อาการเจ็บป่วยทางด้านจิตใจแท้ที่จริงแล้วคือเรื่องละเอียดอ่อน ในทางการแพทย์เราเรียกว่าเป็นโรคทางด้านจิตเวช ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรให้ความสำคัญ ไม่ควรละเลย เพราะฉะนั้นการศึกษา เรียนรู้ เปิดใจรับฟัง ทำความเข้าใจอาการป่วยทางจิตใจคือแนวทางสำคัญในการแก้ปัญหา

เรามาทำความเข้าใจหนึ่งในอาการเจ็บป่วยทางจิตใจที่เรียกทับศัพท์กันว่า โรคแพนิค (Panic Disorder) เพื่อหาทางป้องกัน รักษา เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาแข็งแรงและมีกำลังใจในการใช้ชีวิต

แพนิคคืออาการที่ไม่ปกติ

อาการตกใจหรือตื่นตระหนก เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทว่าโรคแพนิค มีอาการที่สังเกตได้ เช่น การพูดที่ผิดปกติ เพราะมีอาการตื่นเต้น หายใจแรง หายใจไม่เต็มที่ การแสดงอารมณ์ที่แปรปรวน กลัว กังวล ไม่สามารถควบคุมตนเอง มีอาการเหมือนเป็นไข้ หนาว ๆ ร้อน ๆ การเคลื่อนไหวที่ไม่สมดุล มีอาการมึนหัว

อาการที่กล่าวไปเป็นเพราะโรคแพนิคเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกาย ส่งผลต่อระบบประสาทอัตโนมัติ (automatic nervous system) ให้ทำงานผิดปกติไปจากเดิม

ถ้าทุกคนยังนึกอาการแพนิคไม่ออก อยากให้ลองนึกถึงเวลาเราค่อย ๆ โยนลูกบอลออกไปข้างหน้า นั่นคือ ตัวแทนของความคิดและความตื่นเต้นแบบคนปกติ และลองนึกถึงเครื่องยิงบอลออกไปอย่างต่อเนื่องรวดเร็ว เปรียบได้กับความคิดและความตื่นเต้นของคนเป็นแพนิค เมื่อเทียบกันแล้วจะเห็นได้ว่าความแรงที่ส่งออกไปแตกต่างกันอย่างชัดเจน

สิ่งที่เคลื่อนที่ออกไปอย่างรวดเร็ว จะขาดความมั่นคง ความผิดพลาดก็จะมากขึ้น เหมือนเครื่องยิงบอลที่อาจจะออกไปอย่างรวดเร็วแต่เราไม่อาจทราบเลยว่าผลกระทบต่อแรงที่ออกไปจะตรงไปยังที่ใด และเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นอาการแพนิค จึงเป็นอาการที่ควบคุมได้ยาก

เคลื่อนไหวร่างกายได้ช้า

คนที่เป็นโรคแพนิค จะมีอาการเคลื่นไหวช้าลงประมาณ 30-50 เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่ความเครียดและสถานการณ์ที่ต้องเผชิญ จะมีความลำบากในการทรงตัว เพราะสมองสั่งการได้ช้าลง ร่างกายก็จะเคลื่อนไหวได้ช้าลงอีกด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องการแสดงออกก็มักไม่เป็นไปตามที่เราคิด หลายคนที่เกิดอาการเหล่านี้มักจะคิดว่าตัวเองผิดปกติ หรือโดนแรงกดดันจากรอบข้างและสังคม ทำให้มองว่าตนเองเป็นคนช้า เป็นคนป้ำเป๋อ ยิ่งโดนบูลลี่ทำให้ยิ่งคิดมาก การเคลื่อนไหวก็จะแปลกไปมากกว่าเดิม เพราะกลัวคนอื่นจะตัดสิน ที่จริงแล้วเราเป็นโรคแพนิคนั่นเอง

ต้องพยายามมากกว่าคนอื่น

คนที่มีความฝันในการทำงานหรือชีวิตส่วนตัว การก้าวไปให้ถึงฝันต้องพัฒนาความสามารถ ฝึกฝน เรียนหนังสือ ทำงาน รู้หรือไม่ว่าผู้ป่วยแพนิคต้องพยายามมากกว่าคนปกติตรงที่เขาต้องควบคุมตนเอง ควบคุมอาการที่ตัวเองเป็น ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ตัวอย่าง การพูดที่ไม่เต็มประสิทธิภาพ การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ อาการหน้ามืด การคิดที่ทำได้ไม่เต็มที่ เมื่อคนเราคิดไม่ออกก็ยากที่จะแสดงตัวตนของตนเองที่อยู่ภายในออกไปให้คนอื่นได้รับรู้ นับเป็นสิ่งที่ทรมารมากกับการเจ็บป่วยทางกายและใจ เป็นเรื่องที่ยากที่จะเข้าใจ เพราะถ้าไม่ได้เกิดกับใครคงใจยากที่จะเข้าใจความรู้สึก

ความสามารถทางการสื่อสารลดน้อยลง

การสื่อสารจำเป็นมากในการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้าเราต้องการให้ผู้ฟังหรือคู่สนทนาเราเข้าใจแบบใด เราก็ต้องสื่อสารจากความคิดภายในออกไปให้ผู้นั้นได้รับรู้ แต่เมื่อเราขาดทักษะของการสื่อสาร มักจะทำงานได้ยาก โดยเฉพาะในสายงานที่ต้องการความสามารถของการสื่อสารเป็นพิเศษ

ผู้ป่วยที่ขาดความมั่นใจในการสื่อสาร ทำให้พวกเขาแสดงศักยภาพได้น้อยลง และทำให้ความมั่นใจในการใช้ชีวิตลดลงไปด้วย และความไม่มั่นใจนี้ยังส่งผลต่อการกล้าแสดงออก การเข้าสู่สังคม และการพูดคุยกับผู้คน เพราะผู้ป่วยมักกลัวว่าจะทำตัวแปลกและเป็นจุดสนใจ

ความเข้าใจคือกำลังใจสำคัญที่สุด

การพูดให้กำลังใจมีหลายแบบ กำลังใจที่ดีที่สุดคือการเข้าใจ เปิดใจรับฟังปัญหาของผู้ป่วยว่าเขารู้สึกอย่างไร ใช้การรับฟังคือวิธีการที่ดีที่สุด คำพูดให้กำลังใจบางประโยคก็อาจจะก่อให้เกิดความสะเทือนใจ และส่งผลร้ายได้ หลีกหลีกคำพูด เช่น อย่าไปกลัว อย่าไปคิดมาก มีสติ การรับฟังผู้ป่วย ปล่อยให้เขาได้ระบายความอึดอัดใจ การรับฟังเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการเยียวยาจิตใจ

ความไม่มั่นใจในตนเอง ความอ่อนแอทางจิตใจของผู้ป่วยทำให้ประสิทธิภาพของการดำเนินชีวิตเฉลี่ยแล้วลดลงไปถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบให้เห็นภาพมากขึ้น เราลองนึกว่าเราเคยเล่นเทนนิสได้เก่งมาก แต่วันนี้เราแทบจะจับไม้เทนนิสไม่ได้เลย นั่นแหละคือผู้ป่วยแพนิค

เขาจะกลัวในสิ่งที่จะเกิดขึ้น กลัวว่าจะทำได้ไม่ดีที่สุด คิดไปก่อนในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อสมองสั่งงานในการคิดมากซํ้าไปซํ้ามา ก็จะเกิดอาการเครียดและเกิดอาการแพนิค อย่างที่กล่าวไปข้างต้นอาการแพนิคมิใช่การตื่นเต้นเสมอไป แต่มันเกิดจากความเครียด การยํ้าคิด จนเกิดเป็นอาการแพนิค

พบคุณหมอ รักษาอาการ

หลายคนมักกลัวและกังวลใจที่จะต้องพบคุณหมอ ปรับเปลี่ยนความคิดว่าการไปพบหมอคือสิ่งที่ต้องทำอย่างเนื่อง รวมถึงการสร้างทัศนคติที่ดีต่อตนเอง ไม่ลดทอนคุณค่าและความสามารถตนเอง ค่อย ๆ รักษาตัว ปรับวิธีการใช้ชีวิตให้มีคุณภาพ แล้วจะมีอาการที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

วิธีการรักษาคือการปรับสารเคมีในสมองด้วยการรับประทานยา รวมถึงการค้นหาสาเหตุของความกังวล ความกลัว ที่สำคัญคือการฝึกตนเองให้ควบคุมลมหายใจ ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันอย่างมีสติ ลดอาหารที่ก่อให้เกิดการกระตุ้นทางจิตใจ เช่น คาเฟอีน น้ำอัดลม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากโรคแพนิค

คุณจะรู้ว่าใครอยู่ข้างคุณบ้าง คุณจะรู้ว่าเวลาแห่งความสุขนั้นมีค่าเพียงใด เราจะได้เรียนรู้ในความพยายามที่ต้องอดทนต่อสู้ ไม่ใช่กับคนอื่น แต่เป็นตัวของเราเอง เราต้องก้าวข้ามขีดจำกัดของความกลัวที่มากมาย เมื่อนั้นเราจะได้เห็นคุณค่าของชีวิต

ความเข้าใจและการสื่อสารเกี่ยวกับโรคแพนิคที่ถูกต้อง จะทำให้คนเข้าใจผู้ป่วยโรคนี้มากยิ่งขึ้น หากมีผู้ป่วยโรคแพนิคอยู่ใกล้ตัว เราจะได้สามารถปฏิบัติต่อผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ การเปิดใจรับฟัง เข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง

Reference & Bibliography

  • รู้จักโรคแพนิค โรคที่ไม่ได้มีแค่นิสัยขี้ตกใจ. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564, จาก https://bit.ly/3kaNZYD
  • โรคแพนิค (Panic Disorder). Raksa Content Team. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564, จาก https://www.doctorraksa.com/th-TH/blog/panic-disorder.html
  • ขอขอบคุณภาพประกอบ Pexels: Free Stock Photos www.pexels.com
  • ขอขอบคุณภาพประกอบ Unsplash: Beautiful Free Images & Pictures www.unsplash.com

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา BR402 Youtube Production, BR404 Broadcasting Project ภาคการศึกษาที่ 1/2 2564

Writer

นักศึกษาสาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นคนชื่นชอบประวัติศาสตร์ เรื่องราวในอดีต ประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่บอกรากเหง้าแต่ยังได้เรียนรู้ความคิดคน สนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แฟชั่น ภาพถ่าย และการท่องเที่ยว เวลาว่างมักจะฟัง Podcast ของ Channel Salmon เป็นประจำ