ในยุคที่สัมพันธ์ภาพระหว่างไทย-จีน มีบทบาทและอิทธิพลต่อกันทั้งด้านเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม ‘หวัง อี้’ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเคยกล่าวไว้ว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ด้วยการประกาศนโยบาย ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ส่งผลให้ชาวจีนจำนวนมากเลือกเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อศึกษาต่อ
สำหรับชาวจีนที่ไม่เคยเรียนภาษาไทย การใช้ชีวิตในประเทศไทยค่อนข้างที่จะยากลำบาก แต่พวกเขาพร้อมที่จะเรียนรู้ และต่อสู้กับอุปสรรคที่เกิดขึ้น บ้านกล้วย อยากจะพาทุกคนมารู้จักการใช้ชีวิตของนักศึกษาจีนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพว่า การปรับตัวในวันที่ต้องห่างไกลบ้านเกิดเช่นนี้ พวกเขามีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร
เดินทางไปเรียนต่างแดนเพื่อแสวงหาความรู้
การเดินทางไปเรียนรู้ที่ต่างประเทศคงเป็นความฝันของใครหลายคน เพื่อแสวงหาความรู้ หาประสบการณ์ เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ สำหรับ หลุยส์-ลู่อี่ เหอ นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ ที่มีความใฝ่ฝันจะเรียนด้านภาพยนตร์ เพราะชอบการทำงานในกองถ่ายภาพยนตร์ หลงรักการดูหนัง ทำให้เขาเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาที่เมืองไทย เพราะได้ข้อมูลว่า คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง ประกอบกับสนใจประเทศไทยอยู่แล้ว จึงตัดสินใจเข้ามาเรียนที่ไทย
หลุยส์ บอกว่า “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมและการเรียนรู้ด้วยตนเองเกือบทุกชั้นปี มีอิสระให้นักศึกษาได้เสนอไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่ เป็นสิ่งที่ประทับใจมาก” ส่วนการใช้ชีวิตและการปรับตัวในยามที่ต้องห่างบ้าน เคล็ดลับที่ทำให้ใช้ภาษาไทยได้ดีคืออยู่กับเพื่อนชาวไทยมาก ๆ รวมถึงเข้าชมรมทำให้มีกิจกรรมทำอยู่ตลอดเวลา ได้พัฒนาภาษาไปในตัวด้วย
ความอบอุ่นที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
นอกจากด้านวิชาการ ความสัมพันธ์ที่ดีก็ทำให้ชีวิตการเรียนรู้มีความหมายมากยิ่งขึ้น ชวิน-ซงปิง ฉือ นักศึกษาสาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ ชวินกล่าวว่า First impression ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพสำหรับเขา คือ ตึกสวยมาก โดยเฉพาะตึกเพชรโดดเด่น และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในประเทศจีน
“ชีวิตในหาวิทยาลัยกรุงเทพ คือ ยุ่งมาก แต่อุดมสมบูรณ์” ชวินเล่าต่อว่า แรกเริ่มที่มาเรียนที่ไทยรู้สึกยังไม่ชิน เพราะนิสัยการใช้ชีวิต การดำเนินชีวิตแตกต่างกับที่จีนมาก แต่สิ่งที่โชคดี คือ ได้เจอเพื่อนเยอะ มีอาจารย์ช่วยเหลือ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นประสบการณ์ที่ดีมากในชีวิต ชวินยังบอกอีกว่า เขาได้เรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นสิ่งที่ภูมิใจและคิดไม่ผิดที่เลือกมาเรียนที่นี่ ได้เรียนรู้ภาษาไทย ได้มีความสามารถมากขึ้นเมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ และที่ประทับใจมากที่สุด คือ การได้เจออาจารย์และเพื่อน ๆ ที่มีความจริงใจ
ความท้าทายคือภาษาและวัฒนธรรม
การเรียนรู้ในต่างแดนต้องกระตุ้นตัวเองให้มีความอยากรู้อยากเห็น เจเจ-หมิงฮุย เจี่ย นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ เล่าว่า “เมื่อมาประเทศไทยปีแรก ทุกสิ่งทุกอย่างใหม่หมด มีความอยากรู้อยากเห็น” แต่ความท้าทายที่มากที่สุดเมื่อเรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คือ เรียนรู้ภาษาไทย และอีกเรื่องหนึ่งก็คือวัฒนธรรม
เจเจยังบอกอีกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ แต่สำหรับประเทศจีน คนจีนส่วนใหญ่ไม่นับถือศาสนา (No Religion) ความแตกต่างทางวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องปรับและเรียนรู้สำหรับชาวจีนที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย
เมื่อเราถามว่ามาอยู่ไทย 4 ปี คิดถึงบ้านบ้างหรือไม่ เขากลับบอกว่า เขาเป็นเด็กที่ไม่จำเป็นต้องอยู่กับพ่อแม่ตลอดเวลา เขามีความคิดและความฝันของตัวเอง เมื่อตอนปี 1 เขาก็ตัดสินใจเป็นครูสอนภาษาจีนให้เด็กไทย เพราะเขารู้สึกว่า ภาษาจีนได้กลายเป็นภาษายอดฮิตที่กำลังเป็นที่สนใจของเด็ก ๆ และคนไทยเองก็ตื่นตัวเรื่องการเรียนภาษาจีนไม่น้อย หลายโรงเรียนต่างบรรจุภาษานี้ไว้ในแผนการเรียนการสอน
อีกทั้งมหาวิทยาลัยแทบทุกแห่งเปิดหลักสูตรวิชาภาษาจีนให้เลือกเรียนเป็นวิชาเอก สถาบันสอนภาษาจีนเกิดขึ้นราวกับดอกเห็ด สังเกตได้ว่าความเป็นจีนมีให้เราเห็นโดยทั่วไป ดังนั้นการเป็นครูสอนภาษาจีนที่ประเทศไทยเป็นอาชีพที่เขาคาดว่าน่าจะต่อยอดได้และมีรายได้ในระยะยาว
ประสบการณ์มากมาย
สโนว์-เซี่ยเสว่ หลง นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ สโนว์เรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพเข้าปีสุดท้ายแล้ว มีประสบการณ์มากมาย เธอกล่าวว่า สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ คือ การได้ทำงานตลอดเวลา งานจากวิชาเรียนค่อนข้างหนักมาก แต่สนุก
“งานวันนี้ทำเพิ่งเสร็จ ก็มีงานอีกมา ไม่ค่อยมีเวลาพัก” สโนว์เล่าว่า สำหรับเด็กที่เรียนฟิล์ม การได้ลงมือปฏิบัติสำคัญกว่าทฤษฎี หากไม่มีทักษะและประสบการณ์ในการลงมือทำก็ไม่สามารถทำงานได้ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถทำงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ได้ เธอเลือกมาเรียนคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ เพราะว่าชอบงานด้านนี้
สโนว์เล่าต่อว่า “ถ้ามีน้อง ๆ หรือใครที่อยากมาเรียนที่ไทยก็ต้องมีความมุ่งมั่นและความพยายาม หลายคนคิดว่าศึกษาที่ต่างประเทศเป็นเรื่องที่ง่าย แต่จริง ๆ แล้วชีวิตของนักศึกษาต่างชาตินั้นไม่ง่าย และไม่ได้สุขสบายอย่างที่คุณคิด หากคุณไม่คิดปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและเพื่อนชาวไทยให้ได้”
การเรียนในต่างแดนทำให้เราต้องขยันเรียนรู้ ปรับตัว ศึกษาวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ เชื่อว่าประสบการณ์ในต่างแดนทำให้พวกเขามีความสามารถพิเศษเพิ่มมากขึ้นในการสื่อสารและมีความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต เห็นโลกในมุมที่กว้างขึ้น ชีวิตในต่างแดนมักจะทำให้เราเติบโตทางความคิดขึ้นเสมอ
Reference & Bibliography
- หลุยส์-ลู่อี่ เหอ นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์
- ชวิน-ซงปิง ฉือ นักศึกษาสาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ
- เจเจ-หมิงฮุย เจี่ย นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์
- สโนว์-เซี่ยเสว่ หลง นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้