ยูริ (Yuri) ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า ดอกลิลลี่ แต่ในความหมายแอบแฝง ยูริกลายเป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่ชอบผู้หญิงด้วยกันเอง หรือ หญิงรักหญิง รวมถึงใช้เรียกสื่อทุกประเภทที่มีเนื้อหาไปในแนวหญิงรักหญิง ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนหรือนิยาย ทุกอย่างล้วนตามหลังด้วยคำว่ายูริทั้งสิ้น

เราขอพาไปทำความรู้จักกับ พี่เอม-คุณเอมอนันต์ อนันตลาโภชัย หรือที่หลายคนรู้จักกันจาก นามปากกา คิลิน นักเขียนนิยายยูริชื่อดัง และยังเป็นเจ้าของร้าน The Kloset คาเฟ่ยูริแห่งแรกของประเทศไทย ที่เปรียบเสมือนคอมมูนิตี้ สเปซ (Community Space) หรือที่คุณเอมเจ้าของร้านเรียกว่า ‘รัง’ ซึ่งเปิดขึ้นมาเพื่อให้ชาวยูริได้เข้ามาพักพิงและทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย

ผู้เขียนขอยืนยันว่าทุกคนจะได้รู้จักกับตัวตนของคิลินในแบบฉบับที่ไม่สามารถหาอ่านจากที่ไหนอย่างแน่นอน

ความฝันในวัยเด็กของ ‘คิลิน’

พี่คิลินเล่าว่าในวัยเด็กเธอไม่ทราบว่าตนเองอยากจะเป็นอะไร ไม่รู้ว่าอาชีพทันตแพทย์เป็นแบบไหน ไม่รู้ว่าแอร์โฮสเตสต้องทำงานอย่างไร แต่เธอบอกว่าอยากเป็นสจ๊วต (พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเพศชาย) มากกว่าแอร์โฮสเตส เพราะอยากใส่กางเกงมากกว่ากระโปรง

และหากถามว่าในวัยเด็กอะไรคือสิ่งที่ชอบ เธอตอบว่าชอบแค่การอ่านและการเขียน แต่เธอก็ไม่กล้าบอกสิ่งที่ชอบกับใครเลย เพราะไม่คิดว่ามันจะเป็นอาชีพได้ “อย่างหนึ่งที่เรารู้สึกคือ ถ้าจะต้องเป็นแอร์โฮสเตส ขอเป็นสจ๊วตดีกว่า เพราะเราไม่อยากใส่กระโปรงเหมือนผู้หญิงทั่วไป”

ไม่เข้าใจ…แต่ไม่ได้บังคับ

หากถามว่าคนรอบข้างรู้ไหมว่า พี่คิลินชอบการอ่านและการเขียน เธอให้คำตอบว่า “เขาเห็นเราทำค่ะ แต่เขาไม่ได้มองว่ามันจะสามารถเป็นอาชีพได้”

เนื่องจากครอบครัวของพี่คิลินดำเนินอาชีพมาในสายการแพทย์ทั้งหมด การดำเนินชีวิตจึงแตกต่างกัน ซึ่งครอบครัวก็พยายามหาอาชีพอื่นมาให้เลือก แต่ครอบครัวไม่เคยห้ามเธอเลย ถ้าสิ่งที่เธอเลือกจะทำ มันคือสิ่งที่เธอชอบจริง ๆ การอ่าน การเขียน จึงเป็นเหมือนลมหายใจที่หล่อเลี้ยงชีวิตมาโดยตลอด

นิยามคำว่า ‘ยูริ’ ของคิลิน

เราขอเจาะลึกถึงคำว่านิยายแนวยูริให้มากขึ้น นักเขียนสาวจึงยกตัวอย่างเรื่องแนว ‘ยาโอย’ (Yaoi) หรือชายรักชาย ซึ่งยูรินั้นตรงกับข้ามกับยาโอยนั่นเอง โดยเธอมองว่าในประเทศไทย คำว่ายูริสามารถเรียกและเข้าใจได้ง่ายกว่าคำว่า ‘เลสเบี้ยน’ (Lesbian) คำเรียกกลุ่มหญิงรักหญิง

เพียงแต่ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่เข้าใจในวงกว้างนัก เธอจึงใช้คำว่า ‘ยูริ’ แทนความหมายของผู้หญิงที่ชอบผู้หญิงด้วยกัน ซึ่งในประเทศไทยจะต่างกับที่ญี่ปุ่นตรงที่ญี่ปุ่นนั้นจะมีสังคมสำหรับยูริอย่างชัดเจน มีสื่อ มีนิยาย มีการ์ตูนแนวยูริ และผู้ชายประเทศนั้นก็เสพสื่อประเภทนี้กันค่อนข้างเยอะ แต่ในไทยยังไม่มีการสร้างคอมมูนิตี้ประเภทนี้เยอะ จึงทำให้คนในบ้านเราหลายคนยังไม่ค่อยเข้าใจความเปลี่ยนไปในเรื่องเพศ

คำถามที่ไม่อยากหาคำตอบ

“หากเราอยากทำอะไร เราแค่ลงมือทำ โดยที่ไม่ต้องหาคำตอบว่ามันจะเป็นอาชีพได้ไหม”

พี่คิลินไม่เคยถามตัวเองเลยว่า ฉันกำลังทำอาชีพอะไร สิ่งที่ทำอยู่สามารถเรียกว่าอาชีพได้ไหม ซึ่งใกล้จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 แล้วกับการที่เธอคลุกคลีอยู่ในวงการนักเขียนนิยายยูริ สร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ทุกคนได้ติดตาม แต่เธอก็ยังไม่กล้าเรียกตัวเองว่านักเขียน เพราะไม่รู้ว่ามาตรฐานของคำว่านักเขียนคืออะไร สิ่งที่เธอทำอยู่สามารถเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนได้หรือยัง และการที่เธอเป็นเจ้าของคาเฟ่ยูริสามารถเรียกว่าอาชีพได้ไหม เธอก็ไม่สามารถตอบได้เหมือนกัน

“ถ้ารายได้มันแค่พอเลี้ยงตัวเอง แต่ไม่ได้กำไร เราควรเรียกมันว่าอาชีพไหม พี่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคำว่าอาชีพจริง ๆ มันวัดจากไหน” เธอแค่มองว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ การเขียนนิยาย การทำธุรกิจคาเฟ่แห่งนี้เปรียบเสมือนพื้นที่สำหรับคนที่ชอบแนวเดียวกันมารวมตัวกัน แบ่งปันสิ่งที่ชอบร่วมกัน เธอจึงไม่กล้าเรียกว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้เป็นอาชีพเท่านั้นเอง

อุปสงค์ที่มากกว่าอุปทาน แรงผลักดันสู่การก้าวขึ้นมาทำเอง

ส่วนตัวนั้นเธอจะเป็นคนที่ชอบอ่านนิยายหรือสื่อยูริ และเธอเล็งเห็นว่านิยายยูริที่สามารถตอบโจทย์ได้มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของเธอ จึงเริ่มที่จะค้นหาว่ามีนิยายหญิงรักหญิงกี่แบบ แบบไหนที่อ่านได้ ไม่หนักไป ไม่เบาไป และเมื่อพบว่ามีน้อย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เธอเริ่มต้นที่จะก้าวขึ้นมาเขียนนิยายยูริ เพื่อตอบสนองในสิ่งที่ตนเองต้องการ โดยเริ่มจากการหยิบจับเรื่องราวที่อยู่ใกล้ตัวมาปรับเขียนเพื่อให้ออกมาตรงตามที่เธอชอบ และทำให้เกิดนามปากกา ‘คิลิน’ อย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้

กำเนิด ‘The Kloset’

เนื่องจากพี่คิลินมองว่าในประเทศไทยมีพื้นที่ให้สำหรับเพศทางเลือกอื่นค่อนข้างเยอะแต่ยังไม่มีพื้นที่ให้สำหรับชาวยูริเลย เธอจึงสร้างคาเฟ่ยูริเพื่อให้ชาวยูริบ้านเราได้มีที่พักพิง โดยให้คำจำกัดความกับคาเฟ่แห่งนี้ว่า ‘รัง’ เนื่องจากเธอมองว่าคาเฟ่นี้เปรียบเสมือนที่ที่มีไว้ให้สำหรับยูริที่อยากจะพักผ่อน หรืออยากจะมาทำกิจกรรมอะไรสักอย่างร่วมกัน เช่น เล่นบอร์ดเกม ดูหนัง อ่านหนังสือ หรือแม้กระทั่งนั่งคุยกัน

“ขอให้เรียกที่นี่ว่ารัง ซึ่งแปลว่าที่ของเรา (เฉพาะผู้หญิง) อาจไม่เหมือนบ้านเท่าไหร่แต่เราสามารถทำตัวได้ตามสบาย พี่อยากให้ที่นี่เป็นศูนย์รวมของผู้หญิงที่อยากทำงานอดิเรกร่วมกัน มาแล้วรู้สึกสบายใจ”

การเป็นกระบอกเสียงให้ชาวยูริ

พี่คิลินเล่าว่า การที่เธอสร้างคาเฟ่ยูริ หรือคอมมูนิตี้ สเปซ แห่งนี้ขึ้นมา ก็เปรียบเสมือนการสร้างแลนด์มาร์คขึ้นมาจุดหนึ่ง เปรียบเสมือนกับการสร้างที่พักพิงจุดเล็ก ๆ ไว้ให้ชาวยูริ และเชื่อว่าในอนาคตจะมีที่แบบนี้เกิดขึ้นอยู่ทุกที่ในประเทศไทย พร้อมบอกทุกคนว่าจุดประสงค์ของเธอไม่ได้อยากจะเปลี่ยนแปลงหรือบังคับใคร ทุกคนยังเป็นคงเพศเดิม เพียงแค่อย่าลืมหาความสุขให้ตัวเองก็พอ

เตรียมตัวตายอย่างมีคุณภาพ

เมื่อถามถึงความฝันหรือสิ่งที่พี่คิลินอยากทำในปัจจุบันและแผนในอนาคต เธอให้คำตอบกับเราไว้สองส่วน ส่วนแรกสำหรับตัวเธอเอง เธออยากไปเที่ยวรอบโลก อยากสำรวจโลก เพื่อซึมซับวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของผู้คนแถวนั้น และในส่วนที่สอง (ส่วนรวมหรือส่วนของ LGBTQ) เธออยากเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงที่ผลักดันให้ชาว LGBTQ ได้ทำในสิ่งที่อยากทำและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และหากถามว่าอะไรคือจุดอิ่มตัวของเธอ พี่คิลินให้คำตอบว่า “อยากพ้นทุกข์และเตรียมตัวตายอย่างมีคุณภาพ”

การยอมรับเรื่อง LGBTQ ในประเทศไทยยังไม่พอเท่าที่ควร

พี่คิลินให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง LGBTQ ในประเทศไทยว่ายังไม่เป็นที่ยอมรับเท่าที่ควรและยังเป็นเรื่องยากหากจะให้สิ่งนี้เป็นที่ยอมรับ พร้อมมองว่าคนในบ้านเราส่วนมากยังไม่ให้ความสนใจกับเรื่องนี้เท่าที่ควร และยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่หลายคนยังไม่เข้าใจ แต่เธอเชื่อมั่นว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะโลกของเรายังไม่หยุดหมุน และสักวันเรื่อง LGBTQ จะเป็นที่ยอมรับมากขึ้นอย่างแน่นอน

เคล็ดไม่ลับฝากถึงนักเขียนมือใหม่

พี่คิลินฝากไว้ 3 ข้อ ถึงนักเขียนทุกคนที่อยากจะเขียนหนังสือขึ้นมาสักเล่มหนึ่ง

ข้อแรก คือ ‘แรงบันดาลใจ’ ต้องหนาแน่นและอย่ายอมแพ้ต้องหาแรงบันดาลใจเข้าตัวอยู่เรื่อย ๆ

ข้อสอง เมื่อเริ่มเขียน ต้องเขียนให้จบ ต่อให้เขียนดีแค่ไหน ถ้าเขียนไม่จบ มันจะไม่มีทางออกมาเป็นผลงานได้

ข้อสุดท้าย คือห้ามเว้นช่วงนาน ยกตัวอย่างเช่น เราเขียนบทนิยายที่ 1-3 เสร็จ และเว้นไป 6 เดือน แล้วจึงค่อยมาเขียนต่อ มันจะไม่มีทางต่อเนื่อง เพราะเวลาเปลี่ยน อารมณ์จะเปลี่ยนตาม จึงไม่ควรเว้นช่วงนาน และในทุกการเขียนควรหาเพลงไว้ฟังสักเพลง เพื่อไม่ให้ธีมเรื่องที่เราวางไว้หลุดไปจากสิ่งที่ตั้งใจ

“พี่อยากให้ทุกคนมีความสุข ไม่ว่าเราอยากจะเป็นเพศอะไรก็ตาม ขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แค่นั้นก็พอแล้วค่ะ” คำทิ้งทายจากนักเขียนนวนิยายยูริที่ชวนคิด คุณเอม-เอมอนันต์ อนันตลาโภชัย นักเขียนนิยายยูริและเจ้าของคาเฟ่ยูริ The Kloset

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR311, JR311 Journalistic Writing across Media Section 3421 ภาคการศึกษาที่ 1/2 2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.นันทวิช เหล่าวิชยา

Writer

ชอบงานเขียนพอ ๆ กับที่ชอบแกนั่นแหละ : )

Photographer

อยากเป็นนักข่าว อยากเป็นนักเขียน อยากเลี้ยงวาฬออร์กา อยากมีหมาลาบราดอร์