การดูแลสุขภาพร่างกายมีอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือการจัดวางท่าทางของร่างกายให้เหมาะสม ส่งเสริมบุคลิกภาพที่ดี และช่วยให้สุขภาพแข็งแรงอีกด้วย

ทีมพัฒนาเก้าอี้ เอ.ไอ.เพื่อสุขภาพ อดีตนักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า จากปัญหาใกล้ตัวที่คนทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ทุกคนต้องเจอ ทำให้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหานั่งผิดท่าในชีวิตประจำวัน โดยพัฒนาระบบแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือ เป็นการผสมผสานความรู้ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จนเกิดเป็นผลงานนวัตกรรมเก้าอี้ เอ.ไอ.เพื่อสุขภาพขึ้นมา

เก้าอี้เอ.ไอ.

เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2563 ที่ผ่านมา คุณปุณวัชร รุจิวิพัฒน์ ทีมพัฒนาเก้าอี้เอ.ไอ. เปิดเผยว่า เก้าอี้เอ.ไอ.เพื่อสุขภาพตัวนี้ ตอบโจทย์มากสำหรับคนที่อยู่ในวัยทำงาน เพราะคนในวัยนี้มักมีท่าทางการนั่งที่ผิด ไม่ว่าจะเป็นการนั่งไขว่ห้างซ้าย-ขวา พิงพนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนั่งครึ่งก้น ซึ่งเป็นท่านั่งที่ผิดและคนไม่รู้ตัวมากที่สุด เก้าอี้ตัวนี้จะแจ้งเตือนผู้ใช้งานให้หลีกเลี่ยงท่านั่งที่ผิดเหล่านั้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อร่างกายและเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม

คุณเบญญาภา พฤกษานุศักดิ์ และคุณปุณวัชร รุจิวิพัฒน์

คุณปุณวัชร เผยต่อว่า ใช้เวลาพัฒนานวัตกรรมทั้งหมด 1 ปี ในช่วงแรกเป็นการออกแบบตัวเก้าอี้ โดยได้วางระบบการติดตั้งเซ็นเซอร์ (Force Sensor) บนเก้าอี้ว่าควรติดตั้งไว้ที่ตำแหน่งใดบ้าง เพื่อให้เซ็นเซอร์รับน้ำหนักจากผู้นั่ง ซึ่งผลที่ได้จะถูกเก็บไว้บนแพลตฟอร์มของกูเกิล  สามารถดูได้จากแอปพลิเคชันบนมือถือ โดยจะแสดงผลเป็น 2 ส่วน ทั้งลักษณะของกราฟและท่านั่ง ซึ่งจะแสดงผลท่านั่งที่ถูกต้องและท่านั่งที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงมีการบันทึกประวัติโรคออฟฟิศซินโดรมของผู้ใช้งาน

ในช่วงหลังของการพัฒนาเป็นการสร้างการเรียนรู้ภายใน (Machine Learning) โดยมีการสร้างแบบจำลองท่านั่ง จากข้อมูลที่เก็บมาจากผู้คนต่าง ๆ ว่ามีท่านั่งแบบใดบ้าง ซึ่งการจำลองพบว่ามีทั้งสิ้น 5 รูปแบบ ได้แก่ ท่านั่งหลังตรง ท่านั่งไขว้ข้างซ้าย ท่านั่งไขว้ข้างขวา ท่านั่งไม่เต็มเก้าอี้ และท่านั่งโน้มตัวไปด้านหลัง ซึ่งท่าจำลองนี้ปัญญาประเดิษฐ์ (AI) จะประมวลผลจดจำ และนำไปใช้ทำนายท่าทางการนั่งของผู้ใช้งาน

คุณเบญญาภา พฤกษานุศักดิ์ ทีมพัฒนาเก้าอี้เอ.ไอ.กล่าวว่า ในอนาคตเก้าอี้เอ.ไอ.เพื่อสุขภาพจะได้รับการพัฒนาขีดความสามารถเพิ่มขึ้น ทั้งส่วนของเก้าอี้ที่ใช้ในการทดสอบและส่วนของแอปพลิเคชันมือถือ ในส่วนแรกของเก้าอี้ อาจจะมีการสร้างแผ่นตรวจจับเคลื่อนที่กล้องอินฟาเรดเข้าไป เพื่อให้สะดวกสบายต่อการใช้งานและมีความแม่นยำมากขึ้น อีกทั้งเพิ่มเซ็นเซอร์รับแรงกดทับและติดในตำแหน่งที่เหมาะสมเพิ่มขึ้น และส่วนที่สองด้านแอปพลิเคชันมือถือจะพัฒนาให้สามารถแจ้งเตือนผู้ใช้งานผ่านไลน์ได้

อาจารย์กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี

อาจารย์กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี อาจารย์ที่ปรึกษาในทีมพัฒนา กล่าวว่า ปัญหาโรคออฟฟิศซินโดรม สามารถแก้ไขได้ หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนั่งของตนเอง ซึ่งเก้าอี้เอ.ไอ.เพื่อสุขภาพก็จะเป็นตัวช่วยหนึ่งให้ผู้ใช้งานนั่งท่าให้ถูกวิธีเพราะจะส่งผลดีต่อร่างกายของผู้ใช้เองได้ในระยะยาว

2 ศิษย์เก่ามหิดลสุดเจ๋ง! ผุดเก้าอี้ปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะ แก้ปัญหานั่งไม่ถูกท่า

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ขจรจิต บุนนาค

Writer

เชื่อว่าการอ่านทำให้เห็นถึงมุมมอง ทัศนคติ รักการเขียนพอ ๆ กับการอ่าน และการได้กลิ่นหน้าของหนังสือ ชอบเดินทาง พร้อมกับได้ชิมของอร่อย และฟังเสียงบทสนทนาของผู้คน

Photographer

ตัวหนังสือเป็นหนึ่งช่องทางของการสื่อสาร เพราะเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างสามารถแสดงออกผ่านทางปลายปากกา