“สวัสดีค่ะ ตื่นเต้นค่ะ” เสียงทักทายอันสดใสของผู้หญิงตัวเล็ก ‘ตื่นเต้น’ ไม่ได้หมายถึงว่าเธอกำลังตื่นเต้นแต่อย่างใด แต่เป็นชื่อเล่นของเธอนั่นเอง ตื่นเต้น-ภัทรปภา ธีรกุลรักษ์ นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ (มุ่งเน้นจีน) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เธอเป็นหนึ่งในสมาชิกของชมรม AIESEC และเคยมีโอกาสเดินทางไปเป็น ครูอาสาสอนหนังสือที่ไต้หวัน ตอนช่วงที่ยังไม่มีโควิด-19 จ้า

เราคว้าตัวเธอมานั่งพูดคุยกัน ไปไงมาไงถึงได้ไปเป็นครูอาสาตั้งแต่ยังเรียนอยู่เลย ไหนเล่าซิ !!

ตื่นเต้น-ภัทรปภา ธีรกุลรักษ์ นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ (มุ่งเน้นจีน) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

เพราะเข้าชมรมจึงมีโอกาสเปิดโลก

ชีวิตเด็กมหาวิทยาลัย เรียนอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำกิจกรรมด้วย ชมรมจึงเป็นส่วนสำคัญ “ตื่นเต้น” ได้บอกกับเราว่า เธอไปเดินดูงาน “เปิดโลกกิจกรรม” ภายในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่จะมีชมรมต่าง ๆ มาเปิดบูธกิจกรรมเพื่อเชิญชวนเหล่านักศึกษาให้ได้เลือกว่าอยากจะเข้าชมรมอะไรกันบ้าง แล้วเธอก็ไปเจอกับบูธของ “ชมรมไอเซค” (AIESEC) ซึ่งทางชมรมก็ได้แนะนำมาว่า อยากไปเป็นอาสาที่ต่างประเทศไหม ? และเธอเองก็มีเพื่อนที่รู้จักอยู่ในชมรมนี้ด้วย จึงศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม

AIESEC (ไอเซค) คืออะไร ?

AIESEC มีชื่อเต็มของว่า “Association internationale des étudiants en sciences économiques et commerciales” เป็นองค์กรเยาวชนที่ก่อตั้งขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีความตั้งใจที่จะสร้างพื้นที่สำหรับเยาวชนในการพัฒนาความเป็นผู้นำ เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้นำที่โลกต้องการ

ไอเซคเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ดำเนินการโดยนักศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีประเทศสมาชิกกว่า 120 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยไอแซคมีเครือข่าย 8 มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยกรุงเทพก็เป็นหนึ่งในนั้น ชมรมไอแซคของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงมีนักศึกษาและอาจารย์ร่วมกันก่อตั้งและสืบทอดกันต่อเนื่องเรื่อยมาหลายปี ภารกิจหลักเช่นเดียวกับองค์กรไอแซค เน้นการทำงานจิตอาสาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เยาวชนที่เข้าร่วมจะได้ทำงานจิตอาสาและเรียนรู้จากประสบการณ์จริง

Global Volunteer จิตอาสาในต่างแดน

เราได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมมาอีกว่า “ไอแซค” ได้เปิดให้เยาวชนที่สนใจ มีโอกาสเดินทางไปทำจิตอาสาที่ต่างประเทศได้ ผู้เข้าร่วมมีอายุตั้งแต่ 18-30 ปี เป็นการไปทำจิตอาสาต่างประเทศระยะสั้น (6-8 สัปดาห์) โดย AIESECer จะคอยดูแลอาสาสมัครในทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการสมัคร จนกระทั่งกลับมาที่ไทยอย่างสวัสดิภาพ

นอกจากนี้ AIESECer จะเตรียมความพร้อมให้กับจิตอาสาในทุกด้านให้กับอาสาสมัครไทยทุกคน ดังนั้นทุกคนสามารถมั่นใจได้เลยว่าการไปทำจิตอาสา 6-8 สัปดาห์ จะเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ดีที่สุดของชีวิต

แรงจูงใจที่ทำให้ออกเดินทางไปเป็นจิตอาสาต่างแดน

สิ่งที่ทำให้ตื่นเต้นตัดสินใจสมัครโครงการนี้ เหตุผลหลักเลยเธอบอกกับเราว่า “อยากไปฝึกภาษา” และเธอก็บอกว่าจริง ๆ แล้วอยากไปตั้งแต่ตอนปี 1 แต่ด้วยระยะเวลา และอะไรหลายอย่างที่ยังไม่พร้อม เธอเลยเลือกที่จะมาเข้าร่วมโครงการตอนปี 2 เวียดนามและไต้หวันเป็นสองประเทศตัวเลือกที่เธอที่จะตัดสินใจจะไป

ตอนแรกเพื่อนของเธอก็แนะนำว่าให้ไปเวียดนาม เพราะเพื่อนก็เห็นว่าตื่นเต้นทำช่อง YouTube ใช้ชื่อว่า Pattaling ถ้าไปถ่าย Vlog ที่เวียดนามก็คงจะดี แต่ไต้หวันก็น่าไปไม่แพ้กัน และไต้หวันก็ขึ้นชื่ออยู่แล้วในเรื่องของการสอนหนังสือให้กับเด็ก ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจเลือกที่จะไปไต้หวัน เพราะถ้าไปเวียดนามเธอก็คงจะไม่ได้ใช้ ‘ภาษาจีน’ ไหน ๆ ก็เรียนภาษาจีนมาแล้ว เธออยากที่จะพัฒนาตัวเองด้วย ถ้าไปไต้หวันก็จะได้ใช้ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ

ปักหมุดที่ไต้หวัน ดินแดนชานมไข่มุก

สำหรับการไปเป็นอาสาที่ไต้หวัน ทางโครงการก็จะทำการหาโรงเรียน หาที่พักให้ มีโฮสคอยดูแล (Host Family) เมื่อไปถึงจะมีโฮสและคุณครูมารอรับ ไม่ต้องไปเดินหาเอาเองเลย การเตรียมตัวสอน ทางคุณครูที่โรงเรียนก็ได้บอกให้เธอเตรียมสไลด์การสอนมาด้วย แต่ด้วยความที่เธอยุ่งมากกับการเตรียมตัว การจัดกระเป๋าเก็บของ เธอเลยไม่ได้เตรียมไป แต่เธอนั้นได้เตรียมขนม และของน่ารักมากมายเพื่อไปให้เด็ก ๆ ตัวเธอเองก็อาศัยความน่ารักสดใสที่มี ชอบอยู่กับเด็ก รวมทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษที่ฝึกฝนมาอย่างสม่ำเสมอ และความเข้ากันได้กับเด็กเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้การสอนผ่านไปอย่างราบรื่นและสนุกสนาน

ในส่วนของค่าใช้จ่ายที่ไต้หวันนั้นก็พอ ๆ กับที่เมืองไทยเลย “แต่ชานมไข่มุกจะถูกกว่า” คำพูดที่ตื่นเต้นได้พูดออกมานั้นทำให้สาวกชานมไข่มุกอย่างเราอยากจะบินตามไปเลยทีเดียว อากาศที่ไต้หวันในช่วงที่เธอได้ไปนั้นก็จะมีฝนตก มีอากาศหนาวกว่าเมืองไทยนิดหน่อย และในช่วงที่ใกล้คริสมาสต์ก็จะหนาวมากกกก !!! แต่รับรองว่าได้สัมผัสบรรยากาศของช่วงเทศกาลอย่างเต็มเปี่ยม ยามว่างจากงานสอน เธอยังได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวที่ไต้หวันด้วยตนเอง คุ้มค่ามาก ๆ กับการได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ

ความน่ารักอยู่ที่เด็ก ๆ ไต้หวัน

ระยะเวลากว่า 2 เดือนของการไปเป็นคุณครูสอนเด็กของ “ตื่นเต้น” ในครั้งนี้อาจจะเป็นโชคดีของเธอด้วย เพราะเธอบอกกับเราว่า เด็ก ๆ ที่เธอเจอนั้นน่ารักมาก คุณครูพี่เลี้ยงก็ดูแลเธออย่างดีและโฮสแฟมีลี่ก็ดูแลดีเหมือนกัน

เธอยังเล่าให้ฟังอีกว่าเด็กที่ไต้หวันเขาก็จะมีความน่ารัก ชอบทำ ชอบประดิษฐ์ของน่ารัก ๆ ขึ้นมาเพื่อแลกกัน เธอเองก็ได้รับของขวัญมาจากเด็ก ๆ ไม่น้อยเลย และเด็กก็พร้อมที่จะเรียนรู้และปรับตัวใช้ชีวิตกับ “คุณครูตื่นเต้น” ได้อย่างดีเลย ทำให้การไปเป็นอาสาที่ไต้หวันของเธอนั้นค่อนข้างที่จะมีความสุขเลยทีเดียว

ประสบการณ์ในครั้งนี้ทำให้ “ตื่นเต้น” ได้เรียนรู้และเติบโตอย่างก้าวกระโดดก็กว่าได้ เพราะเธอต้องมีความรับผิดชอบในการดูแลตนเอง และดูแลเด็ก ๆ ระหว่างอยู่ที่ไต้หวัน เธอได้มีโอกาสเดินทาง ได้พบเจอเพื่อนใหม่มากมาย รวมถึงได้นำเรื่องราวจากไต้หวันกลับมาแบ่งปันให้เพื่อน ๆ ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพอีกด้วย

อยากไปท่องโลกบ้าง ทำไงดี ?

อ่านมาถึงตรงนี้ สำหรับใครที่อยากจะเข้าร่วมโครงการแบบนี้บ้าง แต่ก็อาจจะยังมีคำถามที่ว่า ‘ถ้าไม่เก่งภาษาอังกฤษสามารถไปได้ไหม ?’ คนที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษเลย ช่วงแรกอาจจะต้องปรับตัวเยอะหน่อย เพราะว่าโครงการนี้เราไปเพื่อสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็ก แต่ว่าคุณครูที่ไต้หวันก็จะคอยช่วยเหลือ คอยซัพพอร์ตเราตลอด มีครูภาษาอังกฤษคอยช่วยทำให้เราได้ใช้ภาษาอังกฤษบ่อยขึ้น ที่สำคัญเราก็ต้องเตรียมความพร้อมไปล่วงหน้าด้วย โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษแบบเบื้องต้น

“ตื่นเต้น” บอกว่าเพียง 2 สัปดาห์ เธอก็สามารถเริ่มปรับตัวได้แล้ว แต่ก็เพราะเธอพอจะได้ภาษาจีนอยู่บ้างเลยทำให้เข้าหาเด็ก ๆ ได้ง่ายขึ้น การไปเป็นคุณครูอาสาที่ไต้หวันในครั้งนี้จึงถือว่าประสบความสำเร็จเพราะเธอได้พัฒนาทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีนได้อย่างเต็มที่

พวกเราขอให้ทุกคนลองหาประสบการณ์น่าตื่นเต้นให้ตัวเองบ้าง จะทำให้เราเติบโต ได้ความรู้ เห็นโลกกว้าง และสนุกกับชีวิตมากขึ้น แต่ช่วงนี้ถ้าจะเดินทางไปต่างแดน คงต้องรออีกสักพักใหญ่ ๆ หลังโควิดปลอดภัยที่สุดน้า !!!

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CA005 Art of Storytelling ภาคการศึกษาที่ 1/2 2563

Writer

นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ