เมื่อการทำงานสร้างสรรค์คือสิ่งที่ช่วยเติมพลังใจให้ชีวิต งานถ่ายภาพสำหรับเธอจึงเป็นแหล่งพลังใจชั้นเยี่ยมที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่า เราขอพามารู้จักกับสาวสวยทายาทเจ้าของธุรกิจชื่อดังของเมืองไทย คุณพลอย-อลิสา ชีวะเกตุ ที่ตอนนี้เธอได้ขึ้นเป็นผู้บริหารในตำแหน่ง Corporate Image & Treasury Manager ของ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หลายคนในแวดวงธุรกิจน่าจะรู้จักคุ้นหน้าคุ้นตาเธอเป็นอย่างดี

คุณพลอยมี Instagram ที่ใช้ชื่อว่า @ployyalisa และ @exhibitcircle โดยเธอได้สร้างสรรค์ผลงานการถ่ายภาพไปด้วย ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงตัดสินใจที่จะจัด นิทรรศการภาพถ่ายออนไลน์ (Online Photo Exhibition) นำเสนอทาง Instagram ในหัวข้อที่สนใจ ซึ่งแต่ละผลงานจะมีการนำมาแสดงผ่านทางไอจีสตอรี่ (Instagram Story) ที่มีเวลาอย่างจำกัดเพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้น

ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับเธออย่างเป็นกันเอง เรื่องราวต่อไปนี้เป็นการเรียบเรียงคำบอกเล่าจากคุณพลอยผู้บริหารธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีความสนใจการถ่ายภาพและงานศิลปะ

นิยามของ Online Exhibition Photo

คุณพลอยบอกเล่าถึงมุมมองการจัดงานนิทรรศว่า การนำเสนอผลงานที่หอศิลป์หรือแกลเลอรี่มีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์กับโซเชียลมีเดียมากขึ้น ทำให้ผลงานได้ใกล้ชิดกับทุกคนได้อย่างกว้างขวาง การที่เราไม่ต้องเดินทางเพื่อไปหอศิลป์หรือหยุดแวะระหว่างทางที่อื่น เราจะสามารถดูผลงานได้ในพื้นที่ของตัวเอง การจัดแสดงงานในลักษณะนี้ตัวระบบมีความคล้ายคลึงกับ VR-Virtual Reality โลกเสมือนจริงที่นำเสนอด้วยดิจิทัลทั้งหมด ส่วน AR-Augmented Reality คือโลกความเป็นจริงที่มีวัตถุจำลอง สิ่งเหล่านี้เป็นเทคโนโลยีใหม่

สำหรับคุณพลอยในฐานะ ‘ผู้จัดนิทรรศการออนไลน์’ มองว่าประสบการณ์ของคนที่ได้พบเจอจะมีความคล้ายคลึงกัน มิติมุมมองก็จะไม่เหมือนกับการที่เราไปยืนดูงานในตัวพิพิธภัณฑ์ที่มีทั้งอุปกรณ์ผลงานที่จับต้องได้ หรือแม้กระทั่งวิดีโอ เพราะข้อจำกัดในการนำผลงานมาแสดงบนพื้นที่โซเชียลมีเดีย สื่อที่เราใช้และพูดถึงคือ ‘อินสตาแกรม’ ที่เราจะแสดงผลงานไว้ใน ‘สตอรี่’ ที่มีขนาดรูปเพียงแค่ 9:16 ทำให้ต้องคิดว่า เราจะจัดการอะไรได้บ้างในขนาดรูปภาพเท่านี้กับเวลาอีก 5 วินาทีต่อเฟรม การสร้างผลงานที่น่าดึงดูดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

The wind still bowl but we need to go

The wind still bowl but we need to go เป็นผลงานคอลเลคชั่นรูปภาพที่เรานั้นเริ่มถ่ายมาตั้งแต่ใช้กล้องฟิล์มครั้งแรก ซึ่งเป็นเวลาผ่านมาน่าจะประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีการนำกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง จากงานนี้เป็นการลองผิดลองถูก จึงเป็นการเลือกผลงานที่ชอบที่สุดของแต่ละช่วงเวลาที่ได้สร้างขึ้นมา ซึ่งผลงานชิ้นนี้แปลออกมาจากบทกลอนของนักกวีที่มีชื่อว่า ‘ซีเรียมแพลต’ มีความหมายเกี่ยวกับอารมณ์ของกลุ่มคนคลั่งรักที่พยายามสื่อออกมาได้อย่างชัดเจน

แคปชั่นที่เราได้เลือกมา ถ้าหากผู้ที่อ่านและทำความเข้าใจกับตัวบทกลอนก็จะสามารถรับรู้ได้ถึงสิ่งที่พยายามจะแสดงออกมาทั้งจากเพลงและภาพประกอบ ไม่ว่าจะเป็นวงออเคสตร้าหรือเปียโนที่ทำให้รู้สึกถึงจังหวะที่เกิดจากภาพ ในตอนแรกเราคิดว่าจะให้ผลงานนี้เป็นไปตามสเต็ปของไอจีสตอรี่ แต่พอถึงตอนสุดท้ายก็รู้สึกได้ว่าผลงานนี้มีความสำคัญเลยอยากนำมาทำให้เป็นเหมือนกับความทรงจำที่ต่อให้ลบไปแล้ว แต่เมื่อเราได้มองย้อนกลับไปอีกครั้งหนึ่งในความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ทุกอย่างจะกลายเป็นภาพย้อนหลัง จึงได้สร้างสตอรี่สุดท้ายพร้อมกับให้แคปชั่นว่า ดูภาพเหล่านั้นแบบย้อนหลังอีกครั้งแล้วคุณจะได้ความชัดเจนจากผลงานมากกว่าการมองจากจุดเริ่มต้น

แรงบันดาลใจในการสร้าง Online Photo Exhibition

คุณพลอยเลือกใช้สื่อใกล้ตัวในการแสดงผลงานของตนเอง การที่เรามีอินสตาแกรมที่เป็นบัญชีไว้รวมภาพถ่ายที่เรานำมาจากการถ่ายงานหรือการถ่ายเล่นปกติ แต่เมื่อถึงวันหนึ่งเราก็คิดว่า เราอยากจะมีนิทรรศการภาพถ่ายเป็นของตัวเอง ด้วยความที่ภาพถ่ายเป็นผลงานที่เราถนัด สามารถสร้างได้อย่างรวดเร็วและค่อนข้างง่ายเมื่อเทียบกับงานจิตรกรรมหรือผลงานที่ต้องใช้ความสามารถในด้านอื่น ๆ ทำให้ตัดสินใจได้ว่าการนำผลงานภาพถ่ายซึ่งเป็นสิ่งที่เรานั้นมีอยู่แล้วมาสร้างคุณค่าให้มากยิ่งขึ้นได้อีก

เราเลือกที่จะทำแบบออนไลน์เนื่องจากในช่วงโควิด ได้ไปเห็นหอศิลป์บางที่ได้ทำการโปรโมทสถานที่ด้วยการถ่ายภาพวาดนำมาลงให้ชมผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี และส่วนตัวได้ให้ความสนใจกับสิ่งนี้ แต่ยังคงรู้สึกว่าแพลตฟอร์มของเว็บไซต์ทำให้ค่อนข้างมีความเป็นส่วนตัวและดูเป็นทางการ เมื่อเรานำไอเดียนั้นมาพัฒนา จึงเลือกอินสตาแกรม ที่มีความเข้าถึงง่ายกว่าเว็บไซต์ สำหรับคนรุ่นใหม่ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันเรื่องราวผ่านสตอรี่หรือการไลฟ์สตรีมอย่างมีชีวิตชีวา เสริมด้วยความพยายามที่จะทำลายเส้นกั้นระหว่างกลุ่มคนทั่วไปกับกลุ่มคนที่ชื่นชอบในผลงานศิลปะ เราอยากให้ศิลปะเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่ายสำหรับทุกคน

ผลงานที่ชื่นชอบ

ผลงานที่ได้แสดงไปเมื่อตอนช่วงต้นปีในเดือนมกราคม ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่ได้นำผลงานนั้นสร้างไว้ในไฮไลท์ ด้วยตัวของผลงานที่ค่อนข้างชัดเจน ด้านหลังของผลงานทั้งหมดจะมีคำอธิบายเหตุผลของการสร้างโปรเจกต์นี้ขึ้นมา โดยมีแรงบันดาลใจมาจากการพบเจอทั้งความรู้สึกของคนรอบตัวที่เป็นเจนเนอเรชั่นวาย (Generation Y) ซึ่งค่อนข้างจะแตกต่างจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาชมผลงาน เป็นความแตกต่างด้านความรู้สึกเหมือนกับว่าการที่ไม่สามารถพูดหรือแสดงความรู้สึกทางสีหน้าท่าทางในสิ่งที่เราต้องการได้อย่างชัดเจน ต้องเป็นสิ่งที่ดีและยอมรับจากผู้ใหญ่เท่านั้น ทำให้ไม่กล้าที่จะพูดหรือแสดงออกไป ไม่เหมือนกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีขีดจำกัดไม่เท่ากับคนวัยทำงาน

การที่ได้ไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศและมีคนรู้จักมากขึ้น ทำให้รู้ว่าสิ่งที่ถูกสอนมานั้นไม่ปกติ จึงได้พยายามถ่ายทอดผลงานนี้ออกมา เริ่มต้นจากการเขียนบทความอารมณ์ทั้งสามด้านเตรียมไว้ให้กับคนที่จะเข้ามาเป็นแบบให้ถ่ายภาพ เพื่อให้เขาสื่ออารมณ์ออกมาผ่านสีหน้าแววตาจากบทความที่เราเขียนไว้ ความท้าทายของผลงานนี้คือแต่ละคนจะแสดงออกมาแตกต่างกันด้วยสถานภาพช่วงวัยและความรู้สึก นี่จึงเป็นผลงานที่ค่อนข้างทุ่มเทมากที่สุด

อย่างไรก็ตามอุปสรรคของคือความไม่มีเวลาให้กับผลงานชิ้นถัดไป อีกเหตุผลหนึ่งคือ ความพยายามที่จะพัฒนาผลงานเริ่มมีความกลัวว่าคนที่เข้ามาดูจะไม่เข้าใจในสิ่งที่ต้องการจะสื่อออกไป แต่ศิลปะก็คือช่องทางหนึ่งในการสื่อสาร ซึ่งต่อให้เป็นสิ่งที่ซับซ้อนจนมากเกินไปทำให้ผู้ชมไม่สามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจน It’s OK not to be understood เราคิดว่าไม่เป็นไรถ้าไม่เข้าใจ

แพลตฟอร์มออนไลน์สตอรี่ Instagram

การสร้างไอจีสตอรี่มีความรู้สึกของการเป็นนิทรรศการมากกว่าโพสต์ เพราะผลงานนี้จะหายไปอย่างรวดเร็วซึ่งทางเดียวที่จะสามารถทำให้คงอยู่ได้คือการนำมาสร้างไฮไลท์ การสร้างสตอรี่มีความคล้ายคลึงกับนิทรรศการแต่ถูกย่อลงมาอยู่ในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง นอกเหนือจากความเข้าถึงง่ายคือความสมเหตุสมผลของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ไม่ว่าจะปล่อยให้วิ่งแบบอัตโนมัติยังสามารถดูได้โดยง่าย การลงในแพลตฟอร์มที่เป็นสตอรี่ไอจีจึงเป็นตัวเลือกที่ดี

ไม่ได้คาดหวังว่าจะมีคนเข้ามาชมผลงานมากนัก แต่ด้วยเพื่อนและกลุ่มคนที่รู้จักค่อนข้างมีชื่อเสียงหลากหลาย ทั้งดีไซเนอร์ อินฟลูเอนเซอร์ นักแสดง หรือนักดนตรีซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ได้ช่วยโปรโมทผ่านทางไอจีสตอรี่เหมือนกัน ส่วนอย่างที่สองคือมีการโปรโมทในทวิตเตอร์ ซึ่งมีผลงานไว้และมีฐานผู้ติดตามค่อนข้างมาก ต่อให้เป็นกลุ่มคนที่แตกต่างจากแพลตฟอร์มอินสตาแกรม แต่นั่นก็เป็นการทำให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น สุดท้ายคือการซื้อโฆษณาซึ่งเป็นเหมือนกับการไปนำเสนอผลงานให้กับคนที่มีความชอบทางด้านสื่ออีกด้วย

ถ้าเป็นผลงานแรก ๆ จะมีการสร้างไฮไลท์เก็บไว้ แต่ในหลังจากนั้นจะปล่อยให้เป็นไปตามเวลาของสตอรี่ ในบางผลงานก็จะมีการสร้างบัญชีหรือสถานที่ให้มีคนมาลงผลงานของตนเอง ส่วนใครที่ต้องการเก็บผลงานเอาไว้หรือเข้ามาชมอีกรอบ สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดคือการจับภาพหน้าจอเก็บไว้ สุดท้ายแล้วการที่เราตัดสินใจทำนิทรรศการออนไลน์ซึ่งเป็นการเลียนแบบนิทรรศการจริง ทางผู้จัดไม่ต้องการให้สิ่งนั้นคงอยู่ตลอดไป

เมื่อจัดเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์แล้ว ผู้ที่สนใจจะมีความตั้งใจที่จะเข้าไปดูมากขึ้น ต่างจากการจัดแบบปกติซึ่งมีกลุ่มคนที่ตั้งใจมาถ่ายรูป ซื้อของหรือมานั่งดื่มกาแฟร้านใดร้านหนึ่ง ทำให้มีความหลากหลายมากกว่า ส่วนอินสตาแกรม กลุ่มคนที่เข้ามาดูไม่ว่าจะเป็นผู้ติดตามหรือโฆษณาในทุกช่องทางคือการรับรู้และตั้งใจเข้ามาดูผลงานของผู้จัด ค่อนข้างแตกต่างกับพฤติกรรมของคนที่ไปชมงานศิลปะแบบปกติ แต่หากต้องการเปรียบเทียบในด้านของพื้นที่นั้นมีข้อแตกต่างอย่างชัดเจน เพราะผู้จัดนั้นใช้วิธีการแสดงรูปภาพผ่านทางจอโทรศัพท์ที่ทุกคนมีอยู่ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่ยากคือทางผู้จัดต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนรู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับภาพจากหน้าจอโทรศัพท์ของเขาเอง

มุมมองที่มีต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะ

ตั้งแต่ช่วงเวลาที่อยู่โรงเรียน ส่วนตัวรู้สึกว่าระยะห่างที่มากเกินไประหว่างศิลปะกับคนรุ่นใหม่ คือการที่ยังคงยึดติดกับความเป็นระบบมากจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด การแต่งกาย ศิลปะการแสดง ซึ่งทำให้ดูเหมือนไม่มีความร่วมสมัย การแสดงออกของคนรุ่นใหม่ที่มีต่องานศิลปะยังไม่ชัดเจน การได้สร้างโปรเจกต์งาน Online Exhibition Photo ทาง Instagram จึงได้ทำการรวบรวมศิลปินที่มีทัศนคติหรือความต้องการในการทำงานศิลปะที่ตรงกันได้มาทำงานร่วมกัน

ไม่ว่าความสนใจทางด้านศิลปะในปัจจุบันจะน้อยลงกว่าที่ผ่านมามากน้อยเพียงใด แต่คุณพลอยอยากให้คนรุ่นใหม่ได้เปิดใจเรียนรู้และซึมซับงานศิลป์ ขออย่ามองข้ามงานศิลปะที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรา เพื่อเป็นกำลังใจให้กับศิลปินทุกคนที่ตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานด้วยความตั้งใจในการพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง เหมือนกับที่คุณพลอยกล่าวไว้ว่า It’s OK not to be understood ไม่เป็นไรถ้าไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจในผลงานของเรา

Reference & Bibliography

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop CJR413,JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์

Writer

It’s ok not to be understood ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจเรา พัฒนาให้มากกว่าวันที่ผ่านมา