คนมักจะตัดสินใจจากภาพที่เห็นว่าเราเป็นแบบไหน อยากให้ลองคุยกันให้มากขึ้น เพราะมันไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคิดไว้ตั้งแต่แรก ทำความรู้จักกับ อีฟ-มาริษา รุ่งโรจน์ เจ้าของเพจ ABOVE THE MARS และผลงานนิทรรศการ THE TEMPORARY OBSERVER ที่ทำด้วยใจรัก
ABOVE THE MARS เพจเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายการเดินทางของ อีฟและเพื่อนสนิท ที่มียอดติดตามกว่าแสนคน ที่ทำให้หลายคนได้เดินทางไปกับเธอ ซึ่งทุกภาพที่ลงไม่ใช่แค่สวยเพียงอย่างเดียว เธอยังคิดมาอย่างดีให้ภาพสามารถบอกเรื่องราวกับคนดู ซึ่งภาพของเธอได้สร้างแรงบันดาลใจให้หลายคนอย่างมากมาย
ล่าสุดเธอได้จัดนิทรรศการเป็นของตัวเองครั้งแรก THE TEMPORARY OBSERVER ที่ THE JAM FACTORY GALLERY ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563-22 มีนาคม 2563
เราอยากแชร์เรื่องราวบอกเล่าตัวตนของเธอให้ลึกมากขึ้นกว่าเดิมผ่านเรื่องราวการเดินทางและผลงานที่หลากหลายของเธอ ทั้งการเป็นคนรักการถ่ายภาพ การชอบเดินทาง และการเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบ
ตัวตนของอีฟในภาพถ่าย
เราชอบภาพถ่ายคลื่น ในนิทรรศการเราจัดแสดงภาพถ่ายคลื่น แล้วเราพลิกภาพให้เป็นแนวนอน คนที่เข้ามานิทรรศการมักจะมองว่ามันเป็นเหมือนกับภูเขาน้ำแข็ง แต่พอเขาเริ่มใช้เวลามองให้นานขึ้นจะรู้ว่ามันเป็นรูปคลื่นทะเล ถ้าถามว่าภาพเปรียบกับตัวเราหรือว่าป็นคำแนะนำจากเราอย่างไร ก่อนที่หลายคนจะรู้จักเรา มักจะคิดว่าเราเป็นในอีกแง่มุมนึง แต่ถ้าเข้ามารู้จักกันให้มากขึ้น อาจจะไม่เหมือนภาพเดิมที่คิดไว้ ซึ่งความจริงก็ยังเป็นความจริง ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนเป็นอะไรได้อีกเหมือนภาพคลื่นที่เราชอบ
เหตุผลการเลือกภาพ
เราจะดูว่าภาพนี้มันจะสามารถทำให้เราเล่าอะไรได้บ้าง ถ้าเกิดว่าบางภาพที่อาจจะสวยงามจบครบสมบูรณ์ในตัวมันแล้ว แต่ว่ามันไม่มีเรื่องอะไรหลังจากนั้น เป็นเพียงแค่ความงามเราก็อาจจะไม่ได้เลือกมันก็ได้ แต่ถ้าภาพนั้นมีเรื่องราวหรือมีอะไรที่อยู่ข้างหลังที่เราได้เชื่อมโยงกับมัน เราก็ยังเชื่อว่าคนอยากจะรู้เรื่องราวหลังจากนั้นอยู่ดี ดังนั้นไม่ว่าจะอะไรมันก็จะเป็นสิ่งที่เราตั้งใจที่จะเล่า ภาพที่เลือกลงไป เราต้องคิดแล้วว่าภาพนี้แหละที่เราจะใช้สื่อสารกับคนที่กำลังดูเพจเราอยู่
ก่อตั้งเพจ ABOVE THE MARS
เราทำเพจเพราะว่าอยากจะแชร์ภาพที่เราถ่าย เพราะเพจเป็นเหมือนพื้นที่ทำให้เราได้เชื่อมโยงกับคนอื่น เพราะว่าเราเป็นคนเงียบมาก และก็รู้สึกว่าการถ่ายภาพมันทำให้เราได้เชื่อมต่อเข้ากับคนอื่นได้ โดยมีงานศิลปะมาเป็นสื่อกลาง คนมักจะเข้ามาถามว่า นี่มันคือที่ไหน เป็นยังไงบ้าง หรือว่าภาพนี้ถ่ายได้อย่างไร แม้กระทั่งรู้สึกอย่างไงกับภาพนี้
เพจเกิดจากการที่เราได้มีพื้นที่ไว้ให้พูดคุยกับผู้อื่น ก่อนหน้านั้นเราเคยคิดว่าการมีเพจก็เป็นเรื่องที่ดี เวลาเดินทางก็เหมือนกับมีช่องทางในการลงภาพถ่ายได้อยู่ตลอดหรือสามารถให้คนอื่นเห็นว่าเราไปทำอะไร แต่ว่าตอนนี้เราคิดว่าการมีเพจมันทำให้เรารู้สึกว่าเรายังมีตัวตนอยู่
พื้นที่แสดงผลงานในรูปแบบนิทรรศการ
ในเพจเราจะทำกันสองคน แต่ถ้านิทรรศการเป็นภาพถ่ายของเราคนเดียว เราเลยทดลองทำนิทรรศการ ซึ่งเราคิดว่าการมีเพจแล้วก็เหมือนเป็นการเชื่อมต่อกับคนอื่น แต่ว่ายังออนไลน์ เหมือนเป็นการทิ้งข้อความไว้อยู่ฝ่ายเดียว คนสามารถทิ้งคอมเมนต์ไว้ให้เรา เราสามารถลงรูปแล้วใส่แคปชั่นไว้ แต่เราไม่ได้มีการตอบโต้กลับกันแบบทันทีหรือว่าเห็นหน้ากัน
บางคนเขาอาจจะทิ้งคอมเมนต์ไว้หลายวันกว่าเราจะได้มาตอบกลับ แต่การทำนิทรรศการเราคิดว่าคือเโอกาสที่ดีมากที่เราจะได้ให้คนมาดูงานของเรา แล้วสามารถที่จะพูดคุยกันได้อย่างทันที เหมือนกับว่าเป็นการสื่อสารสองทาง จึงเป็นเหตุผลหลักที่เราอยากจะจัดงาน และเหตุผลที่สองคือเราอยากให้คนได้มีพื้นที่ในการปล่อยความคิดตัวเองได้เกิดความว่างหรือว่าได้เห็นภาพของเราแล้วรู้สึกว่ามีสถานที่ ที่ทำให้เขาได้มาดูงานศิลปะแล้วสามารถหลบหลีกจากความวุ่นวายเพื่อมาเสพงานศิลปะตรงนี้ได้
นิทรรศการเล่าถึงชีวิตคือเรื่องชั่วคราวและเราเพียงแค่สังเกต
มาจากตัวเราเองที่มองถึงว่าเราเป็น observer แต่เราก็คือว่าเป็น temporary observer แต่ temporary นี้คือ temporary ทุกอย่าง ทุกคนที่เข้ามา observe เราก็เป็นคนที่อยู่บนโลกนี้ชั่วคราวต่อให้ธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ มันยิ่งใหญ่จริง ๆ มันอาจจะอยู่นานกว่านั้น แต่เราต้องรู้ว่าวันนึงมันคงจะเปลี่ยนแปลงไป
ทุกอย่างเป็นเรื่องชั่วคราวและไม่ใช่แค่เรื่องของทางกายภาพ แต่เป็นเรื่องของความนามธรรม เป็นเรื่องของปรัชญาในสิ่งต่าง ๆ เพราะว่าทุกอย่างมันชั่วคราว เวลาที่เราตระหนักได้ว่าทุกอย่างมันเป็นเรื่องชั่วคราว เราก็จะตั้งใจทำตรงนั้นให้มันดี เพราะมันไม่มีอะไรคงอยู่ตลอดไป
ปัจจุบันของอีฟ
เราทำเพจเป็นหลักและทำโปรเจคของตัวเองอยู่เรื่อย ๆ แบบลงทุนเองทำเองไม่ได้มีผลกำไร มีทำรายการสารคดีกับช่อง Thai PBS ซึ่งกำลังจะออนแอร์เดือนหน้า เป็นรายการตีแผ่เรื่องราวเกี่ยวกับ AEC และการศึกษาสิ่งแวดล้อม การศึกษา เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสนใจมาก เป็นอีกช่องทางนึงที่ทำให้เราได้ใช้ภาพถ่ายหรือได้ใช้สิ่งที่เราสนใจทำให้ผู้คนได้รับรู้ถึงปัญหาหรือประเด็นสังคม ก็จะเป็นประเด็นในเรื่องของสังคม แต่ว่าจะเป็น sideline กันไปกับงานศิลปะที่เราทำอยู่
งานศิลปะที่เราทำอยู่เป็นเรื่องของจิตใจ สิ่งที่เราทำมีทั้งแก้ไขปัญหาสังคมที่เป็นวงนอกไป แล้วสิ่งที่เราทำควบคู่กันคือการแก้ไขปัญหาภายในจิตใจ จึงเป็นเหตุผลที่เราพยายามสอบถามความเห็นของคนในเพจว่าเห็นภาพเราแล้วรู้สึกอย่างไร เพราะเราอยากจะดันให้วันนึงมันกลายเป็น art therapy เหมือนกับว่าคุณดูภาพเราแล้วคุณรู้สึกอย่างไร มีคนบอกว่าเขารู้สึกว่าง รู้สึกสงบจากสิ่งต่าง ๆ ที่เขาเจอมา
ถ้าเป็นเพียงแค่นั้น เราคิดว่าก็ประสบความสำเร็จแล้วในทางของเรา แล้วเราคงจะพยายามใช้เวลาตรงนี้ จากการที่เดินทางน้อยลงไปพัฒนาในเรื่องการใช้ศิลปะเพื่อบำบัดผู้คนในปัจจุบันว่าทำงานอย่างไรบ้างให้ออกมาแล้วคนรู้สึกสงบขึ้น และอีกอย่างในการทำรายการสารคดีทำไปเพื่อแก้ปัญหาที่มันเป็นเชิงจับต้องได้
งานอดิเรกของศิลปิน
เราชอบการถ่ายรูป ก็ยังถือว่าเป็นงานอดิเรกอยู่ เพราะว่ามีความสุขทุกครั้งที่ได้ถ่ายรูปหรือเห็นรูปสวยๆ แต่ถ้าที่ทำเยอะในช่วงนี้คงเป็นการหาหนังดูที่มาช่วยเติมอะไรเรา เหมือนเราต้องอ่านหนังสืออยู่ตลอด เพื่อที่จะมีคำศัพท์ในหัว เพื่อที่จะเขียน แต่ว่าการถ่ายรูปหรือการทำงานอะไรพวกนี้ เราต้องเติมอะไรที่เป็นข้อมูลต่าง ๆ อย่างเช่น เซตสีใหม่ ๆ จากหนังสวย ๆ หรือ composition ภาพสวย ๆ เราจะไม่สามารถทำงานออกมาได้ดีขนาดนั้นด้วยความที่ไม่รู้อะไรเลย
สุดท้ายแล้วเราต้องลองผิดลองถูกอยู่ดี แต่ถ้าได้มีทางลัดจากคนที่เขาทำดีมาอยู่แล้วเพิ่มเติมด้วย เรื่องการดูหนังก็สำคัญ เป็นการดูโดยที่ไม่ได้ก้อปเขามา แต่เมื่อเวลาดูหนังมันจะเหมือนเข้ามาอยู่ในกระบวนความคิดของเรา แล้วเราก็จะรู้สึกคุ้นชินกับภาพนั้น เวลาที่ถ่ายภาพครั้งถัดไปจะดีขึ้น มันจะไม่ได้เป็นในเชิงที่คุณชอบช่างภาพคนนึงแล้วคุณไปดูงานเขาตลอดเวลา แต่มันคือการเอามาจากช่างภาพคนเดียว แต่การดูหนังมันมีหลายฉากหลายตอนมากที่คุณเลือกเอามาใช้ได้ คล้ายกับตอนที่เราอยากจะเขียนหนังสือดี ๆ ดังนั้นเราต้องหาหนังสือดี ๆ เพื่อที่จะเก็บคำศัพท์ในหัวก่อน นั้นคือสิ่งที่เราคิดว่าเราชอบทำและก็ได้ผลประโยชน์ต่อเรื่องงานด้วย
ออกเดินทางเรียนรู้โลกกว้าง
ถ้าเรื่องของการใช้ชีวิตจริง ๆ เราชอบของฝั่งอินเดีย เนปาล แต่ถ้ารู้สึกว่ามันดีด้วย ในเชิงที่เราไม่ต้องไปพยายามคิดว่ามันดี คืออินเดียมันเป็นความโหดร้าย และเป็นความดีที่อยู่ได้พักนึง เราก็รู้สึกหายใจไม่ค่อยออก เราก็จะต้องกลับมาอยู่ในสภาพปัจจุบัน แต่เมืองนึงที่เราชอบมากก็คือ เวียนนา มันคนละอย่างกันมาก ๆ แล้วเราก็ไม่เคยได้บอกใครที่ไหนด้วยว่าเราชอบเวียนนา เรารู้สึกว่าเวียนนามันเหมือนกับทุกอย่างมันหยุดไว้ ณ ตรงนั้น
การที่เราชอบเวียนนา อาจะเป็นเพราะเราชอบหนัง Before sunrise ด้วย เราได้ไปตามรอย รู้สึกว่าเวียนนาเป็นเมืองที่ช้า เหมือนกับว่าเรายังสามารถนั่งรถรางได้ ผู้คนใจดี และมีพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่มาก ๆ อย่าง อัลเเบร์ทินา (Albertina) ที่มีงานของโมเมนต์ (Monet) เยอะมาก และมีงาน ของกุสทัฟ คลิมท์ (Gustav Klimt), อีกอน ชีเลอร์ (Egon Schiele) เวียนนาเป็นเมืองที่มีความเป็นศิลปะสูงมากและสวยมาก แต่มีอีกที่ที่เราชอบคือ อาเรส (Arles) ที่เป็นบ้านเกิดของแวนโก๊ะ (Vincent Van Gogh) เพราะคือเมืองที่มีประวัติศาสตร์หรือมีศิลปินที่เราชอบมากเคยอาศัยอยู่ แล้วจะทำให้เราชอบจินตนาการกลับไปว่าตอนนี้เขามีชีวิตอยู่เป็นอย่างไร
จะเห็นว่าอีฟไม่เคยหยุดนิ่ง เธอยังเรียนรู้เพื่อสร้างงานศิลปะอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นด้านทฤษฏีหรือผู้คน การที่เธอทำเพจทำให้เธอมีตัวตนและได้สื่อสารกับคนที่เธอไม่เคยรู้จัก และทำให้เธอเข้าใจความคิดและความรู้สึกของผู้คนหรือแม้แต่คนรอบข้างมากขึ้น สำหรับอีฟการเรียนรู้ไม่มีสิ้นสุดและไม่หยุดพัฒนาตัวเองยังมองหาอะไรใหม่ ๆ ที่ทำให้เธอมีความสุขกับการทำงานพร้อมกับการใช้ชีวิตที่ดี และมีความลึกซึ้งในการมองโลกอย่างมีความหมาย เพราะสุดท้ายเราก็เป็นนักสังเกตการณ์ที่มาใช้ชีวิตอยู่บนโลกเพียงชั่วคราวเท่านั้น
Reference & Bibliography
- อีฟ-มาริษา รุ่งโรจน์ เจ้าของเพจ ABOVE THE MARS และผลงานนิทรรศการ THE TEMPORARY OBSERVER
- ติดตามอีฟได้ที่ FACEBOOK : ABOVE THE MARS, INSTAGRAM EVEMARIS และนิทรรศการ THE TEMPORARY OBSERVER FACBOOK : THE JAM FACTORY BANGKOK
- ขอขอบคุณภาพประกอบ IG @jamechanakarn
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR413, JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์