ย้อนวันวานบันทึกความทรงจำก่อนยุคโควิด-19 ผู้เขียนบินลัดฟ้าเปิดประตูสู่ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Lourve) ประเทศฝรั่งเศส ดื่มด่ำกับการชมความงามของภาพหญิงสาวยิ้มมุมปากสวมชุดคลุมสีดำ ผลงานมาสเตอร์พีซของศิลปินชื่อดังอย่าง เลโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo da Vinci)
ที่แห่งนี้เป็นสถานที่จัดแสดงภาพโมนา ลิซ่า (Mona Lisa) ที่มีผู้คนจำนวนมากเดินทางข้ามนํ้าข้ามทะเลเพื่อมาชมใบหน้าของเธอ แต่ทว่ายังมีสิ่งมหัศจรรย์อีกมากมาย ที่ทั้งสวยงาม คลาสสิค และตระการตาที่รอทุกคนมาค้นหาด้วยตนเอง ณ พิพิภัณฑ์ลูฟวร์ที่งดงามทั้งเวลากลางวันและยามค่ำคืน
หลงรักปารีส
กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ดินแดนที่ร่ำรวยเศรษฐกิจและวัฒนธรรม มีสมญานามว่าเมืองแห่งน้ำหอม เป็นแหล่งกำเนิดของแบรนด์หรูชั้นนำระดับโลกมากมาย
แลนด์มาร์กสำคัญคือหอไอเฟลและประตูชัย หรือจะเป็นถนน Champs-Élysées ผู้เขียนก็ไม่พลาดที่จะไป ถึงแม้จะเป็นการเดินทางครั้งที่สองของผู้เขียน มนต์สเน่ห์ของปารีส ยังคงมีกลิ่นอายเช่นเสมือนวัยเด็ก แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคงเป็นตัวตนของเรา และมุมมองของเมืองที่แตกต่างออกไปในแต่ละช่วงวัย
สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะนำเสนอคือพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ สถานที่เก็บบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันยาวนานมากว่า 228 ปี เป็นอีกหนึ่งสถานที่พลาดไม่ได้หากใครมาเยือนกรุงปารีส
การเดินทางมาที่พิพิธภัณฑ์มาได้หลายเส้นทาง นั่งรถไฟฟ้าใต้ดินมาที่สถานี Palais Royal หรือจะนั่งรถบัสก็ได้ คนที่ชอบการเดินเท้าเป็นชีวิตจิตใจ หากมีที่พักไม่ไกลก็สามารถเดินเท้ามาที่นี่ได้เช่นกัน พิพิธภัณฑ์เปิดในวันจันทร์ วันพุธ วันพฤหัสบดี และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9.00-17.45 น. ส่วนวันพุธและวันศุกร์ เปิดช่วงเวลา 9.45-21.45 น.
วันหยุดทำการคือทุกวันอังคาร วันที่ 1 มกราคม วันที่ 1 พฤษภาคม และวันคริสต์มาส คงต้องเผื่อเวลาและตรวจสอบวันหยุดให้ดี เพื่อไม่ให้พลาดการประสบการณ์อันลํ้าค่า ขอแนะนำเวลาที่ดีที่สุดคือช่วง 15.00-16.00 น. เพราะจะได้มาชมแสงและสีสันที่สะท้อนจากดวงตะวันที่มากระทบกับพีระมิดลูฟวร์ บรรยากาศโดยรอบชวนให้เราตกอยู่ในภวังค์โดยไม่รู้ตัวเลยทีเดียว ทั้งนี้ศึกษาข้อมูลช่วงเวลาการเปิดและปิดของพิพิธภัณฑ์อีกครั้งได้ตามช่องทางออนไลน์ที่เป็นปัจจุบัน
พีระมิดแห่งลูฟวร์
เมื่อเรามาถึงเราก็เห็นซุ้มประตูอันโอ่อ่า ที่เป็นเลนส์รองรับภาพข้างหน้า พีระมิดลูฟวร์กระทบกับแสงแดดราวกับเป็นสิ่งแรกที่ต้อนรับผู้มาเยือน ด้วยกระจกรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนที่มากถึง 603 แผ่น และแผ่นกระจกรูปสามเหลี่ยม 70 แผ่น ที่ก่อขึ้นมาเป็นรูปทรงพีระมิด นี่คือสัญลักษณ์สำคัญที่ปรากฎในทุกสื่อทั่วโลก
จากข้อมูลในหลายแหล่งกล่าวว่า ที่จริงแล้วกระจกมีจำนวน 666 แผ่น แม้กระนั้นการนับในแต่ละครั้งก็จะมักมีจำนวนที่มากกว่าจำนวนที่กล่าวมาข้างต้นเสมอ แต่เลข 666 เรียกได้ว่าเป็น number of the beast เป็นตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับซาตาน
ด้วยรูปทรงที่สูงใหญ่โดดเด่นที่ตั้งอยู่กลางพิพิธภัณฑ์ ทำให้เราเก็บภาพได้เป็นจำนวนมาก ช่วงเวลาพลบคํ่าจะเป็นช่วงใกล้ปิด เราจะได้ชมอีกหนึ่งมุมมองในช่วงที่ไฟส่องฉายให้เห็นความสวยงามของตัวพีระมิดที่งดงาม มหัศจรรย์ และอาจจะลึกลับน่าค้นหาเหนือคำบรรยาย
ทันใดนั้นผู้เขียนก็เหลือบไปเห็นคู่รักชาวจีนที่ได้มาถ่าย pre-wedding ตรงทางเข้าจะอยู่ที่หน้าพีระมิดและเป็นทางเข้าเดียวที่นักท่องเที่ยวอย่างเราสามารถเข้าไปชมข้างในได้ โดยการเข้าไปต้องผ่านประตูด้านหน้าที่มีเจ้าหน้าที่ตรวจพาสสปอร์ตของเรา หากมีบัตรนักศึกษาก็จะสามารถเข้าไปชมได้ฟรี
เจ้าของรอยยิ้มอันลึกลับ Mona Lisa
เมื่อเข้ามาภายใน ผู้เขียนก็ไม่พลาดที่จะดิ่งตรงไปที่รูปภาพของ โมนา ลิซ่า (Mona Lisa) หญิงสาวโฉมงามกับเอกลักษณ์การยิ้มมุมปากและหันข้างเล็กน้อยที่เป็นภาพวาดชื่อดังที่ทุกคนต่างรู้จักกันดี
สิ่งที่เราเห็นตรงหน้าคือภาพวาดขนาดกว้าง 77 เซนติเมตร สูง 53 เซนติเมตร มีผู้เข้าไปชมจำนวนมากที่รอคิวเข้าไปใกล้และไม่พลาดที่จะเก็บภาพคู่กับเธอ อย่างไรก็ตามการถ่ายภาพกับ Mona Lisa คงจะต้องใช้จังหวะสักเล็กน้อย ด้วยผู้คนจำนวนมาก ภาพที่อยู่ค่อนข้างไกลที่ได้รับการรักษาความปลอดภัยจากกระจกอันแสนแน่นหนา เพราะที่ผ่านมาเคยมีประวัติการถูกขโมยมาแล้ว
การที่เราได้มาชมภาพวาดที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ประเมินมูลค่ามิได้ ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่อยากจะจดจำไปตลอด
เทพีแห่งชัยชนะของกรีกโบราณ
อีกหนึ่งงานศิลป์ที่งดงามคือปติมากรรมที่มีชื่อว่า The Winged Victory of Samothrace หนึ่งในผลงานชิ้นเอก ลักษณะเป็นหินอ่อนแกะสลักรูปเทพีไนกี้ (Nike) หรือเทพีแห่งชัยชนะของกรีกโบราณ มีอายุกว่าสองพันปี
เอกลักษณ์คือเทพที่มีรูปร่างรูปทรงไม่สมบูรณ์ ไม่มีส่วนของหัวและปีกที่ดูผิดรูป แต่นั่นก็มิได้ทำให้ความสวยนั่นลดลงไปแม้แต่น้อย กลับทำให้หลายคนสนใจและหลงใหลในความงามที่ไม่สมบูรณ์แบบของเธอ
เมื่อสังเกตไปที่ทรวดทรงของรูปปั้น ผู้เขียนก็ได้ถึงกับตกตะลึงถึงสรีระที่เป็นทรวดทรงอันสวยงาม เสื้อผ้าที่ออกแบบมาราวกับกำลังเคลื่อนไหวบนตัวเทพี ทำให้เราจินตนาการไปถึงภาพรูปปั้นที่ยังคงสมบูรณ์ในสมัยนั้นสร้างขึ้นมา
ขณะที่ตรงกลางโถงบันได เมื่อเราเดินเข้าไปคงไม่อาจพลาดสายตาจากเธอไปไม่ได้ ทำให้เรานึกถึงมิวสิควิดีโอของ Beyonce ในบทเพลง APESHIT ก็จะมีช่วงที่เธอถ่ายบริเวณนี้ และบทเพลง How you like that ของ Blackpink เทพเจ้า Nike ก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของตัวเพลงอีกด้วย
หลายคนคงมีความคิดสงสัยถึงเทพีไนกี้ว่ามีเหตุผลอันใดจึงถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ ย้อนกลับไปในยุคกรีกโบราณ รูปร่างของเทพีได้แสดงถึงสันติภาพและความยุติธรรม สังเกตได้จากรูปปั้นประติมากรรมเทพีและเทพธิดากางปีก เป่าแตร อันมีมากมาย
ส่งผลมายังยุคปัจจุบันที่เรามักจะเห็นสัญลักษณ์เหล่านี้ตามถ้วยรางวัลที่แสดงถึงชัยชนะ เราคงคุ้นชื่อ Nike กันว่าทำไมเทพีถึงได้มีชื่อที่คล้ายกับแบรนด์กีฬาชื่อดังที่มีสัญลักษณ์ Swoosh ได้รับการออกแบบในแนวคิดความโดดเด่นและเรียบง่าย โดยมีความหมายเชิงลึกคือ ปีกที่แหลมคม นำความกล้าและแรงจูงใจมาสู่นักรบ ตรงกับความหมายโดยนัยของเทพีไนกี้
Liberty Leading the People ศิลปะเพื่ออิสรภาพ
ขณะที่อีกงานศิลปะที่ผู้เขียนขอแนะนำคือภาพวาดที่มีชื่อว่า Liberty Leading the People (La Libertè guidant le peuple) วาดโดย Eugene Delacroix ศิลปินชาวฝรั่งเศส เนื้อหาในภาพบอกเล่าถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส นำโดยหญิงสาวที่ชื่อว่า Marianne เธอถือธงสามสีของฝรั่งเศส ที่มีความหมายว่าเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ เป็นธงปฏิวัติในช่วงเดือนกรกฎาคมปี 1830 หรือเรียกกันว่า July Revolution หญิงสาวที่อยู่ในภาพสื่อถึงอิสระ เสรีภาพ และความกล้าหาญ
เธอยังเป็นตัวแทนที่ช่วยให้เกิดไอเดียรังสรรค์เทพีเสรีภาพที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้มอบเป็นของขวัญให้แก่สหรัฐอเมริกา เป็นที่มาของผลงาน เทพีเสรีภาพ (Statue of Liberty: Liberty Enlightening the World) ที่ยืนตระหง่านอยู่ ณ เกาะลิเบอร์ตี อ่าวนิวยอร์ก ที่นครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
จุดที่น่าสังเกตอีกแห่งในภาพวาดด้านซ้ายมือของเธอ คือเด็กหนุ่มถือปืนพกไว้ทั้งสองมือที่ชูขึ้น ความมุ่งมั่นของพวกเขาในภาพฉายชัดผ่านการก้าวเดินที่เต็มไปด้วยความหยิ่งในศักดิ์ศรี และพร้อมต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่าเดิม
เบื้องหลังของผลงานยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับนวนิยายเรื่อง Les Misérables มีชื่อภาษาไทยว่าเหยื่ออธรรม ประพันธ์โดยวิกตอร์ อูโก (Victor Hugo) นักเขียนชาวฝรั่งเศส ผู้มีหัวใจเพื่อเสรีภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวละครอย่างชาฟโรช (Gavroche) เด็กชายจรจัดผู้เข้าร่วมการปฏิวัติ เชื่อกันว่าได้แรงบันดาลใจจากเด็กหนุ่มถือปืนพกสองมือที่อยู่ในภาพนั่นเอง
แม้ว่าศิลปินผู้วาดภาพจะไม่ได้เข้าร่วมการปฏิวัติ ทว่าเขาก็แสดงความคิดเห็นผ่านจดหมายถึงพี่ชายว่า “ถ้าฉันไม่ได้เข้าร่วมต่อสู้เพื่อชัยชนะของประเทศชาติ อย่างน้อยฉันก็จะวาดภาพมันขึ้นมา”
ในโถงของบริเวณจัดแสดงภาพวาด ผู้เขียนสะดุดตาภาพวาดนี้ที่สุด อาจจะเพราะว่าคุ้นเคยและเคยเห็นภาพผ่านตามาบ้างแล้ว แต่เมื่อได้เห็นภาพต่อหน้า รายละเอียดและบรรยากาศของสถานที่ทำให้เรามองลึกลงไปในความหมายและหลงสเน่ห์ภาพวาดไปโดยไม่รู้ตัว
การเดินทางท่องไปในโลกศิลปะ ทำให้ผู้เขียนเรียนรู้ถึงความงามและความสำคัญของศิลปะที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราว บันทึกความหมายผ่านสัญลักษณ์ และงานศิลปะยังช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมทางความคิดอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเบื้องหลังของงานศิลปะล้วนมีความเป็นมาที่ทำให้เราเรียนรู้สังคมและความหมายของชีวิตได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
Reference & Bibliography
- พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ Louvre Museum ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แลนด์มาร์คปารีส ประเทศฝรั่งเศส. สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2564, จาก https://grazietravel.com/travel-info/พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์-louvre-museum-ยิ่ง
- ภาพโมนาลิซ่า (Mona Lisa) ของดาวินชีมีความเป็นมาอย่างไร ?. สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2564, จาก https://victorytale.com/th/mona-lisa
- หัวขาด สยายปีก ‘Winged Victory of Samothrace’ ประติมากรรมที่สะท้อนถึงชัยชนะ. สืบค้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2564, จาก https://urbancreature.co/winged-victory-of-samothrace
- Liberty Leading People หัวใจฝรั่งเศสในภาพวาด. สืบค้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2564, จาก https://waymagazine.org/liberty-leading-people
- ภาพวาดแห่งการต่อสู้ เพื่อเสรีภาพของประชาชน. สืบค้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2564, จาก https://www.matichonweekly.com/art/article_378772
- Liberty Leading the People. สืบค้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2564, จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Liberty_Leading_the_People
- Talontiew. (2018), พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ Louvre Museum. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2564, จาก https://www.talontiew.com/louvre-museum
- ขอขอบคุณภาพประกอบ Unsplash: Beautiful Free Images & Pictures www.unsplash.com
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา BR402 Youtube Production, BR404 Broadcasting Project ภาคการศึกษาที่ 1/2 2564