ไอรอนแมน (Iron Man) กัปตันอเมริกา (Captain America) ธอร์ (Thor) สไปเดอร์แมน (Spider-Man) ชื่อตัวละครเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุ้นหูคุ้นตาของชาวไทยในสมัยนี้อยู่ไม่น้อย เหล่าซุปเปอร์ฮีโร่จากค่ายหนังสือการ์ตูนชื่อดังที่ก่อตั้งมาถึง 81 ปี อย่าง ‘มาร์เวล คอมิคส์ (Marvel Comics)’ ตีตลาดภาพยนตร์จนก้าวขึ้นเป็นแฟรนไซส์ (Franchise) ทำเงินรวมสูงที่สุดตลอดกาล (2.08 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

หลายคนอาจสงสัยว่ามาร์เวลเริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทยได้อย่างไร เติบโตขึ้นในช่วงใด ทำไมถึงได้รับความนิยมมากกว่าค่ายคู่แข่งอย่าง ดีซี คอมิคส์ (DC Comics) เราขออาสาไปหาคำตอบ พร้อมทำความรู้จักกับ พี่จึ๋ง-อนิล ยศสุนทร ผู้คลั่งไคล้ในซูเปอร์ฮีโร่ค่ายมาร์เวลมานานกว่า 35 ปี และเป็น แอดมินของมาร์เวล ไทยแลนด์ แฟนเพจ (Marvel Thailand Fanpage) เพจรวมแฟนคลับมาร์เวลที่มีผู้ติดตามมากกว่า 5 แสนคน ทั้งยังเป็นเจ้าของตำแหน่งรองชนะเลิศรายการแฟนพันธุ์แท้ ในหมวดหมู่ของมาร์เวลอีกด้วย

ความคุ้นเคยที่อยู่คู่กาลเวลา

“ประวัติของมาร์เวลมันมีมานานแล้ว มีมาเกิน 50 ปี ซึ่งคนรุ่นพ่อแม่เรา ที่โตมาในยุค 70s จริง ๆ ก็รู้จักตัวละครมาร์เวลมาแล้ว อย่างเช่น ฮัลค์ (Hulk) ที่เป็นทำเป็นทีวี ซีรีส์ (TV series) และใช้คนแสดงจริง”

มาร์เวลเป็นค่ายหนังสือการ์ตูนที่มีมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ดำเนินเรื่องราวต่าง ๆ มาอย่างยาวนาน และแน่นอนว่าในประเทศไทยตั้งแต่สมัย ค.ศ.1970-1980 ได้มีการนำหนังสือการ์ตูนของมาร์เวลเข้ามาขายแต่อยู่ในรูปแบบภาษาอังกฤษ ซึ่งก็ได้ค่ายบงกช และค่ายแอดวานซ์ (Advance) นำมาแปลเป็นภาษาไทยให้คนไทยได้อ่าน ถือเป็นวิธีการเพิ่มผู้ติดตามในไทยให้มากขึ้นไปด้วย

นี่คือถ้อยคำทั้งหมดจากผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการซุปเปอร์ฮีโร่เกือบสี่ทศวรรษอย่างพี่จึ๋ง ที่ถ่ายทอดเรื่องราวพร้อมอธิบายต่อถึงจุดเริ่มต้นในการติดตามมาร์เวล “คุณพ่อเป็นนักบิน เพราะฉะนั้น เวลาท่านบินไปต่างประเทศ ก็จะซื้อของเล่น หนังสือการ์ตูนภาษาอังกฤษ หรือวิดีโอภาษาอังกฤษมาให้เราดู เพื่อจะให้ฝึกภาษาไปในตัว เราก็จะได้พวกหนังสือการ์ตูนซูเปอร์แมน สไปเดอร์แมน

นั่นคือจุดเริ่มต้นในการชอบของเรา หลังจากนั้นก็พยายามหาเพิ่มไปเรื่อย ๆ สมัยก่อนหนังสือการ์ตูนซื้อได้ แต่ว่าราคามันค่อนข้างสูง ประมาณ 50 บาทต่อเล่ม ซึ่งสมัยนั้นข้าวจานละ 5 บาท 10 บาท สำหรับเด็กที่อายุน้อย ๆ นาน ๆ ถึงจะเก็บเงินได้ แล้วไปซื้อ จะมีขายเฉพาะที่เซ็นทรัล หรือวิลล่า มาร์เก็ต อะไรอย่างนี้ ”

แสดงให้เห็นว่าการติดตามหนังสือการ์ตูนในสมัยก่อน ไม่ได้เป็นอะไรที่เข้าถึงได้ง่ายขนาดนั้น ด้วยสาเหตุของราคาที่สูงไปสำหรับเด็ก และสถานที่จำหน่ายมีอยู่อย่างจำกัด

“มันช่วยเพิ่มฐานแฟนคลับ จากสมัยก่อนที่อาจจะมีแค่หลักร้อยหลักพันที่ซื้อภาษาอังกฤษมาอ่าน พอหนังสือถูกแปลเป็นภาษาไทย ผู้ติดตามก็มีเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า”

แฟนคลับมาร์เวล ก่อนยุคโซเชียลมีเดีย

สำหรับการเข้าถึงของกลุ่มแฟนคลับในสมัยก่อนที่การใช้อินเตอร์เน็ตยังไม่เป็นที่นิยม ผู้คนยังคงติดตามข่าวสารจากสื่อสิ่งพิมพ์อยู่เป็นหลัก พี่จึ๋งเล่าให้ฟังว่า “จังหวะที่แฟน ๆ จะได้เข้ามาพบปะพูดคุยกันมีน้อย ยกเว้นว่าสำนักพิมพ์จะจัดกิจกรรม บางทีพวกหนังสืออย่าง ฮอบบี้ ทอยส์ แอนด์ โมเดล (Hobby Toys & Models) หรือว่า ทีวี แมกกาซีน (TV Magazine) มีการลงบทความในเรื่องพวกนี้ กลุ่มแฟน ๆ จะคุยกันผ่านคอลัมน์จดหมายที่อยู่ในนั้น โดยจะส่งไปหาคนที่เขียนบทความแล้วก็ตอบกลับ ถ้าในหนังสือ ฮอบบี้ ทอยส์ ก็จะเป็นคนที่ใช้นามปากกาว่า ที เร็กซ์ (T-rex) หรือหนังสือ สตาร์พิกซ์ (Starpics) ที่ลงข่าวสารของหนังซูเปอร์ฮีโร่”

จนมาในยุคที่มีเว็บบอร์ดชื่อดังอย่าง ‘พันทิป (Pantip)’ ทำให้กลุ่มแฟนมาร์เวลได้มีโอกาสมาสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากขึ้น มีการนำหนังสือการ์ตูนมาแปลให้ทุกคนได้อ่าน นับเป็นประโยชน์ของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

ส่วนวงการภาพยนตร์ก็ถือเป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยรู้จักกับซูเปอร์ฮีโร่มากขึ้น แต่จะรู้จักในนามของตัวละครนั้น ๆ มากกว่าการรู้จักในฐานะจักรวาลมาร์เวล ในช่วงยุค ค.ศ. 2000 ที่มาร์เวลขายลิขสิทธิ์ของตัวละครให้ค่ายภาพยนตร์ต่าง ๆ นำไปสร้างหนังออกมา เราก็จะได้เห็น สไปเดอร์แมน (Spider-Man) กับ แฟนทาสติก โฟร์ (Fantastic Four) จากค่ายโซนี่ (Sony) และเอ็กซ์-เม็น (X-Men) จากค่ายฟ็อกซ์ (Fox) ความนิยมในการรับชมภาพยนตร์ที่มากขึ้น ทำให้ผู้ชมได้เห็นคำว่ามาร์เวลบนใบปิดของหนังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความคุ้นเคยเหล่านี้จึงทำให้คนไทยได้รู้จักมาร์เวลในฐานะแบรนด์มากกว่าเดิม

ความใกล้ชิดของตัวละคร ทำให้แซงหน้าคู่แข่งตลอดกาล

“อย่างที่รู้กันว่าแบทแมน (Batman) ซูเปอร์แมน (Superman) เป็นตัวละครที่คนรู้จักมากที่สุดในโลกอันดับต้น ๆ คือมีซานตาคลอส (Santa Claus) จีซัส (Jesus) อะไรอย่างนี้ แต่พอช่วงนี้ มันเริ่มจะสลับกัน ไอรอนแมน สไปเดอร์แมน กัปตันอเมริกา เริ่มได้รับความนิยมทำให้อันดับไล่เลี่ยกันมาติด ๆ” คำยืนยันจากพี่จิ๋ง

ในยุค 2000 ไม่ใช่เพียงแค่มาร์เวลที่ตีตลาดในโลกภาพยนตร์ ค่ายคู่แข่งอย่าง ดีซี คอมิคส์ (DC Comics) ก็พยายามจะเจาะตลาดกลุ่มนี้และทำได้ดีเช่นกัน ตัวละครดัง ๆ ทำให้ ซูเปอร์แมน และ แบทแมน กลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย แล้วอะไรล่ะ ? ที่ทำให้ภาพยนตร์ของมาร์เวล ก้าวขึ้นมายึดพื้นที่ความนิยมในช่วงปลายยุค จนไปถึงยุค 2010 เลย

พี่จึ๋งให้เหตุผลอย่างหนักแน่นว่า “สาเหตุส่วนใหญ่คือ หนัง ตัวละครอย่างซูเปอร์แมน เป็นตัวละครที่คนจะรู้สึกถึงความเกี่ยวโยงกับตัวเองยาก เพราะว่าสมบูรณ์แบบไปทุกอย่าง พลังเยอะ ฉลาด เป็นคนดี ไม่มีข้อเสีย ไม่มีปัญหาในชีวิตอะไรเลย แต่ว่าพอมาดูสไปเดอร์แมน มีปัญหาทั้งเรื่องการเรียน เรื่องแฟน และเรื่องการหาเงินมาเพื่อเลี้ยงชีวิตไปวัน ๆ มันทำให้คนรู้สึกใกล้ชิดกับตัวละครมากกว่า ส่วนกัปตันอเมริกาเองก็มีปัญหา แม้เราอาจจะมองว่าเรื่องราวของตัวละครนี้มันค่อนข้างไกลตัว แต่ว่าการที่เขาเป็นคนที่เกิดในยุคสมัยหนึ่ง แล้วตื่นขึ้นมากลับต้องอยู่ในอีกยุคสมัยหนึ่ง มันก็เปรียบได้ว่าเป็นคนที่ทิ้งอดีตไว้ข้างหลัง มันทำให้คนรู้สึกใกล้ชิดกับตัวละครได้มากกว่า”

นอกจากสองตัวละครที่พี่จึ๋งยกตัวอย่างมา ก็ยังมีตัวละครอื่น ๆ ที่มีปัญหาในชีวิต เช่น ไอรอนแมน ที่มีปัญหาติดสุรา หรือ ฮัลค์ ที่มีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ เห็นได้ว่าความสัมพันธ์แบบนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนหลงรักตัวละครของมาร์เวลได้อย่างง่ายดาย จนพี่จึ๋งกล้ายอมรับเองเลยว่า “มาร์เวลคือค่ายที่ได้รับความนิยมมากกว่าดีซีจริง ๆ”

เจาะตลาดสินค้า เพิ่มความนิยม

ความนิยมในรูปแบบของสื่อ เป็นสิ่งที่ยังไม่เป็นรูปธรรม นอกจากหนังสือการ์ตูนแล้ว มาร์เวลยังมีการจับมือกับแบรนด์ต่าง ๆ ในการผลิตของสะสมออกมาให้แฟน ๆ ได้อุดหนุน เช่น การจับมือกับบริษัทของเล่นชื่อดังอย่าง แฮสโบร (Hasbro) เพื่อผลิตแอคชั่นฟิกเกอร์ (Action Figures) หรือการผลิตสินค้าประเภทเครื่องแต่งกาย ที่มีทั้งการขายในชื่อแบรนด์มาร์เวลเอง หรือจะเป็นการร่วมมือกับแบรนด์เสื้อผ้าที่มีอยู่แล้ว อย่าง ‘เอช แอนด์ เอ็ม (H&M)’ และ ‘ยูนิโคล (Uniqlo)’ มากไปกว่านั้น มาร์เวลยังไปอยู่ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของปัจจัยการดำเนินชีวิต เช่น บนขวดน้ำ แก้วน้ำ แผ่นรองเมาส์ ไปจนถึงกลิ่นน้ำหอม

บรรดาของสะสมของเหล่าผู้คลั่งไคล้ซุปเปอร์ฮีโร่

ยิ่งกว่านั้น พี่จึ๋ง ยังยืนยันว่า “เหมือนกระแสมันมาจากหนัง อาจจะเห็นได้จากพวกหนัง ธอร์ (Thor) ที่มีโลกิ (Loki) ซึ่งอย่างที่รู้กันว่าโลกินั้น เป็นตัวละครที่ได้รับความนิยมมากในหมู่สาว ๆ ปรากฏว่ากลายเป็นตลาดขายของที่เจาะกลุ่มได้ทุกเพศทุกวัย อย่างตุ๊กตาน่ารัก พวงกุญแจ แม้ว่าราคามันจะต่ำกว่า แต่มันขายได้ปริมาณมากกว่า ขายได้จำนวนเยอะกว่าพวกแอคชั่นฟิกเกอร์ แฮสโบร (Hasbro) ที่ตัวละ 900 บาท แต่ว่าพวกนี้มันตัวละแค่หนึ่งร้อยบาท จึงทำให้ขายได้จำนวนเยอะกว่า ก็เลยทำให้เกิดการตีตลาดแนวนั้นมากขึ้น”

พี่จึ๋งให้ความเห็นว่า “จริง ๆ แล้วตัวพี่เองรู้สึกดีใจมาก เพราะสมัยก่อน เสื้อผ้า ของที่ระลึก หรือว่าพวกของใช้ประจำวันที่ไม่ใช่ของเล่น หายากมาก แต่ตอนนี้หาง่าย แม้แต่ในไทยเองก็ผลิตเยอะมาก”

ศูนย์รวมสาวกมาร์เวล ที่มีผู้ติดตามเยอะที่สุดในประเทศไทย

แฟนเพจในเฟซบุ๊กคือหนึ่งในช่องทางการรับข่าวสารที่เป็นที่นิยมมากที่สุดทางหนึ่งในปัจจุบัน ซึ่งพี่จึ๋งก็เป็นแอดมินหลักคนหนึ่งของ “มาร์เวล ไทยแลนด์ แฟนเพจ (Marvel Thailand Fanpage)” เพจรวมแฟนคลับค่ายมาร์เวลที่มีผู้ติดตามมากที่สุด ที่เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.2012 พอเหมาะพอเจาะกับช่วงที่ภาพยนตร์ ดิ อเวนเจอร์ส (The Avengers) ภาคแรกกำลังจะเข้าพอดี

พี่จึ๋งเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นในการทำเพจว่า “จริง ๆ พี่ไม่ใช่คนสร้าง มันจะมีน้องกลุ่มหนึ่ง ประมาณ ม.1 ม.2 เขาตั้งมาก่อนแล้ว และพี่ก็เข้าไปในกลุ่มของเฟซบุ๊ก ได้มีการคุยกัน พอบอกเขาว่าตัวเราเองก็อ่านคอมิคส์มานานนะ แล้วเขาก็บอกงั้นพี่มาช่วยผมหน่อย เราก็ไปช่วยเขา แต่พอน้องเขาเข้ามัธยมปลาย เขาก็ไม่มีเวลามาทำเพจ ก็เลยฝากพี่ดูแลแทน”

ด้วยภาระและเหตุผลส่วนตัว ส่งผลให้กลุ่มผู้สร้างเพจกลุ่มแรกไม่สามารถแบ่งเวลามาทำเพจอย่างเต็มที่ได้ จึงได้ฝากให้พี่จึ๋งช่วยดูแล Marvel Thailand Fanpage เป็นแอดมินคนหลัก โดยมีกลุ่มผู้ก่อตั้งคอยช่วยดูแลอยู่เบื้องหลังเช่นกัน

มาร์เวล ไทยแลนด์ แฟนเพจ เป็นที่สนใจอย่างมากตั้งแต่สร้างเพจขึ้นมาใหม่ ๆ พี่จึ๋งอธิบายสาเหตุว่า เพราะมันเป็นชื่อที่ตรงตัว คนหาง่าย เป็นไม่กี่เพจที่สร้างขึ้นในตอนนั้น พร้อมกันกับที่ ดิ อเวนเจอร์ส ภาคแรกกำลังจะเข้าฉาย ผู้ติดตามจึงก้าวกระโดดสู่หลักพันได้อย่างรวดเร็ว หลังจาก ดิ อเวนเจอร์ส เป็นที่นิยม การให้ข้อมูลเกี่ยวกับคอมิคส์ที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้เพจเติบโตขึ้นไปอีก และก้าวสู่หลักหมื่นได้ในเวลาไม่นาน

จนกระทั่งพี่จึ๋งได้ไปแข่งขันรายการแฟนพันธุ์แท้ และบอกว่ามาจากมาร์เวล ไทยแลนด์ แฟนเพจ ทำให้ยอดผู้ติดตามมากขึ้นแบบก้าวกระโดด ไปจนถึงหลักแสน และมีทีท่าว่าจะมากขึ้นอีกเรื่อย ๆ

เมื่อถามถึงคอนเทนต์ในเพจที่ผู้คนให้ความสนใจ ก็จะมีอยู่สองเรื่องหลัก ๆ คือการอัปเดตข่าวสารใหม่ ๆ และเรื่องราวเกี่ยวกับนักแสดง เช่น ข่าวลือว่าจะมีตัวละครใหม่ในอเวนเจอร์สภาคต่อไป หรือ โรเบิร์ต ดาวนี่ย์ จูเนียร์ (Robert Downey JR.) ไปออกงานที่ไหน

ความนิยมมากเป็นเหมือนดาบสองคม

ฐานแฟนคลับที่มากขึ้น จะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย พี่จึ๋งกล่าวถึงข้อดีไว้ว่า “ทำให้เราได้เห็นมุมมองที่กว้างขึ้น เหมือนอย่างเราดูหนังเรื่องหนึ่ง เราอาจจะตีความว่าอย่างนี้ แต่เมื่อได้พบผู้ที่มีความชอบในด้านเดียวกัน มีมุมมองที่แตกต่างมาคุยกัน บางทีมันทำให้เราได้ตีความในมุมที่เราไม่ได้เห็นด้วย ในฐานะของคนที่ชอบอยู่แล้ว การที่ได้รับไอเดีย หรือได้รับข้อเสนอที่แตกต่างจากที่เราคิด มันเป็นอะไรที่เราชอบ เราให้ความสนใจที่จะอ่าน แล้วก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับแฟน ๆ”

ส่วนข้อเสีย พี่จึ๋งก็มองว่า “จะมีกลุ่มแฟนคลับที่ชอบเฉพาะค่าย มีทั้งสองฝั่ง กลุ่มที่ชอบมาร์เวลแต่หัวรุนแรง ก็จะไปตีกับแฟนคลับของดีซี หรือว่ากลุ่มดีซีหัวรุนแรงก็จะมาตีกับแฟนคลับมาร์เวล พวกนี้บางทีมันจะลามเข้ามากระทบเพจของเราด้วย แต่ทางเพจก็จะมีกฎง่าย ๆ คือเราไม่สนใจว่าคุณอยู่ฝั่ง ถ้าใครเริ่มก่อนก็แบนคนนั้น จึงทำให้เพจค่อนข้างสงบเป็นเสียส่วนใหญ่ แต่ว่ามันก็ยังมีมาเรื่อย ๆ เนื่องจากกลุ่มแฟนคลับที่ใหญ่ขึ้นในทุก ๆ วัน”

ผู้ติดตามเพจทุกคนมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น ทางเพจเองก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้มีการโต้เถียง แต่ก็จะมีกฎที่คอยควบคุม ให้การโต้เถียงแต่ละครั้งอยู่ในประเด็นเท่านั้น หากมีการกล่าวโจมตีบุคคล ก็ถือว่าเป็นการทำผิดกฎเพจ

อนาคตหลังจุดพีคที่สุด

เนื้อเรื่องของภาพยนตร์ในจักรวาลมาร์เวล ดำเนินยาวมาจนถึงจุดพีคที่สุดในภาพยนตร์ ดิ อเวนเจอร์ เผด็จศึก (The Avengers: Endgame) พร้อมกับกระแสนิยมของมาร์เวลที่ก้าวมาถึงจุดสูงที่สุดเช่นเดียวกัน ทั้งคนที่เป็นแฟนคอมิคส์ หรือคนทั่วไปที่ดูหนัง ก็ต่างรอคอยที่จะรับชมบทสรุปของมหากาพย์บทสุดท้ายบทนี้ แต่หลังจากมันจบลงไปแล้ว กระแสนิยมของมาร์เวลจะลดลงไหม ? ยิ่งในปี ค.ศ. 2020 ที่ต้องมาเจอกับโรคโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนฉายภาพยนตร์ แบล็ค วิโดว์ (Black Widow) ออกไป

จากสิ่งที่เกิดขึ้น พี่จึ๋งให้มุมมองต่อประเด็นนี้ว่า “จริง ๆ ก็เป็นห่วงว่ามันจะลด แล้วคือปีนี้เป็นปีที่ต้องจับตาดู เพราะว่าเขาจะเสนอหนัง ก่อนที่มันจะเลื่อนทุกอย่างไปเพราะโควิด โดยจะนำเสนอหนังของตัวละครที่หากคนไม่ได้อ่านคอมิคส์ ก็จะไม่รู้จักเลย อย่าง ชางชิ (Shang-Chi) หรือว่า อีเทอร์นอล (Eternals) ก็เป็นตัวละครที่จะไม่ค่อยไปเกี่ยวข้องกับพวกเหล่าอเวนเจอร์ด้วย คือคิดว่าเขากำลังพยายามหาแนวทางที่จะไม่ไปอิงเนื้อเรื่องเก่า” โดยพี่จึ๋งเน้นย้ำว่า กระแสนิยมในอนาคต อาจจะต้องเริ่มอิงจากภาพยนตร์ชุดแรกนี้

ส่วนทางภาพยนตร์เดี่ยวของซูเปอร์ฮีโร่หญิงจากทีมอเวนเจอร์ส อย่าง แบล็ค วิโดว์ ที่เลื่อนไปฉายในช่วงกลางปี 2020 พี่จึ๋งได้ให้ความคิดเห็นว่า “ด้วยความอัดอั้น คือถ้าโควิดหายไปแล้ว ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ แบล็ค วิโดว์ อาจจะเป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุดของมาร์เวลเลยก็ได้ เพราะว่าคนรอมานานมากกว่าจะได้ดู เราก็ต้องรอลุ้นกันปีหน้า”

นับตั้งแต่เริ่มต้นจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวลในปี ค.ศ. 2008 ปีนี้เป็นปีแรกที่จะไม่มีภาพยนตร์ของมาร์เวล เข้าฉายเลยแม้แต่เรื่องเดียว รวมถึงทีวีซีรีส์อีกด้วย หลังจากซีรีส์เรื่องใหม่อย่าง วานด้า & วิชั่น (Wanda & Vision) ถูกเลื่อนไปเริ่มสตรีมในดิสนีย์ พลัส (Disney+) ปีหน้า

เด็กรุ่นใหม่ จะได้ “โตมากับมาร์เวล”

ย้อนกลับไปในอดีต การเติบโตขึ้นมาของวัยรุ่นจนถึงผู้ใหญ่ในสมัยนี้ มักจะได้ซึมซับกับวัฒนธรรมของการ์ตูนและฮีโร่ฝั่งญี่ปุ่น อย่างเช่น อุลตร้าแมน (Ultraman) คาเมนไรเดอร์ (Kamen Raider) นารูโตะ (Naruto) และดราก้อนบอล (Dragon Ball) กว่าจะมารู้จักซูเปอร์ฮีโร่ฝั่งอเมริกา ก็ต้องโตขึ้นมาในระดับหนึ่งเลยทีเดียว แต่ด้วยกระแสนิยมของมาร์เวลในปัจจุบัน มีโอกาสไหมที่เด็กรุ่นต่อไปจะเติบโตมากับการซึมซับวัฒนธรรมฮีโร่ฝั่งอเมริกามากได้เท่ากับของญี่ปุ่นในสมัยก่อน

พี่จึ๋งคิดเห็นว่าคงยังเป็นเรื่องยากที่จะเอาชนะกระแสของฝั่งญี่ปุ่น เพราะความใกล้ชิดทางวัฒนธรรม แต่ก็คิดว่า “เด็กที่โตมากับฮีโร่ฝั่งอเมริกาก็น่าจะเยอะขึ้น เพราะว่าเทรนด์การเสพสื่อที่เปลี่ยนไป ทางด้านแฟนที่โตมากับการ์ตูนญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ก็คือจะเริ่มจากหนังสือการ์ตูนก่อน ซึ่งตอนนี้หนังสือการ์ตูนมันปรับราคาไปสูงมากแล้ว คนจึงหันมาดูทางทีวีแทน คิดว่านั่นจะเปิดโอกาสให้ทางฮีโร่ฝั่งตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลต่อเด็กที่โตขึ้นในยุค ค.ศ. 2010-2020 มากกว่า อีกเหตุผลก็คือคนที่เป็นวัยรุ่นในช่วงที่หนังมาร์เวลเริ่มดัง กำลังจะกลายเป็นพ่อแม่ แล้วก็น่าจะส่งต่อให้กับเด็กที่กำลังโตขึ้นมา”

แน่นอนว่าพฤติกรรมการรับสื่อและช่องทางที่เข้าถึง มันก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย การ์ตูนของมาร์เวลก็จะมีการลงทางแอปพลิเคชัน ดิสนีย์ พลัส (Disney+) ที่ยังไม่เปิดบริการในประเทศไทย พี่จึ๋งกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “ตอนนี้กลายเป็นยุคสตรีมมิ่งไปแล้ว คือคนต้องการดูอะไรตอนไหนก็ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรอดูว่า เมื่อไหร่ดิสนีย์จะเปิดสตรีมมิ่งของเขาในโซนนี้ หลังจากนั้นก็มาดูกันว่าเด็กจะสนใจใช้บริการไหม”

ส่วนอีกเรื่องที่หลายคน อาจจะยังไม่รู้ คือทางช่อง 7 ยังมีแอนิเมชันของมาร์เวลฉายในช่วงเช้าวันอาทิตย์ แต่ก็ไม่ใช่ในรูปแบบของหลายเรื่องติดต่อกันเหมือนกับในสมัยก่อน ที่เด็กตื่นขึ้นมาดูช่องโมเดิร์นไนน์ แล้วได้ดูการ์ตูนต่อกันหลาย ๆ เรื่อง

“เหมือนกับเด็ก ๆ ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต้องตื่นแต่เช้ามาเพื่อไล่ดูกันแล้ว เพราะว่าในปัจจุบันนี้ ตื่นตอนไหน แล้วอยากดูก็กดเสิร์ชดูได้ คิดว่ามันสำคัญมากว่า ยิ่งถ้าดิสนีย์ พลัส มาเปิด กระแสมันจะดังขึ้นอีก เพราะว่ามันจะย้อนดูหนังได้ทุกเรื่อง มีทั้งการ์ตูนเก่า การ์ตูนใหม่ แล้วก็มีซีรีส์แนวไลฟ์แอคชั่นด้วย”

จากที่พี่จึ๋งกล่าว ถือว่าตัวแอปพลิเคชัน ดิสนีย์ พลัส นั้นจะเข้ามามีบทบาทในการตัดสินอนาคตของมาร์เวลกับเด็กยุคใหม่อยู่มากเลยทีเดียว ด้วยการรับสื่อที่เปลี่ยนไป ความสะดวกสบายที่เพิ่มเข้ามา แต่มันก็ต้องแลกด้วยค่าใช้จ่ายที่อาจจะสูงขึ้น เพื่อสนับสนุนธุรกิจในแบบที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ นับเป็นการปรับพฤติกรรมของผู้รับสื่อในประเทศไทยให้ไปในทางที่ดีขึ้นอีกด้วย

แม้ว่าอนาคต กระแสนิยมของมาร์เวลในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ช่วงเวลาหนึ่งปีที่ว่างเปล่ามีผลให้อนาคตยังคาดเดาอย่างชัดเจนไม่ได้ แต่กระแสในประเทศไทยก็คงไหลตามกระแสของทั่วโลก มาร์เวลอาจจะอยู่ค้ำฟ้าไปตลอด หรืออาจจะเป็นค่ายคู่แข่งอย่างดีซี ที่ก้าวขึ้นมาดึงกระแสนิยมส่วนมากแทน ก็ถือเป็นเรื่องที่อาจจะเป็นไปได้เช่นเดียวกัน แต่ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนคงต้องยอมรับกันว่า ตลอดเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมา มาร์เวลได้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในแทบจะทุกด้าน และได้ยึดพื้นที่ส่วนหนึ่งในความทรงจำของใครหลายคน

Reference & Bibliography

อนิล ยศสุนทร แอดมิน Marvel Thailand Fanpage ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/anilsoi11

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR311, JR311 Journalistic Writing across Media Section 3421 ภาคการศึกษาที่ 1/2 2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.นันทวิช เหล่าวิชยา

Writer

อยากเป็นนักข่าว อยากเป็นนักเขียน อยากเลี้ยงวาฬออร์กา อยากมีหมาลาบราดอร์

Writer

ชอบงานเขียนพอ ๆ กับที่ชอบแกนั่นแหละ : )

Photographer

บรรณาธิการบริหารบ้านกล้วยออนไลน์ปี 2021 เชื่อมั่นในเรื่องความหวัง หลงใหลในสีฟ้า ใช้ตัวอักษรและภาพเป็นใจความสื่อไปถึงส่วนลึกของจิตใจคน