“ถ้าเราไม่ฟังเขา เราก็จะไม่ได้สิ่งที่ดีเพิ่มเติมในงานของเราหรือประสบการณ์ต่าง ๆ แต่ถ้าเราไม่เถียงเขา งานของเราก็อาจไม่ได้ออกมาดี” ความคิดของคนรุ่นใหม่ที่ต้องทั้งฟัง ถาม ถกเถียง และแสดงความเป็นตัวของตัวเอง จากเด็กสาวที่อยากค้นหาตัวเอง ต้องการพิสูจน์ตัวเอง เพื่อให้คนรอบข้างเห็น จนกลายเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิต

เธอมีชื่อว่า เนปาล จิตรานนท์ นักศึกษาสาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ บางคนอาจจะจำได้ว่าเธอคือลูกสาวของศิลปินในวงการบันเทิงที่มีผลงานเป็นที่รู้จักมากมาย เรียกได้ว่าเธอเป็นลูกไม้ที่หล่นใต้ต้น แต่ในวันนี้เราจะมารู้จักตัวตนของเธอให้ลึกซึ้งมากขึ้น

เนปาล จิตรานนท์ นักศึกษาสาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

สำรวจตัวตนค้นหาความชอบ

เราอาจจะเคยตั้งคำถามว่า เราชอบอะไร ถนัดอะไร สำหรับ “เนปาล” เริ่มต้นจากการที่เธอรู้ตัวเองตั้งแต่เด็กว่า เธอเป็นคนที่มีความชอบเรื่อง “การเขียนเพลง” เมื่อรู้ว่าสนใจเรื่องอะไร การเลือกเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยจึงต้องเลือกจากความชอบ

ในช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจเลือกเรียนต่อ เธอไปงาน Open House ของหลายมหาวิทยาลัย และสนใจ “โครงการ BUCA Talent” อย่างมาก BUCA Talent คือโครงการของคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่คัดเลือกนักเรียนมัธยมจากทั่วประเทศที่สนใจเรียนรู้นิเทศศาสตร์ ฝึกทักษะของการเป็นนักนิเทศศาสตร์อย่างรอบด้าน

อีกทั้งการเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเอกชน ตัวเธอต้องการพิสูจน์ให้ผู้ใหญ่หลายคนเปลี่ยนความคิดที่ว่า “มหาวิทยาลัยเอกชนไม่ใช่ทางเลือกของเด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐไม่ได้” เนปาลขยายความอีกว่า “เราสนใจโครงการนี้เป็นอย่างมาก เพราะอย่างแรก คือสามารถเรียนรู้หลายอย่างที่ไม่มีในห้องเรียน ต้องลงมือทำด้วยตนเอง เราคิดว่าเราน่าจะได้อะไรมากขึ้นจากที่นี่”

BUCA Talent ก้าวแรกของการสะสมประสบการณ์

เนปาลเริ่มต้นการเรียนตามระบบของ BUCA Talent ในช่วงแรกของการเรียนเธอต้องปรับตัวหลายอย่าง แม้กระทั่งการที่เธอสมัคร Facebook ทั้งที่ไม่เคยเล่นมาก่อนเพื่อทำงาน ส่งงานผ่านทางออนไลน์ หลังจากนั้นเธอต้องมาเข้าค่ายของทาง BUCA Talent เพื่อศึกษาแนวทางในสิ่งที่ต้องการจะเลือกในอนาคต และแล้วด้วยความมุ่งมั่น เนปาลได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนของโครงการ BUCA Talent รุ่นที่ 7 และเข้ามาเป็นนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์อย่างเต็มตัว

บทเพลงของชีวิต

หลังจากที่ได้ทุนการศึกษา เนปาลก็เริ่มเข้ามาเรียน ทำงาน และกิจกรรมทั้งในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัย ตามที่โครงการกำหนดไว้ ส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนรู้จากการทำงานจริง

งานในมหาวิทยาลัยที่เราได้รับมอบหมายเช่น งานเปิดบ้าน (Open House) งานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ (Diamond Day Online Orientation) และงานจัดค่าย BUCA Talent สำหรับน้องใหม่ที่จะเข้ามารุ่นต่อไป กิจกรรมที่ได้ทำคือการทำงานจริง เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์นำไปใช้ในอนาคต

จากนั้นสิ่งที่เธอสนใจมาตั้งแต่แรกคือ “การแต่งเพลง” ก็ทำให้เธอได้มีผลงานการแต่งเพลง ที่นำมาใช้ในมหาวิทยาลัย คือ เพลงที่แต่งให้คณะนิเทศศาสตร์ในงาน Open House การแต่งเพลงจึงเป็นอีกหนึ่งความชอบที่เธอสนุกที่จะทำอย่างต่อเนื่อง โดยเธอจะได้แรงบันดาลใจในการแต่งเพลง จากการสังเกตเรื่องราวชีวิตของผู้คน ประสบการณ์ที่ผ่านไปนำมาเขียนเป็นเพลง และได้เผยแพร่ผลงานของตนเองผ่านช่องทางยูทูบที่ใช้ชื่อว่า NEPALLEE.J

ต่อยอดสู่อีกหนึ่งความฝันคือการเขียนบท

จากที่เรียนและทำงานไปได้สักพัก เนปาล เริ่มสนใจในด้านการเขียนบท และการทำงานเบื้องหลัง “เราชอบที่จะเขียนบทและเราชอบเวลาเราดูหนังต่าง ๆ เราเป็นคนที่อินกับบทของตัวละครมาก ๆ เราคิดว่าสิ่งนี้คือรากฐานของการเขียนบทที่ดี มันจึงทำให้เราสนใจเป็นอย่างมาก”

เธอจึงได้เปิดเผยกับเราว่า “เราในตอนนี้ ถ้าเราคิดจะเลือกทำอาชีพไหนสักอาชีพหนึ่ง การเขียนบทจะกลายเป็นตัวเลือกแรกของเรา”

เส้นทางเข้าสู่วงการ

เมื่อไม่นานมานี้ มีอีกหนึ่งโครงการของคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คือ BU Come ONE เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยกับช่อง ONE31 นักศึกษาที่ได้รับคัดเลือกจะเข้าไปเรียนรู้และทำงานกับช่อง ONE และได้เรียนรู้จากรุ่นพี่มากความสามารถ “เราสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการนี้อย่างไม่ลังเล เราแนะนำตัว โดยการส่งผลงานแนะนำตัวเป็นบท และงานที่เกี่ยวกับการเขียนบท” สุดท้ายเธอก็ได้ผ่านเข้าไปสู่การหาประสบกาณ์ครั้งใหญ่ที่นั่น

ประสบการณ์จากพี่ ๆ ที่ช่องวัน

เมื่อผ่านการคัดเลือกเข้ามา ช่วงแรกของการทำงานในช่องวัน เนปาลได้เรียนรู้หลายอย่าง จากทั้งผู้บริหารช่องวันและจากพี่หัวหน้าแผนก ทั้งฝ่ายรายการบันเทิง รายการข่าว รวมไปถึงละครโทรทัศน์ ได้เรียนทั้งทางด้านการเขียนบท การทำโปรดักชั่น และเบื้องหลังการตัดต่อ

“เราชอบเรียนที่นี่ ที่เราประทับใจเป็นอย่างมากคือทางช่องวันหรือพี่ ๆ ทุกคน เขาไม่มีการหวงความรู้ เขาบอกเราทุกอย่างที่เราอยากรู้ ที่เราอยากถาม เช่นบทละครหลายเรื่องที่ฮิต เราไม่สามารถไปหาอ่านบทเหล่านั้นที่ไหนได้เลย แต่ที่ช่องเขาให้เราอ่าน”

การทำงานคือการเรียนรู้ โดยจะเป็นการทำงานจริง เพื่อส่งผลมาประเมินเกรดในมหาวิทยาลัย โดยมีพี่ ๆ จากช่องวัน เป็นผู้ประเมินครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัย การทำงานเธอเลือกไว้สองแบบ คือการเขียนบทหนังสั้น และการทำบทละครจากสิ่งที่กำหนดให้ เช่น จากหนังสือหรือจากบทละครเดิมที่ไม่ได้ออกอากาศ

“การเขียนบทมันเป็นหน้าที่เดียว ที่ใช้เวลานาน กว่าที่เราจะเขียนบทออกมาได้ มันเป็นอาชีพที่ต้องมีประสบการณ์อย่างมาก ต้องเก็บสั่งสมไปเรื่อย ๆ อยู่ที่ว่าเรากล้า หรือกระตือรือร้นพอที่จะทำมันหรือไม่”

โลกของการทำงาน

ประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานจริง แตกต่างจากในห้องเรียนที่มีคนคอยประคับคองอยู่ตลอดเวลา เนปาลอธิบายว่า “ในตอนทำงานจริงนั้น เราอยากเป็นคนที่เขาพร้อมจะใช้งาน แต่ในบางครั้งเราก็ยังเป็นเด็กมหาวิทยาลัยอยู่ดี”

อีกทั้งการวางตัวในที่ทำงาน ไม่ใช่มีเพียงเรื่องงาน เธอต้องมีความรับผิดชอบ และการมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนร่วมงานด้วยเป็นเรื่องสำคัญ

ยิ่งไปกว่านั้นการทำงานทำให้เราได้เรียนรู้การฟัง “ถ้าเราไม่ฟังเขา เราก็จะไม่ได้สิ่งที่ดีเพิ่มเติมในงานของเราหรือประสบการณ์ต่าง ๆ แต่ถ้าเราไม่เถียงเขา งานของเราก็อาจไม่ได้ออกมาดี” นี่คือบทสรุปสั้น ๆ ที่เธอได้จากการฝึกงาน เพราะฉะนั้นในการเรียนรู้ ต้องรู้จักฟัง ถาม และถกเถียง

มีผลงานเผยแพร่จริงตั้งแต่ยังเรียน

เนปาล มีผลงานตั้งแต่ยังเรียน ผลงานชิ้นแรกของเธอ เป็นการเริ่มต้นจากการที่เธอได้เขียนบทหนังสั้นให้กับโรงพยาบาลรามาธิบดี ชื่อเรื่องว่า “นาทีฉุกเฉิน” เธอสะท้อนถึงคำว่า ฉุกเฉิน ของทุกคนนั้นแตกต่างกัน  มันเป็นผลงานแรก ที่เธอได้เผยแพร่ในช่องทางออนไลน์ในหน้าเว็บไซต์ของโรงพยาบาลและทาง Youtube ของกรมการแพทย์

ผลงานอีกชิ้น ซึ่งเป็นผลงานใหญ่สำหรับเธอ ก็คือ การเขียนบทภาพยนตร์ประกอบเพลง ให้กับเพลง “อีกนานไหม ของ พี่หนุ่ม กะลา” ซึ่งเป็นงานของค่ายใหญ่ จึงเป็นความท้าทายอย่างมาก เนปาล เล่าว่า เป็นการทำงานรูปแบบใหม่ ที่เธอไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน “ในวันที่ออกกองถ่ายเราคิดถูกมากที่ไปในวันนั้น เราได้เห็นการทำงาน เราได้ประสบการณ์ เราได้เห็นว่าสิ่งที่เราเขียนไปในบางอย่าง มันทำให้คนอื่นนั้นทำงานยากแค่ไหน” แต่ผลงานก็ออกมาได้ดีกว่าที่คาดหวัง เธอรู้สึกดีใจที่ได้ทำ

ทุกวันคือการเรียนรู้ เติมพลังในการใช้ชีวิต

“สุดท้ายตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงตอนนี้ ดีใจมาก ที่ได้รับอะไรดี ๆ หลายอย่าง ตั้งแต่การได้ทุนเข้ามาเรียน จนถึงการได้มาทำงาน เราได้เข้ามาอยู่ในสังคมที่มีแต่ความรู้ ทุกคนทุกอย่างที่เราได้รับนั้นมีแต่สิ่งที่ดีทั้งนั้น เราได้ประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่หลายอย่างเพื่อที่จะนำไปใช้ในอนาคต และเราคิดว่าในอนาคตเราจะยังเดินทางสายนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เราเริ่มวางแผนชีวิตไว้ตั้งแต่ได้เริ่มทำงานกับ BU Come ONE เพราะเราเคยคิดว่าถ้าเราจบไปแบบไม่มีอะไรรองรับเลย เราก็ต้องไปหางานอีกและไม่รู้ว่าเงินเดือนที่ได้จะใช้พอไหม แต่สิ่งที่เราทำตอนนี้ คือ เรายังได้อยู่กับช่องวัน ไปจนเรียนจบ และก็อาจจะอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ” เนปาลบอกเราด้วยรอยยิ้ม

ชีวิตของ “เนปาล” ยังคงดำเนินต่อไป เธอทำให้เราเห็นว่าการอยู่กับปัจจุบัน ทำสิ่งตรงหน้าให้เต็มที่แล้วเราจะไม่มีวันเสียดายสิ่งที่ได้ทำไป “เราไม่เคยเสียดายเลยที่ได้เลือกเส้นทางนี้ เราก็ไม่รู้นะว่าถ้าเราเข้าเรียนแบบเด็กปกติทั่วไปมันจะดีหรือไม่ดี แต่ที่เราทำอยู่ตอนนี้ เรารู้สึกว่าเรามีความสุขกับมันและเราดีใจที่ได้เลือกที่นี่” และนี่คือเส้นทางฝัน การเติบโต เรื่องเล่า และดนตรี ของสาวน้อยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังชีวิต เนปาล จิตรานนท์

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CA005 Art of Storytelling ภาคการศึกษาที่ 1/2 2563

Writer

ถ้าตัวเองนั้นยังไม่รู้จักและเขียนเรื่องของตัวเองออกมาให้ได้ดีซะก่อน ก็จะไม่มีวันเขียนเรื่องราวของคนอื่นออกมาได้ดีเช่นกัน

Writer

คติประจำใจ “ผมหยุดเสียเวลาอธิบายความคิดตัวเอง เพราะผู้คนจะเข้าใจเรื่องที่เขาอยากเข้าใจเท่านั้น” - Keanu Reeves

Writer

คติประจำใจ “อย่าสูญเสียตัวตน เพราะคำพูดของคนที่ไม่รู้จักตัวคุณ”

Photographer

คติประจำใจ “โลกนี้จำไม่ได้หรอกว่าคุณพูดอะไรไป แต่จะไม่ลืมสิ่งที่คุณทำ” - Jack Ma

Photographer

คติประจำใจ “เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนจะขวางกั้นคุณไปหมด พึงระลึกว่า เครื่องบินนั้นบินขึ้นด้วยการบินต้านกระแสลม ไม่ใช่บินตามลม” - Henry Ford

Photographer

คติประจำใจ “ทุกอย่างจะดี ถ้าเราไม่คาดหวัง”