อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา บางคนเคยเจออุบัติเหตุเฉียดความเป็นความตาย หัวใจอาจจะหยุดเต้น หายใจรวยริน ไม่ว่าจะเกิดเหตุเล็กหรือใหญ่ เราต้องมีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาล ว่าแต่ทุกคนรู้จักการ CPR หรือเปล่า ติ๊กต๊อก ติ๊กต๊อก CPR คือการปั๊มหัวใจนั่นเองค่ะ!

การปั๊มหัวใจที่เรียกว่า CPR ย่อมาจาก Cardiopulmonary Resuscitation หรือปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพด้วยวิธีปั๊มหัวใจ เป็นการปฐมพยาบาลเพื่อช่วยชีวิตแบบหนึ่ง ที่มีประโยชน์ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผู้ป่วยหยุดหายใจกะทันหันหรือหัวใจหยุดทำงาน เช่น การจมน้ำ อาการหัวใจวาย หรือตกอยู่ในภาวะที่สมองขาดออกซิเจน จึงจำเป็นที่จะตัองปั้มหัวใจอย่างเร่งด่วน เพื่อให้มีอากาศเข้าไปเลี้ยงสมองอย่างต่อเนื่อง ป้องกันภาวะสมองตาย หากไม่ได้รับออกซิเจนเกิน 4 นาที

เรามาเรียนรู้การทำ CPR และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า (AED) ฉบับย่อในเบื้องต้น ก่อนที่จะหาเวลาไปคอร์สอบรมกันนะคะ!

ประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้าน

ก่อนที่จะเข้าทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น สิ่งแรกที่ควรทำคือการประเมินสถานการณ์ หมายถึงว่า เราต้องตรวจเช็ครอบตัวเรา ได้แก่ มีไฟ มีควัน บริเวณนั้นมีน้ำมัน มีก๊าซหรือไม่ และพื้นที่ในการเข้าไปช่วยเหลือเปียกน้ำหรือไม่ เพราะว่าทุกครั้งที่เข้าจะไปช่วยเหลือคนอื่น เราต้องประเมินความปลอดภัยของตัวเราเองเป็นอันดับแรกก่อน

ให้สังเกตว่าสถานที่ดังกล่าวมีไฟฟ้าหรือไฟอื่นที่เป็นอันตรายต่อตัวเราเองหรือไม่ ถ้ามีควันแสดงว่า ไม่ใช่ที่ปลอดภัยในการช่วยเหลือผู้ป่วย มีน้ำมัน อาจจะเกิดเปลวไฟง่ายมาก และทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ส่วนพื้นควรไม่เปียกน้ำ เราต้องสังเกตดูว่าพื้นเปียกน้ำบ้างหรือไม่ เพราะเวลาเราจะวิ่งเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วย เราจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า หรือใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า หากแถวนั้นเปียกน้ำ อาจจะทำให้เกิดอันตรายทั้งต่อผู้บาดเจ็บและผู้เข้าไปช่วยเหลือ

ทำการวิเคราะห์ผู้ป่วย

หลังจากที่เราประเมินสถานการณ์ว่าปลอดภัยแล้ว สิ่งที่ควรทำต่อไปก็คือประเมินผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ ซึ่งหมดสติ สิ่งที่เราต้องทำคือการปลุกเรียกผู้ป่วยโดยการตีไปที่ไหล่สามครั้ง พร้อมกับเรียกผู้ป่วยด้วยเสียงดัง แต่ถ้าผู้ป่วยไม่ตอบสนองให้เรารีบขอความช่วยเหลือ ได้แก่ การโทรเข้าไปที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน หมายเลข 1669

โดยแจ้งข้อมูลเบื้องต้นว่าผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บมีอาการอย่างไร ให้ข้อมูลสถานที่เกิดเหตุให้ชัดเจน บอกลักษณะของผู้ป่วย เพศ ประมาณการอายุ การรู้สึกตัวของผู้ป่วย รวมถึงวิเคราะห์สถานการณ์รอบข้างที่อาจจะส่งผลต่อการช่วยเหลือและอาการของผู้ป่วย พร้อมกันนั้นระหว่างรอทีมช่วยเหลือ ผู้แจ้งควรขอข้อมูลคำแนะนำในการช่วยเหลือเบื้องต้น

การปั้มหัวใจทำควบคู่กันไปกับการกระตุกหัวใจ หากมีความจำเป็นก็ต้องใช้เครื่องกระตุกหัวใจ (Automated External Defibrillator : AED) ร่วมด้วย ทั้งนี้ในสถานที่บางแห่งก็มีเครื่องกระตุกหัวใจให้บริการ ติดอยู่บนผนัง พร้อมกับมีวิธีการใช้งานแนบมากับตัวเครื่องด้วย

สำหรับผู้ที่ให้การช่วยเหลือ สิ่งสำคัญคือการวิเคราะห์อาการผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ เราก็ต้องตรวจเช็คว่าผู้ป่วยหายใจอยู่หรือไม่ หน้าอกกระเพื่อมหรือไม่ ถ้าไม่มีสองสิ่งนี้ให้เราประเมินได้ว่าผู้ป่วยคนนี้ต้องการการทำ CPR อย่างเร่งด่วน

CPR ต่อลมหายใจ

วิธีการสังเกตตำแหน่งที่เราจะปั๊มหัวใจ คืออยู่ตรงกลางหน้าอก เราลากเส้นผ่าครึ่งกลางลำตัวแล้วก็ลากเส้นระหว่างหัวนมข้างหนึ่งไปหัวนมอีกข้างหนึ่ง แล้วจุดตัดนั้นคือตำแหน่งที่ถูกต้องที่สุดในการปั๊มหัวใจ

หลังจากที่เราหาตำแหน่งเจอแล้ว เราก็นำมือสองข้างประสานกันโดยใช้มือข้างที่ถนัดแบออกไปก่อน แล้วเอาข้างที่ไม่ถนัด ประสานไปที่ข้างที่ถนัด ต่อจากนั้นนำส้นมือวางไว้ตรงตำแหน่งที่เราจะปั๊มหัวใจ ข้อปฏิบัติคือออกแรงกดไปที่หน้าอกด้วยมือทั้งสองข้าง แขนต้องไม่งอ เหยียดตรง ทิ้งน้ำหนักตัวลงไปให้มีแรง จากหัวไหล่ไปสู่ลำแขน

สิ่งที่ควรจำคือความเร็วในการปั๊มหัวใจอยู่ที่ 100 ถึง 120 ครั้งต่อนาทีและความลึกคือ 2.5 นิ้ว การปั๊มที่ได้ผลมากที่สุดคือการกดลงไปที่ 2.5 นิ้ว แล้วเราก็ต้องปล่อยให้หน้าอกคืนตัวให้สุด ระยะเวลาที่เราควรทำต่อคน คือ 2 นาทีแล้วสลับให้อีกคนหนึ่งทำ 2 นาทีเช่นกัน

เรียนรู้การใช้เครื่องกระตุกหัวใจ

หากเราปั๊มหัวใจแล้วผู้ป่วยยังไม่ฟื้น ก็ใช้เครื่องกระตุกหัวใจ สิ่งที่ทำอย่างแรกคือ ตรวจเช็คเครื่อง เปิดเครื่อง ทำตามขั้นตอนที่เครื่องแนะนำไว้ โดยนำแผ่นไฟฟ้า ติดเข้ากับหน้าอกของผู้ป่วย ต้องเช็คว่าหน้าอกไม่มีน้ำหรือเหงื่อ หากมีน้ำหรือเหงื่อต้องเช็ดออกให้แห้ง การติดแผ่นนำไฟฟ้าต้องเช็คว่าแนบสนิทกับตัวผู้ป่วย

จำนวนคนในการช่วยเหลือผู้ป่วยคือ 4 คน ต่อ 1 ผู้ป่วย หมายความว่า ต้องมี 1 คน ปั๊มหัวใจ 1 คน ฟังเครื่องกระตุกหัวใจ อีก 1 คน โทรประสานกับรถโรงพยาบาล พร้อมทั้งช่วยกันฝูงชน เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายระหว่างขั้นตอนที่จะทำการช็อตหัวใจ และอีกคนหนึ่งก็ช่วยคอยกันผู้คนเช่นเดียวกัน เพื่อให้ผู้ช่วยเหลือทำงานได้สะดวก

หลังจากติดแผ่นนำไฟฟ้า ระหว่างการประเมินของเครื่องก็ต้องกันไม่ให้ผู้คนเข้าใกล้ เสร็จการวิเคราะห์ เครื่องอาจจะแจ้งข้อมูลให้เรากดปุ่มช็อตไฟฟ้า ก่อนที่เราจะกดปุ่มเราต้องตรวจสอบว่าทุกคนต้องถอยออกจากตัวผู้ป่วย เพราะอาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้

เมื่อทุกคนถอยห่างเรียบร้อย เราก็กดปุ่มเครื่องกระตุกหัวใจได้เลย หลังจากช็อตไฟฟ้าเสร็จแล้ว เครื่องจะประเมินว่าให้เราปั๊มหัวใจต่อหรือให้เราหยุด ถ้าเครื่องแจ้งเตือนให้เราหยุด ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตแล้ว แต่ถ้าเครื่องบอกให้เราปั๊มหัวใจต่อ แสดงว่าผู้ป่วยคนนั้นมีสิทธิ์รอดชีวิต ยังมีลมหายใจ

ตั้งสติในการช่วยเหลือยามฉุกเฉิน

การมีความสามารถในการช่วยเหลือยามฉุกเฉิน ทำให้ผู้ป่วยฟื้นคืนชีพ เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ ทุกคนควรหาโอกาสเข้าฝึกอบรมการทำ CPR และเรียนรู้วิธีการใช้เครื่องกระตุกหัวใจ (AED) กับผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งการทำ CPR ให้คนแต่ละช่วงวัย เด็ก ผู้ใหญ่ ก็มีความแตกต่างบ้าง และมีข้อควรระมัดระวังที่ต้องศึกษาอย่างละเอียด การเข้าอบรมจึงเป็นสิ่งจำเป็น เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

อย่ามองข้ามวิธีการช่วยเหลือผู้คนยามฉุกเฉิน ส่งต่อความรักด้วยการเป็นผู้ให้ ดูแลหัวใจของคนที่เรารักด้วยการฝึกทำ CPR เพราะเมื่อเกิดเหตุ เราสามารถช่วยชีวิตคนที่เรารักหรือช่วยผู้คนได้ทันท่วงที ทุกจังหวะของลมหายใจ มีความหมายและความสำคัญ มาเรียนรู้การทำ CPR อย่างถูกวิธีกันนะคะ!

Reference & Bibliography

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา BR402 Youtube Production, BR404 Broadcasting Project ภาคการศึกษาที่ 1/2 2564

Writer

นักศึกษาสาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ