บ้านโบราณอันประกอบเข้าด้วยฝากระดานไม้ เมื่อยามเยื้องกรายจะปรากฏเสียง ‘อ๊อตแอต’ เปรียบประดุจสำเนียงที่เป็นดั่งมนต์ขลัง บ้านไม้แม้จะผุพังไปตามกาลเวลาและทรุดโทรมไปตามสภาพของแสงแดดและสายฝน แต่สำหรับความผูกพันของคน ผู้ที่เกิดภายใต้ชายคาที่คอยคุ้มฟ้าป้องฝน คงจะเป็นเรื่องที่ทำใจได้ลำบากหากต้องพลัดพรากจากเคหสถานอันเป็น ‘บ้าน’ ของตน

พี่แต-พรเทพ บูรณบุรีเดช อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ

“ป้อมมหากาฬของเราเป็นชุมชนใหญ่ที่อยู่ร่วมกัน ในทุก ๆ วันตอนเย็นเราจะมีการกินข้าวด้วยกัน ซึ่งพี่ก็นึกถึงบรรยากาศเก่า ๆ เหล่านี้ ที่เราได้อยู่ ได้มีกิจกรรมร่วมกัน สำหรับตัวป้อมเองก็เป็นหนึ่งในส่วนประกอบของความทรงจำ แต่คนในชุมชนที่ใช้ชีวิตร่วมกันมันเหมือนครอบครัวใหญ่” พี่แต-พรเทพ บูรณบุรีเดช อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ เล่าด้วยใจที่ถวิลหาเรื่องราวความหลังในชีวิตที่ผ่านมาริมกำแพงเมืองและป้อมโบราณที่คุ้นเคย เมื่อถูกสอบถามถึงเรื่องราวของ ‘ชุมชนป้อมมหากาฬ’

อดีตชุมชนโบราณป้อมมหากาฬ อันเคยเป็นที่ตั้งของที่พักอาศัยเก่าแก่ของผู้คนที่อยู่ ณ ชายขอบของเกาะรัตนโกสินทร์ ที่มีกรณีพิพาททางพื้นที่กับทางภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันชุมชนโบราณแห่งนั้นได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ไร้ชีวิตของเมืองหลวงไปแล้ว

(ชาว) ชุมชนป้อมมหากาฬ และเรื่องราวในวันวานของคนชานพระนคร

ชุมชนป้อมมหากาฬ ถือเป็นชุมชนขนาดกะทัดรัด มีเนื้อที่ 4 ไร่ 300 ตารางวา ตั้งอยู่หลังป้อมมหากาฬเลียบแนวกำแพงเมืองเดิม กินพื้นที่ตั้งแต่หัวถนนมหาไชยไปจรดชายคลองวัดเทพธิดาราม มีคลองโอ่งอ่างตัดขนาดชุมชนทางด้านทิศตะวันออก

หากย้อนประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชน ตามเอกสารของหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มีข้อมูลระบุไว้ว่า ช่วงตอนต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชุมชนชานพระนครโบราณแห่งหนึ่ง ที่เป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าบรรดาข้าราชบริพาร โดยมีการปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนเป็นแนวยาวตลอดตั้งแต่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศมาถึงชายคลองวัดเทพธิดา เมื่อเวลาผ่านไป ผู้อาศัยเดิมได้มีการโยกย้ายครัวเรือนไปหาที่อยู่ใหม่ โดยเจ้าของสถานที่ได้มีการปล่อยเช่าบ้านพักของตนให้กับผู้อื่น ขณะเดียวกันก็มีการสร้างเคหสถานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ จึงเป็นที่มาของชุมชมป้อมมหากาฬ

เมื่อพูดถึงประวัติของชุมชนในช่วง ‘ยุคร่วมสมัย’ ชุมชนป้อมมหากาฬมีผู้อยู่อาศัยต่อเนื่องกันมากกว่า 50 ปี มีทั้งคนเก่าคนแก่ผู้มีเชื้อสายสืบทอดสกุลเดิมมาตั้งแต่เจ้าของพื้นที่เดิมรวมถึงสมาชิกหน้าใหม่ที่เพิ่งย้ายเข้ามา ทำให้ชุมชนมีขนาดใหญ่โตยิ่งขึ้น

เชื้อไฟแห่งปัญหาความขัดแย้งเริ่มคุกรุ่น เมื่อกรุงเทพมหานครได้ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ในปี พ.ศ. 2535 ส่งผลให้บ้านเรือนบริเวณป้อมมหากาฬจะต้องถูกไล่รื้อ และชาวในชุมชนจะต้องย้ายออก เพื่อนำพื้นที่ไปปรับภูมิทัศน์สร้างสวนสาธารณะ อันเป็นไปตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีแนวทางที่จะพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ให้เป็นแหล่งอนุรักษ์โบราณสถานสำคัญของไทย อันได้แก่ วัด วัง โบราณสถาน โดยจะไม่ให้มีสิ่งก่อสร้างใหม่ ๆ บ้านเรือนหรือชุมชนมารบกวนรุกล้ำและบดบังทัศนียภาพ ส่งผลให้มีชาวบ้านบางส่วนตัดสินใจรับเงินสินไหมทดแทนพร้อมกับย้ายออกจากชุมชน แต่ก็ยังมีกลุ่มผู้อยู่อาศัยหลายคนที่ยังยืนหยัดต่อสู้กับภาครัฐด้วย ความหวงแหนพื้นที่อันเป็นศูนย์รวมของวิถีชีวิตดังเดิม และเคหสถานบ้านไม้โบราณอันมีประวัติศาสตร์ยาวนานร่วมศตวรรษ

ซึ่งวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2559 อันเป็นวันแรกที่มีการไล่รื้อบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬ โดยวันนั้นมีชาวบ้านและเครือข่ายภาคประชาสังคม อันประกอบไปด้วยประชาชนทั่วไปและกลุ่มนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้ารื้อถอนบ้านเรือนในครั้งนั้นรวมกลุ่มแสดงพลังจนเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่จากทางกรุงเทพมหานคร ที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่เทศกิจ ทหาร และตำรวจ

“ตอนที่เจ้าหน้าที่เข้ามารื้อบ้านครั้งแรกมีการปะทะกันพี่น้องเราก็เจ็บ แต่ก็ไม่มีสื่อนำเสนอและไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้และทหารก็เริ่มเข้ามาดูแลพื้นที่” พี่แต อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวด้วยน้ำเสียงแข็งเมื่อพูดถึงเรื่องราวการปะทะในอดีตระหว่างคนในชุมชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ

การต่อสู้ของชาวบ้านกับภาครัฐจึงเริ่มเข้มข้นขึ้น ได้มีการจัดงานเสวนา โดยมีนักวิชาการอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ไม่เห็นด้วยกับการไล่รื้อชุมชน ตลอดจนเกิดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รวมตัวกัน โดยมีการนำเสนอแผนการพัฒนาชุมชน ชื่อว่า ‘มหากาฬโมเดล’ โดยกลุ่มคนเหล่านี้ได้มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการนำเสนอเรื่องราวประวัติของชุมชน เรื่องของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับโบราณสถาน รวมถึงการเสนอแนวคิด ‘พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต’ อันเป็นการร่วมวางกรอบกันระหว่างกลุ่มชาวบ้านกับภาคภาคีคนหนุ่มสาว

ชาวบ้านได้ต่อสู้ตามหลักอหิงสามาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2561 ถือเป็นการพ่ายแพ้อย่างราบคาบของ ‘คนป้อมฯ’ เมื่อถูกทางกรุงเทพมหานครขีดเส้นตายให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ เพื่อปรับภูมิทัศน์ให้เป็นสวนสาธารณะ ถือเป็นจุดสิ้นสุดของการต่อสู้ 26 ปี ของชาวชุมชนป้อมมหากาฬ

จากชาวป้อมมหากาฬ สู่ชาวกัลยาณมิตร

เมื่อชุมชุมป้อมมหากาฬถูกรื้อถอนและมีการปรับภูมิทัศน์ให้กลายเป็นสวนสาธารณะ สิ้นคราบความเป็นชุมชนโบราณชานพระนครผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ ‘คนป้อม ฯ’ หรือผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณที่ถูกไล่ที่ ต่างพากันแยกย้ายแตกกระเซ็นกันไปคนละทิศละทาง เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสถานที่ใหม่ โดยพี่แต อดีตรองประธานชุมชน ฯ พร้อมกับอดีตคนป้อมมหากาฬ จำนวน 5 ครอบครัว ต่างพร้อมใจย้ายมาพักอาศัยที่ ‘สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงกัลยาณมิตร’ ซึ่งชาวบ้านแถวนั้นเรียกกันติดปากว่า ‘ชุมชนกัลยาณมิตร บางซื่อ’

พื้นที่ 6 ไร่ ใต้ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ไม่ห่างจากสะพานพระรามที่ 7 มากนัก เป็นบริเวณที่ถูกล้อมรอบด้วยรั้วปูนสีเขียว ภายในเป็นห้องแถวสีฉูดฉาดสดใสที่หันหน้าเข้าหากัน มีทางเดินเล็ก ๆ คอยเชื่อมซอกซอยต่าง ๆ ซึ่งมองเผิน ๆ อาจไม่ต่างกับชุมชนอื่นทั่วไปนัก แต่สำหรับบุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่กับ ‘บ้าน’ มาตลอดชีวิต ก็คงจะมีความรู้สึกอึดอัดแปลก ๆ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ความเป็นอยู่ที่ต่างจากเดิม ทำให้เหล่าคนป้อมพลัดถิ่น ต่างไม่สามารถเรียกคำว่า ‘บ้าน’ ได้เต็มปาก

“ผมอยู่บ้านหลังนั้นมาตั้งแต่เกิด แต่เดิมแม่เป็นคนต่างจังหวัดที่มาอาศัยเช่าพื้นที่ดังกล่าว จึงเติบโตมาในที่แห่งนั้น ผมคาดการณ์ว่าบ้านหลังที่ผมอาศัยอยู่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว” พี่แต รำลึกถึงบ้านหลังเก่าของตนที่ตั้งอยู่ในหลังกำแพงป้อมมหากาฬ ริมคลองโองอ่าง ซึ่งเจ้าตัวเชื่อว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี

สภาพความเป็นอยู่ของคนป้อมพลัดถิ่น ณ ชุมชนกัลยาณมิตร ยังคงไร้ความแน่นอน เนื่องจากเป็นการอยู่แบบ ‘เช่าเขาอยู่’ อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหาการ เล่าต่อว่า เรื่องที่อยู่อาศัยยังเป็นปัญหาหลักของพวกเขา เนื่องจากต้องมีการเช่าบ้านผู้อื่นอยู่ เดือนละ 1,500 บาท ซึ่งถ้าหากผู้ปล่อยเช่ามาขอที่คืน ตนก็จำเป็นที่จะต้องเดินทางออกไปเพื่อหาที่อยู่ใหม่

ความไม่มั่นคงในเรื่องหน้าที่การงาน ก็ยังเป็นพายุอีกลูกใหญ่ที่โหมซัดเข้ามาในชีวิตของพี่แต เนื่องจากแต่ก่อนตนได้มีอาชีพประจำทั้งการขับรถจักรยานยนต์รับจ้างและรับจ้างทั่วไป แต่พอย้ายมายังชุมชนแห่งใหม่ ก็มีอุปสรรคเรื่องการทำงานเนื่องจากสถานที่ไม่เอื้ออำนวยให้สามารถประกอบอาชีพเดิมได้ และด้วยความไม่แน่นอนของรายรับอันเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายภายในครัวเรือน ทำให้ภรรยาของพี่แตได้ตัดสินใจแยกทาง และกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่ภูมิลำเนาเดิมในต่างจังหวัด ปัจจุบันพี่แตได้อาศัยอยู่ภายในชุมชนกัลยาณมิตรภายในห้องแถวหลังเล็ก ๆ ตามลำพังพร้อมกับสุนัขสองตัว ที่นำมาจากชุมชนป้อมมหากาฬ

ในขณะที่ครอบครัวประจวบสุข ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่ย้ายมาเป็นสมาชิกหน้าใหม่ในชุมชนกัลยาณมิตร ก็พบกับปัญหาเรื่องการปรับตัวซึ่งเกิดจากวิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไปตามสถานที่

เสื้อยืดลายรูปป้อมมหากาฬที่ดูเหมือนใหม่ประดุจเพิ่งแกะออกจากถุง ถูกนำมาวางคลี่ไว้บนพื้นที่ถูกเช็ดจนสะอาดมันวาว โดยเจ้าของเสื้อยืดได้อธิบายว่า ไม่เคยคิดสวมใส่เลยเพราะไม่อยากให้เสื้อดูเก่า เสื้อคู่นี้มีคุณค่าทางจิตใจมันเป็นเครื่องเตือนใจอันแสดงถึงความคะนึงถึงสถานที่เก่าแก่ที่ตนและครอบครัวได้จากมา

พี่ดาว-สุภาณัช ประจวบสุข อดีตชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬ

พี่ดาว-สุภาณัช ประจวบสุข เจ้าของเสื้อยืด อดีตชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬ วัย 56 ปี ได้เล่าถึงกิจวัตรประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเมื่อย้ายมาอาศัยในอยู่ชุมชนแห่งใหม่ว่า เมื่อสมัยอยู่ในชุมชนป้อมมหากาฬ ชีวิตตนและครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านรอบข้างและคนภายในชุมชน ทุกคนมีความสามัคคีกลมเกลียวกันประดุจญาติพี่น้อง บางวันก็มีการนำข้าวปลาอาหารมานั่งประทานร่วมกัน ณ ลานทำกิจกรรมของชุมชน ช่วงเทศกาลก็จะมีการร่วมกันทำบุญตักบาตร อันถือเป็นวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนภายในชุมชน ซึ่งพี่ดาวได้เล่าว่าพบเห็นภาพเหล่านี้มาจนชินนับตั้งแต่จำความได้

โดยปัจจุบันครอบครัวประจวบสุข ต้องฝืนทนกับความเป็นอยู่ที่คับแคบลง ซึ่งในบ้านหลังใหม่มี สมาชิกอยู่รวมกัน ถึง 5 คน หนึ่งในนั้น คือ คุณยายเกื้อ ประจวบสุข หญิงชราวัย 80 ปี ผู้ที่ได้สูญเสียสามีคู่ทุกข์คู่ยากไป โดยพี่ดาวผู้เป็นหลานสาว ได้ขยายความว่าสามีของ คุณยายเกื้อ เสียชีวิตเพราะตรอมใจ เนื่องจากทั้งชีวิตไม่เคยต้องออกจากป้อมมหากาฬแต่ต้องพรากจากถิ่นที่อยู่อันเป็นบ้านเกิด โดยสามีของคุณยายเกื้อเสียชีวิตลงหลังจากย้ายออกจากชุมชนป้อมมหากาฬเพียงสามเดือน

คุณยายเกื้อ ประจวบสุข (ขวา)

“เปลี่ยนแปลงหลายอย่างมาก เราไม่คุ้นเคยกับสภาพความเป็นอยู่ที่นี่ บ้านไม้ที่ป้อมของเราฝนตกหลังคาอาจรั่ว แต่เราก็ยังมีความสุขและเราก็รู้สึกอบอุ่นใจ ซึ่งที่นี่มันน่าจะสบายกว่านะ แต่เราก็ไม่เคยอยู่บ้านปูนไง เราก็อยู่แต่บ้านไม้” พี่ดาวเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงด้วยน้ำเสียงที่สั่นเครือ พร้อมปาดสายน้ำตาที่ไหลอยู่ตลอดระหว่างการสนทนา

ความหวังใหม่ของอดีตชาวชุมชนป้อมมหากาฬ

สายน้ำไม่ไหลทวนหวนกลับฉันใด เวลาก็ไม่มีทางย้อนกลับไปสู่อดีตได้ฉันนั้น สิทธิในการกลับเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเดิมของตนจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเป็นไปได้ ซึ่งอดีตชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬต่างก็ยอมรับความเป็นจริงในข้อนี้ และฝืนทนอดกลั้นกับความเปลี่ยนแปลงผนวกกับความขมขื่นที่เกิดขึ้นภายในหัวใจ

แต่แสงไฟแห่งความหวังก็ยังไม่มืดดับไปสักทีเดียว คนป้อมฯ พลัดถิ่นในพื้นที่ชุมชนกัลยาณมิตร ต่างร่วมกันวางแผนที่จะรื้อฟื้นชุมชนป้อมมหากาฬขึ้นมาใหม่ โดยใช้เงินเก็บที่เกิดจากการออมและการลงขันของคนภายในชุมชน

“เรามีแผนที่จะสร้างชุมชนป้อมมหากาฬขึ้นมาใหม่ ในขณะนี้เรามีที่ตรงพุทธมณฑลสาย 2 ซอยนิ่มซี่เส็ง 21 โดยเราจะเอาไม้เก่าดังเดิมที่นำมาจากบ้านบริเวณป้อมมหากาฬ ที่ยังเหลือสองหลัง ไปสร้างใหม่ ซึ่งตามแผนเราจะตอกเสาเข้มบ้านหลังแรกช่วงเดือนปลายเดือนกรกฎาคม 2562” พี่แต อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ เล่าด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นอันแสดงถึงความไม่หมดหวัง แม้ปัจจุบันจะยังขาดทุนทรัพย์ในการปลูกสร้างและค่าแรงงานในการประกอบเรือนพักอาศัย

สำหรับบ้านไม้หกหลังคาเรือนจะถูกลงเสาภายในพื้นที่ที่มีบริเวณจำกัดแค่ 106 ตารางวา ซึ่งตามแผนจะสร้างบ้านให้มีขนาดกะทัดรัดพออยู่ โดยจะอาศัยพื้นที่โล่งที่เหลือจากการปลูกบ้าน ปรับภูมิทัศน์ให้เสมือนเป็นพื้นที่ส่วนกลาง สำหรับเป็นสถานที่จัดกิจกรรมของคนภายในชุมชน อันเป็นแบบแผนเดิมที่เปรียบเสมือนเอกลักษณ์ของชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งคนป้อมฯ พลัดถิ่นต่างให้ความสำคัญในเรื่องที่อยู่อาศัยว่าควรจะคาบเกี่ยวกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของลูกบ้าน เพื่อสืบทอดและรื้อฟื้นวิถีชุมชนที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

แม้การฟื้นอัตลักษณ์ของชุมชนป้อมมหากาฬให้กลับมามีลมหายใจอีกครั้งบนที่ดินผืนใหม่ จะเป็นภาพหวังที่ยังไม่สมบูรณ์มากนัก แต่สำหรับคนป้อมฯ ก็ยังคงรอคอยด้วยจิตใจที่หวนคะนึงถึงความทรงจำในอดีตที่ผ่าน

“คนป้อมฯ ไปอยู่ที่ไหนก็ยังเป็นคนป้อมฯ ซึ่งเรามีแนวคิดที่จะตั้งชื่อชุมชนป้อมมหากาฬอยู่แล้ว มีการสร้างบ้านไม้เหมือนเดิม อาชีพการทำงานของเราอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย แต่เราก็ยังคงใช้ชีวิตที่คงเอกลักษณ์ของป้อมมหากาฬ” พี่แต อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวทิ้งท้ายด้วยหวัง และความตั้งใจที่จะฟื้นฟูอดีตชุมชนชานพระนครให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

Reference & Bibliography

  • ชุมชนป้อมมหากาฬ. หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร,  สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2562, จาก http://www.resource.lib.su.ac.th/rattanakosin/index.php/2014-10-27-08-52-32/2015-10-21-06-59-03
  • ย้อนรอย 234 ปี “ป้อมมหากาฬ”…ลมหายใจชุมชนที่กำลังรวยริน. MGR Online, สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2562, จาก https://mgronline.com/onlinesection/detail/9590000035607
  • วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. (2561, 25 สิงหาคม). ชุมชนป้อมมหากาฬ ใครจะเป็นเหยื่อรายต่อไป. the101.world, สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2562, จาก https://www.the101.world/mahakan-fort

Additional Information

สารคดีเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งจากโครงการค่ายสารคดีครั้งที่ 15 “สู่การสร้างสรรค์สังคม” ในหัวข้อสารคดีอิสระ จัดโดยนิตยสารสารคดี ภาพประกอบโดย สราวุฒิ ใยดี ช่างภาพค่ายสารคดีครั้งที่ 15

Writer

บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์บ้านกล้วยออนไลน์ ชอบเล่าเรื่องผ่านงานเขียน ประเภทข่าว บทความ และสารคดี ผู้ที่มีความศรัทธาในอำนาจพลังของปลายปากกา เชื่อมั่นว่าสามารถขีดเขียนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นได้

Photographer

ช่างภาพค่ายสารคดีครั้งที่ 15