ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนในสังคมรับทราบมาโดยตลอด บางคนเลือกที่จะช่วยเหลือเด็กเหล่านั้นด้วยวิธีการบริจาคผ่านมูลนิธิที่เกี่ยวข้อง บ้างก็เลือกที่จะเพิกเฉยเพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัวของตนเอง ถามว่าผู้ที่จัดการปัญหานี้คือใครบ้าง

ขอขอบคุณภาพ Limited Education

Glow Story เล่าเรื่องการศึกษาแบบไม่ Limit

ในปี 2017 ‘Glow Story’ บริษัทนักเล่าเรื่อง เพื่อให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง พวกเขาได้มีโอกาสสื่อสารถึงปัญหาด้านการศึกษาของไทย โดยร่วมมือกับ ‘มูลนิธิร้อยพลังการศึกษา’ หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและช่วยกันตีแผ่ให้ปัญหานี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น จึงเป็นที่มาของโครงการที่ชื่อว่า Limited Education : เปลี่ยนการศึกษาไทยให้เป็นของ (ไม่) ลิมิเต็ด ที่จะเปลี่ยนทุกการจับจ่ายเป็นการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กไทย เพียงแค่ซึ้อสินค้าก็เป็นส่วนหนี่งที่ทำให้การศึกษาไทยดีขึ้น โดยมีการระดมทุนให้โรงเรียนต่าง ๆ ที่ขาดแคลนเครื่องมือหรืออุปกรณ์การเรียนรู้กว่า 82 โรงเรียนใน 3 ปีที่ผ่านมา  

บ้านกล้วย ได้มีโอกาสจับเข่าพูดคุยกับ 3 แกนนำคนสำคัญของโครงการจาก Glow Story ได้แก่ คุณพิพิริยะ กุลกาญจนาชีวิน คุณบี๋-นภัส มุทุตานนท์ และคุณม๊อบ-เทพพิทักษ์ มณีพงษ์ ทั้งสามเปิดเผยมุมมองเรื่องปัญหาของการศึกษาที่เราอาจจะไม่คาดคิดมาก่อน เราขอชวนมาฟังปัญหาของการศึกษาที่ว่านี้ไปพร้อมกัน

ภาพโปรโมทโครงการ Limited Education
การออกบูธเพื่อแนะนำโครงการตามห้างสรรพสินค้า ขอขอบคุณภาพ Limited Education

อย่ามองความเหลื่อมล้ำเป็นเพียงแค่เรื่องน่าสงสาร

คุณพิ-พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน ถ่ายทอดสิ่งที่เขาต้องพบเจอในวัยเด็กกับความเหลื่อมล้ำในสังคมผ่านเรื่องราวของคนใกล้ตัวมากที่สุดนั่นก็คือเพื่อน โดยมีประเด็นที่น่าสนใจว่า “เรามีเพื่อนมากมายหลายรูปแบบ มีตั้งแต่เพื่อนที่ไม่มีเงินเรียนหนังสือ เพื่อนที่เป็นคุณแม่วัยใส ติดยาบ้าง มีเรื่องมีราวจนตัวเองต้องพิการบ้าง จนไปถึงลูกคนรวยที่โตอยู่บนกองเงินกองทอง” เรื่องราวของคนใกล้ตัวจึงเป็นจุดประกายให้เขาเริ่มตั้งคำถามอีกมากมาย

อีกทั้งย้อนไปเมื่อสมัยที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย สิ่งที่เขากับเพื่อน ๆ เลือกทำคือการออกค่ายอาสาช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ขาดแคลนตามชนบท แต่หลังจากจบค่าย ทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้นในค่ายตอนนั้นก็จบลง เพราะทุกคนต่างก็แยกย้ายกันไปใช้ชีวิตของตนเอง ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่พวกเขาเคยรู้สึก ไม่ได้มีการต่อยอดแก้ไข

การทำโครงการ Limited Eduction ในครั้งนี้คือการระดมทุนช่วยเหลือผู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา และเป็นมากกว่าการร่วมทำบุญ ทำให้เขาเริ่มฉุกคิดและหันมากลับถามตนเองว่า ตอนที่เขาไปออกค่าย ไปช่วยเพราะอยากช่วยเหลือเด็กเหล่านั้นจริง ๆ หรือแค่สนองความต้องการทำความดีของตนเอง แล้วก็มีประโยคหนึ่งผุดขึ้นมาในหัวของเขา “เราไปทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นหรือดูน่าสงสารกันแน่”

คุณพิริยะ กุลกาญจนาชีวิน

เมื่อพี่พิได้เข้ามาทำงานทางด้านการสื่อสาร เขาไม่ต้องการให้คนในสังคม มองคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนน่าสงสารเหมือนที่นักสื่อสารคนอื่นชอบทำกัน เขาคิดว่าวิธีการช่วย แบบคนที่มีเหนือกว่ามันไม่ยั่งยืน คนที่รับเขาก็จะรู้สึกด้อยกว่าและก็จะไม่พัฒนาหรือคิดจะหาวิธีที่จะอยู่ได้ด้วยตนเอง

ทีมงานที่ร่วมกันจัดทำโครงการ Limited Education เล็งเห็นถึงปัญหาและเพื่อไม่ให้การช่วยเหลือเป็นเพียงหน้าที่ของผู้ใจบุญ ดังนั้นโครงการ Limited Education จึงมองหาวิธีคิดใหม่ในการบอกเล่าเรื่องราวปัญหาการศึกษาของเด็กไทย

การอ่านไม่ออก...เขียนไม่ได้

ปัญหาด้านการศึกษาที่ Limited Education พบเจอมีหลายเรื่อง เช่น คุณครูที่ไม่มีคุณภาพ เด็กท้องไม่พร้อม เด็กลาออกจากโรงเรียนก่อนจบการศึกษา เด็กไม่ได้เรียนภาษาต่างประเทศ แต่สุดท้ายจึงสรุปว่าปัญหา อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในภาษาไทย เป็นปัญหาด้านการศึกษาอย่างแท้จริง โดยมีสถิติเผยออกมาว่าเด็กไทยอ่านหนังสือไม่ออก จำนวน 140,000 คน และอีกจำนวน 270,000 คน ที่เขียนไม่ได้ พวกเขาจึงเลือกหยิบปัญหานี้ขึ้นมา เพราะมันเหมือนยอดน้ำแข็งของภูเขาและเป็นสิ่งที่พวกเขาพอจะทำได้

แบบเสื้อที่ทาง Limited Education ร่วมทำกับ Greyhound โดยสะท้อนปัญหาการศึกษาของไทย ขอขอบคุณภาพ Limited Education

พี่พิเล่าว่า โครงการ Limited Education เผยปัญหานี้ ผ่านลายมือของเด็กเหล่านั้นจริง ๆ โดยการลงพื้นที่ไปในโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกและชักชวนเด็ก ๆ ในโรงเรียนที่ต่างระดับชั้นมาร่วมทำกิจกรรม เมื่อคนได้เห็นลายมือน่ารักของเด็กที่ดูแล้วอมยิ้มตาม แต่แท้จริงแล้วกลับแฝงไปด้วยความเศร้า เพราะการเขียนที่สะกดไม่ถูกต้อง สะท้อนถึงปัญหาด้านการศึกษาที่ยังไม่สามารถกระตุ้นให้เด็ก ๆ เรียนรู้อย่างสนุกสนาน เด็ก ๆ ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ปัญหาที่ดูเหมือนจะเล็ก กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ ที่สั่นสะเทือนระบบการศึกษาไทยได้เช่นเดียวกัน 

“เราก็ชวนน้องม.ต้นมาเล่นกิจกรรมให้น้อง ๆ ลองเขียนคำต่าง ๆ ให้พี่ดู หลังจากนั้นโครงการก็สกรีนลายมือน้องออกมาเป็นฟอนต์ พร้อมกับเก็บเรื่องราวของน้องคนนั้นไว้ด้วย เช่น น้องโอ (นามสมมุติ) พ่อแม่อยู่กรุงเทพ เขาอยู่กับยาย 2 คน บ้านอยู่ห่างไกลจากโรงเรียน โดยเด็กแต่ละคนก็จะมีปัญหาที่ต่างกันออกไป” ปัญหาของเด็ก ๆ ที่ได้รับการบอกเล่า เกี่ยวพันกับทุกส่วนในสังคม และสิ่งที่ใกล้ตัวเด็ก ๆ มากที่สุด นอกจากครอบครัวคือโรงเรียน และในบางครั้งปัญหาชีวิตส่วนตัวของเด็กก็กระทบต่อการเรียนรู้ของพวกเขา

ภาพลายมือของเด็ก ๆ ที่สะกดคำภาษาไทยไม่ถูกต้อง ขอขอบคุณภาพ Limited Education

เปลี่ยนการช้อปปิ้งให้เป็นการช่วยเหลือ

คุณบี๋-นภัส มุทุตานนท์ เล่าเสริมว่าในปี 2017 หลังจากที่ Glow Story ได้ร่วมมือกับมูลนิธิร้อยพลังการศึกษา ทีมได้รับโจทย์ให้ไปออกบูธการศึกษาที่เซ็นทรัลเวิลด์ โดยต้องการที่จะให้คนที่มาเดินห้างได้รับรู้ถึงปัญหานี้ และเกิดการบอกต่อ ในปีนั้นมีคนเดินเข้าบูธต่อวันประมาณ 10 คนเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก ทีมจึงปรับกลยุทธ์และเริ่มสังเกตว่า คนที่มาเดินห้างส่วนใหญ่นั้นมาชอปปิ้ง ไม่ได้อยากมาทำบุญ และสิ่งที่จะทำให้คนหยุดสนใจได้มากที่สุด คือสินค้าที่ขึ้นป้ายลดราคาและนี่จึงเป็นที่มาในการหาคู่พันธมิตรสินค้าขึ้น

คุณนภัส มุทุตานนท์

จับมือกันแก้ปัญหากับองค์กรธุรกิจ

คุณม๊อบ-เทพพิทักษ์ มณีพงษ์ แสดงความคิดเห็นว่า ทุกคนอยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น การศึกษาเป็นอีกด้านที่ทุกคนอยากผลักดันให้มันเกิดการแก้ไข ลดความเหลื่อมล้ำให้หมดไปจากสังคม Limited Education ไม่ได้อยากเป็น Hero เพียงหนึ่งเดียวในการแก้ปัญหานี้ แต่ต้องการให้ทุก ๆ คนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งด้วย ดังนั้นไม่ว่าคุณจะมีแบรนด์หรือมีสินค้าอะไร คุณสามารถมาร่วมมือกับ Limited Education ได้เช่นกัน

คุณเทพพิทักษ์ มณีพงษ์

แต่ด้วยความที่ตอนนี้แบบจำลองยังค่อนข้างใหม่มาก โครงการจึงต้องการแบรนด์สินค้าที่มี Brandlover สูง เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้เห็นแบรนด์มาร่วมมือกับทางโครงการ พวกเขาจะตามมาสนใจและสนับสนุนในโครงการด้วย นอกจากแบรนด์แล้วยังมีอีกโครงการที่สนใจทำคือแบรนด์ที่ทำสื่อ พวกเขาอาจไม่ได้มีสินค้าแต่พวกเขามีพื้นที่ในการสื่อสาร เช่น A day Workpoint LOVEIS และ BEC Tero Music ที่ได้มาเป็นคู่พันธมิตรกับทาง Limited Education

ผลตอบรับและการวางแผนอนาคต

สองปีก่อนผลตอบรับมีแต่ด้านดีมาโดยตลอด แต่พอมาปีนี้ เริ่มมีผลตอบรับทั้งดีและไม่ดี คนเริ่มตั้งคำถามว่าโครงการนี้ ช่วยแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหากันแน่ แต่อย่างไรก็ตามโครงการนี้กลับทำให้ทีมงานรู้สึกดี เพราะมันเหมือนการแชร์ไอเดียกัน อย่างน้อยโครงการ Limited Education ก็มีคนเห็นมากขึ้น มีความเห็นจากหลาย ๆ มุม สำหรับคนอื่นมันอาจจะมองดูไม่ดีบ้าง แต่สำหรับพวกเขามีความพอใจที่คนเริ่มหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาพูดกันอย่างจริงจัง

สำหรับแผนต่อไปที่พวกเขาอยากจะทำคือการมีโมเดลที่แข็งแรงขึ้น อยากเห็นแบรนด์ที่หลากหลาย มาร่วมมือและแก้ปัญหาไปด้วยกัน พวกเขาพยายามหากิจกรรมอื่น ๆ อีกนอกจากการขายสินค้า เพราะมูลนิธิไม่ได้ต้องการแค่เงินเท่านั้นแต่ยังต้องการแรงงานของคนเข้าไปช่วยเหลือด้วย

แม้ว่าปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เป็นเพียงแค่หนึ่งในหลายปัญหาที่เกิดขึ้นในการศึกษาไทย แต่ยังมีปัญหาอีกมากมายที่รอการช่วยเหลือ โครงการ Limited Education เป็นเพียงฟันเฟืองเล็ก ๆ ในการขับเคลื่อนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ได้รับการแก้ไขและหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเป็นวงกว้าง การแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาจึงเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน เริ่มที่ตัวเรา เริ่มที่คนใกล้ตัว การเรียนรู้เกิดขึ้นในทุกวันของชีวิต เราเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้จากคนรอบข้าง และเรียนรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ มากมาย เราต้องสร้างแรงบันดาลใจ และส่งต่อสิ่งที่มีเพียงพอแล้วให้กับคนอื่น เพียงเล็กน้อย เราก็สามารถเปลี่ยนแปลงการศึกษาของบ้านเราให้ดีขึ้นได้

Reference & Bibliography

Limited Education คือพื้นที่รวบรวมสินค้า Limited Edition จากพันธมิตรแบรนด์ดังมากมายที่มาร่วมเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยไปกับเรา ทุกการช้อปของคุณ จะได้เป็นส่วนหนึ่งเพื่อร่วมลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้เด็กไทยทั่วประเทศ ติดตามข้อมูลโครงการได้ที่ https://www.limitededucation.org

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR311,JR311 Journalistic Writing across Media Section 3221 ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ปริณดา เริงศักดิ์

Writer

Content Writer ที่นอนวันละ 25 ชม. เพราะง่วงเกิน | ขออวยพรให้เธอเจอลายเส้นที่รักเข้าสักวันนะ

Photographer

เช้าวันพุธของฤดูร้อนในเดือนเมษายน - หลงใหลในบทกวีรัก วาดฝันการมีร้านขายโปสการ์ดริมลำธารหลังบ้านและปรารถนาการกินกาแฟในทุกเช้า