เก็บกระเป๋า ออกเดินทางหนีรักไปหาอ้อมกอดของธรรมขาติ เราขอพาไปพักร้อนพักใจที่ เกาะหมาก จังหวัดตราด โอบล้อมด้วยธรรมชาติและอากาศบริสุทธิ์ แหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ Low Carbon Tourism

“บางคนถามว่าเกาะหมากมีอะไรให้เที่ยว เราบอกเราไม่มีอะไร เรามีแต่ธรรมชาติ คนที่มาส่วนใหญ่ชอบความเงียบสงบ แต่ว่าการใช้ชีวิตอยู่บนเกาะนี้ ที่มองดูก็คือไม่ได้ประสบความยากลำบากอะไรเลย ทุกคนที่อยู่ที่นี่มีความสุข เพราะว่าเราอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี สภาพอากาศดี” พี่ปอ-คุณสุรีย์พร รัตนเสถียร ปลัดองค์การบริการส่วนตำบลเกาะหมาก เจ้าบ้านผู้แสนใจดีบอกเล่าให้เราฟัง

เพราะอากาศดี ธรรมชาติยังคงสวยสดงดงาม เกาะหมากจึงได้ขึ้นชื่อว่าเป็นจุดหมายที่ปลายทางการท่องเที่ยวที่เรียกได้ว่าคือ Low Carbon Tourism เราจะมารู้จักเกาะหมากกันให้มากขึ้นจากการพูดคุยกับ “พี่ปอ” และทีมพี่ ๆ แสนน่ารักชาวเกาะหมาก กันเลย

พี่ปอ-คุณสุรีย์พร รัตนเสถียร ปลัดองค์การบริการส่วนตำบลเกาะหมาก

มาทำความรู้จักกับ Low Carbon Tourism

พี่ปอ-คุณสุรีย์พร รัตนเสถียร ปลัดองค์การบริการส่วนตำบลเกาะหมาก เล่าเรื่องราวของเกาะหมากที่ตั้งใจจะพัฒนาพื้นที่ด้วยแนวคิด Low Carbon Tourism คือการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เกาะหมากจะรณรงค์เรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติให้มากที่สุด ลดมลพิษเพื่อให้การท่องเที่ยวครบวงจรในเรื่องของธรรมชาติ อากาศ และสิ่งแวดล้อม

ส่วนของท้องถิ่นก็ร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ขับเคลื่อนให้เกาะหมากเป็น “เมืองโลว์คาร์บอน” มีการประชาสัมพันธ์และจัดทำโครงการรณรงค์สร้างความร่วมมือร่วมใจให้เกิดขึ้นในชุมชน

พี่ปอให้รายละเอียดกับเราว่า เกาะหมากจะบริหารจัดการในเรื่องของขยะเป็นอันดับแรก ลดการใช้ถุงพลาสติกและรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกที่ต้นทาง พอไปถึงปลายทางก็จะคัดแยกอย่างละเอียดอีกที จะลดในเรื่องของการเผาให้ได้มากที่สุด โดยการคัดแยกพลาสติกแล้วก็จะอัดแห้งส่งขึ้นให้กับโรงงานที่รับซื้ออีกที ปรับวิธีการกำจัดจากทั้งหมดจะเผาก็หันมาใช้ทำเป็นปุ๋ย อนาคตต่อไปเกาะหมากก็จะไม่มีการเผา เราจะแยกขยะในลักษณะของ RDF ให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ Refuse Derived Fuel: RDF หมายถึง ขยะที่เผาไหม้ได้ โดยการนําขยะมูลฝอยมาผ่านกระบวนการบําบัดทางกายภาพ เช่น การคัดแยก การลดขนาด และการลดความชื้น

การใช้รถหรือยานพาหนะ จะรณรงค์เรื่องการใช้รถไฟฟ้า เกาะหมากจะมีรถรางไฟฟ้าไว้ใช้งานและให้บริการกับประชาชนบนเกาะด้วย รถเช่าสำหรับใช้ท่องเที่ยว องค์การบริหารส่วนตำบลขอความร่วมมือให้ปรับเปลี่ยนมาใช้เป็นระบบรถไฟฟ้า หรือในรูปแบบของจักรยาน

เกาะหมากมีทั้งจักรยานธรรมดาและจักรยานไฟฟ้า ซึ่งมีหลายรีสอร์ทที่ปรับมาเป็นรถไฟฟ้าให้กับนักท่องเที่ยวได้เช่าในราคาไม่แพงมาก เรียกว่าเป็นการมีส่วนร่วมในเรื่องของการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การประหยัดพลังงาน ตัวรีสอร์ทเองจะได้ประโยชน์จากค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เกินครึ่ง คนที่เข้าร่วมและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย

เกาะหมากแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบโลว์คาร์บอน สูดอากาศสดชื่นได้เต็มปอด

พี่ปอยังบอกถึงความน่าสนใจอีกว่า เกาะหมากเป็นเมืองที่เงียบสงบ ในเรื่องของวัตถุที่เจริญขึ้นเราจะมีการดูแลโดยข้อตกลง ทางองค์การจัดทำเป็นธรรมนูญเกาะหมากเพื่อที่จะเอาไว้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยว เป็นข้อตกลงให้ทุกคนปฏิบัติตามเพื่ออนุรักษ์การท่องเที่ยวให้เป็นเชิงธรรมชาติมากที่สุด

ผู้คนส่วนใหญ่ แม้กระทั่งชาวต่างชาติเอง ได้มาซื้อบ้าน และมาทำธุรกิจอยู่ด้วย จะมีชายชาวอิตาลีอายุ 60 กว่าปี มาหาซื้อบ้านแล้วทำธุรกิจร้านอาหารที่นี่ คือจะอยู่จนกว่าสภาพร่างกายเขาไม่ไหวแล้วถึงจะกลับบ้าน เพราะเขาชอบอากาศและธรรมชาติของที่นี่ บางคนถามว่าเกาะหมากมีอะไรให้เที่ยว เราบอกเราไม่มีอะไร เรามีแต่ธรรมชาติความเงียบสงบและอากาศที่บริสุทธิ์ อย่างคนที่มีโรคประจำตัวภูมิแพ้ มาอยู่ที่นี่บางคนหายป่วย บางคนที่ต้องใช้เครื่องพ่น ที่เคยคุยกันมา เขาบอกว่าไม่ต้องใช้เลยตั้งแต่มาอาศัยอยู่บนเกาะ

คนนอกที่มาอยู่บนเกาะหมาก จะมีสไตล์อนุรักษ์เชิงศิลปินมากหลายคนเลย เราจะได้พูดคุยอาศัยความร่วมมือกับคนกลุ่มนี้ เราได้พยายามหากิจกรรมเพิ่มเกี่ยวกับธรรมชาติให้นักเที่ยวที่เข้ามาได้ทำ ก็จะมีการทำ Big Cleaning Day ทุกวันพุธ ทำความสะอาดสะพานแล้วก็เก็บขยะรอบเกาะ ในวันเสาร์จะมีกลุ่มของ Trash Hero เกาะหมาก 8 โมงเช้า เขาจะรวมกลุ่มกันไปเก็บขยะที่ชายทะเล

เกษตรอินทรี กินดี มีสุข

เรื่องของการใช้ชีวิต จะเป็นแบบกึ่งชนบทตามสภาพพื้นที่ ปลูกผักกินเอง จะเป็นผักปลอดสารพิษ เราจะไม่ส่งเสริมให้ใช้สารเคมี ประชาชนและรีสอร์ทหลายแห่งตอนนี้หันมาปลูกผักออร์แกนิกและผักปลอดสารพิษที่เอาไว้รับประทานกันบนเกาะ

เรื่องของอาหารทางทะเลเราจะมีประมงพื้นบ้าน ซึ่งเราอยู่กันแบบพอเพียง จะเป็นประมงเล็ก ๆ ที่หามาได้ พอเหลือจากที่รับประทานในครอบครัวแล้วเราจะนำมาจำหน่าย เรามีกลุ่มไลน์ตลาดนัดเกาะหมาก จะใช้พื้นที่ติดต่อสื่อสารตรงนี้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน ใครมีอะไรจะมาลงขาย ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ของใช้ พืชผักผลไม้ เราจะใช้ช่องทางนี้ คนเกาะหมากทุกคนจะรู้ว่าเราจะหาอาหารในไลน์นี้ได้อย่างไรและวิธีการสั่งอย่างไร ถือเป็นอาชีพหนึ่งในเรื่องของการค้าขายของที่เกาะหมากด้วย

พี่เล้ง-คุณวริศรา อริยวงศ์ปรีชา ผู้ดูแลแปลงเกษตรอินทรีย์เกาะหมากรีสอร์ท

พี่เล้ง-คุณวริศรา อริยวงศ์ปรีชา ผู้ดูแลแปลงเกษตรอินทรีย์เกาะหมากรีสอร์ท เล่าว่า แปลงเกษตรที่นี่เริ่มจากเจ้าของคนก่อน นั่นคือ คุณจักรพรรดิ ตะเวทีกุล อยากจะมีสวนเกษตรเป็นของตัวเองเพื่อที่จะสามารถป้อนสินค้าเกษตรที่เป็นออร์แกนิคให้กับรีสอร์ทได้ คือวัตถุประสงค์เริ่มต้น หลังจากนั้นแล้ว ด้วยความที่เกาะหมากเข้าสู่ระบบโลว์คาร์บอน เราได้มองเห็นว่าการใช้วัตถุดิบที่มีอยู่บนเกาะต้องเป็นโลว์คาร์บอนเช่นกัน

ผลผลิตที่ได้มาหลังจากการกระจายเข้ารีสอร์ทเสร็จแล้ว ส่วนที่เหลือเราจะขายคนข้างนอกหรือเอามาปรับปรุงดัดแปลงรูปแบบเป็นสินค้าเกษตรที่แปรรูปแล้ว นำไปจำหน่ายให้กับคนที่อยู่บนเกาะ ส่วนใหญ่จะเป็นเมนูสุขภาพ เราจะใช้ผักในแปลงเกษตรของเราโดยไม่มีสารเคมีเลย ปุ๋ยเป็นปุ๋ยที่หมักกันเอง ผักเวลาที่เราไม่ใช้สารเคมีเร่งให้โตเร็ว ๆ มันก็เหมือนคน ถ้าเราค่อย ๆ กิน เราไม่ไปกินโกรทฮอร์โมน เราไม่ไปเร่งให้โตเร็ว เราจะมีอายุยืนขึ้น ผักนั้นสามารถเก็บได้นานขึ้น

พี่เล้งเล่าต่ออีกว่า ตนเองเรียนมาทางด้านนี้อยู่แล้ว จบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเกษตร สาขาปฐพีวิทยาเกี่ยวกับเรื่องการปรับปรุงดิน พี่เล้งจะมาหาความรู้เพิ่มเติม เวลาที่มีการอบรมของอำเภอหรือเกษตรจังหวัดจะเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าตอนนี้มีเทคโนโลยีอะไรใหม่ ๆ เข้ามา เพราะเรื่องพวกนี้จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ต้องลองผิดลองถูกกันไปเพื่อที่จะได้มาพัฒนาแปลงเกษตรและให้ความรู้กับผู้คนต่อไป

ความสุขเล็ก ๆ คือการรอคอย

อาชีพประมงก็ก็ยังคงเป็นอาชีพสำคัญของคนเกาะหมาก การออกไปจับปลา หาปลาให้เหมาะสมตามฤดูกาล และนำมาแปรรูปเก็บไว้กินและไว้ขายก็ยังคงมีให้พบเห็น เราได้พูดคุยกับ พี่หมี-คุณแสงอรุณ สวัสดิ์สุข ชาวประมงเกาะหมาก เล่าว่า ชีวิตในแต่ละวันบางครั้งก็ไปลากหมึกบ้าง ไปลากปลาบ้าง ถ้าลมสงบชาวประมงจะออกไปหาปลากันทุกวัน แต่ถ้าวันไหนมีคลื่นหรือพายุก็ไม่ได้ไป ส่วนปลาที่จับได้จะไปขายตามรีสอร์ท

การกินอยู่ก็จะเอาปลาที่หามาได้ในแต่ละวันแบ่งไว้ขายส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งไว้ทำกับข้าวกินเองบ้างสองตัวสามตัว แต่บางครั้งก็ไม่พอขาย ต้องสั่งข้างนอกมาในบางวัน เพราะปลาไม่ได้หาได้ทุกวัน วันไหนได้น้อยก็ไม่ได้ขาย ต้องเก็บไว้กิน แต่ชาวประมงที่นี่ก็ไม่ได้ประสบปัญหาความยากลำบากเพราะทุกคนที่อยู่ที่นี่มีความสุขกับปลาที่หามาได้ในแต่ละวัน

พี่หมี-คุณแสงอรุณ สวัสดิ์สุข ชาวประมงเกาะหมาก

ก่อนเดินทางกลับ พี่ปอกล่าวกับเราว่า เกาะหมากอาจจะไม่สะดวกในเรื่องของการสัญจรไปมา เพราะว่าที่เกาะหมากจะไม่ให้มีเรือเฟอร์รี่มาเทียบท่า แต่ใช้เป็นเรือสปีทโบ๊ทแทน ซึ่งเป็นเรือเล็ก การเดินทางอาจจะยากลำบากนิดหน่อย แต่ว่าการใช้ชีวิตอยู่บนเกาะนี้ ที่มองดูคือไม่ได้ประสบความยากลำบากอะไร ทุกคนที่อยู่มีความสุข เพราะทุกคนได้อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี สภาพอากาศดี

สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจจะมาท่องเที่ยววิถีธรรมชาติที่เกาะหมาก ก็อยากขอความร่วมมือไม่อยากให้นำขยะเข้ามา ช่วยกันคัดแยกขยะ ขยะที่ไม่จำเป็น อย่างเช่น ถุงพลาสติก เราอยากให้ลดการใช้ ทุกคนที่มา เรารณรงค์ให้ใช้ถุงผ้า เวลาไปซื้อของหรือใส่สัมภาระ อยากรณรงค์ให้ใช้รถไฟฟ้า เราอยากส่งเสริมให้กับคนที่เขาทำธุรกิจรถไฟฟ้าให้เช่า เพื่อช่วยกันลดคาร์บอนไดออกไซด์และการรักษาสิ่งแวดล้อมของเกาะแห่งนี้ให้คงอยู่กับพวกเราไปนาน ๆ พี่ปอตอกย้ำอุดมการณ์ของคนเกาะหมากให้เราฟังอีกครั้ง

อิ่มเอมใจกับชุมชนบนเกาะหมากที่ผู้คนมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักษาสิ่งแวดล้อม ทำเอาเราแทบไม่อยากจากที่นี่ไปเลย หวังว่าเราจะได้มีโอกาสกลับไปเยือนเกาะหมาก จังหวัดตราด อีกครั้ง ถ้าว่าง ๆ ลองหาโอกาสแวะไปเที่ยวที่เกาะหมาก ดื่มด่ำกับธรรมชาติด้วยกันนะ!

เกาะหมาก ดีต่อใจ ท่องเที่ยววิถีธรรมชาติ เรียบง่าย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Reference & Bibliography

  • พี่ปอ-คุณสุรีย์พร รัตนเสถียร ปลัดองค์การบริการส่วนตำบลเกาะหมาก
  • พี่เล้ง-คุณวริศรา อริยวงศ์ปรีชา ผู้ดูแลแปลงเกษตรอินทรีเกาะหมากรีสอร์ท
  • พี่หมี-คุณแสงอรุณ สวัสดิ์สุข ชาวประมงเกาะหมาก

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop CJR413,JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์

Writer & Photographer

ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ แล้วจะมีความสุข คติสอนใจ “Independence is happiness.”