อาชีพนักเขียนในปัจจุบันไม่ใช่เพียงการเขียนหนังสือเล่มอีกต่อไป การเขียนนิยายในยุคดิจิทัลแปรเปลี่ยนจากบนหน้ากระดาษสู่โลกออนไลน์ อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนรูปแบบจากนิยายที่มีการบรรยายหรือพรรณนาเรื่องราว กลายเป็นนิยายแช็ตที่เน้นบทสนทนาโต้ตอบทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ได้มากยิ่งขึ้น

คุณชณิศา ปทุมานนท์ และคุณศศิพิชย์ พันธะจินาธัช เผยไปในทางเดียวกันว่า การประกอบอาชีพนักเขียนนิยายออนไลน์สามารถยึดเป็นอาชีพได้ แต่การที่จะสร้างรายได้เป็นจำนวนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนของผู้อ่าน ด้าน จอยลดา แอปพลิเคชันนิยายแช็ตออนไลน์ ต้องการนักเขียนใหม่เข้ามาทำงาน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่หลากหลายให้แก่ผู้อ่านสม่ำเสมอ 

นักเขียนนามปากกา แบดพิษ ขอบคุณรูปภาพจากคุณชณิศา ปทุมานนท์

เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2563 คุณชณิศา ปทุมานนท์ นักเขียนนิยายออนไลน์ นามปากกา แบดพิษ เปิดเผยว่า อาชีพนักเขียนนิยายออนไลน์ที่ทำอยู่ในขณะนี้ เป็นอาชีพเสริมที่ดีเพราะสามารถทำเงินได้จริง แต่การจะประสบความสำเร็จถึงระดับที่สามารถยึดเป็นอาชีพประจำได้นั้น จำเป็นจะต้องมีการเผยแพร่ผลงานของตนเองในหลากหลายช่องทาง เพื่อมีฐานคนอ่านที่มากพอในการที่จะเลี้ยงชีพได้ 

คุณชณิศา ยังเผยอีกว่า การจัดทำนิยายรูปเล่มนั้น เป็นอีกช่องทางที่ช่วยในการสร้างรายได้จากการเขียนนิยายออนไลน์ เนื่องด้วยมีกลุ่มผู้อ่านที่ยังคงชื่นชอบการเก็บนิยายเป็นรูปเล่ม และหากต้องการความมั่นคงในสายอาชีพ นักเขียน นิยายนอกจากจะเขียนประเภทแฟนฟิคชั่นที่นำเอาบุคลิกของศิลปินที่ชื่นชอบมาเป็นตัวละครในนิยายแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องแต่งนิยายรักทำให้เจาะได้ทุกกลุ่มคนอ่านอีกด้วย

เล่มที่จัดพิมพ์

ด้าน คุณศศิพิชย์ พันธะจินาธัช นามปากกา iamthemoon ระบุว่าตนเองเป็นนักศึกษาที่มีรายได้จากการแต่งนิยายออนไลน์ ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีรายรับไม่มากเพราะการเป็นนักเขียนที่มีคนอ่านจำนวนมากไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยหลายองค์ประกอบ ทั้งความคิดสร้างสรรค์ ความนิยมของผู้อ่าน ความต้องการอ่านนิยายในช่วงนั้น และช่วงเวลาการนำเสนอในออนไลน์ สำหรับตนเองให้ความสำคัญกับพล็อตเรื่องเป็นอย่างมาก โดยจะวางแผนการเขียนเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้เนื้อเรื่องน่าเบื่อเพราะจะทำให้ผู้อ่านเลิกติดตามผลงานได้

ส่วนนักเขียนออนไลน์ที่มีเพิ่มมากขึ้นนั้น ตนไม่ได้มีความกังวลมากนัก เนื่องจากทุกคนล้วนมีรูปแบบ การนำเสนอของตนเอง และในอนาคตตั้งใจจะยึดอาชีพนักเขียนนิยายออนไลน์เป็นอาชีพหลัก เนื่องจากเป็นงานที่รักและสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง คุณศศิพิชย์กล่าว

นักเขียนนามปากกา iamthemoon

คุณภรณภัทร ไชยสิงห์ทอง ผู้จัดการฝ่ายเนื้อหา (Content manager) จอยลดา แอปพลิเคชันนิยายแช็ต กล่าวว่าบริษัทต้องการนักเขียนหน้าใหม่เข้ามาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เพียงแค่มีแอปพลิเคชันสามารถสมัครเป็นนักเขียนได้ การเขียนนิยายบนแอปพลิเคชันจอยลดาจะมีค่าตอบแทนให้แก่นักเขียนตามยอดการอ่าน และมีระบบการติดเหรียญที่แต่ละตอนของนิยาย ผู้เขียนจะเป็นผู้กำหนดราคาขึ้นมา โดยผู้อ่านจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการอ่านนิยายบางตอน เป็นอีกช่องทางที่เพิ่มรายได้ให้แก่นักเขียนนิยายออนไลน์

คุณภรณภัทร ไชยสิงห์ทอง ผู้จัดการฝ่ายเนื้อหา (Content manager) จอยลดา แอปพลิเคชันนิยายแช็ต
จอยลดา

อีกทั้งคุณภรณภัทรให้ข้อมูลเสริมทิ้งท้ายว่า จอยลดาเป็นเทพธิดาแห่งความสนุกที่มาในรูปแบบนิยายแช็ต เป็นแอปพลิเคชัน สำหรับอ่านและแต่งนิยายในรูปแบบออนไลน์ เปิดตัวเมื่อปี 2560 และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยจุดเด่นที่แปลกใหม่คือการเล่าเรื่องของตัวละครผ่านการแช็ตหรือส่งข้อความโต้ตอบ อีกทั้งนักเขียนยังสามารถแทรกรูปภาพหรือเพลงภายในนิยายออนไลน์ได้

นักเขียนนิยายออนไลน์เผยเลี้ยงชีพได้แต่ขึ้นอยู่กับความนิยม

Reference & Bibliography

  • คุณชณิศา ปทุมานนท์ และคุณศศิพิชย์ พันธะจินาธัช นักเขียนออนไลน์
  • คุณภรณภัทร ไชยสิงห์ทอง ผู้จัดการฝ่ายเนื้อหา (Content manager) จอยลดา แอปพลิเคชันนิยายแช็ต

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ขจรจิต บุนนาค

Writer

การเขียนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ช่วยบรรยายความรู้สึก และการทำงานในแต่ละวันของเรา ยิ่งไปกว่านั้นการเขียนยังบอกถึงสไตล์ที่แตกต่างกันไปของแต่ละบุคคล ที่ไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้

Photographer

มีความฝันอยากเป็นช่างภาพ ได้ท่องเที่ยวไปเจอสิ่งใหม่ ๆ แต่เพิ่งได้พบว่าการเขียน เหมือนการได้พบสิ่งใหม่ และอยู่เพียงแค่ปลายปากกาของเราเท่านั้นเอง