รถเมล์ เป็นรถโดยสารประจำทางประเภทหนึ่ง ที่ได้รับการความนิยมจากผู้โดยสารที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งการเดินทางถึงจุดหมายปลายทางที่ถูกต้องโดยสวัสดิภาพ และการเข้าถึงบริการรถสาธารณะตามสิทธิ์ที่พึงได้รับ ถือเป็นวัตถุประสงค์สูงสุดของผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ การเดินทางโดยรถบริการสาธารณะจึงต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารเดินทางได้อย่างปลอดภัย
แม้ป้ายโฆษณาสินค้าจะเป็นรูพรุนเพื่อให้แสงผ่าน แต่เมื่อปิดทับอยู่บนกระจกหน้าต่างย่อมทำให้เกิดความรำคาญนัยน์ตาและอาจไม่เห็นทิวทัศน์ เหตุผลเพียงเท่านี้ถือว่าผู้โดยสารได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการเดินทางแล้ว
คำบรรยายพร้อมภาพที่มีเนื้อหาในเชิงวิจารณ์บริการสาธารณะ ถูกเผยแพร่ลงบนสื่อสังคมออนไลน์ ในวันที่ 9 สิงหาคม 2562 โดย เพจกฎหมายใกล้มอ กลายเป็นกระแสที่ทำให้ผู้คนบนโลกโซเชียลต่างออกมาแสดงความเห็นในเชิงตั้งคำถามกับภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า โฆษณาบนกระจกรถเมล์ บดบังสิทธิ์ผู้โดยสารที่พึงได้รับหรือไม่
หากย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2550 คดีหมายเลขแดงที่ อ.231/2550 หรือ ‘คดีขูดลอกแผ่นป้ายโฆษณาบนหน้าต่างรถไฟ’ ที่มีกรณีการฟ้องร้องที่เกี่ยวข้องกับ ‘การติดแผ่นโฆษณาบนขนส่งสาธารณะ’ ซึ่งกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่าง คุณปรีชา เชื้อพลากิจ กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
โดยผู้ฟ้องคดีคือคุณปรีชา มีอาชีพรับราชการอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจะต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาที่จังหวัดเชียงใหม่ การเดินทางกลับบ้านจึงเลือกนั่งรถไฟขบวนด่วนพิเศษอยู่เป็นประจำ ซึ่งผู้เป็นโจทก์ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากการที่ได้มีการนำแผ่นป้ายโฆษณาสินค้าและบริการมาติดที่กระจกหน้าต่างของรถไฟขบวนดังกล่าว ทำให้บดบังทิวทัศน์ภายนอก ผู้โดยสารไม่อาจมองผ่านกระจกออกไปเพื่อพักสายตาได้ ส่งผลให้คุณปรีชาเกิดอาการคลื่นไส้ และด้วยการเดินทางโดยรถไฟที่ยาวนานกว่า 10 ชั่วโมง จึงเป็นการทรมานใจและกายอย่างยิ่ง ต่อมาได้มีการยื่นหนังสือร้องทุกข์ และท้ายที่สุดศาลปกครองสูงสุด ได้พิจารณาคดีความดังกล่าวว่า
“การที่การรถไฟแห่งประเทศไทยยินยอมให้เอกชนติดตั้งป้ายโฆษณาที่กระจกหน้าต่างรถโดยสาร แม้แผ่นป้ายโฆษณาจะเป็นรูพรุนเพื่อให้แสงผ่านและสามารถมองผ่านกระจกหน้าต่างได้ แต่ก็จะเห็นภาพเพียงราง ๆ ส่งผลให้เกิดอาการตาพร่ามัวและคลื่นไส้ ทำให้ผู้โดยสารไม่อาจใช้ประโยชน์จากหน้าต่างรถโดยสารได้ตามวัตถุประสงค์ที่ควรเป็น การให้บริการรถโดยสารสาธารณะที่ไม่มีหน้าต่าง จึงเป็นการปฏิบัติต่อผู้โดยสารเยี่ยงวัตถุ ถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้โดยสาร” และมีคำสั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขูดลอกแผ่นป้ายโฆษณาและทำความสะอาดกระจกหน้าต่างรถไฟทุกขบวนในเวลาต่อมา
ข้อมูลข้างต้นคือ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.231/2550 หรือที่เรียกว่า คดีขูดลอกแผ่นป้ายโฆษณาบนหน้าต่างรถไฟ ซึ่งกรณีการฟ้องร้องดังกล่าว กลายเป็น ‘ปฐมบท’ ที่ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวกันในเรื่องสิทธิ์ที่ควรจะได้รับจากการใช้บริการขนส่งสาธารณะ
จากแบบสำรวจความคิดเห็นเรื่อง ‘การติดโฆษณาบนกระจกรถเมล์ กับการลิดรอนสิทธิ์ของผู้โดยสาร’ ผู้สื่อข่าวได้จัดทำแบบสอบถาม มีผู้เข้ามาตอบแบบสำรวจ 485 คน พบว่า 411 ความคิดเห็น คิดเป็นร้อยละ 85.3 เห็นว่า การติดโฆษณาบนกระจกรถเมล์ ทำให้ผู้โดยสารไม่สามารถมองเห็นทัศนียภาพภายได้อย่างชัดเจน ขณะที่ 373 ความคิดเห็น คิดเป็นร้อยละ 77.9 มองว่าโฆษณาบนกระจกรถเมล์ เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้โดยสารเกิดอาการวิงเวียนปวดศรีษะและตาลาย และ 371 ความคิดเห็น คิดเป็นร้อยละ 77.3 มองว่าการติดโฆษณาบนกระจกรถเมล์บดบังป้ายบอกเส้นทางการเดินทาง และหมายเลขรถประจำทาง
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่เพื่อทดสอบระดับความโปร่งแสงของโฆษณาที่ติดบนกระจกรถเมล์ด้วยการสังเกตโดยสายตา ณ จุดรอรถประจำทางบริเวณหน้าศูนย์การค้าชื่อดังย่านรังสิตพบว่า ถ้ามองจากภายนอกรถโดยสารปรับอากาศที่ติดโฆษณาส่วนใหญ่ ‘ไม่สามารถมองทะลุผ่านเข้าไปภายในห้องโดยสาร’ อย่างชัดเจน แม้จะเป็นเวลากลางวันอันเป็นเวลาที่มีแสงแดดให้ความสว่าง บางคันมองไม่เห็นแม้แต่กระทั่งป้ายบอกเส้นทางเดินรถเลย
เมื่อเข้าไปข้างในรถโดยสาร ผู้สื่อข่าวได้เลือกนั่งบริเวณริมหน้ากระจกที่มีการติดโฆษณาพบว่า ไม่สามารถมองเห็นเส้นทางภายนอกได้ชัดเจน ทั้งนี้ในช่วงของการทดสอบเกิดฝนตก ทำให้ทัศนวิสัยการมองเห็นแย่ลงกว่าเดิม จากข้อสังเกตข้างต้นจึงสอดคล้องกับความเห็นส่วนใหญ่ของประชาชน ที่มองว่าการติดแผ่นป้ายโฆษณาบนกระจกรถเมล์ เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นเส้นทางของผู้โดยสาร
หากเปิดข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องดูจะพบว่า การติดป้ายโฆษณาที่หน้าต่างรถเมล์นั้นเป็นไปตาม พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ให้อำนาจในการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2524) โดยกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 1 (2) (จ) กำหนดให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบกมีอำนาจประกาศกำหนดตัวอักษรภาพหรือเครื่องหมายอื่นใดที่ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านท้ายของตัวรถโดยสาร ซึ่งได้มีประกาศกรมการขนส่งทางบกเรื่อง ‘ตัวอักษรภาพหรือเครื่องหมายเพื่อการโฆษณาที่ตัวถังรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารประจําทางและไม่ประจําทาง’ พ.ศ. 2555 กำหนดให้รูปภาพเพื่อการโฆษณานั้น อาจจัดทําในลักษณะเป็นสติ๊กเกอร์แผ่นฟิล์มปรุ หรือวัสดุอื่นใดที่เหมาะสมกับการติดที่ตัวถังรถซึ่งต้องทำจากวัสดุโปร่งแสง เพื่อที่จะให้ผู้โดยสารภายในรถเมล์สามารถมองเห็นเส้นทางภายนอกได้ และบุคคลภายนอกเองก็ต้องสามารถมองเห็นสภาพภายในรถได้ด้วยเหมือนกัน
สำหรับพื้นที่การโฆษณานั้น ได้กำหนดให้ต้องมีขนาดไม่เกินความยาว และความสูงของตัวถังรถ ในส่วนบริเวณที่เป็นกระจกหรือบานหน้าต่างสามารถติดได้ โดยมีขนาดความสูงไม่เกิน 30 เซนติเมตร เมื่อวัดจากส่วนขอบกระจกหรือขอบหน้าต่างด้านล่างขึ้นไป ซึ่งรถโดยสารที่ประสงค์จะติดรูปภาพเพื่อการโฆษณานั้น จะต้องยื่นขออนุญาตก่อนที่จะดําเนินการ โดยทางกรมการขนส่งทางบกจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาอนุญาตการติดป้ายโฆษณา และหากตรวจสอบแล้วผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดก็อนุญาตให้สามารถติดได้
คุณสุภา โชติงาม ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมการขนส่งทางบก ได้ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า ในอดีตการติดโฆษณาบนหน้าต่างรถเมล์นั้นมีความเข้มและทึบแสงกว่าในปัจจุบันมาก แต่เนื่องด้วยคำนึงถึงสิทธิ์และสวัสดิภาพของผู้โดยสาร ที่ควรจะได้รับในขณะโดยสารรถประจำทาง รวมถึงมีข้อกรณีการฟ้องร้องเกี่ยวกับการติดแผ่นป้ายโฆษณาบนหน้าต่างรถไฟ จึงได้มีการปรับแก้ไขประกาศกรมการขนส่ง พ.ศ. 2555 ส่งผลให้โฆษณาบนกระจกรถเมล์ในปัจจุบันมีความโปร่งแสงมากขึ้น
“การติดแผ่นป้ายโฆษณาที่หน้าต่างรถเมล์ จะมีหลักเกณฑ์ว่าสามารถติดอย่างไงได้บ้าง อย่างเช่น ติดแล้วจะไม่กระทบต่อศีลธรรมอันดีงาม หรือต้องไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างองค์กรกับรัฐ รวมถึงติดแล้วสามารถมองเห็นได้ทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งทางกรมขนส่งทางบกเองก็ได้มีหลักเกณฑ์ที่กำหนดอยู่อย่างชัดเจน ตามประกาศกรมขนส่งปี 2555” คุณสุภากล่าว
ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมขนส่งทางบก ได้กล่าวให้ความเห็นว่า กรณีผู้โดยสารร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้บริการรถเมล์ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใด ๆ ทางหน่วยงานไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่ผู้โดยสารได้มีการเรียกร้อง ซึ่งหากเกิดความบกพร่องในการให้บริการ ก็จะนำมาปรับแผนและพัฒนาให้ดีขึ้น และพร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับความปลอดภัยและความสะดวกสบายของผู้โดยสาร
หากพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด คดีการติดโฆษณาบนหน้าต่างรถไฟ เมื่อปี 2550 จะพบว่า ศาลตีความว่าการติดโฆษณาบนกระจกรถไฟ ทำให้ผู้โดยสารไม่สามารถใช้ประโยชน์ของหน้าต่างได้ตามวัตถุประสงค์ และเปรียบเสมือนไม่มีหน้าต่างอยู่จริง ถือว่าการรถไฟปฏิบัติต่อผู้โดยสารเยี่ยงวัตถุ และถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน
ด้าน คุณนฤนาท คุ้มไพบูลย์ นักวิชาการสิทธิมนุษยชนชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า หากมองถึงคำวินิจฉัยของศาลปกครอง คดีแดงหมายเลข อ.231 /2550 หรือคดีขูดลอกแผ่นป้ายโฆษณาบนหน้าต่างรถไฟนั้น สามารถตีความได้ว่า การติดโฆษณาบนกระจกรถเมล์ ถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีมนุษย์ ของผู้โดยสาร เนื่องจากลักษณะการร้องเรียนมีความคล้ายคลึงกัน ดังนั้นกรณีรถเมล์อาจตีความได้ว่าการที่ผู้โดยสารมองไม่เห็นเส้นทางภายนอกซึ่งเป็นผลมาจากการติดโฆษณาบนกระจก อาจถือว่าผู้ประกอบการปฏิบัติต่อผู้โดยสารเยี่ยงวัตถุ
สิ่งที่ตามมาคือ ผลกระทบด้านสิทธิ์ที่ผู้โดยสารพึงได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้โดยสารไม่สามารถมองเห็นทัศนียภาพภายนอกเพื่อพักผ่อนสายตาได้ จนเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาทางสุขภาพตามมา และการที่ผู้โดยสารไม่สามารถมองเห็นเส้นทางภายนอกรถได้อย่างชัดเจน อาจส่งผลให้นั่งรถเมล์เลยป้าย ซึ่งต้องเสียเงินเดินทางกลับมายังจุดหมายที่ประสงค์ลงรถ ผลกระทบด้านสุดท้ายเป็นเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร เนื่องจากหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน อาทิ เกิดเหตุเพลิงไหม้ หรือการจี้ปล้นภายในรถ เจ้าหน้าที่หรือบุคคลภายนอกอาจมองไม่เห็นเหตุการณ์ภายในและไม่สามารถที่จะให้การช่วยเหลือได้ทันเนื่องจากโฆษณาบนกระจกบดบังภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในรถโดยสาร
“นอกจากจะมองในเรื่องของการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยังสามารถมองในแง่ของ สุขภาพ อุปสรรคในการเดินทาง และสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้โดยสารบนรถเมล์ได้อีกด้วย ยกตัวอย่างง่าย ๆ หากภายในรถเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ต้องคำนึงด้วยว่าบุคคลภายนอกนั้นสามารถมองเห็นเหตุการณ์ภายในรถโดยสารได้อย่างชัดเจนหรือไม่ ซึ่งสังเกตเห็นว่ารถเมล์บางคันมีการติดแผ่นป้ายโฆษณาบนกระจกที่หนาจนคนข้างนอกไม่สามารถมองทะลุเข้าไปข้างในตัวรถได้เลย ทั้งนี้ต้องฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลตรงจุดนี้ด้วย” นักวิชาการสิทธิมนุษยชนชำนาญการพิเศษ กล่าว
ทั้งนี้คุณนฤนาท ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า แม้เรื่องสิทธิมนุษยชนในเมืองไทยจะเป็นเรื่องใหม่อยู่ แต่ประชาชนควรศึกษาและความสำคัญ เพื่อรักษาสิทธิ์ที่พึงจะได้รับในด้านต่าง ๆ ซึ่งรัฐก็ต้องมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือประชาชนทันทีที่มีการร้องเรียน
“เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก เป็นเรื่องอำนาจในตัวเราเอง ความชอบธรรมในตัวเราเอง เป็นเรื่องความอิสระ และเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีที่เราเป็นคนคนหนึ่งในสังคม ทุก ๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชนหมดเลย อันที่จริงแล้วความเชื่อมโยงระหว่างเรื่องสิทธิ์กับตัวอำนาจรัฐนั้น รัฐต้องมีความผูกพันกับสิทธิ์นั้น คือถ้าประชาชนอ้างถึงสิทธิ์เมื่อไหร่ เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องมาคุ้มครองประชาชนทันที” คุณนฤนาท คุ้มไพบูลย์ นักวิชาการสิทธิมนุษยชนชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้าย
ข้อมูลที่ได้รับจาก นักวิชาการสิทธิมนุษยชนชำนาญการพิเศษ สอดคล้องกับความเห็นของ ว่าที่ร้อยตรี ศรัณยู โสสิงห์ นิติกรปฏิบัติการ กองการเจ้าหน้าที่ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แอดมินเพจ กฎหมายใกล้มอ ผู้ปลุกกระแสสังคมในโลกโซเชียลมีเดีย เรื่องการลิดรอนสิทธิ์ที่ผู้โดยสารพึงได้รับ โดยมองว่าการลิดรอนสิทธิ์ดังกล่าว เกิดจากการที่ข้อกฎหมายไม่ได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนในเรื่องระดับของความโปร่งแสงของโฆษณา รวมถึงขั้นตอนการตรวจสอบที่มีการใช้สายตาของเจ้าหน้าที่มาวัดความโปร่งแสงโดยไม่มีเครื่องมือที่เป็นมาตฐาน ถือเป็นการใช้ความรู้สึกของผู้ตรวจสอบซึ่งไม่เป็นธรรม เนื่องจากเจ้าหน้าที่แต่ละคนอาจมีมาตรฐานสายตาที่ไม่เท่ากัน บางคนอาจสายตาดี บางคนอาจสายตาไม่ดี ดังนั้นภาพที่เห็นอาจมีความชัดเจนคนละระดับกัน
“การวัดจากความรู้สึกวัดจากสายตามันเป็นการวินิจฉัยโดยใช้สายตาของบุคคล บางคนตาดี ก็เห็น บางคนตาไม่ดี ก็ไม่เห็น วิธีการแก้ไขคืออาจต้องมีเครื่องมือในการวัด หรือถ้าไม่มีเครื่องมือ ก็ควรที่จะกำหนดขนาดความถี่ของรอยปรุ ซึ่งต้องได้ฟังเสียงจากผู้บริโภคว่าเท่าไหร่ถึงจะพอใจ รวมถึงกำหนดวัสดุในการทำ แต่การที่จะทดสอบโดยการมองอาจไม่พอ ควรกำหนดหลักเกณฑ์ให้แน่ชัด” ว่าที่ร้อยตรี ศรัณยู กล่าว
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกควรเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหา โดยทำการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ และตกลงกับบริษัทเอกชนที่วิ่งรถ เพื่อให้เกิดคำตอบที่ส่งผลทางด้านบวกของทั้งสองฝ่าย แล้วออกกฎเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานในการใช้วัดระดับความโปร่งแสง สุดท้ายฝากถึงผู้บริหารของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อจะได้เห็นถึงปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงเข้มงวดในการใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบ ทั้งฝ่ายภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง สำหรับผู้โดยสารต้องพึงระลึกถึงสิทธิที่ตนควรได้รับไม่ควรนิ่งเฉยแล้วปล่อยให้เกิดปัญหาต่อไปโดยไม่ร้องเรียน
“ผมว่าปัญหาดังกล่าว จริง ๆ แล้วเกิดจากการที่การบังคับใช้กฎระเบียบต่าง ๆ ยังไม่เข้มข้น ดังนั้นผู้บริหารในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจจะเป็นอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ควรที่จะลงมาดูสภาพหน้างานที่เกิดขึ้น เพื่อทราบข้อเท็จจริงว่าอะไรคือปัญหาที่จะต้องแก้ไขในประเด็นนี้ ด้านคนที่เป็นผู้โดยสารเอง ต้องพึงระลึกว่า เรามีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถาม มีสิทธิ์ที่จะได้รับการบริการที่ดี ถ้าประชาชนไม่พูด หน่วยงานที่ดูแลอาจไม่ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้นคนในสังคมควรใช้สิทธิ์ของตนให้เต็มที่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น” ว่าที่ร้อยตรี ศรัณยู โสสิงห์ กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตามการตั้งคำถามเชิงวิจารณ์ในกรณีดังกล่าว น่าจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องในการให้บริการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจไม่ได้เกิดจากความละเลยเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นการ ‘มองข้าม’ สวัสดิภาพของผู้โดยสารที่พึงได้รับตาม ‘สิทธิ์’ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ ถือเป็นสิ่งสำคัญ หากถูกละเมิด ควรที่จะได้รับความคุ้มครอง อีกทั้งยังต้องเร่งรีบหาวิธีในการปรับแก้ไข เพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ทั้งนี้ ผู้โดยสารและประชาชนควรตระหนักถึงเรื่องสิทธิ์ที่ควรจะได้รับบริการที่ดีจากภาครัฐ หากมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือถูกลิดรอนสิทธิ์ ก็ควรเปล่งเสียงออกมาเพื่อเรียกร้องให้เกิดสวัสดิการที่ดีขึ้น
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้