คำเตือน: บทความต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์ Birds of Prey (2020)

ในวันที่กระแสการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในสังคมได้รับการพูดถึงมากขึ้นและมากขึ้น เราขอพาทุกคนย้อนไปดูหนังแอนไทฮีโร่ที่ไม่ได้มีเพียงฉากบู๊สุดมันส์ตามสไตล์หนังแอคชั่น แต่ยังถูกขนานนามว่า เฟมินิสต์จ๋าเกินไป จนทำให้ถูกกระแสในทางลบและข้อครหามากมาย ณ เวลาที่ออกฉาย นั่นก็คือ Birds of Prey (and the Fantabulous Emancipation of One Harley Quinn)

Birds of Prey (and the Fantabulous Emancipation of One Harley Quinn) หรือทีมนกผู้ล่า กับ ฮาร์ลีย์ ควินน์ ผู้เริดเชิด เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ของ DCEU ที่มีดีมากกว่าแค่ภาพสวย คอสตูมดี หรือเพลงที่ติดหู เพราะหนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยประเด็นทางสังคมและสะท้อนความดูเหมือนจะธรรมดาในโลกที่ความเท่าเทียมทางเพศยังไม่เกิดขึ้นจริง

ด้วยมุมมองที่ถูกนำเสนอโดยผู้หญิงผ่านการกำกับของ เคธี่ ยาน เขียนบทโดย คริสตินา ฮอดสัน ที่เล่าเรื่องราวการรวมตัวกันของตัวละครหญิงแกร่งที่ต้องการอยู่รอดในเมืองก็อตแธม นั่นก็คือ ฮาร์ลีย์ ควินน์ (รับบทโดย มาร์โกต์ ร็อบบี้) แบล็คคานารี (รับบทโดย เจอร์นี่ สมอลเล็ตต์-เบลล์) ฮันเทรส (รับบทโดย แมรี่ อลิซาเบธ วินสตีด) เรเน่ มอนโทย่า (รับบทโดย โรซี่ เปเรซ) และ แคสแซนดร้า เคน (รับบทโดย เอลล่า เจย์ บาสโค) พวกเธอต้องต่อสู้ให้พ้นเงื้อมมือของตัวร้ายอย่าง โรมัน ไซออนิส (รับบทโดย ยวน แม็คเกรเกอร์) และ วิคเตอร์ แซซ (รับบทโดย คริส เมซซีน่า)

ปิดฉากแฟนเซอร์วิสในดวงใจ

ภาพของผู้หญิงจากมุมมองสายตาของผู้ชาย “มันเป็นความคิดที่เหยียดเพศที่สุดในหนัง การที่ใส่ผู้หญิงเข้าไปเพื่อให้ผู้ชายใช้สายตาโลมเลีย” คือประโยคหนึ่งจาก Attack of the Hollywood Clichés! (2021) ที่พูดถึงภาพยนตร์ Suicide Squad (2016) ที่ทำให้ใครหลายคนได้รู้จักกับ ฮาร์ลีย์ ควินน์ เวอร์ชั่นหนังเป็นครั้งแรก

จากภาพจำของตัวละครหญิงแสนเซ็กซี่ พร้อมฉากเอาใจแฟนที่โด่งดังทำให้ฮาร์ลีย์กลายเป็นละครขวัญใจประชาชนได้ง่าย ทว่าภาพจำเหล่านั้นได้ถูกสลัดทิ้งไป เมื่อฮาร์ลีย์ปรากฎตัวในหนัง Birds of Prey ด้วยเสื้อผ้าใหม่ทั้งเซ็ตจนเรียกได้ว่าฉีกจากลุคเดิมอย่างสิ้นเชิง และก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แฟนหนังหลายคนเลือกที่จะไม่ดูหนังเรื่องนี้อีกต่อไป สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ฮาร์ลีย์ ควินน์ ถูกทำให้กลายเป็นวัตถุทางเพศ (sexual objectification) ผ่านสิ่งที่เรียกว่า male gaze ในหนังเรื่องก่อน ที่แม้จะครองใจผู้ชมทั่วโลก แต่กลับเป็นหนึ่งในปัญหาที่วงการฮอลลีวูดยังต้องแก้ไขกันไปอีกยาวนาน

ท้าทายกรอบที่กดทับ ผ่านสเน่ห์ของผู้เล่าที่เชื่อถือไม่ได้

Birds of Prey ได้นำเสนอตัวละครผู้หญิงที่มีสเน่ห์แต่แฝงไปด้วยความอันตรายซึ่งตรงกับหลัก Femme Fatale ที่ทำเอาขัดใจแฟนหลายคนไม่พอ แต่ยังท้าทายวงการภาพยนตร์ผ่านการเล่าเรื่องด้วยเทคนิค Unrealiable narrator หรือผู้เล่าเรื่องที่เชื่อถือไม่ได้ ซึ่งก็คือ ฮาร์ลีย์ คนเดิมของเราที่คอยชักนำให้ผู้ชมคล้อยตามไปกับเรื่องราวในมุมมองของเธอ ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็นภาพที่เกินจริง อย่างการเห็นกากเพชรแทนเลือดที่สาดกระเซ็นในฉากบู๊ หรือการเล่าที่ตัดไปตัดมาแล้วแต่อารมณ์ของเธอว่าอยากหยิบยกเรื่องราวใดมาเล่าก่อน

หากเราวิเคราะห์กันให้ลึกไปอีก การเล่าเรื่องในรูปแบบนี้เข้าข่ายทฤษฎีของ เอแลง ซิกซู (Hélène Cixous) นักวิจารณ์วรรณกรรม นักเขียนนิยาย และนักกวีสายสตรีนิยมชาวฝรั่งเศสที่กล่าวไว้ในหนังสือ The Laugh of the Medusa (1975) เธอแสดงทัศนะว่า งานเขียนแบบผู้หญิง จะเป็นการท้าทายสังคมชายเป็นใหญ่ได้เป็นอย่างดี เพราะการนำเสนอในรูปแบบนี้จะสร้างความแปลกประหลาด ไร้ระบบระเบียบ เข้าใจยาก และสามารถฉีกรูปแบบการเขียนแบบดั้งเดิมในสังคมชายเป็นใหญ่ที่กำหนดว่าการเขียนต้องเป็นเส้นตรง ชัดเจน และมีเอกภาพตามมาตรฐานการเขียนที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ชายนั่นเอง

เบื้องหลังความรักที่หวานชื่นคือความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ

เบื้องหลังผู้ชายที่ประสบความสำเร็จคือผู้หญิงที่เก่งกาจ

เปิดเรื่องมาด้วยเรื่องราวของ ฮาร์ลีย์ ควินน์ ที่ได้จบความสัมพันธ์กับโจ๊กเกอร์ (รับบทโดย จาเร็ต เลโต้) ไปหมาด ๆ โดยตัวละครหลักของเราได้เล่าว่า เธอตกหลุมรักกับราชาแห่งอาชญากรรมคนนี้ ณ โรงพยาบาลจิตเวช ขณะที่เธอทำงานเป็นจิตแพทย์อยู่ที่นั่น ด้วยความลุ่มหลงทำให้เธอยอมทำทุกอย่างเพื่อโจ๊กเกอร์ แม้เขาจะไม่สนใจใยดีเธอด้วยความจริงใจเลยก็ตาม ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (toxic relationship) ของทั้งสอง เมื่อฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ให้อย่างไม่มีขีดจำกัด ในขณะที่อีกฝ่ายรับบทเป็นผู้รับเพียงอย่างเดียว

เมื่อผู้หญิงถูกมองเป็นเพียงทรัพย์สินของผู้ชาย

บางคนก็ไม่ได้เกิดมาเพื่ออยู่ได้ด้วยตัวเอง

ฮาร์ลีย์ได้พบกับระยะเวลาของการก้าวผ่านความสูญเสียหลังจากที่แยกทางกับโจ๊กเกอร์ ซึ่งตรงกับทฤษฎี 5 Stages of Grief ที่ประกอบไปด้วย 1. Denial (ปฏิเสธ) 2. Anger (โกรธ) 3.Bargaining (การต่อรอง) 4. Depression (เศร้า) 5. Acceptance (ยอมรับ) ทว่าแม้จะมูฟออนได้แล้ว แต่ฮาร์ลีย์กลับไม่กล้าบอกใครเรื่องการเลิกราครั้งนี้ เพราะการที่เธอเป็นแฟน (หรือสมบัติ) ของโจ๊กเกอร์ทำให้คนไม่กล้าเข้ามายุ่งหรือมีปัญหากับเธอ และถึงแม้จะบอกไปคนก็กลับไม่เชื่อและคิดว่าเธอจะต้องกลับไปหาโจ๊กเกอร์อยู่ดี

หลังจากที่ได้ยินคำสบประมาทมากมายจนกระทั่งฟางเส้นสุดท้ายของเธอขาด ทำให้ฮาร์ลีย์ตัดสินใจป่าวประกาศให้โลกรู้ว่าเธอและโจ๊กเกอร์แยกทางกันแล้วอย่างเป็นทางการผ่านการขับรถส่งน้ำมันไประเบิด ACE CHEMICAL ที่พบรักของทั้งสอง และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด

สถานะทางอำนาจที่ซ้อนทับ

Birds of Prey ไม่ได้เล่าแค่ประสบการณ์ของฮาร์ลีย์เพียงเท่านั้น แต่ยังพูดถึงประสบการณ์ที่ผู้หญิงคนอื่น ในเมืองก็อตแธมต้องเจอ หนึ่งในนั้นคือ ไดนาห์ แลนซ์ หรือที่รู้จักกันในนาม แบล็คคานารี เธอเป็นนักร้องในคลับของ โรมัน ไซออนิส (โรมันเองก็มองไดนาห์เป็นเสมือนสมบัติของเขาเช่นกัน)

ความน่าสนใจของไดนาห์เริ่มมาตั้งแต่ฉากปรากฏตัว โดยเธอได้ร้องเพลงที่มีชื่อว่า Jurnee Smollett-Bell – It’s A Man’s Man’s Man’s World (from Birds of Prey) [Official Audio] ของ James Brown ที่กล่าวถึงเรื่องราวการสร้างสิ่งประดิษฐ์ของผู้ชาย เพื่อนำเงินที่ได้ไปซื้อของจากผู้ชายคนอื่น แต่สิ่งเหล่านั้นจะไม่มีความหมายหากปราศจากผู้หญิง (และเด็กผู้หญิง) เธอขับกล่อมบทเพลงนี้ออกมาอย่างงดงามก่อนจะถูกโรมันเลื่อนขั้นให้เป็นคนขับรถประจำตัวด้วยความไม่เต็มใจ นอกจากนี้ไดนาห์ยังถูกวิคเตอร์ที่เป็นเหมือนมือขวาของโรมันคุกคามอยู่ตลอดเวลาการทำงาน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึง สถานะทางอำนาจ หรือ power dynamic ที่ซ้อนทับระหว่างความเป็นลูกน้องและเจ้านาย และความเป็นผู้หญิงและผู้ชาย ที่ทำให้ไดนาห์ไม่สามารถปฏิเสธหรือตอบโต้ทั้งสองได้แม้ตนจะไม่ชอบก็ตาม

ว่าด้วยเรื่องของ…การเลือกปฏิบัติในที่ทํางาน

Birds of Prey ยังได้เล่าเรื่องของ เรเน่ มอนโทย่า ตำรวจหญิงของก็อตแธมที่ได้สร้างผลงานโดยการทำคดีดังได้สำเร็จ แต่กลับถูกคู่หูชายของตัวเองแย่งเครดิตจนได้เลื่อนขั้นเป็นผู้กอง ในขณะที่เธอต้องอยู่ในระดับสายสืบต่อไป

เรื่องราวของเรเน่ได้สะท้อนภาพของปัญหา การเลือกปฏิบัติในที่ทำงานด้วยเหตุแห่งเพศ (Gender discrimination in the workspace) ออกมาอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการถูกปฏิเสธการเลื่อนขั้นอย่างไม่เป็นธรรม หรือการที่เพื่อนร่วมงานเลือกที่จะไม่รับฟังความคิดเห็นของเธอ และไม่จริงจังกับคำพูดของเธอตลอดเวลาแม้เธอจะมีความสามารถมากเพียงใด

ระบบที่กดทับคือศัตรูที่แท้จริง

หนึ่งในฉากที่สะเทือนใจที่สุดของหนังเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นฉากที่โรมันระบายความโกรธของตัวเองโดยการสั่งให้ผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังดื่มอยู่ในคลับขึ้นไปยืนเต้นบนโต๊ะก่อนจะสั่งให้เธอถอดเสื้อ เมื่อเธอปฏิเสธเขาจึงสั่งให้เพื่อนชายที่นั่งร่วมโต๊ะฉีกเสื้อผ้าของเธอจนขาดวิ่น โดย Birds of Prey เกือบไม่ได้ออกฉายเพราะความรุนแรงของเนื้อหาดังกล่าว เพราะในขณะทุกคนในคลับมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความตกใจ โรมันกลับมองภาพที่เกิดขึ้นเป็นเพียงความบันเทิงเท่านั้น

ตลอดทั้งเรื่องโรมันถูกบังคับให้ต้องต่อสู้กับตัวละครผู้หญิง โดยการกระทำหลายอย่างของเขาสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของหลายอย่างในสังคมชายเป็นใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ความเกลียดชังผู้หญิง (misogyny) หรือ ความเป็นชายที่เป็นพิษ (toxic masculinity) ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบกับเพียงหญิงสาวในเรื่องเท่านั้น แต่ยังเป็นกรอบที่ครอบโรมันไว้อีกที

จากการนำเสนอดังกล่าวทำให้หลายคนมองว่า Birds of Prey กำลังพยายามป้ายสีความเป็นชายให้เสียหายผ่านการกระทำของโรมัน โดยมองว่าโรมันไม่ใช่ตัวแทนของผู้ชายทุกคน ทว่าเมื่อคิดทบทวนกันให้ดี เราจะพบว่าสิ่งที่โรมัน ฮาร์ลีย์ ไดนาห์ เรเน่ รวมไปถึงตัวละครอื่นในเรื่องต้องเจอคือสิ่งที่มีอยู่จริงในชีวิตประจำวัน และการปฏิเสธการมีอยู่ของมันไม่ได้ทำให้ปัญหาเหล่านั้นหายไปแม้แต่น้อย

คำพูดที่โรมันพูดกับควินน์สะท้อนถึงวิธีคิดของระบบชายเป็นใหญ่ได้อย่างน่าสนใจ “You are trying to kill me. I’m the only one who can protect you. You know you can’t stand on your own, Quinn. You need me.”-เธอคิดจะฆ่าฉัน แต่เธอรู้ไหมว่า ฉันเป็นคนเดียวที่ปกป้องเธอได้ เธออยู่ด้วยตัวเองไม่ได้หรอกควินน์ เธอจำเป็นต้องมีฉัน

ขณะที่ควินน์เองก็ตอบโต้โรมันได้อย่างเจ็บแสบเช่นกัน “Your protection is based on the fact that people are scared of you. Just like they’re scared of Mr. J.”-การปกป้องของเธอ ที่จริงคือการที่เธอทำให้คนอื่นหวาดกลัว เหมือนกับที่พวกเขาหวาดกลัวต่อมิสเตอร์เจ

การมีตัวละครเอกเป็นเพศหญิงไม่ได้ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นเป็นหนังเฟมินิสต์ฉันใด การที่ตัวร้ายเป็นเพศชายก็ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อเอาใจเหล่าเฟมินิสต์ฉันนั้น หนังหนึ่งเรื่องจะสามารถให้อะไรได้มากกว่าความสนุกในเวลาชั่วโมงครึ่งได้ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าคุณจะเปิดใจรับฟังมันมากแค่ไหน เพราะเมื่อมาถึงจุดนี้แล้วคงปฏิเสธไม่ได้ว่า Birds of Prey (and the Fantabulous Emancipation of One Harley Quinn) ก็เป็นหนังเฟมินิสต์อย่างที่เขาว่าจริง ๆ นั่นแหละ

Reference & Bibliography

  • อ่าน The Laugh of the Medusa: การเขียนผู้หญิง กับการเขียนของผู้หญิง. (2557, 30 มิถุนายน) สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2564, จาก https://prachatai.com/journal/2014/06/54330
  • ขอขอบคุณภาพประกอบ DC Comics. สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2564, จาก https://www.dccomics.com

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา GE007 Art of Life, CA003 Art of Speaking, BR551 Social Broadcasting ภาคการศึกษาที่ 1/2 2564

Writer

ไม่มีหรอกนักศึกษา นักเขียน หรือนักกิจกรรม จะมีก็แต่คนที่เหนื่อยล้าจากสังคม ที่บังคับให้เราต้อง productive ไปวัน ๆ ทว่ายังคงมองหาความสงบบนหน้ากระดาษ และภาพยนตร์ในวัยเด็กอยู่เสมอ