การรักษาจิตใจไม่ได้มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่จะทำได้ น้องหมาแสนน่ารักคืออีกหนึ่งเพื่อนที่ดีเคียงข้างเราในยามท้อแท้ การทำธุรกิจที่เริ่มด้วยใจรักและผูกพันกับน้องหมาจึงถือกำเนิดขึ้นในรูปแบบคาเฟ่ แต่ร้านคาเฟ่แห่งนี้ไม่ใช่เพียงธุรกิจบริการความอร่อยจากอาหารเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นพื้นที่เยียวยา ฟื้นฟูจิตใจ เปิดโอกาสให้คนกับสุนัขได้เรียนรู้ที่จะเติมความรักให้กันอีกด้วย

พี่ยุ้ย-คุณชลธิชา ลาภผาติกุล เจ้าของร้านอาหารกึ่งคาเฟ่ (Café) ชื่อดังย่านรัชดา ก่อตั้งร้านที่มีชื่อว่า Big Dog Café หมาใหญ่ใจดี ที่เป็นทั้งศูนย์การเรียนรู้และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าสุนัขจากต่างประเทศที่รวบรวมสุนัขพันธุ์หายากกว่า 65 ตัว และเป็นสถานที่บำบัดจิตใจของผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า โดยร้านจะเปิดโซน (Zone) พิเศษให้ผู้ที่มีภาวะทางด้านจิตใจได้เข้ามาเล่นกับลูกสุนัขในบริเวณที่ทางร้านได้จัดเตรียมไว้ให้ เพื่อให้สุนัขทุกตัวในร้านได้เป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาความรู้สึกภายในใจและให้ทุกคนที่เข้ามาในสถานที่แห่งนี้ได้รับความรักจากสุนัขกลับไป

ขอขอบคุณภาพ Big Dog Café

มองหาสิ่งที่ชอบ ให้กลายเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ

พี่ยุ้ยได้บอกเล่าให้เราฟังถึงจุดกำเนิดและเหตุผลในการเปิดร้าน Big Dog Café หมาใหญ่ใจดี

เริ่มต้นจากการที่เรามีความเครียดจากการทำงาน บวกกับช่วงนั้นเลิกกับแฟน ส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า จึงได้เข้าไปปรึกษาคุณหมอจิตแพทย์ คุณหมอแนะนำให้ลองมองหาสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ 

ตอนนั้นเรารู้ตัวเองว่าเราชอบสุนัข จึงตัดสินใจซื้อสุนัขพันธุ์ชิสุมาเลี้ยงหนึ่งตัว และตั้งชื่อให้เขาว่า ผักบุ้ง หลังจากมีผักบุ้ง เราเริ่มมีความสุขกับตัวเองมากขึ้น และเริ่มมีความสนใจอยากลองเลี้ยงสุนัขตัวใหญ่ดูบ้าง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเข้าสุนัขพันธุ์หายากจากต่างประเทศ หลังจากนั้นก็เริ่มเลี้ยงสุนัขเพิ่มมากขึ้น

ความประทับใจแรกจากสุนัขนักบำบัด สู่ธุรกิจที่ใช่

เมื่อเริ่มกินยารักษาอาการป่วยจากภาวะซึมเศร้า และเกิดเป็นลมในห้องน้ำ วันนั้นเราอาศัยอยู่ชั้นบนสุดของบ้านกับสุนัขพันธุ์ชิสุที่เลี้ยงเอาไว้ ผักบุ้งคงเห็นว่าเรานอนนิ่งไม่ขยับตัวหรือเข้ามาเล่นกับเขาเหมือนเก่า จึงวิ่งลงไปเห่าให้แม่บ้านที่กำลังทำงานบ้านอยู่ชั้นล่างขึ้นมาช่วยดูเรา

เหตุการณ์ครั้งนั้นคือเป็นความประทับใจแรกที่มีต่อผักบุ้งและความประทับใจตรงนี้ก็ได้เผื่อแผ่ไปยังสัตว์ทุกตัว เรียกได้ว่าความประทับใจครั้งนั้นเป็นส่วนสำคัญที่อยากเปิดร้าน Big Dog Café หมาใหญ่ใจดี ขึ้นมา เพราะหวังว่าสุนัขที่เราเลี้ยงจะช่วยดูแลและเยียวยาความรู้สึกทางด้านจิตใจให้อีกหลายคนได้

หลังจากการเริ่มเลี้ยงสุนัขที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ได้มีความตั้งใจที่จะเปิดร้านให้อีกหลายคนที่ชื่นชอบสุนัขได้เข้ามาเรียนรู้และเล่นกับสุนัข โดยเริ่มต้นธุรกิจแห่งนี้จากบ้านทาวน์โฮมย่านใจกลางเมืองขนาดสองชั้น ซึ่งผลตอบรับจากลูกค้าเป็นไปในทิศทางที่ดี ด้วยจำนวนลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ต้องขยายร้าน จึงได้ตัดสินใจย้ายร้านมาอยู่ที่รัชดา คาเฟ่ (Cafe) แห่งนี้ได้กลายเป็นสถานที่แห่งใหม่ในการบำบัดจิตใจ ที่ยังคงสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่ชื่นชอบสัตว์เลี้ยงและผู้คนให้ความสนใจ แวะเวียนเข้ามาเล่นกับสุนัขอย่างต่อเนื่อง

ความรักไม่มีเงื่อนไข มอบให้นักบำบัดจิตใจสี่ขา

เรามีกระจกกั้นทางความรู้สึกระหว่างตัวเองและผู้คนรอบตัว หลายครั้งมีเรื่องไม่สบายใจและไม่สามารถพูดกับใครได้ก็มาระบายให้สุนัขฟัง ทำให้เริ่มรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น และการที่ได้กอดได้เล่นกับสุนัข ทำให้เรารู้สึกไม่โดดเดี่ยวและไม่เหงา เรามองว่าสุนัขสามารถมอบความรักในอีกรูปแบบหนึ่งให้เราได้ เป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ในวันที่เราเหนื่อยจากความคิด อย่างความเครียดที่เจอมาในระหว่างวันก็เริ่มบรรเทาลงไปได้อย่างช้า ๆ

เมื่อมีความเหนื่อยล้าหรือความเศร้า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงให้พี่ยุ้ยดีขึ้นคือเพื่อนสี่ขาที่คอยอยู่เป็นเพื่อน ตอนที่เรามีแค่ผักบุ้ง สุนัขพันธุ์ชิสุตัวแรก เรายังไม่รู้สึกตัวว่าเราดึงตัวเองออกมาจากความเศร้าได้ทั้งหมด แต่จุดที่เราเริ่มรู้สึกว่าความเศร้ามันค่อยหายไป คือตอนที่เราเริ่มเลี้ยงสุนัขมากขึ้น สุนัขทุกตัวทำให้สภาพจิตใจเราค่อยดีขึ้น อาจเป็นเพราะเราได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ เรียกได้ว่าเกือบ 24 ชั่วโมงในการดูแลสุนัข ทำให้เวลาส่วนตัวที่ได้อยู่กับความคิดของตัวเองมันน้อยลง เราทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับสุนัขมากขึ้น พอไม่มีเวลาที่ให้ความคิดตัวเองมันทำงาน ความฟุ้งซ่านมันก็เริ่มหายไป

ขอขอบคุณภาพ Big Dog Café

สุนัข นักบำบัด ต้องสายพันธุ์ที่ “ใจดี”

เราคิดว่าสุนัขทุกตัวเป็นนักบำบัดจิตใจที่ดีได้ แต่ต้องเป็นสายพันธุ์ที่ใจดี ลักษณะนิสัยของสุนัขต้องสามารถให้คนกอดและคนเล่นกับเขาได้ การฝึกสุนัขก็เป็นอีกหนึ่งข้อที่จะทำให้สุนัขใจดีและเชื่อฟัง การพาสุนัขออกไปพบเจอผู้คนก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ปลูกฝังให้สุนัขไม่กลัวหรือตกใจเวลามีคนเข้าใกล้

พี่ยุ้ยยังบอกอีกว่า เรามองว่าสุนัขทุกตัวมีความต้องการไม่ต่างจากคน สุนัขต้องการอาหารที่ดี การได้ทำกิจกรรม และสิ่งสำคัญคือความรักความเอาใจใส่ ถ้ามอบสิ่งนี้ให้สุนัขได้ครบ สุนัขก็จะเป็นนักบำบัดจิตใจที่ดีให้แก่ทุกคนได้

วาดฝันโครงการอนาคตของหมาใหญ่ใจดี

อนาคตทาง Big Dog Café หมาใหญ่ใจดี มีแพลนที่จะจัดกิจกรรมที่เน้นไปทางการบำบัดจิตใจให้มากขึ้น ด้วยการเชิญคุณหมอจิตแพทย์มาให้ความรู้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจหรือผู้ที่มีภาวะทางด้านจิตใจได้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน โดยร้านเรียกกิจกรรมนี้ว่า การดูจิต เป็นการฝึกทำสมาธิ ซึ่งเคยจัดขึ้นมาแล้วจำนวนสองครั้งด้วยกัน ผลตอบรับที่ได้รับจากลูกค้าในทุกครั้งที่ผ่านมา คือลูกค้าหลายท่านชื่นชอบ และบอกกับทางร้านมาว่าเขารู้สึกสบายใจและมีความสุขกับชีวิตประจำวันมากขึ้น เรามองว่าเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์กับอีกหลายคนที่มีภาวะทางด้านจิตใจ ในอนาคตจึงมีแพลนที่จะจัดกิจกรรมนี้ขึ้นอีกครั้ง

ขอขอบคุณภาพ Big Dog Café

กำลังใจจากหมาใหญ่ใจดี ถึงผู้ป่วยภาวะซึมเศร้า

พี่ยุ้ยคิดว่ากำลังใจจากคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนหรือแฟน เป็นสิ่งสำคัญที่อยากให้ทุกคนมอบให้คนที่มีภาวะทางด้านจิตใจ และอยากให้คนที่กำลังเผชิญภาวะซึมเศร้านี้ มองหาสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบให้เจอ อาจจะเป็นสิ่งเล็กน้อยที่เราสามารถทำในระหว่างวัน แล้วรู้สึกมีความสุข มีกำลังใจกับการใช้ชีวิตมากขึ้น

ขอขอบคุณภาพ Big Dog Café

สิ่งที่เราชื่นชอบจะกลายเป็นสิ่งที่จะยึดเหนี่ยวจิตใจที่ดีในอนาคตให้หลายคนได้ พี่ยุ้ยและร้าน Big Dog Café หมาใหญ่ใจดี ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจดี ๆ ให้ทุกคนที่มีภาวะซึมเศร้าผ่านเรื่องราวตรงนี้ไปให้ได้ ไว้อย่าลืมแวะมาเล่นกับน้องสุนัขนักบำบัดจิตใจสี่ขาของเรา “แล้วพบกันที่ Big Dog Café หมาใหญ่ใจดีนะคะ”

ที่พึ่งทางใจกับความหวังใหม่จากคุณหมอ สู่สังคมที่ใช้สุนัขบำบัดจิตใจ

เราสนใจเรื่องราวของสุนัขบำบัด จึงพามาเจาะลึกกันต่อเกี่ยวกับเรื่องราวของสุนัขที่เป็นนักบำบัดกับ คุณสุภารัตน์ ลัทธ์ธรรม พยาบาลวิชาชีพ ผู้เป็นหนึ่งในทีมสำคัญของโครงการวิจัยสุนัขบำบัดผู้ป่วย โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี

คุณสุภารัตน์ ลัทธ์ธรรม พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี

คุณสุภารัตน์ ได้ให้ความรู้ด้วยรอยยิ้มเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุนัขบำบัดว่า สุนัขบำบัดผู้ป่วยเป็นยาใจชั้นดีที่ปัจจุบันได้กลายมาเป็น ‘กำลังใจสำคัญ’ ในการเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะทางด้านจิตใจ ให้ผู้ป่วยเหล่านี้รู้สึกผ่อนคลายจากความตึงเครียดและให้สุนัขเป็นพลังความหวังใหม่ในการใช้ชีวิต

เราพบว่าบ้านที่มีสัตว์เลี้ยงจะส่งผลให้คนในบ้านมีสุขภาพจิตที่ดี บรรยากาศภายในบ้านมีสีสันมากขึ้น โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้ป่วยภาวะโรคซึมเศร้า พวกเขาจะรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า หมดความหมาย แต่หากเขาได้เลี้ยงสัตว์สักตัวที่เขาสามารถควบคุมมันได้ สิ่งนี้จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง และเพิ่มความรับผิดชอบในหน้าที่ ที่พวกเขาต้องดูแลสัตว์เลี้ยงตัวนั้น สัตว์เลี้ยงเหล่านี้จะคอยเป็นเสมือนเครื่องเตือนว่า เขาไม่ได้ไร้ความสามารถ และเขามีสิ่งหนึ่งที่ต้องคอยดูแลเอาใจใส่

คุณชนิดา ชูไสว พี่เลี้ยงสุนัขในโครงการวิจัยสุนัขบำบัดผู้ป่วย โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี

ทั้งนี้คุณสุภารัตน์ยังเล่าถึงเหตุผลที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้ ‘สุนัข’ ในการเป็นสัตว์เลี้ยงบำบัดจิตใจว่า สุนัขมีความใกล้ชิดกับคนและรับรู้อารมณ์ของเจ้าของได้ดี ดังนั้นสุนัขจึงเป็นสัตว์ลำดับต้น ๆ ที่ได้รับเลือกนำมาใช้เป็นสุนัขบำบัดรักษาผู้ป่วยทางด้านจิตใจ และยังบอกอีกว่าหากเลี้ยงลูกสุนัขมาตั้งแต่ยังเด็ก สุนัขจะเรียนรู้พฤติกรรมของบุคคลที่เป็นเจ้าของและส่งผลให้มนุษย์กับสัตว์ผูกพันจนกลายเป็นเพื่อนที่ดีให้แก่กันได้

เมื่อผู้ป่วยมีภาวะที่เผชิญกับความทุกข์ การดูแลรักษาจึงต้องใช้ความรักเข้าช่วย พวกเขาทุกคนต้องการที่พึ่งทางจิตใจเพื่อเป็นความหวังใหม่ในการมีชีวิตอยู่ต่อ ภาวะทางกายเป็นการรักษาเพื่อประคับประคองตามอาการเป็นหลัก แต่ภาวะทางด้านจิตใจล้วนแล้วเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด พวกเขาทุกคนควรได้อยู่กับสิ่งที่ตนเองรักหรือเคยผูกพัน เพราะสิ่งนั้นจะช่วยเยียวยาและเพิ่มความสุขทางใจเป็นพลังความหวังใหม่ในการใช้ชีวิตให้แก่พวกเขาได้

ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ เราต่างต้องการความรักด้วยกันทั้งนั้น เพื่อเยียวยาหัวใจที่เจ็บปวดให้ยังคงมีพลังสู้ต่อไป ดังเช่นเรื่องราวของ Big Dog Café หมาใหญ่ใจดี และเหล่าสุนัขใจดี ผู้ทำหน้าที่เป็นนักบำบัด ได้เป็นผู้ให้โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน

นี่คือเรื่องราวของคนกับสุนัขที่ใช้ใจรักษากันและกันด้วยความรัก

Reference & Bibliography

  • พี่ยุ้ย-คุณชลธิชา ลาภผาติกุล เจ้าของร้าน Big Dog Café หมาใหญ่ใจดี ติดตามความน่ารักของน้องหมาใหญ่ได้ที่ www.facebook.com/bigdogcafe
  • คุณสุภารัตน์ ลัทธ์ธรรม พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี
  • คุณชนิดา ชูไสว พี่เลี้ยงสุนัขในโครงการวิจัยสุนัขบำบัดผู้ป่วย โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop, CJR413, JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ขจรจิต บุนนาค และผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์

Writer & Photographer

เช้าวันพุธของฤดูร้อนในเดือนเมษายน - หลงใหลในบทกวีรัก วาดฝันการมีร้านขายโปสการ์ดริมลำธารหลังบ้านและปรารถนาการกินกาแฟในทุกเช้า