‘การเชียร์’ หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่า ‘การขึ้นสแตนด์เชียร์’ ถือเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับกิจกรรมสันทนาการของทุกสถาบันการศึกษา ซึ่งนอกจากจะเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างความสมัครสมานสามัคคีให้กับผู้เข้าร่วมแล้ว ยังสามารถสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้รับชมได้อีกด้วย เพลงเชียร์ที่มีท่วงทำนองอันสนุกสนาน และแฝงด้วยความหมายที่ ‘สร้างพลัง’ รวมถึงท่าเต้นที่ดูสวยงาม ช่วยเติมความครึกครื้นให้กับบรรยากาศโดยรอบให้ดูมีชีวิตชีวา การเชียร์จึงเป็นประสบการณ์หนึ่งที่พลาดไม่ได้ในชีวิตการเป็นนักศึกษา
เราขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘ตำนานและวัฒนธรรมการเชียร์’ ของคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ด้วยรูปแบบการเชียร์ที่มีเอกลักษณ์และมีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร จนกลายเป็นตำนานที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ในหลายเรื่องราวจะเลยผ่านมาแล้วหลายทศวรรษ กิจกรรมเชียร์เป็นเครื่องแสดงถึงความผูกพันของรุ่นพี่รุ่นน้อง หลอมรวมให้พวกเขามีความรักและผูกพันกับสถาบัน
“พวกเราสื่อสาร ขอสาบานจากใจไม่ว่าอยู่หนใดมีหัวใจน้ำเงินแดง สีแดงเป็นเลือดเนื้อนั้นอยู่เหนือสิ่งใด น้ำหมึกอาชีพแห่งใจนั้นมอบให้สีน้ำเงิน”
เพลงเชียร์รวมใจเป็นหนึ่ง
เสียงร้องสลับหญิงชายลอยแว่วมาตามกระแสลม ท่วงทำนองที่นุ่มนวลและเต็มไปด้วยความหนักแน่น ไม่ว่าใครต่อใครได้ยิน ต้องยืนสงบนิ่งไปโดยปริยาย เป็นการการันตีมนต์ขลังของเพลง ‘พวกเราสื่อสาร’ เพลงประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
“สมัยก่อนเพลงพวกเราสื่อสารมีหลายเวอร์ชั่น ทั้งเวอร์ชั่นร้องแบบ เบิร์ด ธงชัย แมคอินไตย์ หรือร้องในทำนองเพลงพระเจ้าตาก ของวงคาราบาวก็มี เป็นเพลงหลักของเราชาวนิเทศ ฯ”
อาจารย์หมี-ผู้ช่วยศาสตราจารย์เกียรติศักดิ์ วัฒนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารแบรนด์ ศิษย์เก่า คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปีการศึกษา 2530 เล่าด้วยน้ำเสียงที่ทรงพลัง แสดงถึงความเป็นอดีตนักศึกษาสายกิจกรรมตัวยงของคณะนิเทศ ฯ
อาจารย์หมี ได้ขยายความถึงที่มาที่ไปของเพลง พวกเราสื่อสาร กับผู้เขียนว่า เพลงดังกล่าวได้รับการแต่งขึ้นโดย นายศุภวรรณ ถาวรรัฐ ประธานเชียร์คนแรก และใช้มานับตั้งแต่รุ่นหนึ่งของคณะนิเทศศาสตร์ ปี พ.ศ. 2514 โดยกลายเป็นเพลงประจำคณะที่ถูกขับขานอยู่เรื่อยมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
ทั้งนี้สิ่งที่เพลงเชียร์พวกเราสื่อสารมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมคือ มีการลากเสียงเอื้อนตามจังหวะเพลงที่ช้าลง เนื่องด้วยแต่เดิมเพลงพวกเราสื่อสารถูกนำมาร้องในงานสันทนาการเท่านั้น จนกระทั่งเวลาผ่านไปมีการเปลี่ยนทำนองโดยจะมีการใช้ร้องแค่หลังจากเลิกงานกิจกรรมของคณะ ซึ่งในปี 2535 – 2536 นับเป็นปีการศึกษาสุดท้ายที่เพลงพวกเราสื่อสารถูกนำมาขับร้องในทำนองที่คึกคักสนุกสนาน
ถึงแม้ทำนองเพลงจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่เนื้อหาและคำร้องก็มิได้ผิดเพี้ยนจากต้นฉบับเดิมเลย ผู้เขียนมองว่าการปรับทำนองให้ดูช้าลงถือเป็นการเพิ่มมนต์ขลังให้กับบทเพลง และยังคงธำรงความหมายที่บ่งบอกถึงความเป็น ‘ชาวนิเทศศาสตร์’ ได้อย่างชัดเจนที่สุด รวมถึงสามารถสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดความรำลึกและความภาคภูมิใจในเลือดสีน้ำเงิน ให้กับศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันได้อีกด้วย
บูม เอ็ม. ซี. (BOOM M.C.)
นอกจากเพลงพวกเราสื่อสารแล้ว ‘การบูม’ ก็ถือเป็นการแสดงพลังความเป็นเลือดสีน้ำเงินอีกอย่างหนึ่งที่ทุกวันนี้ยังสามารถพบเห็นได้อยู่เสมอตามงานกิจกรรมของคณะ ซึ่งการบูมถือเป็นการแสดงความสามัคคีและสร้างความฮึกเหิมของนักศึกษาเลือดสีน้ำในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยมีการทำท่าทางประกอบ พร้อมเปล่งเสียงจากลำคอ ซึ่งการที่จะเกิดความพร้อมเพรียงได้ต้องผ่านการฝึกฝน อย่างสม่ำเสมอ และมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาวนิเทศศาสตร์
“ก่อนปี พ.ศ. 2514 แต่เดิมชื่อคณะของเรา คือคณะสื่อสารมวลชน หรือภาษาอังกฤษใช้คำเรียกว่า ‘Mass Communication’ สมัยนั้นรุ่นพี่เขาก็จะมีบูมที่ชื่อว่า ‘บูม เอ็ม.ซี.’ (BOOM M.C.) ซึ่งก็มาจากตัวย่อภาษาอังกฤษ ภายหลังพอเปลี่ยนชื่อคณะ เป็นคณะนิเทศศาสตร์ นักศึกษารุ่นหลังก็ยังคงรักษาการบูมแบบดั้งเดิมไว้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามชื่อคณะใหม่แต่อย่างใด”
ขึ้นสแตนด์เชียร์
ในปัจจุบันชาวนิเทศ ม.กรุงเทพ ยังคงอนุรักษ์และรักษาอัตลักษณ์การแสดงพลังความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งหากมีการพูดถึงเพลงเชียร์และการบูมที่ทรงพลังแล้ว คงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องหยิบยกถึง ‘เบื้องหลัง’ การเตรียมงานที่ทุ่มเททั้งพลังกายและพลังใจ
“สมัยที่ครูเรียนอยู่ เด็กปีหนึ่งจะขึ้นแสตนด์เชียร์ ส่วนเด็กปีสองจะอยู่ในส่วนของการดูแลน้อง ๆ รวมไปถึงเป็นผู้นำเชียร์ด้วย ซึ่งหากเป็นช่วงกิจกรรมก็จะมีการนัดซ้อมอยู่ตามซุ้มต่าง ๆ โรงอาหาร และศาลาใบจาก ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นตึก A6 ไปแล้ว ฝ่ายซ้อมเชียร์ก็ซ้อมไป ฝ่ายทำฉากก็ทำฉากไป ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของนักศึกษาปีสามและปีสี่ ที่จะต้องทำกันที่วิทยาเขตกล้วยน้ำไท ถึงเวลาแข่งขันก็จะยกมากันที่รังสิต”
อาจารย์หมีเผยรอยยิ้มที่ดูสดใส แสดงให้เห็นถึงความเบิกบานใจ เมื่อได้หวนรำลึกถึงช่วงวัยเยาว์ของตนในฐานะเด็กกิจกรรมคณะนิเทศศาสตร์
จากเรื่องราวข้างต้น และประสบการณ์ของผู้เขียนในเวลานี้ เรื่องการเชียร์อดีตที่ผ่านมาเปรียบเทียบกับปัจจุบันมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ที่ผ่านมาทุกกิจกรรม นักศึกษาอาจจะเคยคิดว่าเป็นการแข่งขันและมีรางวัลเป็นการเดิมพัน แต่ในทุกวันนี้การแข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตายได้ลดบทบาทลง และมุ่งเน้นให้เกิดความสามัคคีกันในหมู่นักศึกษาร่วมรั้วสถาบันเดียวกัน อีกทั้งกิจกรรมการเชียร์ยังมีการสื่อสารและปลูกฝังแนวคิดที่ให้นักศึกษาช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีเพื่อสังคม
ดังเช่นในปีนี้ที่แนวคิดการเชียร์เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยมีชื่องานว่า BU Cheer Day Green Peace 2019 และมีแนวคิดการเชียร์คือ The Amazing Precious Carnival : Go Go G.I.Y ซึ่งเป็นการรณรงค์ให้นักศึกษาร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม พี่นิวตัน-จีรวิทย์ โตวรานนท์ ประธานเชียร์คณะนิเทศศาสตร์ พร้อมด้วยเหล่าทีมเชียร์ได้สร้างสรรค์แนวคิดการเชียร์ในปีนี้คือ ปลุกพลังชนเผ่านิเทศศาสตร์ ร่วมกันอนุรักษ์ป่าและธรรมชาติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เกียรติศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ให้ความสำคัญและปลูกฝังให้นักศึกษาที่มาจากคณะต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกันได้ เห็นได้ชัดจากงานแข่งขันกีฬาภายในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือ BU Games 2019 และการจัดกิจกรรมเชียร์ หรือ BU Cheer Day Green Peace 2019 ที่ผ่านมา ได้มีการปรับรูปแบบหลายประการ เช่น โครงสร้างของขบวนพาเหรด จัดให้หลายคณะเดินร่วมกัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักศึกษาทุกคนสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ แม้จะไม่ใช่คณะหรือสาขาที่ตนกำลังศึกษาอยู่ ซึ่งจะได้มิตรภาพและความรู้ใหม่เป็นผลพลอยได้จากการทำกิจกรรมดังกล่าวด้วย
พวกเราเลือดสีน้ำเงิน
ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เกียรติศักดิ์ ยืนยันว่า แม้จะรูปแบบกิจกรรมจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ในเรื่องความเป็นพี่เป็นน้องของเด็กกิจกรรมชาวนิเทศศาสตร์ ก็ยังเข้มข้นเปรียบประดุจน้ำหมึกสีน้ำเงินอันเป็นสื่อที่แสดงถึงความเป็นคนสื่อสาร
“ถึงแม้ว่าจะเรียนคนละรุ่นคนละปี แต่สุดท้ายทุกคนก็จบจากรั้วสถาบันเดียวกัน เลือดสีน้ำเงินเหมือนกัน ดังนั้นความผูกพันของรุ่นพี่รุ่นน้องที่เห็นย่อมการันตีความกลมเกลียวของเด็กกิจกรรมคณะนิเทศศาสตร์ได้ดีที่สุด” อาจารย์หมี กล่าวสรุปจบด้วยรอยยิ้มได้อย่างประทับใจ
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้