พฤติกรรมการสื่อสารของผู้คนในยุคดิจิทัลเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การติดต่อซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่เกิดขึ้นได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว เพราะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและภาพถ่ายสินค้าระหว่างกันได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งช่วงภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่ต้องการซื้อแบบที่ไม่ต้องออกไปเสี่ยงกับการแพร่ระบาดของไวรัส ทำให้เกิดปัญหาแก่ผู้บริโภคที่หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อของอาชญากรทางออนไลน์เพิ่มทวีขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้จะมีวิธีอย่างไรให้พ้นภัยจากการซื้อของออนไลน์ที่เกิดจากการไม่รู้เท่าทัน เรามารู้ข้อมูลการซื้อของออนไลน์ให้ปลอดภัยกันดีกว่า

นักชอปวัยทีน ต้องมีสติในการซื้อสินค้า

เราได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับการซื้อของออนไลน์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2564 โดยให้ประชาชนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 150 คน ตอบแบบสอบถามผ่าน Google Form พบว่าผู้บริโภคที่มีอายุตั้งแต่ 13-20 ปี เป็นช่วงวัยที่มีความสนใจในการซื้อของออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียค่อนข้างมาก แต่สภาพคล่องทางการเงินและวัยวุฒิอาจทำให้รับมือกับปัญหาการโกงได้ไม่ดีพอ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายทราบถึงข้อมูลที่ควรระวัง อีกทั้งยังเป็นการเตือนภัยอันตรายจากการซื้อของออนไลน์นั้น ผู้จัดทำจึงมีข้อแนะนำการซื้อของออนไลน์เบื้องต้นให้ปลอดภัยดังนี้

เทคนิคการซื้อของออนไลน์ให้ปลอดภัย

เช็กก่อนชอป ตรวจสอบทุกสิ่งอย่างก่อนทำการซื้อสินค้า ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลร้านหรือผู้ขาย ชื่อที่อยู่ เบอร์โทร เลขบัญชีธนาคาร รวมถึงช่องทางการติดต่อ และควรเช็กด้วยว่าร้านเปิดให้บริการมานานหรือไม่ แม้ว่าจะดูยุ่งยาก ทั้งนี้ก็ช่วยเราจากการถูกหลอกได้ดีเช่นกัน

ไหวพริบดี มีชัยไปกว่าครึ่ง บางคนอาจเคยได้ยินกันมาบ้างว่า “ถูกและดีมีอยู่จริง” และด้วยความคิดดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ถูกหลอกมานักต่อนักแล้ว อาชญากรอาจจะอาศัยจุดอ่อนนี้ในการทำมาหากินเช่นกัน หากว่าเห็นร้านใดที่ขายสินค้าราคาที่ต่ำมาก ก็ให้เอะใจไว้ก่อนดีกว่า เพราะเงินก็คือเงิน ยอมเพิ่มเงินสักหน่อยแลกกับความสบายใจ จะได้ไม่เสียดายทีหลัง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณในการตัดสินใจของผู้ซื้ออีกด้วย

จ่ายปลายทาง อย่าวางใจ การใช้บริการจ่ายเงินปลายทาง อาจลดความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับของ แต่ก็ยังมีช่องโหว่ที่เป็นกลโกง อย่างผู้บริโภคบางคนก็ไม่ได้เปิดเช็กของก่อนที่จะจ่ายเงิน เพราะอาจได้ของไม่ตรงปกหรือเจอของปลอม ฉะนั้นเมื่อได้รับของแล้วควรตรวจสอบสินค้าที่ได้รับก่อนก็ไม่เสียหาย

เก็บหลักฐานไว้ไม่เสียหาย ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด หากว่าชำระเงินแล้วให้รีบแคปเจอร์หน้าจอเพื่อเก็บหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อ ใบเสร็จรับเงิน การโอนเงิน หรือการสนทนาระหว่างผู้ขาย-ผู้ซื้อ ต้องรอบคอบไว้ก่อน เผื่อมีโอกาสใช้ในกรณีที่เกิดปัญหาภายภาคหน้าและจำเป็นต้องใช้

ทั้งนี้ผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมนำไปสู่ความไม่ระวังภัยในการชอปปิง จะเล็งเห็นแต่สินค้าที่ตนเองสนใจเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีการเช็กรายละเอียดของร้านค้าดังกล่าว ก็มีโอกาสที่จะโดนโกงจนไม่อยากกลับมาซื้อของออนไลน์อีกเลย

รีวิว ยอดติดตามร้าน ตรวจเช็คอย่างละเอียด

โซเชียลมีเดียสุดฮิตอย่าง Instagram และ Facebook ก็เป็นแพลตฟอร์มที่นิยมทำการซื้อขายสินค้าค่อนข้างมากเลยทีเดียว ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ให้ความเชื่อถือจากการเห็นรีวิว การแนะนำจากคนรู้จัก ยอดติดตามของร้านค้า และใบอนุญาตในการขายสินค้าออนไลน์ของร้านค้าตามลำดับ

ทว่าในปัจจุบันการโกงสินค้าออนไลน์มีการพัฒนามากขึ้น เช่น มีการปลอมแปลงเอกสาร หรือมีการจ้างหน้าม้าเพื่อรีวิวสินค้า ทำให้การตรวจสอบความน่าเชื่อถือนั้นมีระดับที่ยากขึ้นไปอีก จึงถือว่าแพลตฟอร์มออนไลน์มีโอกาสที่จะถูกโกงค่อนข้างง่าย ผู้บริโภคก็ควรที่จะตรวจสอบและตัดสินใจให้ถี่ถ้วนก่อนซื้อสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์

ปั๊มฟอล ธุรกิจรับจ้างลวงความน่าเชื่อถือ

ผู้บริโภคสามารถป้องกันตนเองได้ด้วยการตรวจสอบประวัติร้านค้าหรือผู้ขาย และประวัติการขายให้รอบด้าน เพราะในปัจจุบันมีการรับจ้างเพิ่มยอดผู้ติดตามหรือที่รู้จักในชื่อ ‘ปั๊มฟอล’ เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือ หากดูแค่ยอดผู้ติดตามอาจไม่เพียงพอ และควรดูรีวิวจากลูกค้าที่ซื้อสินค้าไปแล้วว่าได้รับสินค้าจริงและมีคุณภาพตรงกับที่ต้องการหรือไม่

นี่ถือเป็นการป้องกันเบื้องต้น หากว่าผู้บริโภคยังคงกังวล เพราะยุคสมัยนี้มีกลอุบายการโกงที่พัฒนาขึ้น ทำให้ข้อมูลเพียงแค่นั้นอาจจะยังไม่เพียงพอและยังถูกโกงได้ ผู้บริโภครับมือได้ด้วยการขอข้อมูลส่วนตัวจากผู้ขายหรือร้านค้า โดยการขอให้ถ่ายรูปคู่กับบัตรประชาชน เพื่อนำเก็บไว้เป็นหลักฐาน สามารถนำไปแจ้งความในกรณีที่ถูกโกงจากร้านค้าได้

เรียนรู้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมีไว้เพื่อเป็นเกราะป้องกันผู้บริโภคจากภัยอันตราย ไม่ให้ถูกหลอกลวงและสามารถเอาผิดจากผู้ที่หลอกลวงได้

มาตราที่สำคัญคือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ออกโดยราชกิจจานุเบกษา ปีที่ออก พ.ศ.2560 “ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” [อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560]

หากว่าผู้ขายฉ้อโกงผู้บริโภคทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน จะได้รับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ออกโดยราชกิจจานุเบกษา ปีที่ออก พ.ศ.2560 “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” [อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560]

ซื้อของออนไลน์ ต้องมีวิจารณญาณ

สายนักชอปก็คงจะทราบกันดีถึงภัยอันตรายจากการซื้อของออนไลน์ว่ามีความน่ากลัวแค่ไหน แม้ว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มียอดติดตามสูงก็ไม่ได้หมายความว่าได้รับการการันตีความน่าเชื่อถือของร้านค้าแต่อย่างใด แทนที่จะได้ซื้อสินค้าอย่างมีความสุข แต่ดันเกิดทุกข์จากการโดนโกงแทนเสียอย่างนั้น

การชอปปิงออนไลน์สามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้เราได้หลายอย่าง เพียงแต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเอง เลือกร้านที่เชื่อถือได้หรือนำชื่อบัญชีร้านไปค้นก่อนว่ามีประวัติคนโดนโกงหรือไม่ และเก็บหลักฐานที่ซื้อเอาไว้ ที่สำคัญอย่าลืมที่จะวางแผนการใช้เงินให้ดีด้วย เพียงเท่านี้การชอปปิงก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น

การมีสติในการซื้อของออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการเรียนรู้กฎหมายเบื้องต้น จะทำให้เรารู้เท่าทันกลโกงการจากการซื้อขายของออนไลน์ และป้องกันตนเองจากการถูกหลอกลวงได้มากยิ่งขึ้น

3 เช็ค เตือนภัยนักชอปปิง ซื้อของออนไลน์อย่างไรไม่ให้ถูกโกง!

Reference & Bibliography

  • รู้ทัน!! คนโกงในโลกออนไลน์ และ วิธีป้องกันไม่ให้เป็นเหยื่อ. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564, https://www.cyfence.com/article/how-to-protect-yourself-from-online-fraud
  • หมวด ๓ ความผิดฐานฉ้อโกง (มาตรา ๓๔๑ – ๓๔๘). สถาบันนิติธรรมาลัย. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564, https://drthawip.com/criminalcode/1-53
  • ประมวลกฎหมายอาญา. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564, https://www.keybookme.com/criminal-law/get?matra=264
  • ขอขอบคุณภาพประกอบ Unsplash: Beautiful Free Images & Pictures www.unsplash.com

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา JR402 Interpretation of Current Affairs ภาคการศึกษา 1/2 2564 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา รศ.วัฒณี ภูวทิศ

Writer

การมีเป้าหมายแล้วลงมือปฏิบัติ จะทำให้เราประสบความสำเร็จไม่ช้าก็เร็ว

Writer

แค่มนุษย์คนหนึ่งที่ใช้ชีวิตด้วยกฎของการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมจาก Fullmetal Alchemist

Writer

นักเขียน นักเรียน นักเล่น(ละคร) มัมหมีของลูกชีต้าตัวน้อย ที่อยากเกิดมาเป็นสาวน้อยเวทมนต์ก็เพียงเท่านั้น

Writer

คติประจำใจ Every new day is another chance to change your life

Writer

นักศึกษาสาขาวิชาวารสารศาสตร์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จงมีความสุขกับสิ่งที่เราชอบ

Writer

ขอบคุณที่โลกใบนี้มีเสียงเพลง แมว และปลาแซลมอล