แป้ง น้ำตาล กลิ่นหอม สามสิ่งที่ทำให้อากงอาม่านึกน้ำลายสอ มาทำความรู้จักเหล่าขนมในฤกษ์งามยามมงคลอย่างเทศกาลตรุษจีน!

หากพูดถึงเทศกาลตรุษจีน ชาวไทยเชื้อสายจีนหรือแม้กระทั่งชาวไทยหลายคนอาจจะนึกถึงการไหว้บรรพบุรุษ ชมการแสดงงิ้ว ศิลปะการเชิดสิงโต หรือบรรยากาศแสงไฟจากพลุที่ถูกจุดฉลองภายในงานเทศกาลที่หนึ่งปีมีครั้ง ทว่าหนึ่งสิ่งที่ทำให้เทศกาลนี้โดดเด่นไม่แพ้เทศกาลอื่นก็คือ ‘ขนมไหว้เจ้า’ ที่ต่างเป็นที่รู้จักและเลื่องลือกันในหมู่ผู้คนไม่ว่าจะมีเชื้อสายใดก็ตาม

แป้งขนมที่ถูกรมด้วยควันเทียนจนหอมกรุ่น ความหวานและสัมผัสของแป้งนุ่มลิ้นทั่วอณูขนม กลิ่นหอมหวานจากน้ำตาลปั้นที่โชยเข้ามาเตะจมูก สามอย่างนี้ล้วนชูรสชาติให้ทุกอาหารที่เราลิ้มรสในวันเทศกาล กระตุ้นความสุขให้กระจายไปทั่วร่างพร้อมรอยยิ้มที่ปรากฏบนใบหน้า

เช่นนั้นแล้ว การส่งมอบขนมไหว้เจ้าที่เป็นเหมือนกับจิตวิญญาณของบรรพบุรุษในวันตรุษจีน ล้วนแต่สามารถสร้างความสุขให้ผู้ที่ได้รับไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม

เราจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักขนมไหว้เจ้าทั้ง 9 ชนิดที่มักจะถูกพูดถึงและพบเจอได้บ่อยในช่วงตรุษจีน เพื่อให้พวกท่านได้มีโอกาสได้ไปหามาลิ้มลองและซึมซับความสุขจากบรรยากาศในช่วงเวลาอันแสนอบอุ่นนี้

บัวลอยน้ำขิง (ทังหยวน) ดีต่อใจ ดีต่อสุขภาพ

บัวลอยน้ำขิง (ทังหยวน) เนื้อบัวลอยหนุบหนับ ผสานเข้ากับรสชาติบางเบาของน้ำขิงอย่างลงตัว

เมนูแรกที่ต้องลิ้มลองคือบัวลอยน้ำขิง รูปร่างลักษณะของบัวลอยคล้ายโคมไฟในช่วงเทศกาล ขนมหวานนี้มีกำเนิดมาจากจีน ลูกบัวลอยใช้แป้งข้าวเหนียวเป็นส่วนประกอบสำคัญ เพิ่มความเข้มข้นด้วยการสอดไส้หลากชนิด แล้วนำไปต้มกับน้ำขิง

ถือเป็นหนึ่งขนมหวานที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญในการเฉลิมฉลองของชาวจีน รับประทานแล้วชุ่มคอ ชื่นใจ ผ่อนคลายความเหนื่อยล้าได้เป็นอย่างดี

ขนมเข่ง ล้ำค่า อุดมสมบูรณ์

ขนมเข่ง (ตีโก้ย) ข้าวเหนียวและน้ำตาลที่ถูกนำมาขึ้นรูป มักมีทรงกลม หนานุ่ม

คุ้นหน้า คุ้นตา กันอยู่แล้ว สำหรับขนมเข่งในช่วงเทศกาลตรุษจีน ถือเป็นขนมที่เคียงคู่กับทุกเทศกาลของชาวจีน อีกทั้งยังมีวิธีการทำที่อาจจะแตกต่างกันไปแต่ละภูมิภาค และอาจจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันตามแหล่งที่มา

ส่วนผสมหลักคือทำจากแป้งที่นำมาขึ้นรูปเป็นแผ่น มีรสชาติหลากหลาย สามารถนำไปแปรรูปเก็บไว้รับประทานได้หลายวัน ขนมเข่งจึงเป็นสัญลักษณ์ของความยั่งยืนและอุดมสมบูรณ์

ขนมไหว้พระจันทร์ พลังของความรัก

ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมที่ขาดไม่ได้ในเทศกาล ทำจากแป้งที่ถูกกดใส่พิมพ์มีหลากรสชาติให้เลือกสรร

ขึ้นชื่อว่าขนมไหว้พระจันทร์ มีเรื่องเล่าที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นหลายตำนาน เป็นขนมที่แสดงถึงพลังความยิ่งใหญ่ ความสามัคคี การรวมพลังกันเพื่อต่อสู้จนได้ชัยชนะ ทำให้ขนมไหว้พระจันทร์เป็นขนมที่ทรงคุณค่าและรู้จักกันไปทั่วโลก

ขนมไหว้พระจันทร์ยังสื่อถึงความรักความห่วงใยที่มีถึงกัน หากต้องจากกันไกล การมองพระจันทร์เป็นการส่งความคิดถึงและห่วงใย ตัวขนมมีส่วนผสมของแป้ง พร้อมด้วยธัญพืชที่ให้ประโยชน์ เช่น ถั่วแดง ถั่วจีน เม็ดบัว แถมด้วยไส้หลากหลายรสชาติ เป็นขนมที่ไม่เพียงผลิตในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์เท่านั้น แต่ยังนำมาไหว้เทพเจ้าในเทศกาลสำคัญของชาวจีนอีกด้วย

ซาลาเปา (เปาจึ) ออมเงิน ออมทอง มั่งคั่งร่ำรวย

ซาลาเปา (เปาจึ) ก้อนแป้งสีขาวนวล ถูกนึ่งจนสุก ภายในบรรจุไส้ทั้งคาวหวาน

สัญลักษณ์ของความเป็นจีนคือซาลาเปา ยิ่งได้กินตอนร้อน ยิ่งอร่อย แถมด้วยความหมายที่ดี เพราะคำว่าเปา หมายถึง การห่อ คือการที่เงินทองไหลมาเทมา ให้เราได้เก็บใส่ห่อ สอดคล้องกับคำว่าอั่งเปา ก็คือซองสีแดงที่มีเงินเป็นของมีค่าบรรจุอยู่ข้างใน เพราะฉะนั้นขอให้เก็บเงิน เก็บออม จะได้มั่งคั่งร่ำรวยชั่วลูกชั่วหลาน

ขนมสาลี่ ชีวิตที่รุ่งเรือง เฟื่องฟู

ขนมสาลี่ ขนมเค้กโบราณชิ้นโต หอมนุ่มละมุนและมีสีสันสดใส

เฟื่องฟู รุ่งเรือง คือความหมายของขนมสาลี่ ที่มีความคล้ายกับขนมถ้วยฟู ขนมสาลี่จึงนิยมนำมาไหว้ในช่วงเทศกาลสำคัญ ขนมทำมาจากส่วนผสม เช่น แป้งสาลี น้ำตาล ไข่ กระบวนการทำก็ทำได้ง่าย แถมยังฝึกความอดทนและรอคอย ทำให้เราเห็นความหมายโดยนัยว่าความเจริญรุ่งเรือง เป็นสิ่งที่ต้องค่อย ๆ สะสม ให้เติบโต ชาวจีนจึงนิยมส่งมอบความสุขให้แก่กันด้วยขนมสาลี่

ปุยฝ้าย ความละเอียด อ่อนน้อม และงอกงามของชีวิต

ปุยฝ้าย เค้กนึ่งในพิมพ์ขนาดพอดีคำและมีเนื้อละเอียดบางเบา

ชื่อน่ารัก แถมยังหอม นุ่มอร่อย มีความหมายสื่อถึงความงอกงาม เจริญรุ่งเรือง ปุยฝ้ายมีส่วนผสมของแป้งเค้ก น้ำตาลทราย ไข่ไก่ นม น้ำหวาน และเชอรี่ ที่ทำให้เนื้อขนมมีสีสันสวยงาม ความละเอียดบางเบาของเนื้อขนมอาจจะสื่อได้ถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนที่ต้องมีอยู่เสมอ เป็นขนมมงคลเหมาะสำหรับใช้ในเทศกาลสำคัญของชาวจีน

ขนมเทียน ความยิ่งใหญ่และสว่างไสวของชีวิต

ขนมเทียน ขนมจากแดนมังกรที่ถูกปรับแต่งรสชาติเพิ่มเติมโดยประเทศไทย ผลิตจากแป้งข้าวเจ้าและกะทิสอดไส้หลากหลาย หอมอบอวลด้วยกลิ่นควันเทียน

ขนมเทียนมีที่มาไม่แน่ชัด บ้างก็ว่าชาวจีนดัดแปลงมาจากขนมไทย บ้างก็ว่าเป็นขนมที่ทำโดยคนจีน ทำมาจากแป้งข้าวเหนียวผสมกับน้ำ มีไส้ในทำมาจากถั่ว แต่รับรองว่าถ้าใครได้ลองชิมแล้วจะติดใจอย่างแน่นอน อีกทั้งคำว่าเทียนทั้งในภาษาจีนและภาษาไทยก็มีความหมายมงคล สื่อถึงความยิ่งใหญ่ ธรรมชาติ ท้องฟ้า สรวงสวรรค์ ความสว่างไสว ขนมเทียนจึงเป็นที่นิยมมายาวนาน

จันทร์อับ (จันอับ) ความเป็นระเบียบและการมีวินัย

ขนมจันทร์อับหรือจันอับ (แต้เหลียว) มักทานคู่กับน้ำชามีส่วนผสมคือถั่วกับน้ำตาลที่ถูกปรุงอย่างลงตัว กรุบกรอบ รับประทานง่าย

ขนมมงคลในตำนานที่พบเห็นได้บ่อยในงานมงคลของคนไทยเชื้อสายจีน ที่มาของขนมจันอับเป็นตำนาน ที่จริงแล้วคือลักษณะของกินที่ถูกจัดใส่กล่องอย่างสวยงามเรียกว่า จันทร์อับ (จันอับ) มีหลากหลายทำให้หยิบรับประทานง่าย กลายเป็นชื่อขนมไปโดยปริยาย ไว้กินคู่กับการดื่มชาแบบชาวจีน

ในไทยเองก็มีการนำจันอับมาใช้ในงานมงคลอยู่ค่อนข้างบ่อย ทำให้กลายเป็นขนมมงคลที่ขาดไม่ได้ในทุกเทศกาลสำคัญ ขนมชนิดนี้อาจจะสื่อถึงความมีวินัย ความเป็นระเบียบของการใช้ชีวิต ที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จ

อั่งท้อก้วย ความผูกพัน ขยันขันแข็ง และการมีอายุยืนยาว

อั่งท้อก้วย ขนมรูปทรงสามเหลี่ยม นุ่มหนึบ มีประวัติยาวนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น

ชื่อขนมและรูปลักษณ์ของขนมที่มีลักษณะคล้ายผลท้อ ช่วงขณะที่สุกเป็นสีแดง ทำให้ขนมชนิดนี้มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร อีกทั้งมีมาตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์โบราณของจีน ลูกท้อคือผลไม้มงคลของชาวจีน เป็นผลไม้แห่งสวรรค์ มีความเชื่อว่าการรับประทานผลท้อจะทำให้อายุยืน

อั่งท้อก้วย คือขนมที่ผูกพันกับชีวิตคนจีนตั้งแต่เกิดจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ใช้ไหว้ในงานมงคล และการจากลา ขนมชนิดนี้จึงทำให้เราเข้าใจวิถีชีวิตของชาวจีน แสดงถึงการใช้ชีวิตอย่างมุ่งมั่น ขยันขันแข็ง ทำให้เห็นได้ว่าการที่ชาวจีนเจริญรุ่งเรือง เพราะยึดมั่นในคุณธรรมความดี และใช้ชีวิตทุกวินาทีอย่างคุ้มค่ามากที่สุด

ขนมมงคลที่ใช้สำหรับการไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษของชาวจีนจึงมีที่มา มีความหมาย มีความสำคัญ เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงคุณงามความดี ความเจริญรุ่งเรือง และยังเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลที่ช่วยสร้างความรักความผูกพันกันในครอบครัวให้ยั่งยืนยาวนานอีกด้วย

Reference & Bibliography

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา JR413 Newspaper Workshop, JR414 Magazine Workshop, JR303 Convergence Journalism Editing ภาคการศึกษาที่ 2/2564

Writer & Graphic

นักฝัน นักพูด นักเขียน ผู้รักการถ่ายทอดอารมณ์ในหลากรูปแบบ แม้เขาจะเพิ่งก้าวสู่วงการนักเขียนเพียงไม่ถึงปี แต่อย่างไรโลกนี้ก็ยังมีอะไรให้เขาได้เรียนรู้อีกมากนัก

Writer

บ๊อกบ๊อก เอ๋งเอ๋ง