‘ปี4’ ถือเป็นโค้งสุดท้ายของชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย นักศึกษาทุกคนที่กำลังอยู่ในสถานะ ‘พี่ปีแก่’ จึงมีความคิดที่มุ่งเป้าไปยังเรื่องเส้นทางประกอบอาชีพในอนาคตเมื่อจบจากสถาบันอุดมศึกษา แน่นอนว่าแรงจูงใจในการทำงาน มีปัจจัยมากมายหลายประการ หนึ่งในนั้นคือ ‘การฝึกงาน’ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญ ที่จะเป็นตัวช่วยตอบโจทย์ความชอบ และสภาพความพร้อมกับการทำงานที่หวังไว้อนาคต

ด้วยความมุ่งมั่นในการทำงานสื่อที่มีอุดมการณ์เพื่อสังคม ทำให้ผู้เขียนเลือกฝึกงานที่ ‘the101.world : Creative Knowledge Media for Social Change สื่อความรู้สร้างสรรค์แนวใหม่ที่ชวนสังคมตั้งคำถามที่ ‘ใช่’ ในเรื่องสำคัญต่อชีวิต’ สื่อเพื่อสังคมที่นำเสนอข้อมูล ข่าว ความรู้เชิงลึกอย่างสร้างสรรค์ ลงลึกทำความเข้าใจประเด็นทางสังคม มีงานวิจัยรองรับ อีกทั้งยังนำเสนอในรูปแบบที่ย่อยง่าย มีกราฟฟิค คลิปวิดีโอ และหลากหลายช่องทางการนำเสนอที่น่าติดตาม

เรื่องราวการฝึกงานที่จะได้อ่านต่อไปนี้ เป็นสารคดีสั้นนำเสนอชีวิตการฝึกงานของผู้เขียน ภีม-ภูริช วรรธโนรมณ์ นักศึกษาภาควิชาบรอดแคสต์ติ้งและวารสารศาสตร์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ภีม-ภูริช วรรธโนรมณ์ นักศึกษาฝึกงาน @ the101.world

จากนักศึกษาสู่เด็กฝึกงาน

“น้องภูริชครับ ทางกองบรรณาธิการ ‘the101.world’ พิจารณารับน้องเข้าเป็นนักศึกษาฝึกงานแล้วนะครับ” 

สิ้นประโยคสนทนาจากปลายสาย ผู้เขียนกล่าวคำ ‘ขอบคุณ’ ด้วยเสียงที่เรียบเฉย แต่ภายในใจมีความตื่นเต้นระคนความยินดีเป็นที่สุดที่ได้ฝึกงานในฐานะกองบรรณาธิการเว็บไซต์ the101.world’ เนื่องจากผู้เขียนเป็น ‘แฟนคลับตัวยง’ อยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งการได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรสื่อขนาดเล็กที่มีอุดมการณ์และความฝันอันยิ่งใหญ่ในการทำงานเพื่อสังคม ทำให้ผู้เขียนเกิดความภาคภูมิใจในฐานะ ‘เด็กสื่อสาร’ ที่มีความศรัทธาในอำนาจพลังของปลายปากกา เชื่อมั่นว่าสามารถขีดเขียนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นได้ 

แน่นอนว่าช่วงแรกของการก้าวเข้าสู่สถานะนักศึกษาฝึกงาน ‘นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ’ ย่อมเป็นช่วงของการปรับตัวและค้นหาความสนใจเพื่อที่จะนำเสนอเรื่องราวผ่านน้ำหมึกสู่สาธารณะ ที่สุดแล้วผู้เขียนเลือกที่จะก้าวข้ามกำแพงการผลิตเนื้อหาในรูปแบบเก่า ๆ และตัดสินใจเลือกประเด็นหัวข้อ ‘คุยการเมืองกับบุคคลที่ไม่ใช่คนการเมือง’ ที่ตอบโจทย์ความต้องการส่วนตัวและความต้องการขององค์กร

สุรัตน์ สกุลคู บรรณาธิการวารสาร intelligenzia หนึ่งในแหล่งข่าวที่ผู้เขียนต้องทำความรู้จักก่อนที่จะพูดคุย ซึ่งภายหลังได้ร้อยเรียงเสียงสนทนาออกมาเป็นบทสัมภาษณ์ยาว ‘Intelligenzia’ การเกิดใหม่ของวารสารของนักศึกษา โดยนักศึกษา เพื่อประชาชน

ทำความรู้จักกับแหล่งข่าว

ภายหลังเสร็จสิ้นการนำเสนอหัวข้อกับกองบรรณาธิการ ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการ ‘ค้นคว้า’ ข้อมูลอันเป็นเบื้องหลังของแหล่งข่าว โดยตลอดระยะเวลาการฝึกงานผมได้สัมภาษณ์บุคคลที่มีความน่าสนใจอยู่สามคน คือ สุรัตน์ สกุลคู ‘บรรณาธิการวารสาร intelligenzia’ วิสูจน์ ศรีสัจจะลักษณ์ หรือ ‘เล็กฮิป พันธุ์หมาบ้า’ และ นักรบ มูลมานัส ‘ศิลปินนักวาดภาพแนวคอลลาจ’ 

หากเป็นเวลาที่อยู่ในมหาวิทยาลัย การศึกษาเนื้อหาก่อนเรียนในวิชา ไม่ใช่ปรกติวิสัยของผู้เขียน แต่ที่ the101.world มักจะเน้นย้ำในเรื่อง ‘ทำการบ้าน’ ก่อนลงพื้นที่สัมภาษณ์แหล่งข่าวเสมอ ดังนั้นแค่การลงไปเก็บข้อมูลที่หน้างานจึงไม่เพียงพอ ผู้เขียนจึงต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จากผู้ที่ไม่เคยศึกษาก่อนเรียน สู่ผู้ที่ต้องค้นคว้าข้อมูลสองถึงสามวันก่อนลงพื้นที่ เสมือน ‘ทำการบ้านก่อนออกสู่สนามการสัมภาษณ์แหล่งข่าว’ และหากเป็นการค้นคว้าข้อมูลในเรื่องที่สนใจอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่ผู้เขียนทำอยู่เป็นประจำ

อิสระแต่ต้องมีวินัยในการทำงาน เพราะออฟฟิศไม่ได้เช็กชื่อเหมือนห้องเรียน

แม้จะเป็นนักเขียนที่ประจำอยู่ในกองบรรณาธิการ แต่ที่ the101.world การทำงานนอกสถานที่ถือเป็นเรื่องที่ปรกติ บางเวลาเราอาจจะเห็นได้ว่า ‘พี่นักเขียน’ หรือ ‘พี่บก.’ ไม่เข้าออฟฟิศ ซึ่ง ‘พี่ผู้จัดการ’ ได้ขยายความเรื่องนี้ไว้ว่า “ที่นี่หากมีประเด็นแล้วไม่จำเป็นที่จะต้องเข้ามาทำงานในออฟฟิศก็ได้ แต่งานต้องส่งตรงเวลา” ซึ่งแน่นอนว่า ‘สิทธิ์การไม่เข้าออฟฟิศ’ ก็ตกมาถึงนักศึกษาฝึกงานด้วย 

ถือเป็นความแปลกใหม่ของการใช้ชีวิตที่สามารถเลือก ‘สถานที่สร้างสรรค์ผลงาน’ ได้ด้วยตัวเอง นี่คงเป็นอีกสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม ต่างจากนักศึกษาที่ต้องเคยรีบวิ่งเข้าชั้นเรียนเพื่อเช็กชื่อเอาคะแนนเก็บ สู่การเดินหาร้านกาแฟ หรือพื้นที่สักมุมของบ้าน ที่สามารถสร้างสมาธิให้จดจ่อกับงานเขียน เมื่อคราวต้องขีดเขียนเรื่องราวต่าง ๆ ดังนั้นการบริหารเวลาในการใช้ ‘ชีวิตประจำวัน’ และ ‘ทำงานประจำวัน’ จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่ผู้เขียนจะต้องจัดแบ่งเวลาให้ได้

บรรณาธิการและนักเขียนต่างมาประชุมกันด้วยความเรียบง่ายดูเป็นกันเอง ตามแบบฉบับขององค์กรสื่อใหม่ที่ไม่มากพิธี ซึ่งเนื้อหาการสนทนาส่วนใหญ่ จะมุ่งเน้นไปในเรื่องการติดตามงาน และการนำเสนอประเด็นใหม่ ๆ

โปรเจกต์ ‘เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า’

นอกจากงานที่ได้รับมอบหมายจากกองบรรณาธิการแล้ว ‘งานโปรเจกต์’ ก็ถือเป็นอีกส่วนที่นักศึกษาฝึกงานจะต้องรับผิดชอบ ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้ช่วยสร้างคอนเทนต์ให้กับ ‘Alcohol Rhythm-เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า’ อันเป็นเว็บไซต์เผยแพร่ความรู้จากโครงการพัฒนาข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุราสนับสนุนโดยกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ถือเป็นความท้าทายใหม่ที่สอดคล้องกับ ชีวิตประจำวันของผู้เขียนที่เปลี่ยนไป เนื่องจากช่วงนั้นผู้เขียนกำลังลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้พอได้ทำคอนเทนต์ในลักษณะการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวโดยตรง จึงส่งผลให้ผู้เขียน ‘เลิกเหล้า’ ด้วยวิธีที่ถูกต้องและเป็นระบบ

รูปแบบของคอนเทนต์ถูกถ่ายออกมาผ่านบทความ และบทสัมภาษณ์ยาวที่ง่ายต่อการเข้าถึงต่อผู้รับสาร ซึ่งผู้เขียนมีส่วนร่วมผลิตเรื่องราวออกมา 4 ชิ้นงาน ผ่านงานบทสัมภาษณ์ยาว 1 ชิ้น จับเข่าคุยกับนักวิจัย ‘ดนัย ชินคำ’ : ทำไมคนติดเหล้าถึงไม่เข้ารับบริการการบำบัด และบทความเชิงวิชาการอีก 2 ชิ้น ได้แก่ จาก ‘เมา’ สู่ภาวะ ‘ขาด’ สุรา: รู้จักและรับมือกับปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม และ ‘ภาวะโรคร่วม’ อันตรายที่พ่วงมาจากการดื่มสุราที่ใครหลายคนมองข้าม

ผู้เขียนลงพื้นที่สนทนากับ ดนัย ชินคำ นักวิจัย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ซึ่งภายหลังได้มีการนำมาร้อยเรียงเป็นบทสัมภาษณ์ยาว จับเข่าคุยกับนักวิจัย ‘ดนัย ชินคำ’ : ทำไมคนติดเหล้าถึงไม่เข้ารับบริการการบำบัด หนึ่งในโปรเจกต์งาน ‘เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า’

‘การถอดเทป’ ทักษะสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

นักศึกษาส่วนใหญ่เมื่อได้ยินคำว่า ‘ถอดเทป’ คงต้อง ‘ส่ายหัว’ ไปตาม ๆ กัน แต่สำหรับผู้เขียนมองว่าการถอดบทสัมภาษณ์ที่ the101.world ถือเป็นการพัฒนาตัวเอง ในด้าน ‘การลำดับข้อมูล’ และ ‘การศึกษาเรื่องราว’ เนื่องจากการสัมภาษณ์แหล่งข่าวของที่นี่ ค่อนข้างใช้เวลานาน ดังนั้นเรื่องราวต่าง ๆ ที่ออกมาจาก ‘เทป’ จึงถือเป็นข้อมูลขั้นปฐมภูมิที่สำคัญ 

แม้แหล่งข่าวบางคนผู้เขียนจะไม่ได้ไปสัมภาษณ์เอง แต่ก็สามารถรับรู้สารของบุคคลคนนั้นผ่านงาน ‘เทป’ ยกตัวอย่าง การถอดเทป จรัล ดิษฐาอภิชัย นักวิชาการ อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ลี้ภัยไปยังต่างประเทศในคดีทางการเมือง ซึ่งนอกจากจะได้รับทราบข้อมูลต่าง ๆ ผ่านบทสนทนาแล้ว ยังได้ฝึกทักษะการเรียบเรียงและลำดับความสำคัญของประเด็น เพื่อเตรียมปรับรูปแบบจาก ‘เทป’ เป็นบทสัมภาษณ์ยาวที่น่าสนใจอีกด้วย

ใช้ชีวิตแบบพอเพียงและรู้จักประหยัดเพื่ออนาคต

“จำได้ว่าตอนนั้น ภีมก็ให้แม่ทำกับข้าวไปให้ด้วย เพราะบอกไม่อยากซื้อกินแถวออฟฟิศมันแพงไม่เหมือนกับข้าวโรงอาหารในมหาวิทยาลัย ไหนจะค่าน้ำมัน และค่าทางด่วนที่ต้องจ่ายเพิ่มอีก ช่วงนั้นก็ต้องตื่นเช้ามาเตรียมอาหารไปกินทุกวัน” 

แม่อดไม่ได้ที่จะพูดถึงเรื่องอาหารการกินที่เปลี่ยนไปจากเดิม และค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนเดิมของ ‘นักศึกษาปริมณฑล’ สู่ ‘หนุ่มนักเขียนออฟฟิศกลางเมือง’ ด้วยน้ำเสียงที่หมั่นไส้ระคนเอ็นดูอยู่กลาย ๆ และจบบทสนทนาด้วยเสียงหัวเราะตามแบบฉบับ ‘วัยทองปลงสังขาร’

“ปรกติภีมจะเป็นคนที่ติดแฟนมาก แต่ช่วงฝึกงานเวลาไปเที่ยวก็มักจะเอาคอมไปเขียนงานด้วยเสมอ เราก็เข้าใจในจุดนี้มันเป็นสิ่งที่เขาต้องรับผิดชอบ มีบ้างเหมือนกันที่ภีมเขาขี้เกียจ ก็จะบ่นให้รู้ถึงหน้าที่ของตัวเอง แต่ก็ยังดีที่เราเรียนสาขาเดียวกัน มีอะไรก็พอช่วยเหลือกันได้ โดยเฉพาะเวลาไปลงพื้นที่หรือขั้นตอนบรรณาธิการเนื้อหา” 

แฟนสาวเล่าด้วยคำพูดที่เป็นกันเอง ซึ่งถือเป็นความโชคดีที่ผู้เขียนได้รับแรงกระตุ้นจาก ‘หล่อน’ อยู่เนื่อง ๆ อีกทั้งความเอาใจใส่ในคอนเทนต์ และการเก็บข้อมูล ที่ไม่ทิ้งลวดลาย ‘บรรณาธิการบทความ’ หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ มหาวิทยาลัยชื่อดังทางภาคเหนือ ดังนั้นการมี ‘บก.ส่วนตัว’ จึงทำให้งานของผู้เขียนมีมาตรฐานยิ่งขึ้น

เติบโตทางความคิดในฐานะคนทำงาน 'สื่อที่มีอุดมการณ์เพื่อสังคม'

จากประสบการณ์ที่เล่าโดยผู้เขียน และเสียงจากคนรอบข้าง ถือเป็นข้อมูลการันตีมุมองต่อชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไปในขณะที่ผู้เขียนเป็นนักศึกษาฝึกงาน

นอกเหนือจากการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป สิ่งที่เปลี่ยนแปลงสำคัญยิ่งไปกว่าคือมุมมองที่มีต่อเรื่องสังคม ผู้เขียนสนุกที่ได้เรียนรู้ และติดตามความเปลี่ยนแปลงของโลก การทำงานที่ the101.world ได้มีโอกาสพบและพูดคุยกับกลุ่มคนที่สนใจเรื่องสังคม นักคิด นักเขียน ศิลปิน นักวิจัย หลายท่าน ทำให้ผู้เขียนเติบโตทางความคิด และทำให้เพิ่มพูนความรู้ที่หนักแน่นในเรื่องการทำงานเขียนหรือคอนเท้นต์ด้านสังคมมากยิ่งขึ้น นำความรู้ที่ได้เรียนมาตลอดไปใช้ในการผลิตผลงานให้เกิดขึ้นจริง

แม้ปัจจุบันจะผ่านช่วงเวลาดังกล่าวมาแล้ว และรอคอยใบปริญญาในฐานะ ‘ว่าที่บัณฑิต’ แต่กิจวัตรประจำวันในช่วงการฝึกงานเป็น นักเขียนประจำกองบรรณาธิการเว็บไซต์ the101.world ก็จะยังเป็นเข็มทิศให้กับชีวิต ที่จะส่งเสริมเกื้อกูลประสบการณ์การทำงานแวดวงสื่อในอนาคตต่อไป

ผลงานระหว่างการฝึกงาน @ the101.world

  • Alcohol Rhythm-เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 จาก, https://alcoholrhythm.com
  • จับเข่าคุยกับนักวิจัยดนัย ชินคำ’ : ทำไมคนติดเหล้าถึงไม่เข้ารับบริการการบำบัด. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 จาก, https://alcoholrhythm.com/interview-danai
  • จาก ‘เมา’ สู่ภาวะ ‘ขาด’ สุรา: รู้จักและรับมือกับปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 จาก, https://alcoholrhythm.com/drunk-and-alcohol-withdrawal
  • ภาวะโรคร่วม อันตรายที่พ่วงมาจากการดื่มสุราที่ใครหลายคนมองข้าม. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 จาก, https://alcoholrhythm.com/alcoholics-joint-disease
  • มองสังคมและการเมืองผ่านงาน ‘คอลลาจ’ กับ นักรบ มูลมานัส. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 จาก, https://www.the101.world/nakrob-moonmanas-interview
  • Intelligenzia การเกิดใหม่ของวารสารของนักศึกษา โดยนักศึกษา เพื่อประชาชน. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 จาก, https://www.the101.world/the-rise-of-intelligenzia
  • กัญชาสนทนา กับ ‘เล็กฮิป’ พันธุ์หมาบ้า. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 จาก, https://www.the101.world/lekhip-interview

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR402 Journalism Internship Section 4222 ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ขจรจิต บุนนาค

Writer & Photographer

บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์บ้านกล้วยออนไลน์ ชอบเล่าเรื่องผ่านงานเขียน ประเภทข่าว บทความ และสารคดี ผู้ที่มีความศรัทธาในอำนาจพลังของปลายปากกา เชื่อมั่นว่าสามารถขีดเขียนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นได้