ในชีวิตเราคงมีครูสักคนในดวงใจที่เปรียบเสมือนเป็นคุณแม่คนที่สอง อาจารย์จรรยา เรียนไธสง หัวหน้าแผนกบริการและสวัสดิการนานาชาติ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ครูผู้ที่นักศึกษาต่างชาติหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเปรียบเสมือน คุณแม่ ของพวกเขาในวันที่ต้องมาอยู่ต่างแดนไกลบ้าน 

เราได้พูดกับ อาจารย์จรรยา ถึงบทบาทหน้าที่การทำงาน และการดูแลนักศึกษาต่างชาติว่ามีรายละเอียดอย่างไร สนุกสนาน หรือประทับใจอะไรบ้าง เรามาติดตามมุมมองการทำงานและการใช้ชีวิตของอาจารย์จากบทสัมภาษณ์นี้ไปพร้อมกัน

เส้นทางชีวิตการเป็นอาจารย์

เราอยากรู้เส้นทางการก้าวเข้ามาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์จรรยาเล่าว่า ตอนแรกที่เลือกมาอยู่ที่นี่ เพราะตอนที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านจิตวิทยา และได้เห็นข้อมูลว่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพกำลังประกาศรับบุคลากร ซึ่งตรงตามสายที่เรียน จึงเลือกที่จะสมัครเข้ามา ปัจจุบันก็เข้าสู่ปีที่ 16 ในการทำงานที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ตำแหน่งคุณแม่ของนักศึกษาต่างชาติ มีที่มาที่ไป เพราะหน้าที่หลักของอาจารย์ คือการดูแลนักศึกษาชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอกสารวีซ่า เอกสารการตอบรับที่นักศึกษาเลือกเข้ามาเรียนที่นี่ รวมถึงบริการด้านต่าง ๆ เช่น การบริการเรื่องรถรับส่งที่บริการให้กับกลุ่มนักศึกษาชาวต่างชาติ รวมถึงการดูแลในเรื่องการทัศนศึกษานอกสถานที่อีกด้วย

ดูแลนักศึกษาเหมือนลูกของตนเอง

อาจารย์ยังเล่าให้เราฟังถึงแนวคิดในการทำงานว่า “ครูจะเน้นเรื่องการตรงต่อเวลา และดูแลนักศึกษาซึ่งคิดเสมอว่า ‘เหมือนลูกของเรา’ และเด็กแต่ละคนมีความหลากหลาย ทำให้เราต้องใช้อดทนสูงเหมือนกัน สำหรับนักศึกษาต่างชาตินั้นเขาจะมีลักษณะหลายอย่างที่เขาก็เหมือนและต่างกับคนไทย ซึ่งบางอย่างทำแล้วอาจจะไม่ถูกใจอาจารย์หรือเพื่อนคนไทย เนื่องจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน บางครั้งมีอาจารย์คนไทยโทรศัพท์มาบอกครูว่านักศึกษาคนนี้ไปทำแบบนั้น แบบนี้ เด็กไม่ชอบอาจารย์ อาจารย์ช่วยสอนหน่อย ทางครูเองก็ต้องบอกทั้งอาจารย์และเด็ก บอกให้อาจารย์เข้าใจเด็กต่างชาติว่าเขาไม่ใช่คนไทย บางเรื่องเขาไม่รู้จริง ๆ”

เราสังเกตเห็นได้ว่างานของอาจารย์จรรยา นอกจากจะมีหน้าที่อบรมสั่งสอนลูกศิษย์แล้ว ยังให้ความสำคัญในเรื่องการทำความเข้าใจ อันสอดคล้องเป้าหมายของอาจารย์ที่อยากจะดูแลนักศึกษาทุกคนให้ดีที่สุด

อุปสรรคในการทำงาน

เมื่อพูดถึงการดูแลนักศึกษาต่างชาติ อาจารย์จรรยาเล่าว่าเจออุปสรรคมากมาย ปัญหาหลักคือ เรื่องภาษา เพราะนักศึกษาต่างชาติหลายคนไม่สามารถใช้ภาษาไทยได้คล่อง จึงใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร แต่ก็มีที่สามารถใช้ภาษาไทยได้คล่อง อย่างนักศึกษาชาวลาว สำหรับนักศึกษาจีนส่วนใหญ่ต้องใช้ภาษาจีนในการพูดคุย อาจารย์ก็มีไปเรียนเพิ่มเติมด้วย” เพราะฉะนั้นการเป็นครูจึงเป็นเรื่องท้าทาย สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการเป็นคนที่หาวิธีจัดการกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้อย่างเป็นระบบ

ทุกงานที่ทำย่อมมีเป้าหมาย อาจารย์จรรยาบอกถึงเป้าหมายของตนเองว่า อยากให้นักศึกษาต่างชาติได้รับบริการที่ดีตามที่คาดหวังไว้ เรื่องที่เขามีปัญหาก็อยากให้มีน้อยที่สุดในความรู้สึกเราคงไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ เอาเป็นว่าให้น้อยที่สุดเท่าที่เราช่วยเขาได้หรือพบปัญหาให้น้อยที่สุด เหมือนกับเขาอยู่ในประเทศของเขาเอง” อาจจะเรียกว่าทำให้ประเทศไทยเหมือนเป็นบ้านหลังที่สองของนักศึกษาต่างชาติ 

ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนของครูกับลูกศิษย์

การต้องทำหน้าที่ดูแลนักศึกษาต่างชาติมากมาย มีเรื่องราวดี ๆ ที่อาจารย์ประทับใจ และได้แบ่งปันให้เราฟังว่า “การดูแลกลุ่มนักศึกษาจีนคือจุดเริ่มต้นของงาน มีนักศึกษาต่างชาติ เป็นนักศึกษาจีนอย่างเดียวรุ่นแรก น่าจะจบไปได้ประมาณ 10 ปี รุ่นนั้นจบไป เขาก็ไปทำงานที่จีน พอเขาแต่งงานก็ส่งการ์ดเชิญมาด้วย ตอนหลังเขามีลูกกันหมดแล้วหรือบ้างคนเป็นผู้จัดการอยู่โรงแรมตามต่างจังหวัด ก็ชวนไปพัก ไปเที่ยว มีการติดต่อกันอยู่เรื่อย ๆ”

สำหรับอาจารย์จรรยานั้น นักศึกษาจีนถือเป็นลูกคนโตที่ใกล้ชิดสนิทสนม อีกทั้งอาจารย์ยังมีความผูกพันกับนักศึกษาจีนเป็นพิเศษ และในปัจจุบันนี้จำนวนของนักศึกษาจีนก็ยังมากที่สุดในมหาวิทยาลัยถ้าเทียบกับนักศึกษาชาติอื่น ๆ

อย่างไรก็ตามการดูแลนักศึกษาต่างชาติก็ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน บางครั้งอาจจะยังดูแลได้ไม่ครบถ้วน อาจารย์จรรยาอธิบายว่า “เราอาจจะอยู่แค่นี้อาจจะดูแลกันไม่ทั่วถึง เพราะจริง ๆ แล้วเด็กไม่ได้ต้องการแค่เรื่องมาขอเอกสาร บางทีในตอนกลางคืนก็มีนักศึกษาโทรมาปรึกษาเรื่องต่าง ๆ และตัวครูเองก็ไม่สามารถรับสายกลางคืนได้ทุกครั้ง” อาจารย์จรรยาอธิบายเหตุผล ประกอบกับความใส่ใจ และกล่าวเพิ่มเติมว่า นักศึกษาต่างชาติยังต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะในการสื่อสารและการใช้ภาษาไทยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะสื่อสารกับผู้อื่นได้

การจากบ้านมาศึกษาในแดนไกลของนักศึกษาต่างชาติ พร้อมกับมีใครสักคนที่คอยเป็นที่ปรึกษาพูดคุยยามมีปัญหาเป็นสิ่งสำคัญ อาจารย์จรรยา เรียนไธสง จึงเหมาะสมกับสมญานามที่นักศึกษาต่างชาติมอบให้คือ คุณแม่คนที่สอง

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411 Newspaper Workshop ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562

Writer

เด็กจีนแท้ ๆ เป็นคนชอบเล่าเรื่องที่มีความสุขให้เพื่อนฟัง อยากให้เพื่อนสนุกพร้อมกับเรา ความสุขอยู่ในชีวิตเรา หาง่าย ๆ ได้ง่าย ๆ สิ่งที่สำคัญคือเราต้องใช้จิตใจเราไปรู้สึกทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น

Writer

บรรณาธิการกองสิ่งแวดล้อมบ้านกล้วย ความสุขเกิดขึ้นง่าย ๆ เพียงแค่ได้เที่ยว ได้ทานของที่ชอบ อยากชวนทุกคนมา สนุก ดูแลสุขภาพ และรักธรรมชาติไปกับพวกเราทีม Green Girls!

Photographer

รองบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์บ้านกล้วยออนไลน์ หลงใหลในการได้พบเจอและฟังเรื่องราวดี ๆ ของคนที่มีพลังงานดี เชื่อว่าพลังงานจากคนรอบตัวเหล่านี้คือวัตถุดิบชั้นดีที่เติมชีวิตให้สนุก