ภาคประชาชน คนการเมือง ญาติวีรชน เข้าร่วมกิจกรรม ‘รำลึกวาระครบรอบ 46 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516’ ด้านแกนนำนักศึกษามองว่า หนทางสู่ประชาธิปไตย คือการเปิดใจ และยืดหลักความเท่าเทียมกันของมนุษย์

ในช่วงเช้าวันที่ 14 ต.ค. 2562 ตัวแทนฝ่ายภาครัฐ พรรคการเมือง นิสิต นักศึกษา และประชาชน ได้เข้าร่วมกิจกรรมรำลึกครบรอบ 46 ปี เหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง โดยภายในงานได้มีการจัดพิธีกรรม 3 ศาสนา เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้วายชนม์ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ได้มีการวางพวงมาลา รวมถึงกล่าวคำรำลึกถึงวีรกรรมอันอาจหาญและสดุดีวีรชนผู้เสียสละ

โดยมีผู้แทนจากพรรคการเมือง และภาครัฐมาเข้าร่วม อาทิ คุณณัฏฐชัย ศรีรุ่งสุขพินิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายก มาในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรี คุณองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ มาในฐานะผู้แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร และคุณลัดลาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้แทนผู้นำฝ่ายค้าน

กลุ่มตัวแทนญาติวีรชน ผู้เสียชีวิต ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ซึ่งตัวแทนญาติวีรชน 14 ตุลา 2516 ได้กล่าวว่า ในบรรดากลุ่มญาติและคนใกล้ชิดของผู้วายชนม์ ยังคงรู้สึกภาคภูมิใจในความเสียสละ และเชื่อมั่นว่าการจากไปของผู้ล่วงลับไม่สูญเปล่า โดยฝากทุกฝ่ายโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้ช่วยกันต่อสู้และร่วมกันสร้างสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตย

“46 ปี ผ่านมาแล้ว ก็ยังไม่ไปถึงไหน ยังเดินหน้าบ้าง หยุดบ้าง เพราะฉะนั้นในทุกวันนี้การเมืองที่พวกเราอยากเห็น คือ การเดินไปข้างหน้าของประชาธิปไตย คงไม่มีอะไรจะกล่าวมากไปกว่ายังรำลึกถึงเหล่าญาติและวีรชนที่สูญเสียไปในวันนั้น การเสียสละชีวิตของพวกท่านคงไม่สูญเปล่า และทุกวันนี้ก็ยังอยากให้คนรุ่นหลัง ไม่ว่าจะเป็นรุ่นลูกรุ่นหลาน ช่วยกันมาสานต่อประชาธิปไตยให้ไปข้างหน้า ให้สมกับที่เหล่าวีรชนได้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิต รักษาความเป็นประชาธิปไตยไว้” ตัวแทนญาติวีรชน 14 ตุลา 2516 กล่าว

คุณสร้อยสุวรรณ เบ้าลี ญาติผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ขณะที่ คุณสร้อยสุวรรณ เบ้าลี ญาติผู้เสียชีวิต ได้เล่าถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นว่า สามีของตนเป็น 1 ใน 77 วีรชน ผู้เสียสละชีวิตในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 โดยได้ยกคำบอกเล่าของผู้ร่วมเหตุการณ์คือ รัตน์ งอนจันทึก ผู้เป็นสามีถูกยิงเสียชีวิต สร้างความเสียใจอย่างมากให้กับตนและครอบครัว ทั้งนี้แม้ว่าผ่านมาแล้วกว่าสี่ทศวรรษก็ยังไม่ลืมช่วงเวลาแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในครั้งนั้น พร้อมทั้งเดินทางมาที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 2516 ในวาระครบรอบทุกปี

“ตอนนั้นยายอายุ 27 ปี ท้องก็กำลังแก่ พอวันที่ 13 ตุลาคม สามีของยายเขาออกไปทำงาน จำได้ว่าเขาบอกจะกลับมาในวันที่ 14 ตุลาคม วันต่อมาเขาไม่มา เห็นข่าวก็เป็นห่วง จึงตระเวนออกไปตามหาอยู่หลายโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลรามา และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สุดท้ายก็มาพบศพเขาที่โรงพยาบาลศิริราชวันที่ 15 ตุลาคม ตอนนั้นเสียใจมากเกือบจะเป็นลม มาจนถึงวันนี้ยายก็ยังไม่ลืมเขา และก็มาร่วมงานครบรอบ 14 ตุลา ไม่เคยขาดสักปี” คุณสร้อยสุวรรณ เบ้าลีกล่าว

คุณภูผา ภูวดลอานนท์ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้าน คุณภูผา ภูวดลอานนท์ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ทุกวันนี้บทบาททางการเมืองของนักศึกษามีน้อยลงไปมาก หากเทียบกับยุคเดือนตุลา และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจที่เด็กรุ่นใหม่หลายคนไม่รู้จักเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า

“นิสิต นักศึกษา รวมถึงคนรุ่นใหม่ มีวิธีการที่คิดว่าดี คนรุ่นเก่าเขาก็มีความคิดที่คิดว่าถูก แล้วถามว่าอะไรคือจุดยืนร่วมกัน คือการที่ทุกฝ่ายจะต้องค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน เข้าใจกันและกัน ซึ่งผมมองว่าบริบททางสังคมเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ ไม่ใช่สิ่งที่คงสภาพได้ตลอดไป พูดง่าย ๆ คือแค่ต่างฝ่ายต่างต้องเปิดใจ และยึดหลักที่ว่าทุกคนเป็นมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมเสมอภาคกัน ประชาธิปไตยก็จะตามมาเอง”

สำหรับวันมหาวิปโยค เกิดขึ้นช่วงวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยของขบวนการนิสิตนักศึกษาและประชาชนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยมีผู้เข้ารวมชุมนุมมากกว่า 5 แสนคน เพื่อเป็นการเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจากจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และในเวลาต่อมาได้มีการใช้กำลังเข้าปรามปราบผู้ชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 77 ราย บาดเจ็บกว่า 857 ราย และสูญหายอีกจำนวนมาก

ผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้วายชนม์จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘วีรชนแห่งประชาธิปไตย’ และกลายเป็นเหตุการณ์ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตทางการเมือง รวมถึงการใช้เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นี้เป็นการเรียนรู้ และคือหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการมาทุกยุคสมัย

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411 Newspaper Workshop ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562

Writer & Photographer

บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์บ้านกล้วยออนไลน์ ชอบเล่าเรื่องผ่านงานเขียน ประเภทข่าว บทความ และสารคดี ผู้ที่มีความศรัทธาในอำนาจพลังของปลายปากกา เชื่อมั่นว่าสามารถขีดเขียนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นได้