอกอากาศภายในบ้านและที่อยู่อาศัยนั้น อย่างแรกเราต้องทำการสำรวจพื้นที่ภายในบ้าน โดยคำนึงถึงปัจจัยของแสงแดดเป็นส่วนสำคัญว่าบริเวณนั้นมีแสงแดดส่องถึงหรือไม่ เพื่อทำให้กระบวนการฟอกอากาศของพันธุ์ต้นไม้ที่ตั้งบริเวณนั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด
ระยะการจัดวางต้นไม้จะวัดจากขอบเขตการหายใจของคน คือมีพื้นที่ประมาณ 0.17-0.23 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งต้นไม้จะช่วยฟอกอากาศและดูดซึมมลพิษได้อย่างเต็มที่ หากต้องการจัดวางไว้ที่ห้องนั่งเล่น หรือพื้นที่ทำกิจกรรมภายในบ้าน แนะนำพันธุ์ที่ดูดสารพิษปนเปื้อนในอากาศ เช่น เฟินบอสตัน เขียวหมื่นปี ยางอินเดีย มอนสเตร่า พลูด่าง
ส่วนพื้นที่พักผ่อนอย่างห้องนอน ควรเป็นพืชพันธุ์ที่คายออกซิเจนและเปิดปากใบช่วงกลางคืน โดยจะเป็นพืชตระกูลว่าน อาทิ ว่านหางจระเข้ ลิ้นมังกร ว่านงาช้าง เป็นต้น
ต้นไม้ช่วยให้บ้านน่าอยู่และสุขภาพกายใจแข็งแรง
เราเลือกได้หลากหลาย ตั้งแต่ต้นไม้เล็กทั่วไปจนถึงต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้จะช่วยดูดคาร์บอนไดออกไซด์และยังดักจับฝุ่นไม่ให้ปลิวเข้าสู่ตัวบ้านหรือที่อยู่อาศัยของเรา
หากเป็นพื้นที่สวน เราแนะนำต้นไม้ใหญ่ อย่างจามจุรี พญาสัตบรรณ ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี ส่วนพื้นที่ระเบียงบริเวณที่อยู่อาศัย แนะนำต้นไม้ขนาดเล็กที่ดักจับฝุ่นและกันฝุ่นมลพิษทางอากาศ อย่าง ไอวี่ เดหลี ฟิโลหูช้าง เป็นต้น
ต้นไม้ฟอกอากาศ เป็นพันธุ์ไม้ที่นอกจากจะรังสรรค์พื้นที่สีเขียวให้กับตัวบ้านหรือที่อยู่อาศัยแล้ว ยังมีคุณประโยชน์และความสามารถอีกมากมาย เรามาร่วมกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบ้านหรือที่อยู่อาศัย เพื่อลดมลภาวะเป็นพิษของอากาศ ทำให้สุขภาพกายใจแข็งแรง แล้วมนุษย์เราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
Reference & Bibliography
- ต้นไม้ฟอกอากาศได้จริงหรือ ? สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2564, จาก https://www.blockdit.com/posts/5e142abe392b683ba5a4b1ae
- ทำไมต้นไม้ดูดสารพิษและฟอกอากาศได้. สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2564, จาก https://www.baanlaesuan.com/139157/plant-scoop/air-purification-tree
- ขอขอบคุณภาพประกอบ Pexels: Free Stock Photos www.pexels.com
- ขอขอบคุณภาพประกอบ Unsplash: Beautiful Free Images & Pictures www.unsplash.com
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR413, JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์