ยุคที่การสื่อสารเข้าถึงคนได้ง่าย ช่องทางการสร้างรายได้จากโลกออนไลน์เปิดกว้างมากขึ้นสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ยิ่งในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา สื่อออนไลน์เป็นช่องทางสำคัญที่ผู้คนใช้เสพความบันเทิงและสิ่งที่ชอบ

อาชีพหนึ่งที่มีมานานและกำลังได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น คือวีเจ (VJ : Video Jockey) ทำหน้าที่คล้ายดีเจ (DJ : Disc Jockey) เป็นอาชีพที่เน้นการพูดคุย เปิดเพลง ผ่อนคลายความเครียดให้ผู้ฟังหรือผู้ติดตาม วีเจไลฟ์ (VJ Live) เป็นอาชีพที่เหล่าหนุ่มสาวพราวเสน่ห์จะสร้างความบันเทิงให้ผู้คนผ่านการพูดคุยเห็นหน้ากันแบบสดผ่านแอปพลิเคชัน

ทำงานเพื่อสร้างรายได้และสร้างโอกาสใหม่ให้ตนเอง

เราได้พูดคุยกับ ฟอร์ด-นพรุจ ธำรงชวลิต ฟอร์ดทำงานเป็นวีเจผ่านแอปพลิเคชัน เขาเล่าว่าตนทำอาชีพวีเจ สร้างรายได้พร้อมกับเรียนมาเกือบปีแล้ว เริ่มต้นจากการไลฟ์ (Live) เล่น ๆ และหยุดไป สักพักหนึ่งก็กลับมาทำงานนี้ใหม่ เพราะอยากหารายได้ไว้ใช้จ่ายส่วนตัว

ฟอร์ดบอกกับเราว่า สิ่งที่ได้เพิ่มเติมจากการทำงานวีเจคือ นอกจากเงินแล้วก็เป็นพวก Connection เราจะได้คุยกับคนมากหน้าหลายตา ทั้งคนอายุไล่เลี่ยกัน แล้วก็คนที่โตกว่ามาก ทำให้เห็นโลกในหลายแนวและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

คนดูไลฟ์มีหลายแบบ หลายช่วงอายุ บางคนเป็นถึงเจ้าของโรงงาน เจ้าของกิจการ มีเงินเดือนมาก คนเหล่านี้มักใช้เวลาผ่อนคลายไปกับการดูวีเจที่ตนชื่นชอบ ชวนพูดคุย แถมยังเป็นสายเปย์คือคนที่ชอบจ่ายเงินให้วีเจด้วยการมอบของขวัญของแอปพลิเคชัน

การจะเปย์วีเจได้ก็ต้องเติมเงินเข้าแอปพลิเคชัน บางทีเปย์วีเจครั้งหนึ่งหลายแสนบาทโดยไม่เสียดาย คนที่ติดตามวีเจ ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ อาจจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่าพ่อยกแม่ยกก็ได้ หลายครั้งบรรดาพี่ ๆ พ่อยกแม่ยกก็ช่วยมอบความรู้และทัศนคติที่ดีให้กับวีเจผ่านการพูดคุยในไลฟ์ จึงกลายเป็นผลพลอยได้จากการทำงานที่ทั้งวีเจและคนดูต่างมอบความรู้สึกที่ดีให้กันและกัน

รายได้ของวีเจ ดีจนร้องว้าว

เมื่อถามถึงเรื่องรายได้ ฟอร์ดตอบว่าถ้าให้ตีเป็นตัวเลขกลม ๆ ก็ราว 700 ถึง 1,000 กว่าบาท สำหรับขั้นต่ำต่อการไลฟ์หนึ่งครั้ง ถ้าคิดเป็นเดือนก็ 50,000 บาท หลายคนมีคนติดตามมาก ทำยอดได้สูงกว่านั้นก็อาจถึงหลักแสนต่อเดือน

วีเจบางคนที่เป็นระดับท็อปสามารถตกผู้ชมให้ติดตามตนเอง คำว่า “โดนตก” หมายถึงการทำให้คนชอบหรือสนใจ ดึงคนดูสายเปย์ไว้กับตัวเองจนทำเงินได้เป็นจำนวนมาก ผู้ดูแลแอปพลิเคชันจะจ่ายค่าตอบแทนเพื่อให้วีเจอยู่กับแอปไปนาน ๆ บางคนได้รับเงินต่อเดือนถึง 90,000 บาท การันตีการจ่ายแม้จะทำยอดการไลฟ์ไม่ถึงเป้า และยังไม่รวมเงินที่ได้จากการเปย์ของผู้ชมอีกหลักหมื่นต่อวัน เพราะฉะนั้นจะบอกว่าวีเจไลฟ์เป็นอาชีพเงินล้านก็ไม่ผิดนัก ถ้าตัววีเจสามารถความประทับใจให้คนติดตามได้มาก

อาชีพเงินดี แต่ไม่มีอะไรได้มาโดยง่าย ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา

ถ้าถามถึงความยากลำบากของการเป็นวีเจหลายคนอาจพอรู้ว่าคือการต้องดูแลรักษาตัวเองให้พร้อมที่จะเป็นผู้ให้ความบันเทิง (Entertainer) ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเรื่องหน้าตา ภาพลักษณ์ อารมณ์ รวมไปถึงการรักษาบรรยากาศในแต่ละรอบที่ไลฟ์ ตัววีเจก็ต้องพัฒนาทักษะความสามารถ เช่น การพูดให้มีเสน่ห์ การเต้น การร้องเพลง และยังต้องเป็นคนติดตามข้อมูลข่าวสารด้วย เพื่อจะได้มีประเด็นมาพูดคุย เรียกได้ว่าพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ไปพร้อมกันด้วย

แต่ไม่ใช่มีเพียงแค่นั้น วีเจอาชีพมีเงื่อนไขผูกพันกับทางแอปพลิเคชันหลายอย่าง เช่น ต้องทำยอดเงินของขวัญจากคนดูให้ได้ตามเป้า ต้องเก็บชั่วโมงการไลฟ์ให้ครบตามที่กำหนดมาให้ เพื่อทั้งรักษาฐานคนดูและเป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขของทางแอปฯ หลายครั้งที่ต้องเอาเวลาส่วนตัวมาไลฟ์ ไม่ว่าจะเป็นกินข้าว ไปเที่ยว หรือตอนอยู่กับครอบครัวก็ตาม ก็อาจจะส่วนเสียความเป็นส่วนตัวบ้างในการใช้ชีวิต ซึ่งไม่แตกต่างจากดาราหรือผู้มีชื่อเสียง

วีเจเป็นงานที่เหมือนจะง่ายแต่ความกดดันสูงมาก หลายครั้งที่สภาพร่างกายจิตใจไม่พร้อม แต่ก็ต้องมาทำงานไลฟ์เพื่อเก็บชั่วโมงให้ครบ อีกทั้งการแข่งขันสูงลิบลิ่ว มีวีเจหน้าใหม่เกิดขึ้นทุกวัน ทั้งในแอปฯเดียวกันและต่างแอปฯ โดยแต่ละคนมีจุดเด่นต่างกันไป

“ต้องดึงคนดูไว้ให้อยู่ รู้ว่าเอกลักษณ์ของตัวเองคืออะไร มีความเฟรนด์ลี่ และหาอะไรทำให้ไลฟ์ไม่น่าเบื่อ คนดูอยากให้เต้นก็เต้น อยากให้ร้องเพลงก็ร้อง” ฟอร์ดกล่าวปิดท้ายถึงการตกคนดูในแบบฉบับของตนเอง

ทำงานด้วยความจริงใจ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง

เพราะฉะนั้นการทำงานเป็นวีเจไลฟ์ทางแอปพลิเคชันจะยั่งยืนได้ก็ด้วยการสร้างความเป็นมิตรกับผู้ติดตาม ให้ความบันเทิง พูดคุยอย่างเป็นกันเอง รวมไปถึงการให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับผู้ติดตาม ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เรียกได้ว่าต้องมีความเป็นไอดอลที่จริงใจ

การทำงานในอาชีพนี้จึงจะไม่ได้มีเพียงฉากหน้าที่สวยงามอย่างเดียว แต่ทว่าเบื้องหลังของวีเจก็ต้องมีความจริงใจ มีความพร้อมทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ เพื่อสามารถสร้างความบันเทิงในเบื้องหน้าให้กับผู้ติดตามเช่นเดียวกัน

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop CJR413,JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์

Writer

ชอบฟังเพลงเพลย์ลิสต์ที่ชอบ ถือกล้องออกไปถ่ายรูป เพื่อเล่าเรื่องราวผ่านตัวหนังสือ