ถ้าจะพูดถึงเบื้องหลังของวงการโทรทัศน์ การทำงานของกองละคร ภาพยนตร์ และรายการข่าว ตำแหน่ง โปรดิวเซอร์ (Producer) มักจะเป็นตำแหน่งที่ขึ้นเครดิตเป็นอันดับแรก และตำแหน่งนี้เปรียบเสมือนผู้กุมชะตาของกองถ่ายไว้จริงหรือ ?

ลูกแก้ว-ภัณฑิรา ปรางค์ทอง นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาบรอดแคสต์ติ้งและวารสารศาสตร์ดิจิทัล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาสาจะพาไปหาคำตอบใน บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด หรือ ไทยรัฐทีวี ที่เรารู้จักกันดี

ลูกแก้ว-ภัณฑิรา ปรางค์ทอง นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาบรอดแคสต์ติ้งและวารสารศาสตร์ดิจิทัล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

เราขอแนะนำ ไทยรัฐทีวี ให้ทุกคนรู้จักก่อนเป็นอันดับแรก ไทยรัฐทีวีมีการทำงานแบ่งเป็นหลายส่วนงาน โดยแต่ละชั้นจะแบ่งเป็นฝ่าย ตั้งแต่ฝ่ายสตูดิโอรายการ ฝ่ายข่าวออนไลน์ ฝ่ายกราฟิก ฝ่ายตัดต่อ ฝ่ายโต๊ะข่าว ทุกฝ่ายจะต้องมีการประสานงาน และทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ต้องคอยสื่อสารพูดคุยกันเสมอ จึงทำให้ทุกคนในบริษัทรู้จักกันทั่วถึง โดยเราได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของทีม “รายการถามตรง ๆ” หนึ่งในรายการข่าวของทางช่องไทยรัฐทีวี ในตำแหน่ง บรรณาธิการโทรทัศน์ 

บรรณาธิการโทรทัศน์ หรือที่รู้จักในชื่อตำแหน่งว่า โปรดิวเซอร์ เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังของการผลิตรายการทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน เตรียมการขั้นควบคุมการผลิตรายการ หากทำงานไม่รอบคอบ สามารถส่งผลเสียไปในหลายส่วนเป็นวงกว้าง โดยในหนึ่งรายการ โปรดิวเซอร์จะเป็นคนที่รับผิดชอบทั้งหมด คอยตัดสินใจอยู่เสมอว่าจะทำอะไร และจะไม่ทำอะไรเผยแพร่ลงในรายการ รวมถึงยังต้องรับผิดชอบในการจัดสรรเงินที่จะใช้ในรายการเป็นระบบ เรียกได้ว่าตำแหน่งนี้ เป็นทุกอย่างให้กับรายการแล้ว

เบื้องหลังของผู้อยู่เบื้องหลัง

วันแรกของการไปฝึกงานเราได้เจอ ‘พี่มิ้น’ ผู้ที่เป็นโปรดิวเซอร์ และคนอยู่เบื้องหลังรายการถามตรง ๆ พี่มิ้นเป็นพี่ที่น่ารัก ใจดีมาก ซึ่งพอได้นั่งพูดคุยกันไปเรื่อย ๆ ทำให้เราสนิทกันเร็ว โดยเราเคยถามพี่มิ้นถึงความยากของการทำงานตำแหน่งนี้

พี่มิ้นก็ได้เล่าให้เราฟังว่า “งานโปรดิวเซอร์มันไม่มีสอนในห้องเรียน สิ่งสำคัญคือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ทันเวลา เพราะรายการถามตรง ๆ เป็นรายการสด ปัญหาเกิดได้ทุกด้าน ยกตัวอย่าง การที่แขกรับเชิญไม่สามารถมาเข้ารายการสดได้กะทันหันก่อนรายการเข้าสองชั่วโมง ก็ต้องคิดแล้วว่าใครจะมาเข้ารายการแทนได้ หรือมีวิธีการไหนสามารถทดแทนให้มีแขกรับเชิญในรายการ เช่น ใช้พวกวิดีโอคอลหรือสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์แทน”

“การเป็นโปรดิวเซอร์มันสนุก ตรงที่มีปัญหามาให้แก้ ท้าทายว่าเราทำได้แค่ไหน หาทางออกได้ทันเวลาไหม สุดท้ายแล้วเราต้องสนุกกับงาน ไม่ว่าจะเป็นงานอาชีพไหนก็ตาม” พี่มิ้นแชร์เคล็ดลับการทำงานให้มีความสุขคือการสนุกไปงาน 

เราอดไม่ได้ที่จะถามต่อว่า ทำไมถึงเลือกที่จะทำงานในตำแหน่งนี้ทั้งที่มีปัญหาให้แก้ตลอด ซึ่งได้คำตอบมาว่า “สิ่งหนึ่งเลยที่ยังเลือกทำงานอยู่ตรงนี้ นอกจากเหตุผลของเรื่องเลี้ยงชีพแล้วนั้น คือ ได้ช่วยเหลือคน บอกเลยว่าแต่ละกรณีที่เข้ามามีความหลากหลาย บางกรณีสอนเราให้มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต บางกรณีสอนเราไม่ให้ประมาท คอยเตือนเราว่ามีเรื่องราวแบบนี้บนโลกด้วย บางกรณีก็ทำเราเสียน้ำตา แล้วสุดท้ายเรารู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ ช่วยผลักดันให้คนที่เดือดร้อนได้มีพื้นที่ของเขาถึงจะเป็นส่วนเล็กแต่มันก็มีความสุข”

สิ่งที่พี่มิ้นบอกมาตอนนั้น เราก็ยังไม่เข้าใจมากนัก เพราะพึ่งเป็นการทำงานวันแรก แต่พอได้ไปทำงานนานวันเข้า ในระยะเวลาเกือบสามเดือนเรารู้สึกว่าสิ่งพี่เขาบอกมาถูกต้องหมดทุกอย่าง มันเป็นการทำงานที่สนุกนะ แต่ก็เครียดบ้างบางครั้ง อยู่ที่ต้องรับมือมันให้ไหว เพราะต้องรับผิดชอบหลายอย่างมาก ซึ่งทุกอย่างมันคาดเดาอะไรไม่ได้เลย

ทุกวันเวลามาถึงที่ทำงาน หลังจากกล่าวทักทายกัน ก็จะมีคำถามฮิตที่พูดกันติดปากเป็นประจำคือ “วันนี้เราจะทำประเด็นอะไรกันดี” มันเป็นคำถามที่ดูเหมือนมีตัวเลือกให้เลือกเยอะ แต่ความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่อย่างที่คิด กว่าจะได้ประเด็นมามันยากมาก เพราะรายการถามตรง ๆ เป็นรายการที่ออกอากาศสด ดังนั้นประเด็นในแต่ละวัน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างทันกับเหตุการณ์เป็นหลัก โดยรายการจะเน้นทำประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคม ทุกเรื่องที่นำเสนอต้องเหมาะกับรูปแบบรายการ ที่เป็นวาไรตี้ทอล์กโชว์ สามารถมีเรื่องที่ถาม ตอบโต้กันได้ 

ผู้ร่วมรายการในแต่ละวัน ถือว่ามีส่วนสำคัญมาก เพราะเป็นคนที่ช่วยทำให้รายการออกมาสมบูรณ์แบบ เพราะถ้าขาดไป รายการก็ไม่สามารถทำงานอย่างอื่นต่อได้เลย ต้องรอให้แขกตอบตกลงที่จะให้สัมภาษณ์ ถึงจะค่อยเริ่มเก็บรวบรวมข่าว และจึงเริ่มเลือกภาพที่จะใช้ทั้งจากคลังภาพข่าวที่ไทยรัฐมีไว้ให้ หากมีภาพน้อยก็จะขอภาพเพิ่มจากผู้ร่วมรายการ

การเลือกภาพประกอบรายการทีวีออกอากาศสดแต่ละครั้งใช้เวลานานมาก เพราะภาพที่จะใช้ประกอบต้องน่าสนใจ ให้ภาพเล่าเรื่อง ส่วนใหญ่ตอนที่เราทำงาน มักจะทำประเด็นแนวอาชญากรรมเป็นหลัก ดังนั้นจะมีพวกภาพศพ รอยแผล รอยเลือด ครั้งแรกที่เห็นก็ตกใจ กลัวนิดหน่อย เพราะปกติจะเห็นที่เซ็นเซอร์มาแล้ว ถ้าเป็นภาพแนวนี้เราจะต้องส่งให้ฝ่ายกราฟิก หรือ ฝ่ายตัดต่อช่วยเซ็นเซอร์ให้ 

อย่างสุดท้าย คือ ควบคุมรายการตั้งแต่รายการเริ่ม จนรายการจบ โดยรายการถามตรง ๆ เป็นรายการสด ทำให้ต้องควบคุม วางแผนงานให้ดี ทุกอย่างทำเป็นขั้นเป็นตอน ห้ามพลาดแม้เพียงจุดเดียว เพราะอาจทำให้รายการล่มได้ ซึ่งแต่ละครั้งจะต้องทำงานตามลำดับที่วางไว้ ทั้งการวางลำดับภาพ วางลำดับวิดีโอที่จะใช้เปิดประกอบในรายการ ไม่เว้นแม้แต่ควบคุมการติดไมค์แขกเพื่อไม่ให้สัญญาณตีกัน และต้องคอยเช็กเวลาอยู่ตลอดตั้งแต่เข้ารายการ ช่วงพักโฆษณา โดยโปรดิวเซอร์และพิธีกรจะต้องคุยและวางแผนงานร่วมกัน เพื่อที่จะให้รายการออกมาดี และได้รับความสนใจจากผู้ชม

โดยผลงานเด่น ๆ ที่เราได้ทำตอนฝึกงาน คือ เราได้มีหน้าที่เขียนโปรโมทรายการ ลงหน้าแฟนเพจไทยรัฐทีวี ก่อนที่รายการจะนำเสนอ ตอนแรกที่ได้ทำเครียดมาก เพราะต้องเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวเยอะ และต้องเขียนออกมาให้กระชับเข้าใจง่าย และที่สำคัญเขียนข้อมูลโปรโมทต้องถูกต้อง ห้ามผิดพลาดเด็ดขาด เพราะเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ 

ทัศนคติที่เปลี่ยนไปของโปรดิวเซอร์ฝึกหัด

เราชอบคิด ชอบเขียน และมีความสนใจด้านการทำงานข่าวมาก ซึ่งตอนเรียนเราเคยได้ลองทำงานในตำแหน่งโปรดิวเซอร์มาเหมือนกันเกี่ยวกับการจัดรายการข่าว ตอนที่เรียนเรารู้สึกว่ามันเป็นงานที่ทำง่าย เพราะส่วนใหญ่ก็จะมีประเด็นข่าวที่เคยนำเสนอผ่านโทรทัศน์มาให้อยู่แล้ว ไม่ต้องมาคิดประเด็นเพิ่มเอง อยากจะทำรูปแบบไหนก็ได้ ไม่มีถูกผิดและไม่ต้องโทรประสานงานพูดคุยกับแขกหรือผู้ที่เกี่ยวข้องจริง ๆ จนมันทำให้เรารู้สึกว่าตำแหน่งนี้น่าสนใจ อยากทำและอยากเรียนรู้ให้มากกว่าที่ได้เรียนมา 

พอได้ไปฝึกงานจริง ๆ ที่ไทยรัฐทีวี เราได้ทำอะไรหลายอย่างมาก ตั้งแต่เทคนิคการคัดภาพประกอบ คัดเลือกวีดีโอ ต้องเลือกที่น่าสนใจเท่านั้น มีพี่ช่วยสอนการหาประเด็น การเลือกประเด็น แต่ละครั้งต้องมีเหตุผลที่เสนอ สอนเราให้รู้จักแก้ปัญหาให้เป็น อย่ารน อย่าประมาท โดยเราได้นำเทคนิคต่าง ๆ กลับไปพัฒนาตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม เพื่อที่นำไปใช้ในการทำงานในอนาคต

การทำงานช่วยเปลี่ยนทัศนคติของอย่างมาก จากเมื่อก่อนที่เคยมองว่ารายการข่าวที่ดูเป็นประจำ เหมือนทำง่าย นำข่าวอะไรมานำเสนอก็ได้มันคงไม่ยากหรอก พอได้ทำรายการจริง ต่างกันมาก เพราะกว่าที่รายการข่าวจะออกอากาศได้นั้น ต้องกลั่นกรองแล้ว กลั่นกรองอีก และต้องถูกหลักจรรยาบรรณ ทุกครั้งที่นำเสนอข่าว มีความท้าทายตลอดการทำงาน ไม่อาจคาดเดาอะไรได้เลย

มิตรภาพที่ไม่คาดคิด

ตอนก่อนที่จะไปฝึกงานเราเคยคิดนะว่าพี่ในฝ่ายจะดุไหม แล้วจะเข้ากับพี่ที่ทำงานนี้ได้หรือเปล่า เพราะเป็นคนที่ถ้าไม่สนิทจริง ๆ จะเป็นคนที่พูดน้อยมาก พอได้ไปฝึกงาน ทุกอย่างต่างไปจากที่คิดไว้มาก เพราะพี่ในฝ่าย พี่จูรี่ พี่มิ้น และพี่จอมขวัญ น่ารัก และใจดีกับเรามาก จนเรามีความรู้สึกว่าเหมือนเรามีพี่สาวเพิ่มเข้ามาในชีวิต ตอนที่ทำงานพี่จะบอกเราตลอดว่าไม่ต้องกดดันนะ มีอะไรถามพี่ได้ จนทำให้เรากล้าที่จะถาม กล้าที่จะเล่าเรื่องราวให้ฟัง ตลอดระยะเวลาการไปฝึกงาน มีความสุขทุกครั้งที่ได้ไปทำงาน นี่ยังเป็นการฝึกงานครั้งแรกในชีวิต แต่รู้สึกว่ามันดีเกินคาด และเป็นความทรงจำที่ดีมาก สำหรับนักศึกษาฝึกงานคนนี้ ที่จะไม่มีวันลืม

และคำถามที่หลายคนสงสัยว่าตกลงแล้วโปรดิวเซอร์นั้นเป็นผู้กุมชะตาชีวิตไว้จริงหรือ ? ส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าคือความจริง แต่ไม่ใช่แค่โปรดิวเซอร์สำคัญเพียงคนเดียว แต่ทุกฝ่ายสำคัญหมด เพราะถ้าขาดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไป รายการก็ไม่สามารถที่จะทำงานต่อไปได้ เป็นเหมือนจุดเชื่อมโยงกัน ดังนั้นก่อนจะลงมือทำอะไรต้องคอยคิด วิเคราะห์ทุกครั้ง ห้าม Error เด็ดขาด

สุดท้ายขอขอบคุณผู้อ่านทุกคน หวังว่าจะได้รู้จักเกี่ยวกับ ตำแหน่งบรรณาธิการโทรทัศน์ (Producer) รายการข่าว มากขึ้น ใครที่กำลังจะฝึกงาน ขอเพียงตั้งใจ อดทน เต็มที่ และสนุกไปกับมัน อุปสรรคที่เราต้องเจอ เป็นบททดสอบหนึ่งในชีวิต ขออย่าพึ่งท้อ ทุกปัญหามีทางแก้เสมอ

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR402 Journalism Internship Section 4222 ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ขจรจิต บุนนาค

Writer & Photographer

เด็กนิเทศ ภาควารสาร เสพติดการดูซีรี่ย์ ชอบกินเป็นชีวิตจิตใจ รักความอิสระ และมีความสุขทุกครั้งกับการที่ได้เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ทุกคนได้อ่าน