ศิลปะแนวน่ารักสดใส ลายเส้นสวย ดูแล้วอมยิ้มตาม เข้าถึงวัยรุ่นได้ง่าย นี่คือศิลปะสไตล์คนรุ่นใหม่ ที่มีความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงาน คนรักงานศิลปะคงสังเกตเห็นว่า งานศิลปะมักจะผ่านการสร้างสรรค์ผลงานตามวิธีการที่ตัวศิลปินถนัด ไม่ว่าจะเป็น สีน้ำ สีไม้ สีอะคริลิก งานศิลปะจึงต้องใช้ใจถ่ายทอดผลงานด้วยความประณีต

ศิลปินที่เราจะไปพูดคุยด้วยก็เป็นหนึ่งในผู้ที่สร้างสรรค์งานศิลปะด้วยความตั้งใจผ่านปลายพู่กันที่เปลี่ยนโลกให้สดใส ไม่ว่าใครเห็นผลงานเป็นต้องหลงรัก

ขอขอบคุณภาพ @2610October
พี่ฟลุค-นฤเบศ คงสุวรรณ หรือ นาลุ (NALU)

เราขอแนะนำให้ทุกคนรู้จัก พี่ฟลุค-นฤเบศ คงสุวรรณ ใช้ชื่อในวงการศิลปะว่า นาลุ (NALU) หนึ่งในศิลปินไทยที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนวงการศิลปะยุคสมัยใหม่ให้เติบโตมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันพี่นาลุทำงานเป็นฟรีแลนซ์ด้านภาพประกอบและทำอีเว้นท์ร่วมกับทีมคาราคาซัง (Caracasan) ทีมคนรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันด้วยใจรักในการสร้างสรรค์งานศิลปะ

จากเกรดสีน้ำเกรด D+ สู่ศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานผ่านสีน้ำ

พี่นาลุเกริ่นก่อนว่า จบการศึกษามาจาก ภาควิชาออกแบบเครื่องแต่งกาย คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในขณะที่ยังเรียนอยู่ในระดับชั้นปีที่ 1 มีวิชาสีน้ำที่ทุกคนจะต้องใช้ความรู้ด้านสีน้ำเฉพาะที่มีติดตัวมาในการลงมือทำ ทว่าส่วนตัวตอนนั้นเป็นคนที่ไม่มีความรู้พื้นฐานด้านสีน้ำมาตั้งแต่แรก อีกทั้งการมาทำงานในวิชานี้ยังเจอข้อบังคับหรือกฎเกณฑ์หลายอย่างที่จะต้องทำให้อยู่ในกรอบ จึงทำให้ตนรู้สึกว่าการใช้สีน้ำเป็นเรื่องที่ยากและไม่สนุก ส่งผลให้ผลออกมาไม่ดีเท่าที่ควร

ขอขอบคุณภาพ Instagram : sebulan
ขอขอบคุณภาพ Twitter @2610October “พอศิลปะไม่ถูกบังคับว่าจะต้องอยู่แต่ในกรอบก็รู้สึกว่ามันง่ายขึ้น รู้สึกสนุก” - NALU

ปีถัดมาในการเรียนวิชาออกแบบแฟชั่นที่เป็นวิชาหลักของพี่นาลุ แต่ละวันจะต้องร่างแบบหลายชิ้นส่งเป็นประจำ การจะใช้สีไม้หรือสีโปสเตอร์อาจจะใช้เวลาที่นานจนเกินไปและไม่สามารถส่งงานได้ทันตามเวลาที่กำหนดไว้ ดังนั้นจึงตัดสินใจที่จะไปรื้อตลับสีน้ำที่เคยเรียนมาใช้งานอีกครั้ง แต่เพราะว่าการใช้สีน้ำในครั้งนั้นไม่ได้ถูกจำกัด หรือกำหนดว่าจะต้องระบายแบบไหน ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์แบบใด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้รู้สึกชอบที่ได้ใช้สีน้ำขึ้นมา และเลือกที่จะใช้สีน้ำมาจนถึงทุกวันนี้

แสวงหาแรงบันดาลใจ สิ่งเล็ก ๆ ที่หาได้ง่ายจากใกล้ตัว

พี่นาลุเล่าว่าแรงบันดาลใจหรือไอเดียในการทำงาน ในแต่ละครั้งที่ได้รับมอบหมายงานมา สิ่งแรกที่ทำคือดูว่างานของเรามีโจทย์หรือคอนเซ็ปต์อะไรบ้าง ถ้ามีมาก็จะทำให้เราทำงานนั้นได้ไม่ยาก เมื่อเรามีไอเดียเพิ่มเติมก็สามารถลองคุย เสนอแนะ หรือหารือกับทางต้นงานได้ แต่ถ้าไม่มีโจทย์หรือคอนเซ็ปต์อะไรให้มา วิธีในการหาไอเดียคือ ลองกลับมามองตัวเองก่อนว่าในช่วงนี้เรากำลังให้ความสนใจกับเรื่องไหน กำลังชอบอะไรอยู่ อย่างสมมติช่วงนี้ชอบดูภาพยนตร์เรื่อง History of Art ก็จะหยิบมันมาใช้

Zine ทำมือที่ได้แรงบันดาลใจจากวง Red Velvet หนึ่งผลงานของพี่นาลุ ขอขอบคุณภาพ Twitter @2610October

นอกจากนี้หากรู้สึกชอบเพลงนี้ ชอบมิวสิควีดิโอนี้ อารมณ์ของเพลงเป็นแบบไหน ก็อาจจะนำทุกอย่างมาต่อยอดเป็นชิ้นงานใหม่ ๆ ได้ ถ้ายังไม่มีไอเดียหรือแรงบันดาลใจในการคิดงานจริง ๆ ส่วนตัวก็จะพักทุกอย่างก่อนเลย เพราะยิ่งถ้าเราพยายามที่จะเค้นมันมากเกินไป สุดท้ายก็จะได้ผลงานงานที่ไม่ค่อยดี ไม่ได้ดั่งที่เราตั้งใจออกมา ควรปล่อยให้สมองได้ผ่อนคลายลงบ้าง

คาราคาซัง (Caracasan) จุดเริ่มต้นของสุดยอดโปรเจกต์ขับเคลื่อนวงการศิลปะ

พี่นาลุเล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์คาราคาซังนั้นมาจาก ศิลปิน 3 คน ได้แก่ พี่นาลุ หรือ พี่ฟลุค (NALU) พี่ฟ้า (FAHFAHS) และพี่น้ำ (MOYOYA) ที่มาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรเหมือนกัน แต่ก่อนหน้านี้ทั้งสามคนไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัวมาก่อน จนกระทั่งมีโปรเจกต์ที่บริษัทหนึ่งเชิญศิลปินสายวาดรูปหลาย ๆ คนมาเจอกัน ซึ่งในตอนนั้นทั้งพี่นาลุ พี่ฟ้า และพี่น้ำ นั่งอยู่ติดกันในงาน พี่ฟ้า (FAHFAHS) เป็นคนคิดริเริ่มขึ้นมาว่าอยากจะจัดนิทรรศการจัดแสดงผลงานศิลปะ จะให้จัดแต่ของตนเองแค่คนเดียวก็กลัวว่าคนจะเข้าถึงได้ยาก จึงชวนพี่นาลุและพี่ฟ้ามาทำด้วยกัน เกิดเป็นทีมจัดอีเว้นท์จนถึงตอนนี้

สำหรับที่มาของชื่อ คาราคาซัง (Caracasan) มาจากตอนที่ทั้งสามคนกำลังเลือกชื่อที่ต้องการจะใช้แทนกลุ่ม และรู้สึกว่าการตั้งชื่อช่างยุ่งยากคาราคาซังเหลือเกิน จึงได้ตัดสินใจเลือกคำนี้ อีกทั้ง ซัง ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า สาม ซึ่งตรงตัวกับศิลปินในกลุ่มที่มีด้วยกันสามคนในตอนนั้น ภายหลังคาราคาซังได้มีศิลปินที่เข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกคน คือ พี่ไอซ์ (ICEJI) อีกด้วย

ขอขอบคุณภาพ Twitter : @caracasan
ขอขอบคุณภาพ Twitter @whateverwhenev

จาก Exhibition เล็ก ๆ สู่โปรเจกต์ Arts Market ที่มีคนเข้าร่วมถึงสี่พันคน

พี่นาลุเท้าความว่าแต่แรกเดิมที คาราคาซัง (Caracasan) เป็นเพียงกลุ่มศิลปินที่มีความต้องการที่จะจัดแสดงผลงานเป็นของตัวเอง เนื่องจากในต่างประเทศมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงาน (Exhibition) กันอย่างแพร่หลาย จึงมีความคิดที่อยากจะให้ในไทยมีเช่นกัน

นิทรรศการจัดแสดงผลงานของคาราคาซังจัดได้ประมาณ 2 ปี  ปีแรกใช้ชื่อธีมว่า ‘Love Is’ เป็นนิทรรศการคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับความรัก ส่วนปีที่สองเป็นธีม ‘Hello Circus’ ซึ่งถูกจัดที่ YELO House ในฤดูร้อนด้วยคอนเซ็ปต์ของโรงละครสัตว์ หลังจากที่จัดงานแสดงผลงานไปได้สองครั้ง คาราคาซังก็มีแนวคิดใหม่ในการที่จะจัดตลาดนัดศิลปะ (Arts Market) เนื่องด้วยสาเหตุมาจากในช่วงนั้นไม่สามารถหาสถานที่ในการจัดแสดงผลงานได้อย่างลงตัว ผนวกกับมีน้องคนหนึ่งวาดรูปมาให้พี่นาลุ พี่ฟ้า และพี่น้ำ ซึ่งเป็นภาพที่มีลายเส้นที่น่ารักและสะดุดตามาก แต่น้องคนนั้นไม่มีช่องทางให้ติดตามผลงานวาดรูปเลย

ขอขอบคุณภาพ Twitter @2610October
“เรารู้สึกว่าอยากให้วงการศิลปะขับเคลื่อนไปไกลมากกว่านี้ เพราะยังมีศิลปินอีกมากที่ทำผลงานได้ดีแต่ไม่มีพื้นที่ให้แสดงผลงาน มันคงจะดีนะ ถ้าเราจัดขึ้นมา นั่นคือจุดเริ่มต้น” - NALU

“ในไทยมีศิลปินที่เก่ง ๆ เยอะ แต่ว่าพวกเขาไม่มีพื้นที่ให้แสดง คงจะดีถ้ามีพื้นที่ตรงนี้” พี่นาลุกล่าว เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ในปัจจุบัน ศิลปินไทยฝีมือดีหลายต่อหลายคนไม่มีกระทั่งพื้นที่แสดงผลงาน ประจวบเหมาะกับที่ตอนนั้นในไทยยังไม่มีกระแสของตลาดนัดศิลปะโดยเฉพาะ ที่จะดูละม้ายคล้ายคลึงก็จะเป็นตลาดนัดงานศิลปะของฝั่งแฟนคลับศิลปิน K-POP และของฝั่งผู้ที่ชื่นชอบการ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งตลาดนัดศิลปะสำหรับงานศิลปะสายภาพประกอบนั้นแทบจะไม่มีเลย พี่ ๆ ทั้งสาม จึงเกิดความคิดใหม่อยากจะหันมาจัดตลาดนัดศิลปะแทน และพักนิทรรศการจัดแสดงผลงานไปจนกว่าคาราคาซังจะหาสถานที่ใหม่ได้

ประสบการณ์เป็นศูนย์ก้าวข้ามสู่การทำคารามาร์เก็ตที่มีประสิทธิภาพเต็มร้อย

อย่างไรก็ตาม ทีมคาราคาซังไม่มีประสบการณ์ในการจัดงานประเภทนี้มาก่อน พี่นาลุเล่าให้ฟังว่า ในตอนที่เขานำโปรเจกต์ตลาดนัดศิลปะไปพูดกับเพื่อนในทีมคาราคาซังอีกสองคน ทั้งคู่ก็ยังไม่เห็นภาพว่าสิ่งที่เขาเล่าให้ฟังจะจัดออกมาเป็นแบบใด ส่วนตัวซึ่งมีประสบการณ์เคยไปออกงานตลาดนัดศิลปะของฝั่งแฟนคลับศิลปิน K-POP มาก่อน จึงอาสาพาทั้งคู่ไปงานตลาดนัดศิลปะดังกล่าว เพื่อที่จะเห็นภาพว่าตลาดนัดศิลปะที่อยากจะทำมีรูปแบบและกระบวนการในการทำงานอย่างไร

ขอขอบคุณภาพ Twitter : @caracasan

ในปีแรกที่คาราคาซังจัดคารามาร์เก็ต (Cara Market) ผลตอบรับที่ได้ดีกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ถึงขนาดที่บัตรหน้างานไม่พอจำหน่าย บัตรหน้างานจำนวน 1,000 ใบ ที่ตอนแรกทุกคนในทีมต่างคิดว่าไม่น่าจะขายได้หมด แต่ปรากฏว่าบัตรทั้งหมดถูกขายจนหมดเกลี้ยงตั้งแต่สองชั่วโมงแรก

การจัดงานตลาดนัดศิลปะแต่ละครั้ง คาราคาซังจะต้องมีการประชุมกันก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลือกคอนเซ็ปต์ที่ใช้ หรือการวางแผนต่าง ๆ อย่างในการจัดงานครั้งที่สองเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ในทีมต้องการให้บรรยากาศในงานสัมผัสถึงฤดูร้อน จึงเกิดเป็นธีมที่มีชื่อว่า Sunny Summer โดยมีสีน้ำเงิน สีแดง และสีเหลือง บ่งบอกถึงฤดูร้อนที่เป็นคอนเซ็ปต์ของงาน

รูปโปรโมตคารามาร์เก็ตครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ขอขอบคุณภาพ Twitter : @caracasan

ในงานครั้งล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาอย่าง Caraweenday คาราคาซังได้ริเริ่มความคิดที่จะจัดตลาดนัดศิลปะขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปีของปีนี้ ซึ่งในช่วงปลายปีมีทั้งเทศกาลที่น่าสนใจอย่างเทศกาลฮาโลวีน และเทศกาลคริสต์มาส แต่เทศกาลคริสต์มาสเป็นช่วงสิ้นปี จึงคิดว่าหลายคนอาจจะไม่สะดวก อีกทั้งคอนเซ็ปต์ของคริสต์มาสค่อนข้างจำกัดการแต่งตัวและสีที่ใช้ แตกต่างกับเทศกาลฮาโลวีนที่เป็นธีมของเทศกาลที่เกี่ยวกับผี ความลึกลับ ความมืด ซึ่งน่าสนใจมากกว่า

บรรยากาศภายในงาน Caraweenday ที่ผ่านมา

ผลตอบรับจากคารามาร์เก็ตครั้งที่สองและสามก้าวกระโดดขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด จากงานครั้งแรกที่มีคนมาร่วมงานประมาณ 1,400 คน ตอนนี้กลับมีคนมาร่วมงานมากถึง 4,200 คน มากขึ้นเป็นสามเท่าจากการจัดงานในครั้งแรก นี่จึงทำให้ทีมคาราคาซังรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ไม่ใช่การทำตลาดนัดศิลปะสนุก ๆ กับเพื่อนอีกต่อไป แต่เป็นการทำงานอย่างจริงจังที่ต้องคิดทุกเรื่องให้ถี่ถ้วน ต้องคำนึงถึงศิลปิน คนที่จะมาร่วมงานทุกคน และที่สำคัญคือจะต้องคำนึงถึงวงการศิลปะอีกด้วย นำทุกข้อติชมมาปรับปรุงในการจัดงานครั้งต่อไปให้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ พี่นาลุได้แสดงความเห็นว่า ตอนนี้รู้สึกว่าผู้คนเริ่มตื่นตัวกับงานศิลปะมากขึ้น อีกทั้งศิลปินก็สามารถต่อยอดจากพื้นที่ตรงนี้ได้ สมมติว่าวงการศิลปะโตขึ้น หรือโตได้มากกว่านี้ ตนคิดว่าผู้ปกครองหลายคนที่อาจจะเคยตั้งคำถามกับเด็ก ๆ ว่าการเรียนสายศิลปะสามารถเอามาใช้ทำงานได้จริงไหม จะเข้าใจและเปิดกว้างกับงานสายศิลปะมากกว่าเดิม เพราะเคยมีผู้ปกครองมาที่งานและบอกว่าเพิ่งจะรู้ว่าศิลปะสามารถทำเงินได้ถึงขนาดนี้ เขาบอกว่ารู้สึกเปิดใจกับสายงานศิลปะมากขึ้นกว่าเดิมจากแต่ก่อน ตนฟังแล้วรู้สึกประทับใจมาก

#ThaiArtists แฮชแท็กติดเทรนด์โลกทวิตเตอร์ชั่วข้ามคืน

การทำงานศิลปะของพี่นาลุ และทีมคาราคาซัง รวมทั้งยังสื่อสารให้คนรับรู้ในโลกออนไลน์ ผ่านแฮชแท็ก ทำให้สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ที่ชื่นชอบในผลงานศิลปะได้ ประเด็นนี้น่าสนใจมาก เพราะบ้านกล้วย ได้มีโอกาสเห็นคนเล่นแฮชแท็กนี้มาค่อนข้างนานพอสมควร แต่ในปีนี้แฮชแท็กนี้กลับกลายเป็นกระแสถึงขนาดที่ว่าติดเทรนด์อันดับโลกบนทวิตเตอร์เลยทีเดียว

พี่นาลุพูดถึงเรื่องนี้ว่า ทุกวันนี้มีศิลปินที่เก่งและมีความสามารถเยอะแล้วก็จริง แต่ว่ายังไม่มีอะไรที่เป็นจุดศูนย์รวมศิลปินเหล่านี้ได้เลย อีกทั้งเขาก็รู้จักกับรุ่นน้องคนหนึ่งที่เป็นคนริเริ่มสร้างแฮชแท็ก #ThaiArtists ขึ้นมา ซึ่งในต่างประเทศก็มีแฮชแท็กแบบนี้เช่นกันกัน น้องเขาก็ชวนเพื่อนและคนรู้จักมาเล่นพร้อมกับให้แนะนำตัวไปด้วยว่า แต่ละคนเป็นศิลปินด้านไหน ซึ่งตนรู้สึกว่าน่าสนุกดี เดิมทีศิลปินอย่างเราก็เล่นแฮชแท็กนี้กันในวงเล็ก ๆ แต่แล้วมันก็ค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้น กว้างขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งแฮชแท็กนี้ติดเทรนด์ระดับโลกในทวิตเตอร์อย่างที่เห็น

ส่วนตัวตนคิดว่าการที่แฮชแท็ก #ThaiArtists เป็นกระแสขนาดนี้ เพราะว่าทั้งตัวศิลปินและช่องทางสื่อสารทางออนไลน์มันเร็ว จึงทำให้เป็นกระแสขึ้นมาได้ง่าย อย่างที่รู้กันว่าเวลามีอะไรติดเทรนด์ คนก็จะเข้าไปเช็คว่าแฮชแท็กนี้คืออะไร พอได้เห็นงานศิลปะจากศิลปินที่คนทั่วไปไม่ค่อยให้เห็น คนก็เริ่มที่จะรับรู้และติดตาม แฮชแท็กนี้จึงมีผลมากที่ช่วยให้ศิลปินเป็นที่รู้จักมากขึ้น

รันวงการศิลปะให้เติบโตเป็นเพียงจุดเริ่มต้น

“ยุคนี้ศิลปะมีหลายแบบมากขึ้น คนก็ได้เปิดใจที่จะรับรู้เกี่ยวกับศิลปะมากขึ้น” พี่นาลุแสดงความเห็นว่า ส่วนตัวตอนนี้คิดว่าวงการศิลปะเติบโตและเปิดกว้างมากกว่าแต่ก่อนแล้ว หลายคนที่ก่อนหน้านี้เคยรู้สึกว่างานศิลปะเป็นเรื่องไกลตัว พอได้มีโอกาสเข้ามาทำความรู้จักกลับพบว่าเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายและอยู่คู่ทุกความชื่นชอบของเราในชีวิตประจำวัน

ขอบคุณภาพ Twitter @2610October Instagram : sebulan

ถึงแม้ว่าเขาจะรู้สึกพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ในตอนนี้แล้ว แต่รู้สึกว่าหลังจากนี้ต่อไป วงการศิลปะยังสามารถเติบโตได้มากขึ้นอีก พร้อมบอกว่าอยากจะให้ศิลปะเข้าถึงกับทุกคน ไม่เพียงเฉพาะคนที่สนใจเท่านั้น แต่ควรที่จะเข้าถึงได้ ทุกเพศ ทุกช่วงอายุ ถ้าคนเราเริ่มที่จะเปิดใจให้กับศิลปะในตอนนี้ วงการศิลปะประเภทนี้ในไทยก็จะไปได้ไกลอย่างไม่รู้จบ “เราคิดว่าวงการศิลปะโตขึ้นได้มากกว่านี้อีก เราอยากให้วงการศิลปะเข้าถึงได้กับทุกเพศ ทุกวัย” พี่นาลุกล่าว

สิ่งที่อยากจะทำต่อไปในอนาคต

พี่นาลุทิ้งท้ายว่า อยากจะหันไปทำงานเบื้องหลังบ้าง เพราะตอนนี้ในการทำงานเบื้องหน้าอย่างตลาดนัดศิลปะ คารามาร์เก็ต (Cara Market) ค่อนข้างที่จะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เขากับเพื่อน ๆ ในกลุ่มคาราคาซังรู้สึกพอใจกับกระแสตอบรับในตอนนี้แล้ว แต่ก็ยังเรียนรู้และพัฒนาฝีมือการทำงานอย่างต่อเนื่อง

ขอบคุณภาพ Instagram : sebulan

ตลาดนัดศิลปะ (Arts Market) ในตอนนี้เติบโตมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ไม่ได้มีเฉพาะคารามาร์เก็ตเพียงงานเดียวอีกต่อไป ตนจึงมีความคิดที่อยากจะพักและกลับไปทำนิทรรศการจัดแสดงผลงานเหมือนเดิมอย่างที่ตั้งใจไว้ เมื่อวันใดวันหนึ่งที่ทุกคนในทีมพร้อมหรือมีกระแสของผลงานศิลปะกลับมาบูมอีกครั้ง คาราคาซังก็จะกลับมาทำตลาดนัดศิลปะอีกแน่นอน

ศิลปะไทยในตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด กำลังเดินไปบนเส้นทางที่เต็มไปด้วยความหวัง ความฝัน และความพยายามที่ขับเคลื่อนโดยศิลปินหลายต่อหลายคน ทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นเล็ก และศิลปินเลือดใหม่ที่ทำงานศิลปะในแพลตฟอร์มออนไลน์ อีกทั้งยังมีแรงสนับสนุนจากคนชื่นชอบศิลปะที่อยากจะให้วงการศิลปะเติบโตไปได้ไกลมากกว่านี้ และกลายเป็นกระแสด้านบวกที่ทำให้หลายคนหันมาใช้งานศิลปะเพื่อการเรียนรู้ เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม และอาจจะช่วยรักษาบาดแผลในจิตใจของผู้คนที่เจ็บปวดอีกมากมายก็เป็นได้

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR311, JR311 Journalistic Writing across Media Section 3221 ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ปริณดา เริงศักดิ์

Writer & Photographer

บรรณาธิการบริหารบ้านกล้วยออนไลน์ปี 2020 ที่คาดหวังให้ตัวเองมีความสุข และใช้ชีวิตตามคำพูดของวินเซนต์ แวนโก๊ะห์ ‘What is done in love is done well’

Writer

การนำเสนอความคิดของเราผ่านตัวละคร ผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เราเขียน คือการสร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาผ่านทัศนคติของเรา เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ

Photographer

พิสูจน์การมีตัวตนผ่านตัวหนังสือและเล่าเรื่องราวผ่านงานเขียน