ในทุกวันนี้เรามักได้ยินเสียงเสียงพร่ำบ่นถึงความเจ็บปวดในร่างกายของคนช่วงวัยเรียนจำนวนไม่น้อย จากการใช้ชีวิตอย่างไม่ระมัดระวัง หลาย ๆ คนเลือกละเลยร่างกายที่ถูกการใช้งานอย่างหนัก เพราะคิดว่าเป็นเรื่องเสียเวลาและมักใช้ข้ออ้างว่า “อายุยังน้อย คงไม่เป็นไรหรอก” อีกทั้งปล่อยให้ความเจ็บปวดนั้นกลายเป็นเรื่องเคยชินในชีวิต
เราได้สำรวจพฤติกรรมและอาการเจ็บปวดของวัยรุ่นที่ยังไม่เข้าสู่ช่วงวัยทำงานเฉลี่ยอายุ 15-25 ปี จำนวน 50 คน พบว่าร้อยละ 75 มีอาการปวดไหล่ ปวดบ่า ลามไปถึงหลัง เป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปี แต่สิ่งที่น่าตกใจไปมากกว่านั้นคือจากข้อมูลเผยว่าร้อยละ 35 เลือกที่จะปล่อยให้ตนเองเจ็บปวดอย่างนั้นต่อไปโดยไม่คิดหาต้นตอและวิธีการรักษา
ดร.นิวัฒน์ พนมสารนรินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคศิลปะโดยอาศัยศาสตร์แบบไคโรแพรคติก เพื่อรักษาอาการของโรคออฟฟิศซินโดรม ดร.นิวัฒน์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคดังกล่าวว่า ออฟฟิศซินโดรมเป็นเพียงชื่อเล่นที่ใช้กับกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ โดยการปวดจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ปวดหลังช่วงบน (UPPER CROSS) ตั้งแต่บริเวณต้นคอจนถึงบริเวณไหล่ และปวดหลังช่วงล่าง (LOWER CROSS) ตั้งแต่บริเวณสะโพกลงไป และโรคนี้สามารถเกิดได้กับทุกอาชีพและทุกวัยที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิม ๆ อย่างหนักเป็นเวลาต่อเนื่อง (OVERUSE) จนเกิดการอักเสบเรื้อรัง
สิ่งที่หลายคนหลงลืมหรือชะล่าใจคือ กล้ามเนื้อของทุกคนจะเชื่อมติดกับกระดูก โดยเฉพาะกระดูกของคนที่อายุ 10-18 ปีนั้น กำลังอยู่ในช่วงยืดขยายทำให้กระดูกยังไม่แข็งแรงพอซึ่งเทียบเท่ากับผู้สูงอายุที่เป็นโรคกระดูกพรุน ฉะนั้นถ้ามีกิจกรรมที่ต้องใช้กล้ามเนื้อส่วนเดิม ๆ เป็นประจำก็อาจทำให้ปวดเมื่อยได้ง่าย ดังนั้นวัยรุ่นทุกคนควรรีบหยุดพฤติกรรมที่ต้องใช้กล้ามเนื้อบริเวณเดิม ๆ อย่างหนัก เพื่อป้องกันโรคที่อาจตามมาในอนาคต เช่น โรคหมอนรองกระดูกอักเสบ ซึ่งวิธีการรักษาจะยากกว่าเดิมหลายเท่าทวีคูณ
เราขอเชิญชวนวัยรุ่นทุกคนมาสำรวจพฤติกรรมของตนเองที่อาจนำไปสู่การป่วยเป็นออฟฟิศซินโดรม พร้อมแนะนำวิธีดูแลตนเองให้หนีห่างจากโรคนี้ โดยเริ่มต้นกันที่
5 พฤติกรรมที่คนวัยเรียนมักทำจนติดเป็นนิสัย
ทำตัวเป็นรูปปั้นที่ถูกตั้งอยู่หน้าคอม
พฤติกรรมการนั่งแช่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานโดยไม่คิดจะขยับร่างกายหรือเปลี่ยนอิริยาบถ โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ชอบนั่งทำงานทำการบ้านข้ามวันข้ามคืนเพื่อให้ส่งทันเวลา ขืนทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนติดเป็นนิสัยจะทำให้ปวดกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกเนื่องจากถูกกดทับเพราะต้องนั่งเป็นเวลานาน
ใช้โต๊ะทำงานเป็นที่ตั้งแคมป์ปิ้ง
โต๊ะทำงานที่ควรจะเป็นจุดที่เป็นระบบระเบียบเพื่อเอื้อต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพแต่กลับมีชามข้าว ถุงขนม หมอนผ้าห่ม วางกองสุม ๆ เหมือนจะตั้งแคมป์ปิ้ง ที่ขาดก็คงจะเหลือแค่ก่อกองไฟ การทำแบบนี้นอกจากจะทำให้การทำงานของคุณไม่สะดวกสบายแล้ว ยังนำมาซึ่งเชื้อโรคและแบคทีเรียอันเกิดจากการสะสมของขยะที่กองรวมกันอยู่บนโต๊ะ เพราะทำเช่นนี้ คุณจะไม่ป่วยได้อย่างไร
เล่นโทรศัพท์มือถือจนกลายเป็นอวัยวะที่ 33
พฤติกรรรมที่ตื่นนอนจับโทรศัพท์เป็นสิ่งแรก ก่อนเข้านอนวางโทรศัพท์เป็นสิ่งสุดท้าย ไม่ว่าจะทำอะไรอันเป็นต้องมีโทรศัพท์อยู่ในมือเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของเป็นอวัยวะในร่างกายเพราะด้วยความที่ตัวมือถือถูกออกแบบมาให้พกพาได้สะดวก ทำให้วัยรุ่นเราติดเล่นโทรศัพท์จนเคยชิน โดยส่งผลเสียต่อกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอเพราะต้องก้มมองหน้าจอ ซึ่งพฤติกรรมนี้ถือเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลทำให้เกิดโรคออฟฟิศซินโดรมมากที่สุด
สาย Drink จน Drunk
หลายคนคงทราบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มตัวร้ายที่ส่งผลเสียต่อร่างกายแต่บางคนก็ยังเลือกที่จะดื่ม เพื่อเพิ่มความสุนทรียในการใช้ชีวิต แน่นอนว่ามันต้องพ่วงมากับการนอนดึก ต่อให้คุณอายุยังน้อยแต่ถ้าหากไม่รีบปรับปรุงตัวจนเกิดการสะสมของพิษสุราแน่นอนว่ามันจะยิ่งทำให้ร่างกายของคุณเสื่อมโทรมเร็ว ไม่เพียงแต่จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคออฟฟิศซินโดรมได้ง่ายแต่จะนำมาซึ่งโรคอื่น ๆ ซึ่งน่ากลัวกว่าหลายเท่า
ออกกำลังกายน้อยแต่ออกนะ
ประโยชน์ของการออกกำลังกายนั้นมีมากมายมหาศาล ลองสังเกตคนที่สุขภาพดีส่วนใหญ่กิจกรรมยามว่างของพวกเขาเหล่านั้นคือการออกกำลังกาย แต่วัยรุ่นบางคนสมัยนี้มัวแต่รอจังหวะ รอเวลาว่าง ถึงจะทำ พอคิดแบบนั้นก็ยิ่งบั่นทอนตนเองทำให้ไม่ได้ลงมือทำเสียที หรือทุกคนกำลังรอความเจ็บป่วยเข้ามาเยือนก่อนถึงจะลุกขึ้นไปออกกำลังกาย
จาก 5 พฤติกรรมที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นแล้วว่าความน่ากลัวของโรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นและทำร้ายคุณโดยเฉียบพลันแต่อาการของโรคมันค่อย ๆ แสดงออกมาผ่านพฤติกรรมที่ไม่ดีที่คุณทำติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และไม่เคยคิดหาทางแก้ไข แต่ถ้าหากคุณเปิดใจและพร้อมปรับเปลี่ยนตนเอง
5 วิธีป้องกันตนเองให้ห่างไกลโรคออฟฟิศซินโดรม
เรามีวิธีป้องกันตนเองจากโรคออฟฟิศซินโดรม โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลยแม้แต่บาทเดียว มาแชร์ให้กับทุกคน
วิธีที่ 1 ยืดคอขึ้นแล้วหมุน ๆ กางขาขึ้นเหยียดไปมา วิธีนี้จะทำให้คุณได้ขยับตัวเปลี่ยนท่าบ้างหลังจากการนั่งแช่เป็นรูปปั้นอยู่นาน นอกจากการ หมุนคอกางขาแล้ว ควรกำและแบมือของคุณประมาณ 20 ครั้ง ทุก ๆ 10 นาที เพื่อป้องกันอาการนิ้วล็อค เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ร่างกายคุณรู้สึกผ่อนคลายและพร้อมลุยงานต่อไปได้แบบยาว ๆ แล้ว
วิธีที่ 2 บนโต๊ะทำงานเอาอาหารสายตาตั้งบ้าง อาหารที่ว่านี้ไม่ใช่การป้อนอาหารเข้าทางดวงตาหรืออย่างไร แต่เป็นการหาสิ่งที่ชักจูงใจเพื่อให้คุณได้ละสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์มามองบ่อย ๆ เช่น ภาพคนรักหรือคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณ ตุ๊กตาเน่าตัวเก่ง หรือ โมเดลหุ่นยนต์ตัวที่คุณโปรดปราน เป็นต้น ยังไงถ้าเอามาตั้งแล้วก็อย่าลืมสนใจเขาบ่อย ๆ เพราะเดี๋ยวเขาจะน้อยใจเอา
วิธีที่ 3 พกกระบอกน้ำคู่ใจ เหมือนมีคู่ชีวิตคอยเคียงข้าง หลายงายวิจัยบอกว่าการจิบน้ำบ่อย ๆ แม้จะทำให้เราปวดปัสสาวะแต่ประโยชน์ของน้ำนั้นมหาศาล เพราะจะช่วยให้เลือดลมของคุณหมุนเวียนได้ดี สดชื่นกระปรี้กระเปร่าทั้งกายและใจ เหมือนได้คู่ชีวิตที่พร้อมจะดูแลคุณไปตลอด แต่ถ้าหากคนที่ยังไม่มีใคร คงต้องกอดกระบอกน้ำแก้เหงาไปพลาง ๆ ก่อนนะคะ
วิธีที่ 4 พักจากงานออกไปอัพเดทชีวิตคนอื่นบ้าง การตั้งใจทำงาน ทำโปรเจค อ่านหนังสือ เป็นสิ่งที่ดีแต่ถ้าหากคุณจมอยู่กับสิ่งเหล่านี้นานเกินไปย่อมเกิดผลเสียต่อร่างกายและจิตใจตามมา ทำไมไม่เจียดเวลาที่แสนจะเล็กน้อยออกไปพูดคุยอัพเดทสารทุกข์สุขดิบเพื่อนฝูงบ้าง อย่ามัวแต่อุดอู้เก็บตัวอยู่ในห้อง เพื่อหวังให้ภารกิจของตัวเองลุล่วงแล้วจึงออกไป “เพราะการออกไปครั้งนี้ อาจไม่เหมือนครั้งที่ผ่านมา”
วิธีที่ 5 หลับให้เต็มตื่น กินให้เต็มอิ่ม การพักผ่อนจะเยียวยาทุกอย่างเอง ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อเพราะตามหลักแล้วร่างกายจะได้ฟื้นฟูและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอจากการพักผ่อน ถ้าประจวบกับการได้รับประทานอาหารดี ๆ มีประโยชน์ต่อร่างกาย รับรองได้เลยว่าจะช่วยยืดระยะทางที่จะเข้าใกล้โรคภัยไข้เจ็บไปได้อีกไกลแน่นอน
ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ เพื่อป้องกัน ‘โรคออฟฟิศซินโดรม’ ที่ไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่ากับใครก็ตาม หวังว่าผู้อ่านจะลองทำตามกันดูนะคะ!
“ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะแยกย้ายกันไปเลิกปวดหลังสักที”
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop, CJR413,JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ขจรจิต บุนนาค และผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์