เมื่อกล่าวถึงจังหวัดยะลา อาจจะมีมุมมองภาพลักษณ์บางส่วนที่ไม่สวยงามนักสำหรับทุกคน เพราะความรู้สึกหวาดกลัวและอันตรายจะผุดขึ้นมาในจิตใจแทบไม่หยุด หากเป็นเพียงจินตนาการที่หลายคนคิดเท่านั้น แต่ภาพที่แท้จริงของนครแห่งนี้กลับมีมนต์เสน่ห์ที่น่าหลงใหล ทั้งในแง่จารีต วัฒนธรรม และความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ขาดเพียงแต่เพียงการสนับสนุนอย่างจริงจังของภาครัฐ เพื่อที่จะเข้ามาพัฒนาสังคมให้มีโอกาสเติบโตไปในทางทิศทางที่ดีขึ้น และสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

เราออกเดินทางลงใต้พาไปพูดคุยกับ พี่แป๊ะ-คุณริฏวาน สลาม นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่มีความคุ้นเคยกับคนพื้นที่ต่อประเด็น ความหวังของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

คุณริฏวาน สลาม เจ้าหน้าที่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.

สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ต้องเข้าใจก่อนว่าปัญหาเกิดจากปัญหาฝังลึกที่หมักหมกมานาน

ถ้อยคำจากการเปิดประเด็นพูดคุยของ คุณริฏวาน สลาม เจ้าหน้าที่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่ทำงานให้กับจังหวังยะลามาเกือบ 5 ปี ได้เห็นการเติบโตในทางที่ดีขึ้น เล่าให้ฟังด้วยความหวังว่า สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาซ่อนใต้พรมอยู่จะต้องดีขึ้น

เมื่อเริ่มต้นเล่าเรื่องด้วยความหวัง ทำให้เรามองโลกได้งดงามมากขึ้น แม้ว่าอาจจะต้องใช้เวลาก็ตาม พี่แป๊ะเริ่มเล่าเรื่องราวของตนเองกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยเฉพาะอำเภอเบตง ซึ่งอยู่ในจังหวัดยะลา บางคนอาจจะคุ้นเคยกับภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดความงามของเบตงได้ดีที่มีชื่อว่า โอเคเบตง ที่ออกฉายเมื่อปี 2546

เด็กจบใหม่ไฟแรง สู่มดงาน กำลังหลักของ ศอ.บต.

เมื่อพี่แป๊ะเรียนจบ จึงได้เข้ามาทำงานกับศอ.บต. ซึ่งรัฐบาลในเวลานั้นได้ริเริ่มโครงการ ‘สามเหลี่ยม เมืองต้นแบบ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ กำหนดให้เบตงเป็นเมืองที่พึ่งพาอาศัยอยู่ด้วยตัวเองได้ ขณะที่กำหนดพื้นที่สุไหงโกลกเป็นพื้นที่การเปิดค้าเสรี และอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นเมืองอุตสาหกรรมหลัก โดยได้กำหนดตามศักยภาพของเมืองนั้น ๆ และมุ่งเน้นการพัฒนาไปที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นพิเศษ

ริฏวาน เล่าต่อเกี่ยวกับเบตงอีกว่า “ที่นี่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวมานานมากแล้ว” แถมเน้นว่าที่นี่ยังอากาศดี ไม่ต่างจากภาคเหนือ มีทั้งชนเผ่าชาติพันธ์ุต่าง ๆ วัฒนธรรมเอกลักษณ์ที่ต่างกับเมืองอื่นในสามจังหวัด อีกทั้งมีประวัติศาสตร์และธรรมชาติหลอมรวมทำให้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่น่าหลงไหล ใครมาเยือนต่างก็กล่าวชม

นักท่องเที่ยวก็มากขึ้นทุกปี และถ้านับตั้งแต่ปี 2558 มีคนมาเที่ยวเกือบ 2 แสนคนต่อปี มาจนถึงปี 62 มีรวมแล้วเกิน 1.2 ล้านคน เมื่อเห็นศักยภาพแบบนี้ รัฐจึงได้เสนอให้มีการสร้างสนามบิน ซึ่งตอนนี้ก็ใกล้จะเปิดใช้เต็มตัวแล้ว

ขอขอบคุณภาพจาก คุณกวี ชินโชติพันธ์ (Kawee Chinchotipan)

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญคือ จุดด้อยของเบตงคือด้านการคมนาคมที่ไปมาหาสู่ลำบาก ทั้งต้องขึ้นเขาขึ้นลงหลายลูก ทั้งทางคดเคี้ยวหลายสิบกิโล รัฐเลยลงทุนที่จะสร้างสนามบินให้เป็นสถานที่สำคัญของที่นี่เพื่อเป็นการแก้ปัญหาให้คนได้เดินทางมาง่าย สะดวก ไม่วุ่นวาย อำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว

โดยลงทุนทำ ‘สกายวอล์ค’ ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ที่มีบันไดให้นักท่องเที่ยวได้เดินขึ้นมาชมความสวยความงามของมันในราคาที่จับต้องได้ ไม่แพง ทำให้การค้าการขายของที่ระลึกดีขึ้น คนต่อคิวมาไม่ขาดสาย เงินสะพัดไปทั่วตำบลทั่วอำเภอ เศรษฐกิจในชุมชนเองก็ดีขึ้นตามไปด้วย

การกลับมาของบ่อน้ำร้อนบ้านนากอ

ธรรมชาติเป็นอีกหนึ่งจุดขายของเบตงที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยสัมผัส บ่อน้ำร้อนบ้านนากอจึงเป็นหลักฐานที่บ่งบอกว่าเบตงยังมีแหล่งเรียนรู้อีกมากมาย “เดิมที บ่อน้ำร้อนนากอ เป็นโครงการของ อบต. อัยเยอเวง และในปี 2546 ชาวบ้านได้มาเจอบ่อน้ำพุร้อนขึ้นมา เปิดให้เป็นสถานที่เที่ยวกัน แต่ปีถัดมา ได้มีเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่ในค่ายทหารที่นราธิวาส พอเหตุการณ์หนักขึ้นคนเลยไม่มาเที่ยวกัน เลยต้องปิดตัวร้างไปในที่สุด” คำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ของศอ.บต.

พี่แป๊ะอธิบายต่อว่า เมื่อบ่อน้ำร้อนได้กลับมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกครั้งในอำเภอเบตง เนื่องจาก ศอ.บต. เห็นโอกาสของมันเพื่อที่จะพัฒนาให้มันดีขึ้น สนับสนุน ส่งเสริมชาวบ้านในท้องถิ่นให้ลืมตาอ้าปากได้เต็มที่ ไม่ต้องพึ่งพาแต่รัฐอย่างแต่ก่อน ทำให้เด็ก เยาวชน และคนวัยทำงานที่นั่นได้มีงานทำ มีรายได้ที่ดี เลี้ยงครอบครัวได้ โดยไม่ต้องโดนชักจูงไปทำสิ่งที่ผิดกฎหมายเหมือนที่ผ่านมา โดยบ่อน้ำร้อนนี้มีเสน่ห์อยู่ที่ติดกับลำธารมาก มีความอุดมสมบูรณ์อีกทั้งยังติดกับป่าดงดิบ ‘บาลาฮาลา’ ที่เป็นจุดแลนมาร์คสำคัญของการมาท่องเที่ยวที่นี่

ในพื้นที่นี้ยังมีชาว ‘โอรังอัสรี ซาไก’ เปรียบเสมือน ‘คนอินเดียแเดงในทวีปอเมริกา’ หรือชนเผ่า ‘อะบอริจิน’ ในออสเตเรีย ที่อาศัยอยู่ เดิมทีกลุ่มชนเผ่าพวกนี้จะอยู่ในป่าลึกมาก และนับถือผีบรรพบุรุษ และต้องย้ายที่อยู่กันตลอดเวลา แต่หลังจากที่เวลาผ่านไปก็เริ่มมาตั้งถิ่นฐานกันที่บ้านนากอ อัยเยอเวง คนในหมู่บ้านรู้ก็ได้เริ่มทำความรู้จักกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่นั่นในที่สุด

ทางออกสำหรับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เรียนรู้วัฒนธรรม ความแตกต่าง อยู่กับความหลากหลาย ยอมรับความเท่าเทียมของกันและกัน คือหนทางหนึ่งในการแก้ปัญหา “ปัจจุบันคนในพื้นที่ 80% เป็นคนมลายู ปัญหาก็คือ รัฐชอบมองว่าคนมลายูเป็นพลเมืองชนชั้นสอง เกิดการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันในหมู่คนมุสลิม เอารัดเอาเปรียบคนมลายูเสมอ หน่วยงานรัฐไม่เข้าใจวัฒนธรรมของคนที่นี่ และไม่เข้าใจหลักคำสอนของศาสนาอิสลามเลยเกิดการกดขี่ เกิดการแตกแยก และนำมาซึ่งเหตุการณ์ความไม่สงบ” ริฏวาน สลาม ชี้ถึงทางแก้ของปัญหา

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ ศอ.บต.อธิบายต่อว่า แต่ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้น รัฐเองได้เปลี่ยนแนวทางการเข้าใจ เข้าถึงมากขึ้น ลดการใช้กำลังบังคับ และเน้นการส่งเสริมเศรษฐกิจมากขึ้น ให้กลุ่มคนเหล่านี้มีที่ยืนในสังคม ทำให้เหตุการณ์ดีขึ้นตามลำดับ โดย 4 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีพื้นที่ความขัดแย้งมาก รัฐจะลงไปพัฒนาจุดนั้นแทน ลดการใช้กำลังแบบในอดีตที่ผ่านมา เมื่อพื้นที่พัฒนา ชาวบ้านไม่เดือดร้อน มีความสุข ความมั่นคงก็จะตามมาเอง

ตั้งเป้าอีกหกปีจะยุติความไม่สงบ

คำอธิบายจากเจ้าหน้าที่ ศอ.บต.ในพื้นที่กล่าวว่า แนวทางการพัฒนานำความมั่นคง ในกรณีที่คนท้องถิ่นมีการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลนั้น ก็จะไม่ถูกชักชวนจากฝ่ายตรงข้ามโดยง่าย กลุ่มผู้เห็นต่างมีพื้นที่ในสังคม พวกเขาจะมีความรู้สึกที่ดีขึ้นต่อรัฐ โดยทาง ศอ.บต. ได้ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2569 ความไม่สงบจะลดลงหรือแทบไม่มีเลยในที่สุดนั่นคือสิ่งที่ตั้งเป้าไว้

การเดินทางที่ไม่เคยหยุดคือความสุขที่ได้พัฒนาบ้านเกิด

ริฐวาน สลาม เล่าด้วยสีหน้าสุขใจว่า “มีความสุขจากการได้รับเกียรติมากกว่า การที่ชาวบ้านมองเราเวลาลงพื้นที่ในแบบที่เห็นเรามาเดินเข้าหาเลย และเราไม่มีการเลือกปฏิบัติไม่ว่าเขาจะเป็นคนศาสนาไหนก็ตาม และที่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราเป็นคนสามจังหวัด เลยทำให้เข้าใจว่าชาวบ้านเค้าคิดยังไง มีมุมองแบบไหน”

สามจังหวัดนั้นมีทรัพยากรมีความอุดมสมบูรณ์ที่ดีมากเพียงแต่ขาดการส่งเสริมที่ดี และพอหน่วยงานรัฐได้เข้าไป และเข้าใจบริบทคนในพื้นที่มากขึ้น คน มลายู จีน พุทธ ก็จะอยู่ร่วมกันได้ ทำให้เกิดความเข้าใจ ไม่รู้สึกเหมือนเป็นพลเมืองชนชั้นสอง รายได้ของคนในพื้นที่ เพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่าจากเดิม ชาวบ้านเลยมีโอกาสส่งลูกไปเรียนที่ดี ๆ มากขึ้น ทำให้เด็กที่เรียนจบมากลับมาพัฒนาบ้านเกิดตัวเองได้ พี่แป๊ะเล่าถึงเหตุการณ์จริงให้ฟัง และแม้จะดูเป็นงานที่เหนื่อยมาก เพราะต้องลงพื้นที่ 4 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลาหลายปี เดินทางไม่เคยหยุด จะไกลจะใกล้กันดารแค่ไหนก็ไป

“แต่เมื่อได้เห็นเขามีชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้ที่มากขึ้น มีการกินอยู่ที่ดีขึ้น และไม่ใช่แค่คนไม่กี่คน แต่มันคือคนทั้งหมู่บ้านทั้งตำบล ทั้งอำเภอที่มีการยกระดับการใช้ชีวิตที่ดีมากขึ้น และเขาให้ความเคารพเราว่าครั้งนึงเราเคยช่วยเหลือพวกเขา ตรงนี้แหละที่ทำให้มีความสุขในงานนี้” พี่แป๊ะเล่าด้วยความภูมิใจ

ถ้อยคำจากเจ้าของโครงการที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนคือสิ่งแรกที่เห็นการเปลี่ยนแปลงคือรัฐบาล ต้องการที่จะแก้ปัญหาในพื้นที่ ไม่ปล่อยปะละเลย ทิ้งความบาดหมางไว้เหมือนที่ผ่านมา ศึกษาทำความเข้าใจบริบทของคนในพื้นที่มากขึ้น

คนมุสลิมได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือคนท้องถิ่น และมีทรัพยากรบุคคลที่รักบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองหลายคน เพื่อที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ ตรงนี้คือแสงสว่างจากปลายอุโมงค์ที่ทุกคนต่างคาดหวังว่า ปลายด้ามขวาน ของประเทศไทยแห่งนี้ จะได้กลับมาสงบสุขอีกครั้งในอนาคต เราได้แต่หวังว่าจะสงบและจบอย่างที่คนรุ่นเราฝันเอาไว้

Reference & Bibliography

  • พี่แป๊ะ-คุณริฏวาน สลาม นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
  • คุณกวี ชินโชติพันธ์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
  • (2560, 10 พฤศจิกายน) รายงานผลการปฏิบัติงานของ ศอ.บต. รอบ 6 เดือน, สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2563, จาก http://www.sbpac.go.th/?page_id=34209
  • (2561, 23 มีนาคม) บทความ Smart farm สร้างชุมชน สร้างรายได้ พื้นที่ปลายด้ามขวาน, สืบค้น เมื่อ 31 ตุลาคม 2563, จาก http://www.sbpac.go.th/?p=2114
  • (2560, 30 พฤศจิกายน) องค์ความรู้ หนังสือวารสาร ‘การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้’ ฉบับที่ 3, สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2563, จาก http://www.sbpac.go.th/wp-content/uploads/2017/11/book.pdf
  • (2561, 11 ตุลาคม) ‘แผนปฏิบัติการเสริมการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้’ สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2563, จาก http://www.sbpac.go.th/?page_id=6595

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR311, JR311 Journalistic Writing across Media Section 3421 ภาคการศึกษาที่ 1/2 2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.นันทวิช เหล่าวิชยา

Writer & Photographer

คติประจำใจ "ถ้าคุมอดีตได้ก็จะคุมอนาคตได้ ถ้าคุมปัจจุบันได้ก็จะคุมอดีตได้" - George Orwell