‘STAND UP FOR THE PEOPLE’ สโลแกนของสำนักข่าวออนไลน์ THE STANDARD เป็นสโลแกนที่มีความหมายถึงการทุ่มเท ทำงานเพื่อผู้คนในสังคมด้วยความตั้งใจ และมุ่งมั่น เมื่อได้ฟังครั้งแรก เราอาจจะยังไม่รู้สึกอย่างลึกซึ้ง พอได้ฟังครั้งต่อไปหลังจากฝึกงาน รู้สึกเลยว่า เป็นอย่างนั้นจริง ๆ 

แม้ว่า THE STANDARD จะเป็นสำนักข่าวที่เพิ่งเกิดใหม่เมื่อไม่กี่ปี แต่เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อนี้กันมาบ้างแล้ว ซึ่งตัวเราเองมีโอกาสรู้จักกับสำนักข่าวนี้ตั้งแต่ช่วงแรกที่ก่อตั้ง ผ่านการติดตามข่าวสารของ พี่โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ หนึ่งในบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับการเรียนและการทำงานในสายนิเทศศาสตร์

ตั้งแต่เริ่มรู้จัก ก็ติดตามสำนักข่าวนี้มาโดยตลอด บ่อยครั้งเมื่อได้เห็นข่าวหรือได้เห็นการนำเสนอคอนเทนต์ต่าง ๆ ของ THE STANDARD มักทำให้รู้สึกว้าวและชื่นชมมาก จนเป็นความรู้สึกหนึ่งที่ว่า “ถ้าเราติดตาม THE STANDARD จะต้องเปิดโลกและทำให้เราฉลาดขึ้นแน่ ๆ” 

เรื่องราวที่กล่าวในตอนต้น เป็นเรื่องราวจากความคิดของ เดียร์-บุษกร เทพทอง นักศึกษาภาควิชาบรอดแคสต์ติ้งและวารสารศาสตร์ดิจิทัล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ได้ใช้เวลา 3 เดือน 2 สัปดาห์ ในช่วงซัมเมอร์ของปี 2562 เพื่อฝึกงานกับสำนักข่าว THE STANDARD สำนักข่าวที่เชื่อมั่นว่าผลิตคอนเทนต์มีคุณภาพ และจากการฝึกงานก็ทำให้ได้เริ่มต้นเรียนรู้การสร้างคอนเทนต์แบบคุณภาพเหล่านั้นจริง ๆ 

จุดเริ่มต้นจากผู้ติดตามเพจสู่การเป็นนักศึกษาฝึกงาน

หลังจากติดตาม THE STANDARD มาสักพักใหญ่ ก็มีช่วงที่ประจวบเหมาะกับการเลือกที่ฝึกงานพอดี เราจึงคิดว่าคงจะดีไม่น้อยถ้าจะได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้วิธีการทำงานของพี่ ๆ ที่นี่ คงทำให้ได้รู้ว่าเบื้องหลังคอนเทนต์คุณภาพที่เคยเห็นมาตลอด มีวิธีการคิด การทำงานอย่างไรบ้าง จึงไม่รีรอที่จะตัดสินใจตัดสินใจส่งอีเมลสมัครไป 

ผ่านไปประมาณ 5 วัน หลังจากส่งอีเมลไป ก็ได้รับการติดต่อกลับมาเพื่อให้เข้าไปสัมภาษณ์ และสุดท้ายก็ได้รับโอกาสจากพี่ ๆ  รับเข้าฝึกงาน ในตำแหน่ง ‘Creative Video’ ความรู้สึกตอนนั้นหลังจากรู้ว่าจะได้เข้าไปฝึกงานที่นี่ คือความรู้สึกที่ดีใจมาก บันทึกให้ติดอันดับ 1 ใน 10 ความดีใจที่ได้รับโอกาสในปี 2562

ทำงานร่วมกับทีม THE STANDARD POP ในการจัด Event The Standard Pop Talk Our Pride

เมื่อเริ่มฝึกงานก็เริ่มเห็นวิธีการทำงาน

ตำแหน่ง ‘Creative Video’ เป็นหนึ่งในตำแหน่งที่อยู่ภายในทีมวิดีโอ ทำหน้าที่ในการคอยคิด หาข้อมูล และสนับสนุนในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่ก่อนการถ่ายทำไปจนถึงหลังการถ่ายทำ จนกลายเป็นวีดิโอ 1 ตัว ที่ได้รับการเผยแพร่ การทำงานหลักของเราจึงเป็นการทำงานร่วมกับพี่ ๆ  ช่างภาพและตัดต่อ

แต่เนื่องด้วยหน้าที่ของทีมวิดีโอ นอกจากทำวีดิโอที่มาจากคอนเทนต์ของคนในทีมเองแล้ว ก็ต้องทำหน้าที่ในการซัพพอร์ตทีมอื่น ๆ ที่ต้องการทำวิดีโอด้วย เราจึงมีโอกาสได้ทำงานกับพี่ ๆ ในหลากหลายทีม อาทิ ทีม Podcast (ทำหน้าที่ออกกองถ่ายสัมภาษณ์แขกรับเชิญ) และทีม THE STANDARD POP (ทำหน้าที่ออกกองถ่ายสัมภาษณ์แขกรับเชิญ และร่วมจัดอีเวนท์) ทำให้ได้เห็นการคิดและการทำงานที่แตกต่างกันไปตามลักษณะคอนเทนต์ ถึงแม้จะนำเสนอในรูปแบบสื่อที่แตกต่างกัน หัวใจสำคัญก็ยังคงเป็นประเด็นหรือเนื้อหาที่คม มีโฟกัส และร้อยเรื่องราวได้น่าติดตาม

อย่างไรก็ตามต่อให้ทำคอนเทนต์ต่างกัน แต่สัมผัสได้ว่า พี่ ๆ ทุกคนมีความสามารถ ความพยายาม ความตั้งใจ ที่จะทำให้คอนเทนต์นั้นกลายเป็นคอนเทนต์คุณภาพ มองเห็นแง่มุม ช่างสังเกตในการหยิบจับประเด็นต่าง ๆ มาถ่ายทอดเป็นเรื่องเล่าในสื่อ และนำเสนอในหลากหลายแพลตฟอร์ม 

ถอดรหัสการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ แบบ THE STANDARD

การฝึกงานในครั้งนี้ ทำให้เราได้เรียนรู้อยู่ตลอด และมองเห็นวิธีการทำงานที่มีคุณภาพ จึงขอนำมาแบ่งปันให้ทุกคนได้นำไปใช้กัน

01 : เลือกเล่าคอนเทนต์อย่างมีคุณภาพ คงไม่แปลกที่จะต้องบอกว่าจุดเริ่มต้นของการสร้างคอนเทนต์คุณภาพ คือ การประณีตในการเลือกคอนเทนต์ที่มีคุณภาพจริง ๆ  และหากถามว่าคอนเทนต์ที่มีคุณภาพคือคอนเทนต์แบบไหน เราคิดว่าสำหรับ THE STANDARD แล้ว ก็คือคอนเทนต์ที่จะต้อง ‘STAND UP FOR THE PEOPLE’ เป็นเนื้อหาที่ใกล้ตัว เชื่อมโยงกับผู้อ่าน ผู้ชม และเป็นเสียงที่พูดแทนประชาชนในสังคม  

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ THE STANDARD ได้รับการชื่นชมจากผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก คือเรื่องของ ‘การเลือก’ นำเสนอคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านและสังคม ทำให้บ่อยครั้งผู้ติดตามได้รับรู้เรื่องราวใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ไปจนถึงเรื่องราวที่ถูกหยิบยกมานำเสนอในแง่มุมที่แปลกใหม่และน่าสนใจ

พี่เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร THE STANDARD สัมภาษณ์คุณอานันท์ ปันยารชุน

โดยงานแรกที่เราได้ทำ ซึ่งเป็นหนึ่งในงานที่ประทับใจมาก และเป็นหนึ่งในคำตอบของการเลือกเล่าคอนเทนต์คุณภาพ ก็คือการออกกองไปสัมภาษณ์ คุณอานันท์ ปันยารชุน ร่วมกับพี่ ๆ ทีมวีดิโอ และพี่เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร และผู้ดำเนินรายการ The Secret Sauce ของ THE STANDARD Podcast

การออกกองครั้งนั้นทำให้ได้เรียนรู้วิธีการตั้งคำถามในการสัมภาษณ์ที่เจาะลึก การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) การพูดให้น้อยลง เปิดพื้นที่ให้แขกรับเชิญได้แสดงความคิดเห็น และฟังผู้ให้สัมภาษณ์คือสิ่งสำคัญมาก ซึ่งทำให้เราได้ยินเรื่องราวชีวิตและมุมมองทางความคิด รวมถึงได้เรียนรู้การถ่ายทำ มุมมองการตั้งกล้อง การออกแบบภาพ และเราได้รับหน้าที่ในการถอดเทปสัมภาษณ์เพื่อส่งให้ทีม Podcast และคัดประเด็นสัมภาษณ์เพื่อผลิตออกมาในรูปแบบวีดิโอ

ระหว่างทำงานในครั้งนั้นทำให้ได้เรียนรู้ว่าการเลือกเล่าและเลือกนำเสนอ มันเกิดขึ้นตั้งแต่กระบวนการคิดของพี่เคน การถ่ายทำของพี่ ๆ ช่างภาพ มาจนถึงการคัดเลือกประเด็นที่น่าสนใจในขั้นตอนตัดต่อที่เราได้ทำนี้ ผ่านการสอนงานจาก ‘พี่แอม’ Creative ของทีมวีดิโอ ที่เป็นพี่เลี้ยงที่ดูแลเราตลอดการฝึกงานในครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นว่า การประณีตในการเลือกเล่าในทุกขั้นตอน คือหนึ่งในที่มาของคอนเทนต์คุณภาพ

ภาพบรรยากาศในการถ่ายทำสัมภาษณ์ พี่แสตมป์-อภิวัชร์

02 : ไม่หยุดนิ่งที่จะสร้างสรรค์ ทุกครั้งที่ได้ฟังพี่ ๆ คิดงาน หรือได้ฟังพี่ ๆ สัมภาษณ์แขกรับเชิญ เรารู้สึกเลยว่ามีวิธีการคิด วิธีการถาม และวิธีการทำงานที่สร้างสรรค์ และมันเกิดขึ้นทุกครั้งที่ทำงาน อย่างมีอยู่ครั้งหนึ่ง พี่แสตมป์-อภิวัชร์ ศิลปินจากค่าย 12sumrecords มาให้สัมภาษณ์โปรโมทเพลง ‘ทั้งจำทั้งปรับ’

ในวันนั้นนอกจากจะมีการสัมภาษณ์ถาม-ตอบ ปกติแล้ว ก็ยังมีการถามที่พิเศษไปกว่านั้น คือถ้าถามแล้วพี่แสตมป์ตอบไม่ได้ก็จะโดนปรับ ล้อไปกับชื่อเพลง การสัมภาษณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในวันที่ 2 ของการฝึกงาน เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้เห็นความสร้างสรรค์แบบสนุก ๆ ของที่นี่เลย

ภาพบรรยากาศในการถ่ายทำ Advertorial ของ Vaseline

หลังจากครั้งนั้นก็มีงานเช่นนี้เกิดขึ้นอีกหลาย ๆ ครั้ง อย่างตอนทำงาน Advertorial ให้กับ Vaseline ก็ได้รับโจทย์ให้โปรโมทผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายโดยให้ทีมวิดีโอเป็นคนคิดวิธีการนำเสนอเอง ซึ่งสุดท้ายพี่ ๆ ในทีมก็เสนอการขายเนียน ๆ ในรูปแบบการเล่นเกม True or False ส่วนเราเองก็ได้มีส่วนในการคิดคำถามให้กับเกมนี้ด้วย ซึ่งเกมสนุกมาก และทำให้ได้เรียนรู้อีกครั้งว่า ความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่หยุดนิ่งเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องมีลูกเล่นใหม่ ๆ ในการทำงานสัมภาษณ์ เพื่อสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพให้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

03 : การเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพบุคลากร สิ่งหนึ่งที่รู้สึกตลอดการฝึกงานที่นี่ คือความรู้สึกที่ว่า ‘รอบตัวมีแต่คนเก่ง ๆ เต็มไปหมดเลย’ เรายังได้มีโอกาสได้เข้าร่วม Town Hall หรือกิจกรรมประชุมใหญ่ เพื่อสรุปผลงานที่ผ่านมา และเป้าหมายที่กำลังจะดำเนินไปของทุกทีมในบริษัท จึงทำให้ได้เห็นภาพรวมที่ผ่านมาและภาพอนาคตที่กำลังจะก้าวไป อีกทั้งยังได้ฟังแนวคิดและวิธีการวางแผนงาน ยิ่งทำให้รู้สึกน่าสนใจและประทับใจมาก เพราะผลงานที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับที่ดีเป็นจำนวนมาก และเป้าหมายที่วางแผนไว้ผ่านกระบวนการคิดของคนทำงานที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มีความพยายาม ตั้งใจ และเข้าใจเป้าหมายในการนำเสนอ

การเข้าร่วม Town Hall ในครั้งนั้น จึงทำให้ได้รู้อีกว่า คอนเทนต์จะมีคุณภาพ ไม่ได้เกิดขึ้นจากคนเพียงคนเดียว แต่เกิดขึ้นจากความเป็นทีม ตั้งแต่วิสัยทัศน์ของผู้บริหารมาจนถึงคุณภาพของบุคคลากร 

ถ่ายภาพร่วมกับพี่ ๆ ในทีมวิดีโอ ที่ดูแลเดียร์ตลอดการฝึกงาน ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ ^___^

บทสรุปของการฝึกงาน

การเรียนรู้สำคัญที่ได้จากการฝึกงานครั้งนี้ คือ การได้รู้จักโลกแห่งการทำงานจริง กว่าจะมาเป็นคอนเทนต์ที่มีคุณภาพสักหนึ่งคอนเทนต์ต้องใส่ใจเรียนรู้ พัฒนา และปรับแก้ไขงานตนเองอย่างสม่ำเสมอ เรียกได้ว่าต้องผ่านกระบวนการที่ต้องทุ่มเททั้งความคิด และการลงมือทำ  

นอกจากนั้น สิ่งสำคัญและประทับใจที่สุดที่ได้จากการฝึกงาน เป็นการได้เห็นและได้ทำงานกับคนเก่ง ๆ จำนวนมาก ทำให้ระยะเวลาเกือบ 3 เดือนของการอยู่ที่นั่น คือช่วงเวลาแห่งการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่มีคุณภาพ

โลกแห่งการทำงานจริงที่ได้เห็น ผ่านการฝึกงานที่ THE STANDARD ในครั้งนี้  จึงเป็นเหมือนมาตรฐานที่จะคอยเตือนใจ เพื่อให้การลงมือทำงานที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต นำไปสู่การเกิดผลงานที่มีคุณภาพอย่างสร้างสรรค์

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR402 Journalism Internship Section 4222 ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ขจรจิต บุนนาค

Writer & Photographer

รองบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์บ้านกล้วยออนไลน์ หลงใหลในการได้พบเจอและฟังเรื่องราวดี ๆ ของคนที่มีพลังงานดี เชื่อว่าพลังงานจากคนรอบตัวเหล่านี้คือวัตถุดิบชั้นดีที่เติมชีวิตให้สนุก