ช่วงเวลาเที่ยงวันที่อากาศค่อนข้างร้อนอบอ้าว แสงแดดจากพระอาทิตย์ที่ส่องตรงเป็นแนวตั้งฉากกับพื้นโลกตกกระทบกับ ‘โบสถ์เงิน’ เกิดแสงสะท้อนเป็นประกายแวววับดูสวยงาม ‘วัดศรีสุพรรณ’ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่รู้จักในฐานะวัดที่มี ‘อุโบสถเงิน’ ที่งดงามและถือเป็นอุโบสถเงินหลังแรกของโลก นอกจากเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นแล้ว บริเวณโดยรอบของเขตพุทธาวาสยังขึ้นชื่อในเรื่องของ ‘ชุมชนทำเครื่องเงิน’ อันเป็นทรัพย์สินทางภูมิปัญญาของคนในพื้นที่ และมีความเป็นมาที่ยาวนานตั้งแต่ในยุคอดีต

เสียง ‘ต๊อก ๆ’ ได้ยินดังเป็นจังหวะมาแต่ไกล ตั้งแต่เดินลอดซุ้มประตูเข้าเขตพระอาราม เดาได้ไม่ยากว่าภายในวัดแห่งนี้จะต้องมีกิจกรรมที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของคนในชุมชน ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการทำงานฝีมือ ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง เพราะเพียงเดินเข้าไปในวัดได้ไม่นาน สิ่งที่ปรากฎอยู่ตรงหน้าของผู้เขียนก็คือ พื้นที่ที่ถูกจัดแยกออกมาอย่างชัดเจน มีหลังคาคลุมคุ้มฟ้าป้องฝนดูเป็นสัดส่วน

ภายในพื้นที่นั้น ผู้เขียนเห็นผู้คนกำลังทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง ซึ่งภายหลังได้ทราบว่า ภาพที่อยู่ตรงหน้าคือการ ‘ดุนลาย’ อันเป็นงานศิลปะแบบโบราณที่นับวันหาชมได้ยาก การดุนลาย มีกรรมวิธีในการสร้างลายลงบนเครื่องเงิน โดยใช้กระบวนการพิเศษ มีรายละเอียดที่ต้องศึกษาเรียนรู้ ชาวบ้านในพื้นที่ยังคงอนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญา อันเป็นศิลปหัตถกรรมที่ถูกถ่ายทอดมานับตั้งแต่บรรพบุรุษ

จวบจนปัจจุบันการทำเครื่องเงินก่อเกิดเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งเครื่องเงินถือเป็นสินค้าทางเศรษฐกิจที่ขึ้นชื่อของชุมชน กระทั่งเมื่อวัดศรีสุพรรณมีอายุครบ 500 ปี ในพ.ศ. 2543 ได้มีการจัดตั้ง ‘ศูนย์หัตถศิลป์ล้านนาวัดศรีสุพรรณ’ เพื่อเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมการถ่ายทอดภูมิปัญญาเก่าแก่ของคนในชุมชน

ศูนย์หัตถศิลป์ฯ เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมและบ่มเพาะความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ในชุมชนให้ตระหนักและรับรู้ถึงงานหัตถกรรมที่ทรงคุณค่า โดยวัดศรีสุพรรณได้ให้พื้นที่เพื่อเป็นสถานที่การเรียนรู้และทำเครื่องเงิน ซึ่งนอกจากคนในชุมชนแล้วยังมีผู้ที่สนใจเรียนรู้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น นักท่องเที่ยว เณร และพระสงฆ์ที่มาอุปสมบทอยู่ภายในวัด โดยผู้ที่ถ่ายทอดวิชาการทำเครื่องเงินคือ ช่างฝีมือในชุมชน หรือที่คนพื้นถิ่นจะรู้จักในชื่อว่า ‘สล่า’

สล่า กำลังทำการ ‘ดุนลาย’ บนชิ้นงานเครื่องเงินเพื่อให้เกิดมิติและความสวยงาม

กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกลายเป็นปัจจัยที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ และในเวลาต่อมาจึงมีการจัดตั้ง ‘วิสาหกิจชุมชนวัดศรีสุพรรณ’ มีที่ตั้งอยู่ที่ ถนนวัวลาย ตำบาลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นการสร้างพื้นที่ทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการในชุมชน มีการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ

“วิสาหกิจชุมชนวัดศรีสุพรรณเกิดจากความมุ่งหวังสร้างเป็นศูนย์กลางการขายผลิตภัณฑ์ที่ถูกทำขึ้นโดยคนในชุมชน ชาวบ้านบางคนมีฝีมือแต่เขาไม่มีโอกาส เพราะไม่มีพื้นที่ในการขาย เราก็เปรียบเสมือนเป็นหน้าร้านให้เขาเพื่อนำสินค้ามาขาย”

คุณอภิญญา เฟื่องมณี เจ้าหน้าที่ศูนย์จำหน่ายวิสาหกิจชุมชนวัดศรีสุพรรณ ได้ตอกย้ำถึงจุดยืนของการจัดตั้งกลุ่มว่า เพื่อเป็นการสร้างพื้นที่การค้าให้กับผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากคนชุมชนวัดศรีสุพรรณ โดยวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้มีสินค้าขึ้นชื่อเป็นเครื่องประดับ และของที่ระลึก และมีช่างฝีมือ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการสร้างสรรค์ผลงานนั้นอยู่ด้วยหลายกลุ่ม ตามลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่มีขายอยู่ภายในหน้าร้าน

อภิญญา เฟื่องมณี เจ้าหน้าที่ศูนย์จำหน่ายวิสาหกิจชุมชนวัดศรีสุพรรณ

“ช่างทำงานฝีมือที่นี่มีหลายส่วน ให้ลองคิดเลยว่าสินค้าที่เห็นแต่ละอย่างก็จะใช้ช่างคนละมือ เพราะช่างแต่ละคนก็จะมีความเชี่ยวชาญแตกต่างไป อย่างการทำขัน ช่างบางคนก็ถนัดขึ้นรูปทรง แต่ไม่สามารถดุนลายบนชิ้นงานได้ ก็ต้องส่งไม้ต่อไปให้กับช่างดุนลาย ซึ่งผู้สร้างสรรค์ผลงานก็จะอาศัยอยู่บริเวณชุมชนแห่งนี้”

เจ้าหน้าที่ศูนย์จำหน่ายวิสาหกิจชุมชนวัดศรีสุพรรณ ได้เล่าต่อถึง รูปแบบการบริหารภายในของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนว่า ซื้อหุ้นเหมือนวิสาหกิจทั่วไปที่อยู่ในชุมชน มีการซื้อหุ้น หุ้นละ 100 บาท และในการระดมหุ้นที่ผ่านมานับตั้งแต่เปิดปี พ.ศ.2550 มาจนถึงปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนวัดศรีสุพรรณมีการถือครองหุ้นอยู่ประมาณ 45 หุ้น กลุ่มวิสาหกิจได้มีวิธีคิด ‘ค่าปันผล’ โดยนำเงินที่ถูกซื้อหุ้นไปหมุนเวียนเป็น ‘ต้นทุน’ เพื่อที่จะนำสินค้าเข้ามา และเมื่อถึงสิ้นปีมีสินค้าเข้ามา ก็จะถูกตีเป็น ‘กำไร’ หลังจากนั้นจึงรวมยอดผลกำไรแล้วนำมาหักกับต้นทุน เกิดเป็นเงินปันผลให้กับสมาชิกผู้ซื้อหุ้น

“การที่เรามีหุ้นอยู่แล้ว ได้จัดสรรกันไปตามหน้างาน หากเศรษฐกิจไม่ดีหุ้นอาจจะปันผลน้อยลง เพราะว่ามันก็ต้องเป็นไปตามความเป็นไปได้ในทางเศรษฐกิจ ที่จริงมันก็เป็นเรื่องยากนะสำหรับการทำการตลาด เพราะกลุ่มของเราไม่ได้เป็นตลาดเปิดแบบชัดเจน ซึ่งคำว่า ‘ตลาดเปิด’ นี้หมายถึงว่ากลุ่มของเรายังไม่สามารถกระโดดก้าวข้ามไปจนถึงระดับประเทศได้ สำหรับสินค้าของเราจะขายอยู่แค่ที่หน้าร้าน แต่ก็ได้รับการเชิญไปออกบู๊ทบ้างตามโอกาส เนื่องจากเราเป็นสินค้าโอทอป (OTOP)”

แม้วิสาหกิจชุมชนวัดศรีสุพรรณจะยังไม่สามารถก้าวข้ามพื้นที่เศรษฐกิจภายในภูมิภาคและประเทศไปได้ แต่ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ อย่างกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่เข้ามาให้คำปรึกษาและผลักดันให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของชุมชน รวมไปถึงแรงสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้มีการเข้ามากระตุ้นในเรื่องของธุรกิจการขาย อย่างการนำเสนอช่องทางการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ผ่านโลกออนไลน์

ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าวิสาหกิจชุมชนวัดศรีสุพรรณเป็นจุดขายสินค้าและผลิตภัณฑ์สินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ดูเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม ดังนั้นการไม่ปล่อยผ่านโอกาสในการขายจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งวิสาหกิจชุมชนดังกล่าว ได้เล็งเห็นถึงปัจจัยในทางธุรกรรมที่ต้องมีการขยับตามกระแสของยุคดิจิทัล เช่น การชำระเงินผ่านพร้อมเพย์ (PromptPay) หรือการโอนผ่านบัญชีผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นการแสดงความพร้อมในเรื่องของระบบธุรกรรมที่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าได้ทุกกลุ่ม

ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากฝีมือของคนในชุมชน จัดวางอยู่บนชั้นเพื่อจำหน่าย

ถึงแม้จะมีอุปสรรคในการขยายตัวทางภาคธุรกิจ แต่จุดเด่นที่สำคัญซึ่งถือเป็นหัวใจของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้คือ การสร้างพื้นที่เพื่อขยายโอกาสทางการค้ากับสมาชิก ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถานที่รวมสินค้าที่หลากหลาย จากคนท้องถิ่น ที่กำลังมองหา ‘หน้าร้าน’ ในการนำเสนอและขายสินค้า และหากมีพื้นที่ในการ ‘โชว์ของ’ ก็เปรียบเสมือนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการกระจายตัวของผลิตภัณฑ์สู่สาธารณะได้ง่าย

“ประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับเป็นหลักคือ กำลังใจในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน เนื่องจากเขาทำแล้ว เขามีแหล่งขายที่ชัดเจน การลงขายออนไลน์ หรืออินเทอร์เน็ตมันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียข้อดี คือรวดเร็ว สามารถขายทางไกลได้ แต่อีกมุมหนึ่งสำหรับงานศิลปะและหัตถกรรม จำเป็นอย่างมากที่จะต้องใช้การ ‘สัมผัส’ จากชิ้นงานโดยตรง ดังนั้นการมีหน้าร้านที่ขึ้นขายสินค้าได้อย่างชัดเจนก็จะทำให้ลูกค้าสามารถมาดูได้ทั้งตาและสัมผัสได้ด้วยมือ”

การลงทุนเพื่อสร้างศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของพื้นที่ชุมชนวัดศรีสุพรรณ แม้จะไม่ได้มีงบประมาณมาสนับสนุนและผลักดันจากภาครัฐ แต่ก็เกิดความยั่งยืนของภาคธุรกิจชุมชนที่มาจากการบริหารจัดการอันเป็นระบบ ผนวกกับการใช้ความคิดของกลุ่มสมาชิก แม้ในทางธุรกิจจะยังไม่เติบโตมาก เนื่องจากรูปแบบการหารายได้ของวิสาหกิจชุมชม ฯ จะใช้วิธีการฝากขายไม่ได้มีลงทุน แต่อีกมุมก็ส่งผลให้กลุ่มวิสาหกิจแห่งนี้ไม่ต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงจากการที่ต้องใช้ ‘เงินก้อน’ ในการลงทุน  

“เมืองไทยมีทรัพยากรด้านฝีมือแรงงานที่โดดเด่น แต่ยังไม่เกิดการผลักดันกันเองในส่วนของท้องถิ่นมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตลักษณ์จากชุมชนที่มีคุณค่ามีความสวยงามอยู่แล้ว จะมารอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือคงไม่ได้ ต้องเกิดจากแรงขับเคลื่อนของคนในท้องที่ ซึ่งวิสาหกิจชุมชนที่นี่ เราอยู่ได้ด้วยลำแข้งของกลุ่มสมาชิก และด้วยรากความคิดของพวกเราเอง ก็ไม่ได้ขาดทุน กิจการของเราก็เดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ ถึงจะช้าหน่อย แต่ก็มั่นคง” อภิญญา เฟื่องมณี เจ้าหน้าที่ศูนย์จำหน่ายวิสาหกิจชุมชนวัดศรีสุพรรณ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

การนำผลิตภัณฑ์อันเกิดจากการตกตะกอนทางความคิดและเรี่ยวแรงของบรรพบุรุษ นำไปสู่การเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวและคนในชุมชน ถือเป็นการการันตีได้ว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นสามารถนำมาจุนเจือสร้างผลประกอบการได้อย่างยั่งยืน

วิสาหกิจชุมชนวัดศรีสุพรรณ จึงถือเป็นอีกพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่ได้นำรูปแบบการสร้างเม็ดเงินให้กับท้องถิ่น ด้วยการดำเนินงานโดยกลุ่มบุคคลที่มีความรัก ความผูกพันกับพื้นที่ และยังธำรงถึงเอกลักษณ์ความโดดเด่นของชุมชนควบคู่กับการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนให้สมาชิกทุกคนสามารถก่อร่างสร้างตัวด้วยลำแข้งของตนเอง  

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411 Newspaper Workshop ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562

Writer & Photographer

บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์บ้านกล้วยออนไลน์ ชอบเล่าเรื่องผ่านงานเขียน ประเภทข่าว บทความ และสารคดี ผู้ที่มีความศรัทธาในอำนาจพลังของปลายปากกา เชื่อมั่นว่าสามารถขีดเขียนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นได้