ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระแสรักษ์โลกได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น เนื่องจากการตระหนักรู้ของคนในสังคมที่เล็งเห็นถึงปัญหาทางมลภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อม ทำให้แนวคิดของการรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม กำลังแทรกซึมไปไปทั่วทุกวงการ รวมไปถึงการปรับตัวของธุรกิจดั้งเดิม การก่อตั้งธุรกิจใหม่ ๆ ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ธุรกิจรีฟิล (Refill)

ธุรกิจรีฟิล เป็นร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดภายในบ้าน อาทิ สบู่ ยาสระผม ครีมบำรุงผิว น้ำยาล้างจาน ไปจนถึงสิ่งของเครื่องใช้ที่สามารถให้ซ้ำได้มากกว่าหนึ่งครั้ง จุดเด่นที่สำคัญที่สุดของร้านรีฟิลก็คือ เป็นร้านปลอดบรรจุภัณฑ์ ทางผู้บริโภคจะต้องนำภาชนะต่าง ๆ มาปั๊มน้ำยา หรือใส่ผลิตภัณฑ์ที่ซื้อกลับไปเอง

เราพูดคุยกับ พี่หยุย-คุณมณีรัตน์ เรืองรัตนนิธิ เจ้าของร้าน Get Well Zone ธุรกิจรีฟิลที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในหมู่คนที่รักสิ่งแวดล้อม ณ ขณะนี้

พี่หยุย มณีรัตน์ เรืองรัตนนิธิ เจ้าของร้าน Get Well Zone

Get Well Zone จุดเริ่มต้นเกิดจากเพื่อนซี้ และโอกาสที่เข้ามาเยือนถูกเวลา

พี่หยุยเล่าให้เราฟังว่า จุดเริ่มต้นของร้าน Get Well Zone เกิดขึ้นจากตัวของพี่หยุยและเพื่อนอีกหนึ่งคนที่มีชื่อว่า พี่ตูน ซึ่งทั้งสองคนเป็นเพื่อนที่คบกันมาตั้งแต่สมัยเรียน ทว่านิสัยและลักษณะในการใช้ชีวิตของทั้งคู่ค่อนข้างจะแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยพี่ตูนจะมีความเป็นแม่บ้านแม่เรือน เนื่องจากเจ้าตัวมีครอบครัวและลูก จึงมีนิสัยเป็นคนช่างเลือก ช่างสรรหาเป็นพิเศษ ต่างจากพี่หยุยที่ก่อนหน้านี้ทำงานทางด้านโปรดักชัน อยู่ในแวดวงโทรทัศน์ เป็นพนักงานออฟฟิศมาก่อน ทั้งพี่หยุยและพี่ตูนจึงมีประสบการณ์ในการทำงานที่ต่างออกไปคนละแบบ

จนกระทั่งวันหนึ่งพี่หยุยลาออกจากงาน พี่หยุยเล่าว่าจังหวะของช่วงชีวิตในตอนนั้นสมควรที่จะได้เปิดร้านนี้อย่างพอเหมาะพอเจาะ เนื่องจากมีพื้นที่สะดวกที่จะใช้ในการตั้งร้าน เทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นกระแส ผู้คนเริ่มให้ความสนใจกับปัญหาเรื่องขยะ และด้วยความที่ทั้งตัวของพี่หยุยและพี่ตูน ชอบที่จะใช้ชีวิตประจำวันด้วยการพกถุงผ้า พกกล่องข้าว และแก้วน้ำส่วนตัว จึงมองว่าหากวันหนึ่งจะต้องทำธุรกิจสักอย่างขึ้นมา จะทำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างนี้ ทำให้มีโอกาสที่จะก่อตั้งร้าน Get Well Zone ขึ้นมา

Get Well Soon, Get Well Zone การเป็นส่วนหนึ่งที่อยากจะทำให้โลกดีขึ้น

พี่หยุยอธิบายถึงที่มาของชื่อร้าน Get Well Zone ให้ฟังว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากคำว่า Get Well Soon ที่มักจะไว้ใช้บอกเวลาอยากจะใครหายป่วย ซึ่งหยุยและพี่ตูนล้วนต้องการที่อยากจะให้ทำให้ร้านแห่งนี้เป็นสถานที่ส่วนหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูโลกให้ดีขึ้น เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโลกของเราในตอนนี้กำลังป่วยหนัก จึงเป็นที่มาของชื่อ Get Well Zone

โดยวัตถุประสงค์หลักของทางร้าน Get Well Zone คือ ต้องการที่จะลดขยะประเภทบรรจุภัณฑ์ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สิ้นเปลืองไม่ต่างกับถุงพลาสติกอื่น ๆ ลดน้อยลง และถูกนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง

การันตีคุณภาพ ผลิตภัณฑ์คัดสรร ผ่านการทดสอบจริง

จากที่เกริ่นก่อนหน้านี้ว่าพี่ตูน ผู้ร่วมก่อตั้งร้าน Get Well Zone เป็นคนที่ช่างเลือก ช่างคัดสรร พี่หยุยขยายความอย่างเป็นกันเองกับเราว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นภายในร้าน พี่ตูนเป็นคนคอยทดสอบ ทดลองใช้จริงก่อนที่จะสั่งนำมาจำหน่าย เหตุเพราะเจ้าตัวเป็นคนที่แพ้สารเคมีง่าย เพราะฉะนั้นอะไรที่ใช้แล้วแพ้ มีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ พี่ตูนจะเป็นด่านแรกที่คอยตรวจเช็คผลิตภัณฑ์เองกับตัว

ด่านถัดมา ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างที่รับเข้ามาจำหน่ายในร้าน ทางร้านจะมีใบประกอบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้การรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรืออย่างผลิตภัณฑ์ประเภทออร์แกนิค ทางผู้ประกอบการก็จะต้องมีใบการันตีส่วนประกอบว่าเป็นออร์แกนิคอย่างไรบ้าง โดยทางร้าน Get Well Zone จะเก็บเอกสารรับรองทั้งหมดไว้ให้สามารถตรวจสอบได้สม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด

สินค้าและผลิตภัณฑ์ภายในร้านจะติดฉลากระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นของแบรนด์ไหน มีทั้งแบรนด์ของ SME รายย่อย แบรนด์ไทยที่ส่งออกต่างประเทศ ซึ่งแต่ละเจ้าอาจจะไม่มีหน้าร้านใหญ่ ๆ เป็นของตนเองให้เลือกซื้อ พี่หยุยจึงมองว่าพื้นที่ของร้านสามารถที่จะเป็นตัวแทนนำจำหน่ายได้ ยกตัวอย่างล่าสุดเมื่อวันก่อน มีลูกค้าที่เข้ามาซื้อน้ำยา เป็นน้ำยาของแบรนด์ ปันกันกรีน (PUNGUNGREEN) เขาบอกว่าตอนแรกเลยคือซื้อแบรนด์นี้จากการเดินตลาด Eco Market แล้วปรากฏว่าในตอนที่ใช้น้ำยาหมดและรู้สึกว่าใช้ดี อยากจะซื้อใช้เองอีกครั้ง จึงนำแกลลอนมาซื้อเติมที่ร้านของเรา

บรรจุภัณฑ์ที่พกมาเอง ข้อดีที่แสนจะคาดไม่ถึงของร้านรีฟิล

เป็นที่ทราบกันจากที่กล่าวไปในข้างต้น ธุรกิจรีฟิลหรือเป็นร้านที่ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้าจะต้องนำบรรจุภัณฑ์มาเอง คิดราคาจากน้ำหนัก ปริมาณของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เป็นการลดการใช้บรรจุภัณฑ์ใหม่ที่สิ้นเปลืองและได้นำบรรจุภัณฑ์เก่ากลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง

ข้อดีประการแรกของการที่นำบรรจุภัณฑ์มาที่ร้านเอง คือ ผู้บริโภคจะได้จ่ายเงินตามจำนวนหรือปริมาตรของสินค้าที่ซื้อจริง เพราะโดยปกติแล้ว เวลาเราเลือกซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาล้างจาน ยาสระผม อื่น ๆ เราจะเสียค่าบรรจุภัณฑ์โดยไม่รู้ตัว เปรียบให้เห็นภาพก็เหมือนการที่น้ำยาล้างจานแบบถุงซึ่งเป็นแบบเติมรีฟิล มักจะมีราคาแพงกว่าแบบขวดทั้งที่มีปริมาณเท่ากัน ซึ่งสำหรับร้านรีฟิล ผู้บริโภคหรือลูกค้าจะเสียค่าใช้จ่ายเพียงส่วนของค่าน้ำยาเท่านั้น

ข้อดีประการที่สอง พี่หยุยตั้งคำถามให้เราฉุกคิดตามขึ้นมาทันทีว่า เคยไหมกับการที่เข้าไปเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ในซุปเปอร์มาร์เก็ตแล้วตามชั้นวางของจะมีของประเภทเดียวกันเรียงวางอยู่เป็นเป็นสิบแบรนด์ยี่ห้อ เราจะทราบได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์ไหนที่เหมาะกับตัวเรา ใช้แล้วจะดีมากน้อยแค่ไหน หากจะต้องซื้อกลับไปเป็นขวดและใช้เพียงแค่ครั้งเดียว ไม่ได้ใช้อีกเลย สุดท้ายผลิตภัณฑ์ที่เหลือที่เหล่านี้ก็จะกลายเป็นขยะ กลายเป็นสารปนเปื้อนให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างที่คาดไม่ถึง ดังนั้นข้อดีของการมีร้านรีฟิลคือผู้บริโภคสามารถลองเทสต์ตัวสินค้าได้ในปริมาณที่ไม่เหลือทิ้ง อาจจะลองปั๊มผลิตภัณฑ์ที่สนใจกลับไปสัก 10 – 20 กรัมก็เพียงพอต่อการทดลองใช้

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ลูกค้ามาซื้อสินค้าแล้วไม่ได้นำบรรจุภัณฑ์มาเอง ทางร้านก็จะมีบรรจุภัณฑ์ขายแยกให้ต่างหาก เพื่อให้ตัวลูกค้าหรือผู้บริโภคทราบว่าทุกวันนี้เงินที่จ่ายออกไป ไม่ได้จ่ายเพียงแค่ค่าน้ำยาแต่อย่างเดียว

เพราะบางที Zero Waste นั้นอาจจะตอบโจทย์ไม่เท่า Less Waste

เหตุผลที่คอนเซ็ปต์ของร้าน Get Well Zone ไม่ใช่ Zero Waste หรือ แนวคิดขยะเหลือศูนย์ ซึ่งเป็นแนวคิดในการลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง หรือเป็นการใช้ชีวิตโดยที่จะไม่สร้างขยะขึ้นมาเลย เนื่องจากองค์ประกอบหรือปัจจัยหลายอย่างในประเทศไทยนั้นไม่เอื้ออำนวย ดังนั้นพี่หยุยจึงตั้งคอนเซ็ปต์ของร้าน Get Well Zone ไว้ว่า Less Waste Living Style การใช้ชีวิตอย่างไรให้ลดขยะได้มากที่สุด ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สิ้นเปลืองให้น้อยลงเท่าที่จะทำได้ในชีวิตประจำวัน การพกแก้วน้ำส่วนตัว พกกล่องข้าว ที่ว่ามาเป็นเพียงแค่สิ่งพื้นฐานเท่านั้น

บรรจุภัณฑ์สุดสิ้นเปลือง ปัญหาใหญ่ที่หลายคนมักมองข้าม

พี่หยุยเล่าว่าบรรจุภัณฑ์ที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวันนั้นสร้างปัญหาใหญ่กว่าที่ใครหลายคนคิด ในเกือบทุกบ้าน ทุกครัวเรือนจะต้องซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เข้ามาใช้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นแชมพูยาสระผม ครีมนวดผม สบู่ ยาสีฟัน น้ำยาล้างจาน เป็นต้น ซึ่งในแต่ละเดือนขยะประเภทบรรจุภัณฑ์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่หลายคนยังมองข้ามปัญหาจุดนี้ และเพราะผู้คนให้ความสนใจขยะประเภทถุงพลาสติกเสียมากกว่า

พลาสติก ตัวการร้ายที่ถูกใส่ร้ายเกินความเป็นจริง

ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการตั้งแต่รายย่อยไปจนถึงรายใหญ่เริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เห็นได้ชัดตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าทั่วไป มีการรณรงค์งดใช้ งดแจกถุงพลาสติก เนื่องจากปัญหาเรื้อรังในการจัดการขยะพลาสติกตามท้องทะเลหรือสถานที่ต่าง ๆ และการย่อยสลายได้ยากของบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้

อย่างไรก็ตาม พี่หยุยได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ว่า หลายคนอาจจะเริ่มเพ่งเล็งว่าการใช้ถุงพลาสติกนั้นอาจจะเป็นการสนับสนุนความเพิ่มพูนของขยะ มองว่าพลาสติกเป็นตัวการร้าย ทั้งที่บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ก็ไม่ต่างกัน ในความเป็นจริง ถุงพลาสติกที่เรามีอยู่แล้ว หากนำกลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง หลายครั้ง ก็จะไม่ถือว่าเป็น Single Use (การใช้ครั้งเดียวทิ้ง) แล้ว แต่ที่คนมักจะเข้าใจผิดก็เพราะเรามักจะเจอปัญหาของขยะพลาสติกในข่าวบ่อยครั้ง เจอพลาสติกในท้องสัตว์ เจอพลาสติกในท้องทะเล หลอดพลาสติก แก้วน้ำพลาสติก ถุงพลาสติก ฯลฯ ขยะเหล่านี้มาจากพฤติกรรมของมนุษย์ผู้ใช้งาน ถ้าไม่จัดการให้เป็นที่เป็นทางและยังทิ้งขยะต่าง ๆ ลงพื้น ปลิวลงแม่น้ำ ไหลลงทะเล ปัญหาขยะพลาสติกก็คงไม่มีทางหายไป

“พฤติกรรมของหลายคนในตอนนี้มักจะใช้ถุงพลาสติกเพียงครั้งเดียวทิ้ง อย่างเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ ได้ถุงพลาสติกร้อนใส่ไส้กรอก ของกินต่าง ๆ พอกินเสร็จก็โยนทิ้ง บางทีถุงพลาสติกเลอะนิดหน่อยก็ทิ้ง ไม่เลอะแต่ทิ้งก็ยังมี ซึ่งเป็นเพราะตัวเราเองนั้นไม่ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่แรก ไม่ได้ถูกสั่งสอนมาว่าจะต้องจัดการอย่างไร กระทั่งวันหนึ่งเรามารู้ว่า อ้าว ขยะในตอนนี้มันมีเยอะมากขนาดนี้เลยเหรอ ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่เคยคิด พี่ผ่านชีวิตมา 30 กว่าปีไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้ แต่เมื่อ 2 – 3 ปีที่แล้วเริ่มตระหนักและเห็นว่า ถุงขยะ ถุงพลาสติกเข้าไปอยู่ในท้องสัตว์ต่าง ๆ ทั้งที่มันเป็นปัญหาที่สะสมมานานจนถึงวันนี้ นี่มันเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ที่กำลังส่งผลต่อเพื่อนร่วมโลก เรารู้สึกว่าไม่อยากที่จะสร้างภาระหรือไปเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ” พี่หยุยกล่าว

เพราะฉะนั้นนี่สิ่งที่พี่หยุยทำคือการเป็นทางเลือกให้กับคนที่มีแนวคิดแบบเดียวกัน พี่หยุยเลือกที่จะเปิดร้าน Get Well Zone ซึ่งเป็นร้านรีฟิลขึ้นเพราะมีความต้องการที่จะให้มีร้านประเภทนี้เพิ่มขึ้นอีก เป็นความต้องการที่จะเติมน้ำยาลงในบรรจุภัณฑ์เดิม ๆ โดยไม่สิ้นเปลืองขยะบรรจุภัณฑ์ใหม่ อีกทั้งยังได้มาทำกับเพื่อนอย่างพี่ตูน คนที่มีแนวคิดและความต้องการคล้ายกัน เพื่อต้องการที่จะสนับสนุนให้บรรจุภัณฑ์ที่เสียเปล่าไปถูกปรับนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง

ถุงกระดาษไมได้ช่วยลดขยะ และถุงผ้าก็ไม่ได้ช่วยสิ่งแวดล้อม

ประเด็นนี้พี่หยุยทำให้เราได้เข้าใจอะไรใหม่ ๆ เกี่ยวกับการปรับตัวเข้าสู่สังคมรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะแม้ว่าถุงกระดาษและถุงผ้าจะดูเป็นทางเลือกในการช่วยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกให้น้อยลง ทว่าหากพฤติกรรมการใช้ของผู้คนยังไม่เปลี่ยนแปลง มันก็อาจจะไม่ได้ช่วยฟื้นฟูโลกอย่างที่คิด

เนื่องจากถุงผ้าที่ผลิตขึ้นในปัจจุบันมักทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก มีกระบวนการผลิตที่ใช้สารเคมีปนเปื้อน ส่งผลเสียต่อธรรมชาติ อีกทั้งพฤติกรรมการใช้ของผู้ใช้บางกลุ่มที่พอใช้ถุงผ้าจนเปื้อน ไม่คุ้มค่า ก็นำมาทิ้งกลายเป็นกองขยะเพิ่มพูน

อีกทั้งคนยังเข้าใจผิดอีกว่า การใช้ถุงกระดาษแทนการใช้ถุงพลาสติกจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม แรกเริ่มเดิมที ผู้ประดิษฐ์คิดค้นถุงพลาสติกขึ้นมานั้น มีจุดประสงค์เพื่อต้องการลดการใช้ถุงกระดาษให้น้อยลง เพราะกว่าที่จะได้กระดาษออกมาแต่ละแผ่น จะต้องผ่านกระบวนการมากมายที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และมีความทนทานถุงกระดาษไม่เท่าถุงพลาสติก เพราะถุงกระดาษใส่ของได้เพียงไม่กี่ครั้ง หากขาดก็ต้องทิ้งทันที อย่างไรก็ตาม ถุงพลาสติกมีน้ำหนักเบาและทนทานกว่ากระดาษ สามารถใช้ซ้ำและทำความสะอาดได้ ทว่าคนมักจะใช้ถุงพลาสติกเพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่ต่างกับถุงกระดาษ ซึ่งสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้ใช้อยู่ดี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กำลังทำอยู่เป็นเพียงแค่มดตัวเล็ก ๆ ตัวหนึ่งเท่านั้น

พี่หยุยเล่าสู่กันฟังเรื่องที่หลายคนอาจคิดว่าร้านนี้จะช่วยอะไรโลกได้ เพราะปัญหาโลกร้อนในตอนนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากแค่ถุงพลาสติก หรือขยะเพียงอย่างเดียว มันเกิดจากมลภาวะที่สะสมมานาน ไม่ว่าจะเป็น โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยก๊าซพิษ สารเคมี ขึ้นไปบนอากาศก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก สร้างสารปนเปื้อนในน้ำ ในความเป็นจริงการแก้ปัญหาจะต้องทำในระดับใหญ่ ระดับรัฐบาลที่มันต้องมีการบังคับภาคอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นสิ่งที่พี่ทางร้าน Get Well Zone ทำในวันนี้ เป็นเพียงสิ่งที่มดตัวเล็ก ๆ ตัวหนึ่งทำเท่านั้น หากมีคนให้ความเข้าใจร้านประเภทนี้และมีธุรกิจรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ร่วมมือกันรักษาสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด รวมกันเป็นผนึกเป็นกำลังที่ยิ่งใหญ่ ทำให้โลกของเราน่าอยู่มากขึ้น ก็ยังมีโอกาสพอที่จะช่วยโลกให้ดีขึ้นได้

แต่ถ้าถามว่าจะให้ทุกคนเข้าร้านรีฟิลไหม มันก็เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่คุณมีการจัดการ ลดการใช้สิ่งของต่าง ๆ รอบตัวที่จะส่งผลต่อธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อมให้น้อยลง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็เป็นการลดการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว พี่หยุยกล่าวทิ้งท้าย

“ความเข้าใจและการปลูกฝัง ถามว่าจะยังเห็นได้ในคนรุ่นหลังหรือเปล่า บอกตามตรงว่าไม่คิดว่าจะได้เห็น แต่ว่าก็ยังรู้สึกมีความหวังอยู่ ด้วยความที่ตอนนี้เราจะเห็นแล้วว่าขยะมันเยอะมากจริง ๆ ถ้าเราไม่เริ่มทำวันนี้ เราจะเริ่มทำวันไหน”

แนะนำเพิ่มเติมสำหรับสายรักษ์สิ่งแวดล้อม

หากใครสนใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์รักสิ่งแวดล้อม ราคาจับต้องได้ และคัดสรรมาอย่างดีโดยพี่หยุยและพี่ตูน สามารถเข้ามาซื้อได้ที่ร้าน Get Well Zone ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ของ Zakka Shop หน้าปากซอยเอกมัย ซอย 24 เดินทางได้ง่ายมาก เลือกเดินทางด้วย BTS ลงที่สถานีเอกมัย ทางออกที่ 4 และนั่งวินมอเตอร์ไซค์ต่ออีกสักนิด ร้านเปิดบริการทุกวันอังคาร ถึง วันอาทิตย์ เวลา 10.30-18.00 น.

ร่วมทำความเข้าใจและฟื้นฟูโลกไปกับ Get Well Zone ธุรกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop, CJR413, JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ขจรจิต บุนนาค และผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์

Writer

การนำเสนอความคิดของเราผ่านตัวละคร ผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เราเขียน คือการสร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาผ่านทัศนคติของเรา เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ

Writer & Photographer

บรรณาธิการบริหารบ้านกล้วยออนไลน์ปี 2020 ที่คาดหวังให้ตัวเองมีความสุข และใช้ชีวิตตามคำพูดของวินเซนต์ แวนโก๊ะห์ ‘What is done in love is done well’

Photographer

พิสูจน์การมีตัวตนผ่านตัวหนังสือและเล่าเรื่องราวผ่านงานเขียน