หากพวกเราได้มีโอกาสใช้ชีวิตสัญจรไปมาในกรุงเทพมหานครอยู่เป็นประจำก็จะพบกับสื่อโฆษณาหลากหลายชนิดเช่น จอ LED โฆษณาขนาดยักษ์ ป้ายไวนิลตามสถานที่ต่าง ๆ แผ่นสกรีนติดตามรถเมล์ รถไฟฟ้า BTS แท็กซี่ เรือ รถสองแถว รวมไปถึงป้ายโฆษณาใน MRT

MRT หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน เป็นพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สัญจรของคนเมือง พื้นที่นี้มีความสำคัญอย่างไร เราขอให้ข้อมูลเบื้องต้นที่ทำให้เห็นภาพว่า พื้นที่เหล่านี้เป็นแหล่งรวบรวมผู้คน และเป็นพื้นที่การสื่อสารชั้นดีที่บรรดาธุรกิจต่าง ๆ ให้ความสำคัญ รวมถึงยังก่อให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ในแบบคนเมืองอีกด้วย

รถไฟฟ้ามหานครหรือ MRT เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ในปี 2562 รถไฟฟ้า MRT มีเส้นทางการเดินรถรวมระยะทาง 20 กิโลเมตร เป็นโครงการใต้ดินตลอดสาย มีสถานีทั้งหมด 18 สถานี และยังอยู่ช่วงการดำเนินการก่อสร้างสถานีเพิ่มเติมอีกเรื่อย ๆ

ในรายงานประจำปี 2559 ของการไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถิติการให้บริการของรถไฟฟ้า MRT ไว้ว่ามีผู้โดยสารเฉลี่ย 270,000 คน/เที่ยว/วัน และจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5.23% ทั้งนี้เมื่อเทียบสัดส่วนการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพ ฯ รถไฟฟ้า MRT ได้ครองอันดับที่ 3 (14.62%) รองจากอันดับ 1 อย่างรถไฟฟ้า BTS (37.10%) และอันดับ 2 รถโดยสาร ขสมก. (34.52%)

ดังนั้นการที่ป้ายโฆษณาใน MRT จะกลายมาเป็นหนึ่งในตัวเลือกหนึ่งที่เป็นพื้นที่แสดงความรักของเหล่าแฟนคลับ ที่มีต่อศิลปินนักร้อง นักแสดง และไอดอล ในช่วงระยะ 2 ถึง 3 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นความน่าสนใจของวงการสื่อโฆษณาในปัจจุบัน

แผนที่เส้นทางรถไฟฟ้ามหานครหรือ MRT จาก Bangkok Expressway and Metro

จากการลงพื้นที่สำรวจในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่าใน 18 สถานี มีป้ายโฆษณาไม่ต่ำกว่า 30 ป้าย โดยบุคคลที่ปรากฏในป้ายนั้นมีทั้ง ศิลปิน ไอดอล นักแสดง สัญชาติไทย เกาหลี ญี่ปุ่น จีน สลับกันไป นี่จึงทำให้เห็นว่าตอนนี้การใช้สื่อโฆษณาในการโปรโมตศิลปินได้เข้ามายึดพื้นที่ในไทยเป็นที่เรียบร้อย

วัฒนธรรมอิมพอร์ตจากกรุงโซล สู่การโปรโมตในกรุงเทพมหานคร

จุดเริ่มต้นของป้ายโฆษณาทำให้ศิลปินไอดอลจากประเทศเกาหลีใต้โด่งดังในวงการอุตสาหกรรมบันเทิง โดยป้ายโฆษณาโปรโมตศิลปิน ไอดอล หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในสถานีรถไฟใต้ดินของเกาหลีจะเป็นสื่อกลางที่แฟนคลับสามารถแสดงความรักอย่างเป็นรูปธรรมที่คนทั่วไปสามารถพบเห็นได้

อีกทั้งศิลปินและไอดอลเองก็ยังแสดงออกว่ารับรู้ถึงการมีอยู่ของป้ายและขอบคุณอย่างชัดเจน เช่น ตัวศิลปินจะมายังป้ายดังกล่าว มีการเขียนข้อความขอบคุณใส่กระดาษโน้ตแปะไว้ที่ป้าย รวมถึงถ่ายรูปคู่กับป้าย และนำไปเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของตนเอง เป็นความน่าประทับใจระหว่างแฟนคลับกับศิลปินที่กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นให้แฟนคลับในไทยและประเทศอื่น ๆ เริ่มสนใจที่จะทำป้ายแบบนี้ตามไปด้วย

ป้ายที่ประเทศเกาหลีใต้จาก Twitter : @summerforjuri
ข้อความที่ไอดอลติดไว้ที่ป้ายจาก Twitter : @sato_minami_
รูปถ่ายกับป้ายจากไอดอลที่ถ่ายภาพลงช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ Instagram : gu9udan

อย่างไรก็ตาม ป้ายโฆษณาศิลปิน และไอดอลที่ปรากฏในบ้านเรานั้น มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป อาทิ ป้ายวันเกิด สำหรับเป็นสื่อกลางอวยพรวันเกิดบุคคลที่ตนเองชื่นชอบและโฆษณาให้แก่คนทั่วไป ป้ายครบรอบ เนื่องในโอกาสครบรอบการเดบิวต์ (Debut หมายถึง การเปิดตัวในวงการครั้งแรก) เพื่อแสดงความยินดี เป็นต้น ซึ่งใกล้เคียงกับป้ายสนับสนุนศิลปินที่ทำในประเทศเกาหลีใต้

อีกทั้งหลายคนมองว่า การทำป้ายดังกล่าวอาจจะสามารถชักชวนให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมาในย่านที่รถไฟฟ้าใต้ดินเข้าถึง ได้มารู้จักตัวของศิลปิน และเป็นการสนับสนุนศิลปินที่เป็นรูปธรรม เพราะเป็นการแสดงออกให้ศิลปิน ค่ายต้นสังกัด ผู้จัดงานหรือออแกไนซ์ต่าง ๆ เห็นพ้องกันว่า ในประเทศของเรามีกลุ่มคนที่พร้อมที่จะให้การสนับสนุน เป็นการปักหมุดประเทศไทยในแผนที่การโปรโมตศิลปินเกาหลีไปในตัว

ตัวอย่างการโปรโมตป้ายในสถานี MRT เครดิตรูปจาก Twitter : @juri_thai

ระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือนแต่ใช้เวลาเตรียมการเป็นไตรมาส

จากการได้พูดคุยกับทีมทำป้ายโปรเจกต์หลายทีม ทำให้รู้ว่าการคิดริเริ่มจะทำป้ายหนึ่งป้ายนั้นไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่ใครหลายคนคิด เพราะหลังจากที่ธุรกิจป้ายโฆษณาใน MRT เริ่มเป็นกระแสเพิ่มขึ้น ย่อมมีเอเจนซี่มากมายที่เข้ามาเป็นคนกลางในการดูแล จัดการให้แทบจะทุกอย่าง โดยมีกำหนดการคือ จะต้องทำการติดต่อ จองระยะเวลา เลือกสถานี และจุดที่จะติดตั้งป้าย อย่างช้าที่สุดคือ 2 ถึง 3 เดือน ก่อนกำหนดการติดตั้ง ซึ่งในช่วงเวลาการจองป้าย จะให้ติดตั้งเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน สามารถจองได้ทั้งช่วงเต็มเดือนตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันสุดท้ายของเดือนนั้น ๆ หรือเป็นช่วงระหว่างเดือนตั้งแต่วันที่ 16 จนถึงวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

หลังจากที่จ่ายเงิน ประกอบด้วยค่าใช้จ่าย ได้แก่ ค่าเช่าสื่อโฆษณา ค่าผลิตป้าย และรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และออกใบเสร็จอย่างเป็นทางการแล้ว ทาง MRT จะส่งแบบที่ต้องการให้เลือก โดยมีการกำหนดรายละเอียดของรูป และหลังจากที่ผลิตป้ายเสร็จ จะให้ทีมงานที่ทำเข้ามาตรวจเช็คสีของป้ายก่อนขึ้นติดตั้งตามกำหนดการจริง

อย่างไรก็ตาม สิ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ต้องเผื่อเวลาไว้มากกว่าการจับจองพื้นที่สำหรับป้ายเหล่านี้คือ เงิน เพราะการทำป้ายแบบนี้จะต้องอาศัยการรวมเงิน หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า การโดเนท (Donate หมายถึง การบริจาค) จากแฟนคลับภายในกลุ่ม ซึ่งตรงนี้อาจจะใช้ระยะเวลานานเลยทีเดียว เพราะไม่ใช่ทุกการเปิดรับโดเนทในแต่ละโปรเจกต์จะมีคนให้ความสนใจและร่วมสนับสนุนทั้งหมด จึงไม่น่าแปลกใจนักที่จะเห็นบางโปรเจกต์เปิดรับโดเนทล่วงหน้ากันถึงครึ่งปีหรือนานกว่านั้น ยิ่งเปิดโดเนทก่อนกำหนดการมากเท่าไร ก็จะมีระยะเวลาในการรวบรวมเงินและวางแผนมากกว่า ส่วนราคามาตรฐานของป้ายจะอยู่ที่ราว ๆ 15,000 – 60,000 บาท ต่อเดือน ขึ้นอยู่กับขนาดป้าย และทำเลที่ตั้ง

ลูกเธอมี ลูกฉันก็ต้องมี เรื่องนี้ยอมกันไม่ได้ !!

เมื่อกระแสของการทำป้ายโฆษณาใน MRT เป็นที่นิยมมากขึ้น จึงกลายเป็นธรรมเนียมปกติไปแล้วว่าถ้าจะถึงวันเกิดไอดอลสักคนหรือวันครบรอบวงที่ชอบสักวง ก็ควรจะมีป้ายสักป้าย จนเริ่มจะกลายเป็นธรรมเนียมทำตามกัน ซึ่งตรงนี้จึงขยายผลไปว่า พอเห็นคนอื่นทำให้ศิลปินและไอดอลของตัวเองแล้ว เราก็อยากจะทำบ้าง ยิ่งถ้าเป็นในวงการไอดอลของไทย เกิดเป็นความคิดที่ว่าลูกเธอมี ลูกฉันก็ต้องมี จะต้องมีเท่า ๆ กัน ไม่อยากจะให้ไอดอลที่ตนเองชื่นชอบรู้สึกว่าได้ไม่เท่าเทียมคนอื่น สุดท้ายจึงกลายเป็นกระแสของการทำป้ายในตอนนี้ และเมื่อถามว่าที่เกาหลีใต้เป็นแบบนี้เหมือนกันหรือไม่ คำตอบที่ได้รับคือเป็นแบบนี้เช่นเดียวกัน ถึงได้มีการทำป้ายมากมายอย่างแพร่หลายกันเช่นนี้

จำเป็นมากหรือไม่ แต่โปรโมตคนได้น้อยมาก

จากการสอบถามความคิดเห็นจากแฟนคลับศิลปินเกาหลีและแฟนคลับไอดอลไทยจำนวน 20 – 25 คน พบว่าร้อยละ 90 ตอบไปในทิศทางเดียวกันคือ การทำป้ายโฆษณาใน MRT เช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นมากนัก

ประการแรก ประเทศเกาหลีใต้นั้นการทำป้ายโฆษณาศิลปิน และไอดอลทั่วถึงมากกว่า ด้วยรูปแบบวัฒนธรรมที่เน้นการส่งออก และส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปินในประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนทั่วไปสามารถรับรู้ได้ อีกทั้งรถไฟฟ้าใต้ดินของเกาหลีใต้ยังเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ในประเทศ อย่างรถไฟฟ้าใต้ดินในโซล ที่มีมากถึง 20 สาย มากกว่า 670 สถานี แตกต่างจากไทยที่สถานีรถไฟใต้ดินในกรุงเทพ ตอนนี้มีเพียง 18 สถานีเท่านั้น จึงไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มแฟนคลับ และคนทั่วไปในพื้นที่อื่นได้

ประการที่สอง มีผู้แสดงความคิดไปในทิศทางที่ว่า แทนที่จะทำป้ายโฆษณาที่ใช้จำนวนเงินค่อนข้างมากแต่ได้ผลประโยชน์น้อย น่าจะนำเงินที่รวบรวมมาไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์ต่อตัวศิลปินโดยตรง เช่น นำเงินไปซื้ออัลบั้ม ซื้อโฆษณาใน Youtube ซื้อของขวัญให้กำลังใจศิลปิน หรือแทนที่จะทำป้ายในไทยก็ควรจะไปทำป้ายที่เกาหลีใต้จะดีกว่า เพราะตัวของศิลปินจะได้เห็นและรับรู้ได้โดยตรง และยังเป็นการสร้างฐานแฟนคลับภายในประเทศให้มากขึ้น เพราะถ้าฐานแฟนคลับในประเทศมีจำนวนไม่มากพอ ก็เป็นเรื่องยากที่ต้นสังกัดจะปั้นวงให้ไปต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเลือกทำป้ายโฆษณาในไทยแล้ว การที่จะให้ทำป้ายออกมาดึงความสนใจจากคนทั่วไปได้ก็มีองค์ประกอบหลายประการ อาทิ รูปที่ใช้ควรจะเป็นรูปที่สะดุดตา สร้างความประทับใจแรกกับคนหมู่มากได้ จึงง่ายต่อการดึงดูด ชักชวน หรือจะเป็นทำเลจุดที่ตั้งของป้ายก็สำคัญต่อการโปรโมตไม่แพ้กัน เพราะบางป้ายแม้จะให้ทำออกมาสวยสักเพียงไร แต่ถ้าเลือกสถานที่ไม่เหมาะสม หรือไปอยู่ในที่ ๆ คนเห็นได้น้อย ก็ยากที่จะดึงดูดความสนใจจากคนทั่วไปได้ และจะกลายเป็นป้ายที่ทำเพื่อแฟนคลับด้วยกันเองเสียมากกว่า

แต่ทั้งนี้ต้องอย่าลืมสิ่งสำคัญไปว่าในสถานีรถไฟใต้ดิน คนส่วนใหญ่ที่เดินผ่านไปมามีความเร่งรีบอยู่กับการเดินทาง จึงเป็นเรื่องยากที่คนจะให้ความสนใจกับป้ายใดป้ายหนึ่งในเวลาขณะนั้น หากไม่ใช่ศิลปินที่ตนเองรู้จักคุ้นตาก็จะเดินผ่านไป ไม่ต่างกับเดินผ่านป้ายโฆษณาธรรมดาป้ายหนึ่งเท่านั้น

สุดท้ายความคุ้มค่าก็อยู่ที่ใจ ใช่มูลค่าเงิน

ถึงแม้ว่าการทำป้ายโฆษณาศิลปินไอดอลที่ใครหลายคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าแทบไม่มีความจำเป็นที่จะทำขึ้น แต่เมื่อได้ติดตั้งจริงเป็นรูปธรรมก็กลับมีคุณค่าทางจิตใจอย่างประหลาด เพราะถ้าจะให้เปรียบเทียบว่าเม็ดเงินเท่ากับปริมาณความรัก ก็คงจะเปรียบเปรยได้เพียงผิวเผินเท่านั้น แต่เมื่อมองถึงความรู้สึก ป้ายโฆษณาศิลปินแบบนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความรักอันยิ่งใหญ่ที่แฟนคลับมีต่อศิลปินที่ตนเองชื่นชอบ เป็นการกระทำที่มีแต่ความรักเท่านั้นที่ทำให้ได้ ครั้นได้มีโอกาสผ่านไปเจอสักครั้งก็จะรู้สึก made my day ได้ไม่ยาก

ในขณะที่มุมมองของคนที่มีส่วนร่วมในการทำป้ายขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นทีมโปรเจกต์ คนที่มีส่วนร่วมในโดเนทเงิน เมื่อได้เห็นป้ายที่ตนเองคาดหวังไว้เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาทีละนิด จนกระทั่งได้ติดตั้งจริงก็จะรู้สึกว่ามันมีคุณค่าทางใจเป็นอย่างมาก แค่มีเพียงไม่กี่คนหยุดมองป้ายที่ทำให้ศิลปินที่ชอบสักนิด แม้ว่าอาจจะมองเฉย ๆ แล้วเดินผ่านไป อาจจะหยุดดูสักพักแล้วตามหาว่าคนในป้ายเป็นใคร หรืออาจจะหยุดถ่ายรูปด้วยความดีใจเพราะรู้จักคนที่อยู่ในป้ายดังกล่าวก็ตาม แค่นั้นก็รู้สึกถึงความคุ้มค่าที่จะทำป้ายโฆษณาป้ายหนึ่งขึ้นมา เพียงแค่เป็นการทำป้ายโฆษณาในสถานีรถไฟใต้ดินแต่กลับเป็นพื้นที่ในการแสดงความรักได้ถึงขนาดนี้ น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมของประเทศเรานั้นค่อนข้างที่จะไม่เอื้อประโยชน์ด้านการโปรโมตแก่คนทั่วไปให้ประสบความสำเร็จได้อย่างเกาหลีใต้ แต่หากมองในแง่ของการสร้างแรงบันดาลใจแล้ว มันคงจะดีไม่น้อยที่จะได้เห็นปริมาณความรักที่แสดงออกผ่านออกมาอย่างเป็นรูปธรรม สื่อออกมาด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน โดยสามารถเติมเต็มความรู้สึกในแง่ของความรักและการส่งเสริมตัวศิลปินไอดอลได้

อนาคตต่อจากนี้ไป เราต้องดูคอยเฝ้าดูกันว่า วงการสื่อโฆษณาที่ไม่เคยหยุดนิ่งนี้ จะนำพาแพลตฟอร์มอะไรให้กลายมาเป็นเป้าหมายของการทำโปรเจกต์สุดว้าว และไม่ว่าอย่างไรพื้นที่สื่อในรูปแบบใดก็ตาม ยังคงเป็นพื้นที่ ที่แสดงถึงพลังในการทำอะไรสักอย่างเพื่อเติมเต็มความรัก ความฝัน กำลังใจ และเปลี่ยนแปลงสังคม แม้ว่าเรื่องนั้นจะเล็กน้อย ขอเพียงได้แสดงความรักออกไปก็เป็นสิ่งที่มีความหมายแล้ว

Reference & Bibliography

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR311, JR311 Journalistic Writing across Media Section 3221 ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ปริณดา เริงศักดิ์

Writer & Photographer

บรรณาธิการบริหารบ้านกล้วยออนไลน์ปี 2020 ที่คาดหวังให้ตัวเองมีความสุข และใช้ชีวิตตามคำพูดของวินเซนต์ แวนโก๊ะห์ ‘What is done in love is done well’