อยากให้ลองสังเกตตัวเองว่าหยิบมือถือมาดูวันละกี่ครั้ง รู้ตัวเองบ้างไหมว่าเริ่มที่จะเสพติดการใช้มือถือเข้าแล้ว!
ในยุคดิจิทัลเราใช้มือถือกันค่อนข้างมาก กิจกรรมในชีวิตหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารทำผ่านมือถือทั้งนั้น มือถือจึงเปรียบเสมือนอวัยวะอีกส่วนหนึ่งของร่างกาย แทบจะอยู่ติดตัวตลอดเวลา กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้แม้แต่วินาทีเดียว พฤติกรรมการใช้มือถือตลอดเวลา ขาดมือถือไม่ได้เรียกว่า โนโมโฟเบีย (No mobile phone phobia) หรือโรคกลัวการขาดโทรศัพท์มือถือ
รู้จักโนโมโฟเบีย (Nomophobia)
ทุกคนมีโอกาสเป็นโรคเสพติดมือถือได้! แล้วน่ากลัวไหม ร้ายแรงไหม มีผลกระทบต่อเราอย่างไร มาเริ่มต้นจากการรู้จักโรคนี้กัน
Nomophobia มาจากคำว่า No mobile phone phobia เป็นคำศัพท์จากองค์การวิจัยของสหราชอาณาจักร YOUGOV คาดการณ์ว่ามีการใช้คำนี้ช่วงปีค.ศ.2008-2010 เพื่อใช้เรียกลักษณะอาการวิตกกังวล ในเวลาที่ผู้คนห่างจากการโทรศัพท์มือถือ หรือมีความหวาดกลัว จากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป สามารถสังเกตเห็นได้ถึงความกระวนกระวายที่ผิดปกติ เครียด หงุดหงิด มีอาการคลื่นไส้และเหงื่อออกตามร่างกาย อาการของเเต่ละคนที่เป็นโรคขึ้นอยู่กับระดับการติดโทรศัพท์มือถือของเเต่ละบุคคลว่าจะแสดงอาการออกมามากน้อยแตกต่างกัน
สิ่งที่แย่ที่สุดเลยก็คือเราไม่สามารถรู้ตัวเองได้เลยว่า เราเสี่ยงเข้าข่ายเป็นโรคนี้หรือไม่ เเละเป็นถึงระดับใดเเล้ว เพราะฉะนั้นเราควรมาเช็คอาการตัวเองกันหน่อยว่าเราเข้าข่ายเป็นโรคกลัวการขาดโทรศัพท์มือถือหรือยัง เพราะถ้าหากเรามีลักษณะเหล่านี้ เราจะได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ทันท่วงที
อาการเสพติดมือถือ เช้าจนถึงเข้านอน ขาดมือถือไม่ได้
เริ่มจากตอนเช้าตื่นนอน คว้ามือถือมาเช็คเป็นอันดับแรกก่อนทำอย่างอื่น เล่นมือถือระหว่างเข้าห้องน้ำ ยาวไปจนถึงบนโต๊ะอาหาร ระหว่างรับประทานข้าว แม้กระทั่งเวลาเรียนหรือทำงาน หากใช้โทรศัพท์เรียนออนไลน์ก็จะเปิดเล่นโซเชียลมีเดียไปด้วย ระหว่างทำงานก็เช็คมือถือ แม้ว่าไม่มีข้อความแจ้งเตือน
เมื่อมีข้อความแจ้งเตือนก็รีบเปิดอ่านทันที โดยเฉพาะข้อความจากเพื่อนหรือแฟน ข้อความคุยเล่นส่วนตัวจะตอบกลับค่อนข้างเร็ว หากโพสต์รูปในโซเชียลมีเดียจะตอบกลับในเวลาไม่นานเช่นเดียวกัน
บ่อยครั้งมักจะอัพเดทการใช้ชีวิตของตนเองในสื่อโซเชียลมีเดียของตนเองตลอดเวลา เช่น ถ่ายรูปอาหาร การทำงาน การออกกำลังกาย การท่องเที่ยว กดไลก์ กดแชร์ข้อมูลต่าง ๆ อยู่เสมอ รวมไปถึงอาจจะเล่นเกมผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้ยังติดการใช้มือถือไปถึงช่วงเวลาก่อนเข้านอน ก็จะเล่นมือถือจนกระทั่งหลับไป มือถือกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่มีจะกระวนกระวาย และหากต้องไปในที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็จะรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถอยู่ในสถานที่นั้นได้
ลองตรวจสอบตนเองดูว่าตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เช้าจนค่ำ ไปจนถึงก่อนเข้านอน เราใช้เวลาอยู่กับมือถือนานเท่าไหร่ และถ้ามีอาการดังกล่าวเกินครึ่ง แสดงว่าเราเข้าข่ายเป็นโรคเสพติดมือถือแล้ว
ผลกระทบต่อชีวิต หากเสพติดมือถือ
การใช้มือถือมากเกินไป ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ร่างกาย จิตใจ ความสัมพันธ์ และสังคมในโลกความเป็นจริงที่เราใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น
อาการที่ส่งผลทางร่างกาย การปวดเมื่อยร่างกาย ไล่ตั้งแต่ คอ หลัง ไหล่ นิ้วมือ รวมไปถึงจุดอื่นในร่างกาย การเล่นมือถือส่งผลให้อาจจะเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อีกทั้งสามารถทำให้เราเป็นโรคอ้วนได้ เพราะขณะที่เราใช้เวลากับมือถือ เราไม่ได้ขยับเคลื่อนไหวร่างกายเลย อาจจะเล่นไปด้วยกินไปด้วย ก็ส่งผลต่อสุขภาพ ต่อด้วยอาการเกี่ยวกับสายตา เช่น ตาพร่ามัว ได้รับผลกระทบจากแสงสีฟ้า ทำให้จอประสาทตาและวุ้นในตาเสื่อมได้
การใช้มือถือยังก่อให้เกิดโรคสมาธิสั้น เพราะเราไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นเวลานานได้ เป็นเพราะจิตใต้สำนึกบังคับว่า ต้องจับโทรศัพท์มือถือ ต้องเช็คโซเชียลตลอดเวลา ส่งผลให้จดจ่อกับสิ่งอื่นได้น้อยลงเเละกระทบต่ออารมณ์ กลายเป็นคนไม่มีเหตุผล ใจร้อน อยากได้อะไรก็ต้องได้ทันที เป็นผลเสียต่อสุขภาพจิตใจอีกด้วย
อาการทางจิตใจเป็นสิ่งที่ปรากฎตามมา การเสพติดเนื้อหาที่นำเสนอในโลกโซเชียลมีเดีย อาจจะทำให้เราเกิดอาการเครียด จิตใจหม่นหมอง คิดเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น อาจจะส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ ขณะที่ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตทางสังคม ความสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อนแบบพบปะเห็นหน้ากันน้อยลง เราไม่ได้สื่อสารหรือพูดคุยกับบุคคลในโลกความเป็นจริง กลายเป็นว่าเราให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่อยู่ในโลกออนไลน์มากกว่าความสัมพันธ์กับบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับเรา
รู้ตัว รักษาหายได้ ขอแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
อาการของโรคโนโมโฟเบียยังไม่ได้จัดว่าเป็นโรคที่รุนแรงที่ต้องเข้าโรงพยาบาล เพื่อรับการรักษา ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ ด้วยวิธีการที่เรียกว่า Social Detox คืองดการเข้าสู่โลกออนไลน์ สามารถใช้แอปพลิเคชันต่าง ๆ ช่วยได้ในล็อคดาวน์การเข้าสู่มือถือ หรือใช้วิธีการหักห้ามใจ ปรับพฤติกรรม เพื่อให้ใช้งานมือถือแต่พอเหมาะพอดี
ไม่อยากติดมือถือ ทำได้ทันที ปรับเปลี่ยนกำหนดเวลาเเละสถานที่ในการใช้งานมือถือให้ชัดเจน ใช้โทรศัพท์มือถือเฉพาะในสถานการณ์ที่จำเป็น แบ่งเวลาการใช้โทรศัพท์มือถือ ปิดการแจ้งเตือน ทำกิจกรรมอื่นทดแทน เช่น อ่านหนังสือ เล่นดนตรี เล่นกีฬา พูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ คนในครอบครัว ออกกำลังกาย ออกไปสูดอากาศข้างนอกบ้าน หากปรับเปลี่ยนไปทีละนิด รับรองว่าอาการโนโมโฟเบียจะลดลง
เพราะฉะนั้น ปิดมือถือบ้างเถอะ! ลดเวลามือถือ เพิ่มเวลาเรียนรู้ ออกไปใช้ชีวิตในโลกความจริง ทำให้เราผ่อนคลาย ไร้กังวล สุขภาพกายใจเข้มแข็ง ช่วยให้มีสมาธิและมีสติในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น อย่ารอช้า ปิดมือถือตั้งแต่ตอนเลย!
Reference & Bibliography
- โนโมโฟเบีย โรคขาดมือถือไม่ได้. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562, จาก https://www.sanook.com/hitech/1489863
- โนโมโฟเบียคืออะไร เรื่องที่ผู้ใช้มือถือควรรู้ก่อนที่จะสายเกินไป. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562, จาก https://www.it24hrs.com/2020/what-is-nomophobia-smartphone
- เช็คชีวิต-คุณเป็นโรคติดสมาร์ทโฟนหรือเปล่า. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562,จาก https://www.cigna.co.th/health-wellness/tip/เช็คชีวิต-คุณเป็นโรคติดสมาร์ทโฟนหรือเปล่า
- ทำความรู้จักกับ Nomophobia โรคเสพติดมือถือที่เป็นกันเเล้วทั่วโลกในช่วงเวลานี้. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562, จาก https://specphone.com/web/nomophobia-smartphone-editorial/157140
- โนโมโฟเบีย : โรคติดมือถือ (อาการ-วิธีแก้). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562, จาก https://www.nationtv.tv/news/378733471
- ขอขอบคุณภาพประกอบ Unsplash: Beautiful Free Images & Pictures www.unsplash.com
- ขอขอบคุณภาพประกอบ Pexels: Free Stock Photos www.pexels.com
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา BR402 Youtube Production, BR404 Broadcasting Project, BR551 Social Broadcasting ภาคการศึกษาที่ 1/2 2564