สถานการณ์ปัจจุบัน เราพบว่าจำนวนของเด็กจบปริญญาตรีที่ว่างงาน มีมากกว่าเด็กที่จบมัธยมศึกษาถึงสองเท่า ถึงแม้สถานการณ์การศึกษาในระบบจะเป็นอย่างไร การเข้าศึกษาในระบบก็ยังมีความสำคัญ และต้องใช้ปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฐานะทางการเงิน หรือว่าความกระตือรือร้นของตัวบุคคล ทำให้คนรุ่นใหม่เลือกที่จะเรียนรู้นอกระบบหรือศึกษาด้วยตนเองเพิ่มมากขึ้น 

เราลงพื้นที่เก็บข้อมูลความคิดที่มีต่อการศึกษาไทยหรือการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ เราได้ฟังมุมมองที่หลากหลายในเรื่องการเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบ จากศิษย์เก่า ผู้ที่เคยศึกษาในระบบ อาจารย์ นักวิชาการ และผู้ทำธุรกิจหรือผู้ประกอบการรายย่อย

เราเกือบทุกคนล้วนเคยผ่านการเรียนรู้ ไม่ว่าจะในระบบหรือนอกระบบ คุณพิชชาพร กลสัตยสมิต ศิษย์เก่าสาขาวารสารศาสตร์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า การเรียนในระบบยังสำคัญ แม้ว่าจะมีอาชีพอื่นที่ใช้เพียงแค่ประสบการณ์และความชำนาญ แต่โอกาสที่จะไม่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพนั้นก็มีพอสมควร ดังนั้นถ้าหากเราไม่มีใบปริญญารับรอง ก็อาจจะไม่มีใครที่มองเห็นถึงความสามารถ และความถนัดของเรา ว่าเรามีความเชี่ยวชาญในด้านไหน รวมถึงยังเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวอีกด้วย

“สำหรับการเรียนในระบบ พี่คิดว่าจริง ๆ ก็ยังสำคัญอยู่ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเราจะมีช่องทางอื่นให้ประสบความสำเร็จที่เร็วขึ้น แต่ก็มีตัวอย่างเยอะที่อาจจะออกไปทำแล้วไม่สำเร็จก็มีให้เห็นเยอะ จริง ๆ ที่สำเร็จค่อนข้างจะส่วนน้อยเลยด้วยซ้ำ แล้วสมมติเราไม่มีใบปริญญาหรือวุฒิการศึกษา ไปสมัครงานที่ไหนเขาก็ไม่รับ เพราะอันดับแรกที่เขาจะพิจารณาเลยก็คือเรื่องนี้ การที่เราเรียนให้จบก็เป็นทั้งความภูมิใจของเราของครอบครัว เชื่อเถอะว่าการลงทุนกับการศึกษาไม่เสียหายหรอก” 

ขณะที่ คุณจีรวัฒน์ ชวดสุวรรณ ศิษย์เก่าคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้อธิบายว่า การศึกษานั้นยังสำคัญ เป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิต และอาจจะบ่งบอกถึงทักษะ ความถนัด หรือไม่ถนัดของผู้เรียน ดังนั้นในโลกของธุรกิจ วุฒิการศึกษาถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน เป็นหน้าเป็นตาของบริษัทหรือกิจการ และยังสามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับตัวผู้ศึกษาได้อีกด้วย 

“โดยส่วนตัวคิดว่า ปัจจุบันการศึกษาในระบบยังมีความสำคัญ เพราะว่าเป็นสิ่งพื้นฐานที่จะทำให้เราได้เรียนรู้และค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ที่เราอาจจะถนัดหรือไม่ถนัดได้ ยกตัวอย่าง สตีฟ จอบส์ ถึงแม้เขาจะเรียนไม่จบ แต่ว่าเขานำสิ่งที่เรียนในมหาวิทยาลัยมาต่อยอดให้ประสบความสำเร็จในโลกความเป็นจริงได้ ต่อให้คุณจะประสบความสำเร็จมากแค่ไหน สุดท้ายจุดเริ่มต้นก็คือการเรียนรู้ จริงอยู่ว่าจะเรียนรู้ที่ไหนก็ได้ แต่การศึกษาในสถาบันการศึกษาทำให้เราได้สังคม ได้เพื่อน ได้คอนเนคชั่น ในโลกของธุรกิจ ต่อให้คุณเป็นหัวหน้าเป็นผู้บริหารอยู่ในตำแหน่งสูง ทุกคนก็จะถามว่าจบอะไรมา จบระดับไหน ซึ่งตรงนี้มันก็จะเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับตัวเราเองด้วยเหมือนกัน”

มุมมองของคนทำธุรกิจ ดังเช่น คุณพสิกา อัครภูวดล เจ้าของธุรกิจเสื้อผ้า ที่ปัจจุบันหันมาทำธุรกิจส่วนตัว และไม่ได้ศึกษาต่อแล้วกล่าวว่า การศึกษาในระบบนั้นยังจำเป็นสำหรับคนที่จะสมัครเข้าทำงานตามบริษัท แต่อาจจะไม่จำเป็นสำหรับอาชีพอิสระ เพราะว่าการศึกษาที่สอนเพียงในตำรา หรือไม่ก้าวทันโลก อาจจะไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง คนจบใหม่มีจำนวนมาก แต่บริษัทหรือโรงงานมีจำนวนน้อย ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น 

“ถ้ามองในมุมของคนที่จะทำงานในองค์กรหรือบริษัท การศึกษาในระบบยังเป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องใช้วุฒิในการสมัครเข้าทำงาน แต่ถ้ามองในมุมอาชีพอิสระ การศึกษาไม่สำคัญเลยไม่ว่าจะเป็นในระบบหรือนอกระบบ เรามองว่าการศึกษาไทยสอนแต่ในตำรา ส่วนใหญ่ไม่สามารถเอามาใช้ได้จริง งานมีน้อย โรงงานหรือบริษัทปิดตัว ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลก เรียนจบโท อาจได้เงินเดือนเท่าตรี ส่วนปริญญาตรีอาจจะหางานยากกว่าสมัยก่อน เพราะใคร ๆ ก็จบกัน สมัยนี้ปิ้งปลาหมึกย่างขายยังรายได้ดีกว่าจบปริญญาตรี” คุณพสิกากล่าวแสดงความคิดเห็น

ส่วนแวดวงการศึกษา รองศาสตราจารย์วัฒณี ภูวทิศ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่าการศึกษานั้นเป็นเพียงแค่พื้นฐานเริ่มต้น เพื่อนำไปใช้ต่อยอดในธุรกิจหรือเป็นพื้นฐานความรู้ในเรื่องที่เราสนใจ รวมถึงวิธีการเรียนรู้นั้นไม่ได้มีเพียงแค่ในห้องเรียน หรือจากครูผู้สอนเท่านั้น คนเราสามารถเรียนรู้จาก ‘ประสบการณ์’ ได้เช่นกัน

“การศึกษาในระบบยังมีความจำเป็น เนื่องจากทุกคนยังต้องเรียนข้อมูลความรู้พื้นฐานในด้านต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประยุกต์กับงานที่เราจะเลือกทำในอนาคต แต่วิธีการเรียนรู้ไม่จำเป็นว่าต้องเรียนในห้องเรียนหรือจากครู อาจจะเป็นจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ที่นำไปใช้ได้กับทุกอาชีพ เมื่อแนวโน้มที่คนรุ่นใหม่ต้องการทำธุรกิจส่วนตัวมากขึ้น สิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมคือ จะต้องรู้จักความต้องการและจริตผู้บริโภคอย่างแท้จริง ต้องมีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในการสื่อสาร และการวางกลยุทธ์เพื่อทำให้บรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด” 

รศ.วัฒณี แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกว่า “คนรุ่นใหม่อาจจะไม่ค่อยชอบอยู่ในระบบและกฎเกณฑ์ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้ที่จะมีความยืดหยุ่น เพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รู้จักวิเคราะห์ แยกแยะให้ได้ กลั่นกรองและเลือกสรรนำไปประยุกต์ใช้ ที่สำคัญถ้าหากเป็นการทำธุรกิจต้องสู้ไม่ถอย เริ่ม ล้ม ลุกให้เร็ว”

จากความคิดเห็นหลากหลายมุมที่กล่าวไป ประกอบกับสถานการณ์ความเป็นจริง อ้างอิงข้อมูลจากไทยรัฐ ได้รายงานไว้ว่าคนจบปริญญาตรีตกงาน 1.7 แสนคน เพราะเรียนมาไม่ตอบโจทย์กับตลาดงาน ยิ่งทำให้เรื่อง ‘การศึกษาหรือการเรียนรู้’ ยังคงเป็นเรื่องใหญ่ในสังคม เพราะการศึกษาคือการพัฒนาคน

หากเราติดตั้งวิธีคิดให้คนเห็นว่า การศึกษาหรือการเรียนรู้นั้นมีความจำเป็นตลอดชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ในระบบหรือนอกระบบการศึกษาล้วนมีความสำคัญ อีกทั้งต้องเป็นการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาทักษะ ได้คิด และลงมือทำจริง เพื่อจะนำทักษะที่ได้ไปใช้ในการทำงานที่หลากหลาย การศึกษาจึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชีวิตและทำให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

Reference & Bibliography

  • ป.ตรี ตกงาน 1.7 แสน ระบุเรียนมาไม่ตรงความต้องการตลาด. (2561, 10 มิถุนายน). สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2562, จาก www.thairath.co.th/news/local/1303902
  • ขอขอบคุณภาพประกอบ Freepik: Free Vectors, Stock Photos & PSD Downloads www.freepik.com

Additional Information

ผลงานเขียนชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411 Newspaper Workshop ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562

Writer

เก็บรวบรวมสิ่งที่ชื่นชอบไว้ในภาพถ่าย ชอบค้นหาแหล่งท่องเที่ยวและร้านอาหารใหม่ ๆ บรรยายมันออกมาเป็นเรื่องราว

Writer

นิสัยลึก ๆ เป็นคนที่ชอบอ่าน ชอบเขียน จะเลือกอ่านในสิ่งที่ชอบ สิ่งที่สนุก เพราะเราจะได้ enjoy กับสิ่ง ๆ นั้น