เมื่อการเรียนรู้หรือการศึกษาไม่ได้จำกัดอยู่ในระบบโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา การเรียนที่เกิดขึ้นที่บ้านหรือการจัดการศึกษาโดยพ่อแม่ผู้ปกครองที่เรียกว่า โฮมสคูล จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

คุณสรวุฒิ พ่วงนาค อาจารย์สอนเปียโน อดีตนักเรียนโฮมสคูล กล่าวว่า ปัญหาของระบบการศึกษาคือการที่นักเรียนถูกตีกรอบด้วยกฎเกณฑ์ ทำให้ไม่สามารถเรียนรู้หรือแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่ตนเองต้องการ ด้าน คุณธนภณ เรืองมณฑป ผู้ปกครองนักเรียนโฮมสคูล เผยว่าการเรียนแบบโฮมสคูลไม่ใช่กระแสที่ทุกคนจะทำตาม แต่ควรจะศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละครอบครัว

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา คุณสรวุฒิ พ่วงนาค อาจารย์สอนเปียโน อดีตนักเรียนโฮมสคูล กล่าวว่าน้องสาวของตนได้เริ่มเรียนแบบโฮมสคูลก่อนตั้งแต่วัยอนุบาล เพราะรู้สึกไม่ชอบการเรียนในโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่จึงได้ปรึกษาและหาข้อมูลเพื่อให้น้องทดลองเรียนแบบโฮมสคูล ส่วนของตนเองนั้นเกิดจากความกดดันในช่วงมัธยม เพราะตนเป็นนักเรียนทุนเรียนดีต้องอ่านหนังสือตลอดเวลารู้สึกไม่มีความสุข จึงเปลี่ยนมาเรียนในรูปแบบโฮมสคูลตั้งแต่ช่วงมัธยมต้นจนถึงมัธยมปลาย

คุณสรวุฒิ พ่วงนาค อาจารย์สอนเปียโน อดีตนักเรียนโฮมสคูล

คุณสรวุฒิ กล่าวต่อว่า การเรียนแบบโฮมสคูลสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือความสุขอันเกิดจากการที่ไม่ต้องทำตามกฎเกณฑ์ในสิ่งที่ตนไม่อยากทำ เพราะได้ตระหนักว่ากฎเกณฑ์เหล่านั้นไม่มีผลต่อการเรียน เช่น การตัดผมสั้น การใส่ถุงเท้าขาวไปโรงเรียน และมีเวลาทำในสิ่งที่ตนเองชอบมากกว่าตอนเรียนในโรงเรียน อีกทั้งยังมีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นเพราะต้องมีการวางแผนการเรียนในทุกวัน แต่จะมีข้อเสียเกิดขึ้นถ้าไม่มีการวางแผนการเรียนให้ชัดเจนจะส่งผลให้แต่ละวันไม่เกิดประโยชน์ หากไม่มีเป้าหมายให้เริ่มจากสิ่งที่ตนเองชอบเพื่อเป็นจุดเริ่มของการเรียนรู้

คุณธนภณ เรืองมณฑป ผู้ปกครองนักเรียนโฮมสคูล

ด้าน คุณณธนภณ เรืองมณฑป ผู้ปกครองนักเรียนโฮมสคูล เปิดเผยว่า เพื่อต้องการให้ลูกเรียนรู้ในสิ่งที่ทางโรงเรียนไม่มีสอน เช่น การปลูกข้าว ประสบการณ์จากสังคม ตนจึงตัดสินใจให้ลูกเรียนโฮมสคูลตอนอายุ 7 ปี จนปัจจุบันอายุ 9 ปี ก็ยังเรียนอยู่ โดยวิชาที่สอนลูกจะเหมือนกับทางโรงเรียน มี 8 สาระการเรียนรู้ โดยแต่ละวันจะมีการวางแผนการเรียนคล้ายกับโรงเรียน แต่จะใช้ประสบการณ์มาช่วยเสริมมากกว่าที่จะศึกษาแค่ในตำราเรียน

คุณธนภณกล่าวเพิ่มเติมว่า การเรียนแบบโฮมสคูลจะมีความใกล้เคียงกับการเรียนในระบบการศึกษาทั่วไป เพียงแต่โฮมสคูลจะมีอิสระในการเรียนรู้มากกว่า เพราะเด็กสามารถเรียนรู้ สัมผัสประสบการณ์ในสถานการณ์จริงและมีเวลาค้นหาในสิ่งที่ตนเองชอบเร็วกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน

อีกทั้งการเรียนในรูปแบบโฮมสคูลมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือเด็กได้มีการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีมนุษยสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่หลากหลาย สืบเนื่องมาจากการที่ได้เรียนรู้และทำกิจกรรมตามสถานที่ต่าง ๆ ทำให้พบเจอสังคมที่กว้างขึ้น อย่างไรก็ตามข้อเสียก็สามารถเกิดจากผู้ปกครองที่ใช้ตนเองเป็นศูนย์กลาง อาจจะตัดสินใจแทนเด็ก มากกว่าที่จะสนใจความชอบและการเรียนรู้ของเด็ก

ในอนาคตหากเด็กต้องการเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนก็สามารถทำได้ เนื่องจากการเรียนแบบโฮมสคูลได้รับการจดทะเบียนกับเขตการศึกษาและมีการสอบวัดระดับทุกปี จึงสามารถนำใบที่สอบผ่านไปยื่นกับทางโรงเรียนเพื่อเรียนเทียบในระดับชั้นนั้นได้

ทั้งนี้คุณธนภณ กล่าวทิ้งท้ายว่า โฮมสคูลไม่ใช่กระแสและไม่ใช่เรื่องง่าย การเรียนในรูปแบบนี้จะไม่เกิดประโยชน์ ถ้าหากผู้ปกครองไม่ใส่ใจหรือไม่ฟังความคิดเห็นของเด็ก ครอบครัวต้องมีการวางแผนในทิศทางที่ดี มีความพร้อม มีความเข้าใจถึงจุดประสงค์ที่จะสนับสนุนรูปแบบของการเรียนนอกระบบ

โฮมสคูล อีกหนึ่งทางเลือกของระบบการศึกษา

Reference & Bibliography

  • คุณสรวุฒิ พ่วงนาค อาจารย์สอนเปียโน อดีตนักเรียนโฮมสคูล
  • คุณณธนภณ เรืองมณฑป ผู้ปกครองนักเรียนโฮมสคูล
  • ขอขอบคุณภาพประกอบ Unsplash: Beautiful Free Images & Pictures www.unsplash.com

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ขจรจิต บุนนาค

Writer

ตัวหนังสือเป็นหนึ่งช่องทางของการสื่อสาร เพราะเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างสามารถแสดงออกผ่านทางปลายปากกา

Photographer

ชอบท่องเที่ยวออกไปหาแรงบันดาลใจ ฝึกฝนการเขียนให้งานมีคุณภาพ การได้ลงพื้นที่ไปหาข้อมูล ได้เรียนรู้ทัศนคติของคน การกระทำและเหตุผลของแต่ละคน แล้วผลที่เราได้รับกลับเป็นสิ่งที่คุ้มค่า ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ชีวิตได้รับ