วันที่ไม่ได้ไปไหนไกล เพราะสถานการณ์โควิด-19 ฉันเลือกเที่ยวชุมชนใกล้บ้าน หากเอ่ยถึงสถานที่น่าเที่ยวใน จังหวัดตราด อยู่ทางภาคตะวันออก ติดชายฝั่งทะเล ผู้คนส่วนใหญ่มักนึกถึงเกาะช้างหรือหมู่เกาะบริวาร แต่หารู้ไม่ว่าทางผ่านมีสถานที่น่าแวะเที่ยวเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ บ้านน้ำเชี่ยว แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบเชียบ รอผู้เดินทางผ่านแวะมาเยี่ยมเยือน

บ้านน้ำเชี่ยว มีสิ่งที่น่าสนใจซุกซ่อนอยู่ไม่น้อยเลย ทั้งการสัมผัสวิถีชีวิตแบบชาวบ้านที่มีเอกลักษณ์ รวมไปถึงความงามทางธรรมชาติของป่าชายเลนที่มีอากาศบริสุทธิ์ดีต่อใจและดีต่อสุขภาพ

ความงามของธรรมชาติที่บ้านน้ำเชี่ยว

ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด อยู่ในเส้นทางผ่านไปท่าเรือ เพื่อไปยังหมู่เกาะที่สวยงาม บ้านน้ำเชี่ยวมีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ติดทะเล มีป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีคลองน้ำกร่อยขนาดใหญ่ไหลผ่าน ชาวน้ำเชี่ยวมีทั้งคนไทยพุทธ คนไทยเชื้อสายจีน และคนมุสลิม ที่มีประวัติอพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยก่อน ทำให้ที่นี่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเป็นเสน่ห์ที่สะท้อนผ่านวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่

บ้านน้ำเชี่ยวเป็นชุมชนอยู่ติดทะเล มีป่าชายเลน มีคลองขนาดใหญ่ สภาพธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อย่างมาก ช่วงฤดูกาลน้ำหลาก สายน้ำที่ไหลเชี่ยว ชาวบ้านจึงเรียกว่า คลองน้ำเชี่ยว โดยไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ลงสู่ทะเลอ่าวไทยทางใต้ที่บ้านปากคลอง ตำบลหนองโสน และอำเภอเมืองตราด ชาวบ้านใช้เป็นแหล่งประมงพื้นบ้านและใช้เป็นเส้นทางออกทะเล มีการทำประมงมายาวนาน แสดงถึงการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างคนกับธรรมชาติ

จากตัวเมืองสู่ชุมชนเล็ก ๆ

บริ้น ๆ เสียงรถยนต์ในตัวเมืองจังหวัดตราดที่ขับผ่านบ้านของฉันตั้งแต่เช้าเหมือนทุกวัน มันช่างวุ่นวายเสียเหลือเกิน อยากไปออกสูดอากาศที่บริสุทธิ์จัง ฉันนึกขึ้นมาในใจ พร้อมมองออกไปยังเมฆที่กำลังก่อตัวอย่างแน่นหนา ท้องฟ้าในวันที่ไม่มีแดดออก จึงทำให้อากาศไม่ร้อน ฉันคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะไปจุดหมายที่ต้องการในรูปแบบ One day trip อยู่พอดี ซึ่งนั่นก็คือ บ้านน้ำเชี่ยว

ใช้เวลาเตรียมตัวไม่นาน เวลา 11.30 น. ฉันเดินไปขึ้นรถสองแถวในตัวเมืองตราด ด้วยร่างกายที่ไร้ข้าวของรุงรัง มีเพียงกระเป๋าสตางค์และโทรศัพท์มือถือเท่านั้นที่เป็นเพื่อนคู่กายในการเดินทาง ประกอบกับสถานการณ์โควิด ทำให้ฉันกลัวการนั่งรถร่วมกับผู้โดยสารคนอื่น ฉันจึงเหมารถสองแถวไปยังบ้านน้ำเชี่ยวเพียงคนเดียว ด้วยเงิน 120 บาท ซึ่งถ้าเป็นค่าโดยสารปกติจะอยู่ที่ 30-40 บาทต่อคนเท่านั้น

บรรยากาศที่นั่งคนเดียวบนรถก็ทำให้ฉันสบายใจไปอีกแบบ ในที่สุดฉันก็ได้ตรงมาถึงจุดหมาย ฉันย้ำว่าตรงมาอย่างเดียวจริง ๆ ถ้าใครที่ขับรถมาเองจากจังหวัดอื่น พอเข้ามาถึงเขตจังหวัดตราด ก็แค่ตรงมาตลอดทาง ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงด้วยซ้ำก็ถึงบ้านน้ำเชี่ยว

สะพานวัดใจสุดหวาดเสียว

ครั้งแรกและครั้งล่าสุดที่ฉันได้มายังชุมชนแห่งนี้คือตอนที่ยังเด็กมาก ฉันจึงจำได้อย่างเรือนลางเท่านั้นว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่สิ่งที่ฉันสังเกตได้ชัดเจนเมื่อมาถึงก็คือ สะพานวัดใจ เพราะก่อนหน้าที่เคยมาเมื่อหลายปีก่อน ยังไม่มีสะพานแห่งนี้

สะพานแห่งแห่งนี้มีไว้เพื่อข้ามไปมาหาสู่กันและกันของชาวบ้านทั้งสองฝั่งในชุมชน เพราะว่ามีคลองคั่นกลางอยู่ โดยสะพานนี้มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลสูงสุด ถึง 7.5 เมตร ซึ่งสูงมาก เหตุผลที่ต้องสร้างไว้สูงมากก็เพื่อให้เรือสามารถแล่นผ่านได้อย่างสะดวกสบาย

โดยปกติแล้วฉันไม่ได้เป็นคนที่กลัวความสูง แต่ในขณะที่ขาของฉันเริ่มเหยียบไปที่ขั้นแรกของสะพาน มือของฉันก็เริ่มมีเหงื่ออกมา ฉันเริ่มรู้สึกตัวหวิว และค่อยขยับตัวเดินขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุดของสะพาน ทิวทัศน์จากจุดที่สูงที่สุดบนสะพานนั้นสวยงามมาก สามารถมองเห็นทั่วทั้งหมดในชุมชนยาวไปจนถึงป่าชายเลน อากาศที่สดชื่นและวิวที่สวยงาม ทำให้ฉันเปิดหน้ากากอนามัยที่สวมใส่อยู่เพื่อรับอากาศธรรมชาตินี้อย่างเต็มที่ น่าเสียดายที่มือของฉันมีเหงื่อออกไม่หยุด อาจจะเป็นเพราะความกลัว ทำให้ฉันไม่สามารถหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเก็บภาพความสวยงามนี้ออกมาได้

ศูนย์ศึกษาธรรมชาติระบบนิเวศป่าชายเลน

ฉันกำลังเดินมุ่งหน้าไปยังป่าชายเลน ระหว่างทางที่ฉันเดิน บ้านแต่ละหลังนั้นช่างเงียบสงบ มีเพียงปลาและกล้วยที่ตากไว้อยู่ริมคลอง ซึ่งต่างกับในตัวเมืองตราดดีเหลือเกิน ทั้งมีลมเย็นที่ผ่านพัดไป ไร้มลพิษ และไร้เสียงผู้คนที่วุ่นวาย

ฉันได้เพลิดเพลินไปกับการชื่นชมธรรมชาติรอบตัวที่ป่าชายเลนจนลืมเวลาไปเสียเลย ป่าชายเลนแห่งนี้มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติสร้างทอดยาว เพื่อได้ชมสิ่งน่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศของป่าชายเลน ปลาตีน ลิง ปู และนกจำนวนมาก ข้อควรระมัดระวังที่นี่มีลิงหลายตัว พวกลิงมองมาที่ฉันไม่หยุด โชคดีที่ฉันไม่ได้พกของกินมา ไม่อย่างนั้นฉันคงโดนเหล่าฝูงลิงทำการปล้นของกินไปเสียแล้ว

แต่แล้วเหตุการณ์ที่ฉันไม่อยากให้เกิดขึ้นมากที่สุดก็เกิดขึ้นเสียแล้ว นั่นก็คือฝนตก! ทำให้ฉันไม่สามารถเดินไปถึงหอดูนกที่มีทิวทัศน์ 360 องศาได้ แต่ก็ยังโชคดีที่ตกลงมาเพียงปรอย ๆ ทำให้ฉันเดินหันหลังกลับได้โดยที่ไม่ต้องหาที่หลบฝน ระหว่างทางฉันได้โอกาสถ่ายรูปอยู่แค่ชั่วครู่ จนต้องรีบเดินเพราะฝนตกหนักขึ้น เมื่อถึงด้านหน้าของถนนใหญ่ ก็รีบโทรหาคุณลุงที่ฉันได้เหมารถมาเมื่อตอนเช้า เพื่อที่จะได้เหมาให้มารับกลับบ้านอีกรอบ

ความเงียบสงบช่วงโควิด-19

ระหว่างทางที่ฉันเดินอยู่ในชุมชน ฉันชอบความเงียบสงบ ทว่าก็มีความรู้สึกตะหงิดใจเล็กน้อย เพราะเงียบผิดปกติหรือเปล่า และฉันก็คิดว่าที่จริงน่าจะความคึกคักมากกกว่านี้ เพราะไม่ได้เห็นภาพชาวบ้านเดินไปมา นั่งคุยเล่นกันริมคลอง หรือไม่มีของขายในชุมชนเลย ฉันรู้ได้ทันทีว่าเป็นเพราะโควิดอย่างแน่นอน

หลังจาก One day trip ที่บ้านน้ำเชี่ยวในวันนี้ และกลับถึงบ้านในเวลา 4 โมงเย็นเล็กน้อย ฉันก็ได้เกิดความสงสัยขึ้นมาในหัวเต็มไปหมดว่าก่อนหน้าที่จะมีโควิด สภาพแวดล้อมและบรรยากาศในชุมชนจะเป็นอย่างไร

ฉันจึงโทรไปพูดคุยกับ ป้าเล็ก-วัลภา สังข์ผาด ที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวมานาน เพื่อถามว่าในชุมชนทั้งก่อนหน้าและหลังจากที่มีโควิดนั้นมีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด ป้าเล็กตอบฉันว่า แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด พร้อมอธิบายว่าก่อนที่จะมีโควิด ช่วงนั้นจะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่นี่หลายกลุ่ม รวมไปถึงคนที่ walk-in เข้ามาด้วย ชุมชนจะมีการหารายได้มาจากการขายของพื้นบ้านให้นักท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นถ้ามาในช่วงที่มีนักท่องเที่ยว หมู่บ้านน้ำเชี่ยวจะคึกคักมากเลย

อาหารและขนมพื้นบ้านของบ้านน้ำเชี่ยว

เมื่อได้ยินว่ามีการขายของพื้นบ้าน ฉันจึงขอให้ป้าเล็กแนะนำขนมหรืออาหารพื้นบ้านให้ฟังเล็กน้อย เพราะว่าในวันที่ฉันไป ฉันไม่เห็นร้านไหนเปิดขายของเลย จึงไม่ได้ใช้เงินซื้ออะไรเลย นอกจากขนมปังในร้านสะดวกซื้อขากลับ และเผื่อเอาไว้ว่าถ้าสถานการณ์ดีขึ้นแล้วมีการกลับมาขายของตามปกติ ฉันจะได้หาซื้อและลองชิมดูได้บ้าง

อย่างแรกที่ป้าเล็กได้แนะนำคือ ข้าวเกรียบยาหน้า ที่เป็นอาหารที่ได้รับการพัฒนามาจากสูตรของแขกจาม โดยเป็นแป้งที่ทำเป็นข้าวเกรียบและมีมะพร้าวที่ปรุงรสมายาหน้า พร้อมกับน้ำเชื่อม และอย่างที่สองคือ ตังเมกรอบ หรือที่หลายคนเรียกว่า ขนมไม้ ที่มีรสหวานและกรอบ คนอาจจะยังไม่รู้ว่าต้นกำเนิดของขนมชิ้นนี้คือที่บ้านน้ำเชี่ยวแห่งนี้นั่นเอง ซึ่งช่วงที่มีนักท่องเที่ยว จะมีกิจกรรมอย่างหนึ่งที่จัดขึ้น คือมีการจัดให้ชมวิธีการทำอาหารและขนมทั้งสองชนิดนี้ที่ได้กล่าวมาด้วยเช่นกัน

วิถีชีวิตวันวานของบ้านน้ำเชี่ยว

ป้าเล็กได้เล่าเสริมในฐานะเป็นคนในชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวมาตั้งแต่เกิดว่า ก่อนที่บ้านน้ำเชี่ยวจะกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีความพิเศษมากกว่าที่เห็นกัน ไม่ว่าจะเป็นคลองที่กว้างใหญ่กว่าปัจจุบัน ทำให้สามารถไปมาหาสู่กันระหว่างหมู่บ้านอื่นด้วยเรือ เพื่อสร้างสัมพันธ์อันดีงามต่อกัน อีกทั้งยังเป็นหมู่บ้านที่เป็นท่าเรือเดียวที่ใช้ขนส่งสินค้ามากมายจากเกาะช้าง เช่น ยางพารา มะพร้าว รวมไปถึงของทะเลแห้ง ชาวบ้านมีความสุขมาก ตรงที่ไม่ต้องออกทะเลไปไกลเพื่อไปหาอาหาร เพราะสามารถทอดแหจับสัตว์น้ำมาเป็นอาหารในคลองน้ำเชี่ยวแห่งนี้ได้เลย ขณะที่ปัจจุบันนี้แทบไม่มีให้จับแล้ว

ภาพความทรงจำครั้งใหม่

การกลับมาบ้านน้ำเชี่ยวอีกครั้งหลังจากที่ไม่ได้มาเยือนเป็นเวลานาน ทำให้มุมมองของฉันเปลี่ยนไปจากความทรงจำครั้งก่อน แต่ครั้งนี้ภาพความทรงจำของบ้านน้ำเชี่ยวนั้นชัดเจนยิ่งกว่าครั้งไหน

เมื่อครั้งยังเด็ก ที่นี่เคยเป็นแค่ชุมชนธรรมดาจากความคิดของเด็กคนหนึ่ง แต่ในครั้งนี้ เมื่อได้กลับไปเที่ยวอีกครั้ง ทำให้ฉันได้พบกับความสวยงามของธรรมชาติที่ละเอียดยิ่งขึ้น และเห็นถึงความสำคัญของวิถีชีวิต การเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ เป็นชีวิตที่มีความเรียบง่ายทว่างดงามที่ได้หวนกลับมาคิดถึงอีกครั้งในช่วงโควิด ไม่ว่าจะมาจากการที่ฉันได้สัมผัสจริง หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทางโทรศัพท์ก็ตาม

อย่างไรก็ตามการมาเที่ยวครั้งนี้ยังให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไป ความรู้สึกเงียบสงบในระหว่างการเที่ยว ไม่มีคนเดินพลุกพล่านกันในชุมชน บางคนอาจจะชอบความรู้สึกแบบนี้ แต่อันที่จริงมันก็เป็นเรื่องที่ไม่น่ายินดีสักเท่าไหร่นัก สำหรับชาวบ้านที่ต้องพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยว และขาดแคลนรายได้ไป ทั้งร้านอาหารหรือกิจการบางแห่งในชุมชนก็ต้องหยุดพักหรือปิดกิจการลงอย่างน่าเสียดาย

หากโควิดคลี่คลาย ฉันหวังว่าจะมีคนขับรถมาเที่ยวที่ตราด และลองแวะมาที่บ้านน้ำเชี่ยว เผื่อคุณจะได้พบเจอผู้คนในชุมชน วิถีชีวิต วัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ ได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เพราะแหล่งท่องเที่ยวที่ทำให้เราได้ใกล้ชิดธรรมชาติอย่างแท้จริงหาได้ยากยิ่งนัก เราควรอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานรุ่นต่อไปได้มาเรียนรู้ชุมชน อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้คนในชุมชนมีรายได้เลี้ยงปากท้องของครอบครัว และยังได้รับความสุข อิ่มอกอิ่มใจ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่กลับไปอีกด้วย แล้วคุณจะหลงรักเสน่ห์อันหลากหลายของชุมชนแห่งนี้โดยไม่รู้ตัว

Reference & Bibliography

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CAX005 Arts of Storytelling ภาคการศึกษาที่ 1/2564 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ขจรจิต บุนนาค

Writer & Photographer

นักศึกษาสาขาวิชาการผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์และประสบการณ์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ