มนุษย์ได้คิดริเริ่มและรู้จักกับ ‘การวิ่งมาราธอน’ มาเป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว โดยจุดเริ่มต้นการแข่งขันวิ่งมาราธอนครั้งแรกนั้น เกิดขึ้นเมื่อปี 1896 ในมหกรรมโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ 

การแข่งขันวิ่งมาราธอนมีระยะทางถึง 42.195 กิโลเมตร โดยในแต่ละปีนั้นจะมีนักวิ่งที่สามารถทำสถิติใหม่เกิดขึ้นในทุกปี เพราะการพัฒนาองค์ความรู้ ความสามารถ วิทยาศาสตร์การกีฬา เทคโนโลยี และปัจจัยอื่นอีกมากมาย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์ ยังไม่เคยมีมนุษย์คนใดที่สามารถวิ่งจบระยะทาง 42 กิโลเมตรด้วยเวลาที่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมงเลยแม้แต่คนเดียว จึงเกิดคำถามขึ้นมาอย่างมากมายว่า หรือนี่จะเป็นขีดจำกัดของมนุษย์ ?

จนมาถึงปี 2019 ‘เอลีอุด คิปโชเก้’ นักวิ่งชาวเคนย่า ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเขาสามารถทำลายขีดจำกัดตรงนั้นลงได้ เมื่อเขาทำสถิติวิ่งมาราธอนได้ในเวลา 1 ชั่วโมง 59 นาที 40 วินาที ในภารกิจที่ชื่อว่า ‘INEOS 1:59 CHALLENGE’ ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

INEOS 1:59 CHALLENGE นี้จัดขึ้นเพื่อทำลายสถิติ 2 ชั่วโมงในการวิ่งมาราธอนโดยเฉพาะ ถึงแม้ว่าการวิ่งในครั้งนี้จะไม่ถูกบันทึกเป็นสถิติโลกอย่างเป็นทางการ เนื่องจากได้มีการใช้ตัวช่วยในการวิ่งมากมาย แต่นับได้ว่าความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นชัยชนะของมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง

ร่วมไขความลับความสำเร็จของมนุษยชาติในการวิ่งมาราธอนครั้งนี้ ไปพร้อมกับ คิปโชเก้ ชาวเคนย่า นักวิ่งมาราธอนที่สร้างตำนานอันยิ่งใหญ่

เอลีอุด คิปโชเก้ แสดงอาการดีใจหลังวิ่งเข้าเส้นชัยในภารกิจ INEOS 1:59 Challenge

ทำความรู้จัก ‘เอลีอุด คิปโชเก้’

‘คิปโชเก้’ เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1984 ที่ Nandhi เมืองทางตอนเหนือของประเทศเคนย่า เขาเติบโตขึ้นมาโดยมีคุณแม่เลี้ยงดูเพียงคนเดียวและได้เห็นหน้าพ่อแค่ในรูปถ่ายเท่านั้น ในวัยเด็กนั้นเขามีความจำเป็นที่จะต้องวิ่งวันละกว่า 3 กิโลเมตร เพื่อไปโรงเรียนในทุกเช้า

จากต้นทุนเดิมของ ครอบครัวคิปโชเก้ มีอาชีพเป็นเกษตรกร ทำไร่ทำนา เขาจึงเป็นเด็กที่ไม่เกรงกลัวต่อการทำงานหนัก อาจจะเป็นเพราะสวรรค์กำหนดมาแล้ว บ้านของคิปโชเก้นั้นอยู่ในละแวกเดียวกับบ้านของ ‘แพททริก ซัง’ ตำนานนักกรีฑาของประเทศเคนย่า ซึ่งแพททริกนี้เองก็คือโค้ชคนแรกของไอ้หนูคิปโชเก้ตั้งแต่อายุได้ 16 ปี และหลังจากนั้นเขาก็ได้เริ่มลงแข่งขันในระดับเยาวชน ไต่ไปจนถึงระดับมืออาชีพ

เอลีอุด คิปโชเก้ นักวิ่งมาราธอนชาวเคนย่า วัย 35 ปี

ในปี 2003 ชื่อของคิปโชเก้ได้รับการพูดถึงและถูกจับตามองเป็นครั้งแรกในแวดวงกรีฑาโลก เมื่อเขาเบียดเอาชนะ 2 นักวิ่งตำนานรุ่นพี่อย่าง Kenenisa Bekele’ และ ‘Hicham El Guerrouj’ ผงาดคว้าแชมป์การแข่งขันกรีฑาระยะทาง 5,000 เมตร ในรายการชิงแชมป์โลกที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งตอนนั้นเขามีอายุเพียงแค่ 18 ปีเศษ ๆ เท่านั้น 

คิปโชเก้ในการแข่งขันชิงแชมป์โลกเมื่อปี 2003

ต่อมาในปี 2012 คิปโชเก้เริ่มผันตัวจากการวิ่งระยะกลาง ลงแข่งขันวิ่งระยะทางไกลเป็นครั้งแรก ในการแข่งขัน ฮาร์ฟ มาราธอน ที่เมืองลีล์ล ประเทศฝรั่งเศส (LILLE HALF MARATHON) โดยในรายการนั้นเขาวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 3 ด้วยเวลา 59 นาที 25 วินาที อีกหนึ่งปีให้หลัง ฤดูกาลที่ 2 ในการวิ่งฮาร์ฟ มาราธอน เขาสามารถคว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จในรายการ ‘บาเซโลน่า ฮาร์ฟ มาราธอน’ ด้วยเวลา 1 ชั่วโมงกับอีก 4 วินาที และหลังจากนั้น เขาจึงมองหาความท้าทายใหม่นั่นก็คือ ‘มาราธอน’ 

‘เอลีอุด คิปโชเก้’ ตัดสินใจลงแข่งขันวิ่งมาราธอนครั้งแรกในรายการ ‘ฮัมบูร์ก มาราธอน’ ที่ประเทศเยอรมันเมื่อเดือนเมษายนปี 2013 โดยการลงวิ่งมาราธอนครั้งแรกในชีวิตนั้นจบที่เวลา 2 ชั่วโมง 5 นาที 20 วินาที และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของตำนาน ปัจจุบันเขาคือนักวิ่งมาราธอนเบอร์ 1 ของโลก ด้วยดีกรีแชมป์โอลิมปิก 1 สมัย แชมป์โลกอีก 1 สมัย และแชมป์รายการวิ่งมาราธอนระดับเมเจอร์อีก 8 รายการ สถิติที่ถูกบันทึกอย่างเป็นทางการ เขาเป็นแชมป์ 12 จาก 13 มาราธอนที่ลงแข่ง อีกทั้งยังเป็นเจ้าของสถิติโลกมาราธอน ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 1 นาที 39 วินาที อยู่ในปัจจุบัน (ซึ่งสถิตินั้นเขาทำไว้เมื่อปี 2018 ในการแข่งขัน ‘เบอร์ลิน มาราธอน’)  ว่ากันว่าปอดและน่องของเขานั้นทำมาจากเหล็ก และก็ไม่มีใครปฏิเสธว่า ‘เอลีอุด คิปโชเก้’ คือหนึ่งในนักวิ่งมาราธอนที่ดีที่สุดเท่าที่โลกนี้เคยมีมา 

ภาพการฝึกซ้อมของคิปโชเก้ในประเทศเคนย่า
เอลีอุด คิปโชเก้ ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2016

ความพยายามครั้งแรกไม่สำเร็จผล

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 ไนกี้ แบรนด์กีฬายักษ์ใหญ่ของโลกได้จัดภารกิจพิเศษขึ้นมาชื่อว่า ‘BREAKING2’ มีเป้าหมายหนึ่งเดียวคือการทำลายกำแพงความสามารถของมนุษย์ นั่นคือการวิ่งมาราธอนให้ได้ต่ำกว่าเวลา 2 ชั่วโมง โดยทางไนกี้ได้คัดเลือกนักวิ่งที่คิดว่าเก่งที่สุดในโลกมา 3 คนเพื่อทำภารกิจนี้ ได้แก่ ‘เซอร์เซเนย์ ทาดิส’ นักวิ่งจากประเทศเอริเทรีย ดีกรีแชมป์บอสตันมาราธอน คนต่อมาคือ ‘เลลิซ่า เดดิซ่า’ นักวิ่งเจ้าของสถิติฮาร์ฟ มาราธอน ดาวรุ่งพุ่งแรงจากเอธิโอเปีย และคนสุดท้าย ‘เอลีอุด คิปโชเก้’ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก ชาวเคนย่า

เลลิซ่า เดดิซ่า (ซ้าย) เซอร์เนย์ ทาดิส (กลาง) เอลีอุด คิปโชเก้ (ขวา)

ทุกคนทราบดีว่าการทำลายสถิติตัวเลข 2 ชั่วโมงนี้ไม่ใช่เรื่องที่มนุษย์จะสามารถทำได้โดยง่าย ดังนั้นนักวิ่งทั้ง 3 คนจึงจำเป็นต้องมี ‘ตัวช่วย’ ไนกี้ได้ผลิตรองเท้ารุ่นพิเศษชื่อว่า ‘Vapor Fly Elite’ ซึ่งใช้นวตกรรมใหม่ล่าสุดในตอนนั้น ส่งผลให้ตัวรองเท้ามีน้ำหนักที่เบา และให้สัมผัสที่นุ่มนวลกว่ารองเท้าปกติทั่วไป

นอกจากนี้ยังมี รถติดนาฬิกาขนาดใหญ่วิ่งนำหน้าเป็นตัวช่วยกำหนดและบอกเวลา รวมไปถึง Pacemakers หรือ นักวิ่งช่วยกำหนดเวลาจำนวน 30 คนวิ่งควบคู่ไปด้วย ทั้ง 30 คนนี้คือนักวิ่งระดับมืออาชีพจากทั่วทุกมุมโลกที่ทางทีมงานคัดเลือกมา โดย Pacemakers จะวิ่งสลับกันชุดละ 6 คนเป็นรูปสามเหลี่ยม เพื่อกำหนดความเร็วให้นักวิ่งหลัก ได้วิ่งตาม และยังทำหน้าที่เป็นตัวช่วยบังลมให้กับนักวิ่งทั้ง 3 คนอีกด้วย

ภารกิจนี้ถูกจัดขึ้นที่สนามแข่งรถฟอร์มูล่าวันในเมืองมอนซ่า ประเทศอิตาลี นักวิ่งทั้ง 3 คนเริ่มต้นวิ่งในเวลา 5.45 นาฬิกา ของวันที่ 6 มีนาคม 2017 ด้วยสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจนัก ระหว่างวิ่งมีฝนตกลงมาปรอย ๆ อย่างต่อเนื่อง อุณหภูมิอยู่ที่ 12 องศาแซลเซียส ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับนักวิ่งมาราธอนเล็กน้อย ผลสุดท้าย ‘เอลีอุด คิปโชเก้’ วิ่งเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 2:00:25 ตามมาด้วย ‘ทาดิส’ 2:06:51 และอันดับที่ 3 ‘เดดิซ่า’ จบที่เวลา 2:14:10 ชั่วโมง  

นักวิ่งทั้งสามคนในระหว่างทำภารกิจ BREAKING2

คิปโชเก้วิ่งช้าไป 25 วินาที อาจเพียงแค่เวลาหลักวินาทีเท่านั้น แต่เป็นเวลาที่ยาวนานพอสมควรในโลกของมาราธอน  หลังจากการวิ่งคิปโชเก้ได้เปิดเผยว่าได้พยายามเต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว กำแพงตัวเลข 2 ชั่วโมงยังไม่ถูกทำลายลง แม้แต่คนที่วิ่งได้เร็วและอึดที่สุดในโลกยังไม่สามารถทำได้ หรือว่านี่จะเป็นขีดจำกัดความสามารถของมนุษย์จริง ๆ 

“นั่นหมายความว่า นี่คือขีดจำกัดของมนุษย์หรือเปล่าครับ ?” นักข่าวยิงคำถามใส่คิปโชเก้ 

“ผมไม่เห็นด้วย” คิปโชเก้ตอบทันที 

“แน่นอนว่าเป้าหมายคือการทำลายกำแพงตัวเลข 2 ชั่วโมง และผมไม่สามารถทำได้ แต่ตอนนี้ ห่างจากตรงนั้นเพียงแค่ 25 วินาที หลายคนเป็นกังวลว่า ถ้ามนุษย์วิ่งมาราธอนได้ในเวลา 2 ชั่วโมง เขาจะต้องตายแน่ ๆ … แต่ผมก็ยังไม่ตาย มันแค่ 25 วินาทีเองนะ มันอาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับผม แต่ผมเชื่อว่าต้องมีมนุษย์คนอื่นทำได้อย่างแน่นอน”

สีหน้าของคิปโชเก้เมื่อเข้าเส้นชัยที่เวลา 2:00:25 ชั่วโมง

ชัยชนะของมวลมนุษยชาติ

ในปี 2019 ความพยายามครั้งที่สองเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยในครั้งนี้มาในภารกิจที่ชื่อว่า ‘INEOS 1:59 CHALLENGE’ จัดขึ้นโดย INEOS บริษัทผลิตสารเคมีชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ซึ่งแน่นอนว่าเป้าหมายเพียงอย่างเดียวของภารกิจนี้คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้มนุษย์วิ่งมาราธอนระยะทางกว่า 42 กิโลเมตรได้เร็วกว่า 2 ชั่วโมง โดยมีสองปัจจัยหลักคือ นักวิ่งที่เก่งที่สุดในโลก และตัวช่วยต้องครบ  

ในปัจจัยข้อแรก แน่นอนว่านักวิ่งคนนั้นคือ ‘เอลีอุด คิปโชเก้’ คนเดิม คิปโชเก้ในวัย 34 ปี ณ เวลานั้นอยู่ในช่วงจุดสูงสุดของอาชีพ ร่างกายของเขาพร้อมที่สุด พร้อมมากกว่าภารกิจ BREAKING2 เมื่อ 2 ปีก่อนด้วยซ้ำ และอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือ ‘ตัวช่วย’

คิปโชเก้ฝึกซ้อมก่อนภารกิจ INEOS 1:59 Challenge

ภารกิจครั้งนี้ฝ่ายจัดการแข่งขันเลือกเมืองเวียนนา ประเทศออสเตรียเป็นสถานที่ในการวิ่ง ซึ่งเหตุผลที่เลือกสถานที่แห่งนี้เนื่องจากประเทศออสเตรียมีเวลาใกล้เคียงกับเมือง Kaptagat ประเทศเคนย่า เมืองที่คิปโชเก้ฝึกซ้อม นั่นหมายความว่าสามารถตัดปัญหาเรื่องอาการเจ็ทแล็ค คิปโชเก้ไม่ต้องปรับตัวมากในเรื่องของเวลาเมื่อเดินทางมาถึงวันวิ่งจริง และในครั้งนี้เปลี่ยนจากการวิ่งในสนามแข่งรถ มาวิ่งบนถนน ซึ่ง 90 เปอร์เซนต์ ของเส้นทางวิ่งนั้นเป็นเส้นทางตรง มีความลาดชันเพียง 0.006 เปอร์เซนต์เท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นการเลือกสถานที่อย่างรอบคอบสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะสามารถหาได้ และฝ่ายจัดการแข่งขันได้อนุญาตให้ผู้ชมสามารถเข้ามาร่วมเป็นสักขีพยานในการทำภารกิจครั้งนี้ด้วย เนื่องจากผลการวิจัยชี้ชัดว่าการที่มีเสียงเชียร์จากผู้คนตลอดเส้นทาง จะทำให้นักวิ่งมีกำลังใจ และมีแรงฮึดสู้ในการวิ่งมากขึ้น

‘Pacemakers’ หรือ กลุ่มนักวิ่งช่วยกำหนดเวลา เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญ ภารกิจครั้งนี้ INEOS ได้คัดเลือกนักวิ่งระดับมืออาชีพจากทั่วโลกมาเป็นจำนวนทั้งหมด 41 คน แบ่งเป็นตัวจริง 35 คน และตัวสำรองอีก 7 คน เพื่อมาวิ่งร่วมกับคิปโชเก้

นักวิ่งประกบหรือ Pacemakers นี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทำหน้าที่ในการกำหนดความเร็วในการวิ่งให้คิปโชเก้วิ่งตาม และเป็นการบังทิศทางลมตามหลักอากาศพลศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลให้คิปโชเก้นั้นใช้พลังงานวิ่งได้น้อยลง

โดย Pacemakers ทั้ง 41 คนนี้จะแบ่งเป็นชุดวิ่งสลับกันชุดละ 7 คน ในระยะทาง 4.3 กิโลเมตรสลับกันไปเรื่อย ๆ จนจบ ตำแหน่งการวิ่งของ Pacer นั้นก็สำคัญมาก พวกเขาจะวิ่งเป็นรูปตัว K ต่างจากภารกิจในครั้งก่อนที่ Pacer จะวิ่งเป็น 3 เหลี่ยมรูปเพชร

นอกเหนือจากนี้อีกหนึ่งตัวช่วยที่ถูกนำมาใช้นั่นก็คือ ‘รถเลเซอร์นำทาง’ ทำหน้าที่ยิงแสงเลเซอร์ลงบนพื้นเพื่อช่วยกำหนดเวลาการวิ่งให้นักวิ่ง และเป็นตัวช่วยกำหนดระยะห่างระหว่าง Pacemakers และนักวิ่ง ตลอดเส้นทางนั้นจะมีทีมงานปั่นจักรยานตาม ทำหน้าที่คอยให้น้ำ และเกลือแร่กับคิปโชเก้ เพื่อที่จะได้ไม่เสียเวลาหยุดรับน้ำระหว่างทาง และไม่เสียจังหวะในการวิ่ง

เอลีอุด คิปโชเก้ ร่วมเฟรมกับ Pacemakers ทั้ง 41 คน

2 ตุลาคม 2019 คือวันประวัติศาสตร์ที่ทั้งโลกตั้งตารอคอย ฝ่ายจัดการแข่งขันกำหนดวันและเวลาวิ่งมาเป็นอย่างดี อุณหภูมิในวันนั้นอยู่ที่ราว ๆ 9 องศาเซลเซียส ท้องฟ้าเปิด อากาศแจ่มใส ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สมบูรณ์แบบมากสำหรับการวิ่งมาราธอน เอลีอุด คิปโชเก้ และกลุ่ม Pacemakers จำนวน 7 คน ได้เริ่มต้นวิ่งในเวลา 8.15 นาฬิกา พร้อมกับเสียงตะโกนให้กำลังใจจากผู้ชมสองข้างทาง การวิ่งในครั้งนี้ได้รับการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ให้ทุกคนร่วมเป็นสักขีพยาน 

ประวัติศาสตร์กำลังจะถูกจารึกในอีก 2 ชั่วโมงข้างหน้า

เวลาผ่านไป 1 ชั่วโมง 55 นาที เหลือระยะทางอีกประมาณ 2 กิโลเมตรก่อนถึงเส้นชัย ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ คิปโชเก้มีรอยยิ้มออกมาเป็นครั้งแรก สีหน้าของเขาดูผ่อนคลายขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผู้ชมทั้งสองข้างทางส่งเสียงตะโกนดังขึ้นพร้อมกับทุบป้ายโฆษณาที่กั้นไว้เป็นจังหวะ สีหน้าของทีมงานทุกคนเริ่มมีรอยยิ้ม ภารกิจกำลังจะสำเร็จแล้ว 

นาฬิกาบอกเวลา 1 ชั่วโมง 58 นาที เส้นชัยปรากฏอยู่ตรงหน้า กลุ่มนักวิ่ง pacmakers วิ่งฉีกออกสองข้างเพื่อให้คิปโชเก้วิ่งนำหน้าขึ้นไป คิปโชเก้วิ่งเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 1 ชั่วโมง 59 นาที 40 วินาที เขาทำสำเร็จ ‘เอลีอุด คิปโชเก้’ เป็นมนุษย์คนแรกบนโลกที่วิ่งมาราธอนได้ในเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง 

ถึงแม้ว่าสถิตินี้จะไม่ได้ถูกบันทึกเป็นสถิติโลกของการวิ่งมาราธอนอย่างเป็นทางการ เนื่องจากการวิ่งครั้งนี้ไม่ใช่การแข่งขันที่รองรับโดยสหพันธ์กรีฑานานาชาติ และมีการใช้ตัวช่วยในการวิ่งมากมาย แต่สิ่งที่คิปโชเก้ได้ทำในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นสถิติที่ทั้งโลกให้การยอมรับ เป็นการทำายขีดความสามารถของมนุษย์และเป็นชัยชนะของมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง ดั่งคำพูดประจำตัวของคิปโชเก้ที่ว่า “ไม่มีขีดจำกัดสำหรับมนุษย์”

วินาทีที่เอลีอุด คิปโชเก้สร้างประวัติศาสตร์

“ตอนนี้ผมเหนื่อยมากเลยครับ” คิปโชเก้ให้สัมภาษณ์หลังวิ่งเสร็จ 

“แต่ผมคิดว่าผมคือคนที่มีความสุขที่สุดในโลก ที่วิ่งมาราธอนได้ในเวลา 2 ชั่วโมง ในขณะเดียวกัน นี่เปรียบเสมือนเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก ว่าไม่มีขีดจำกัดใด ๆ สำหรับมนุษย์ทั้งนั้น คุณสามารถทำได้ ถ้าคุณมีความเชื่อในบางสิ่งบางอย่างมากพอ ทุ่มเทหัวใจและจิตวิญญาณ แล้วมันจะเห็นผลแน่นอน”

ได้เวลาฉลอง!

ไขความลับตัวเลข 1:59 ผ่านมุมมองของ ‘บุญถึง’ แชมป์มาราธอนประเทศไทย

เราพูดคุยกับ บุญถึง ศรีสังข์ ปอดเหล็กทีมชาติไทยวัย ดีกรีแชมป์มาราธอนคนไทย ในรายการบุรีรัมย์มาราธอน 3 สมัยติดต่อกัน ในปี 2017, 2018 และ 2019 เวลาการวิ่งมาราธอนที่เร็วที่สุด ที่ได้รับการบันทึกอย่างเป็นทางการของพี่บุญถึงคือ 2 ชั่วโมง 23 นาที

นอกจากนี้ พี่บุญถึงยังเคยผ่านการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ เมื่อปี 2016 ที่เมืองรีโอเดจาเนโร (Rio de Janeiro) ประเทศบราซิล โดยการแข่งขันครั้งนั้น เขาวิ่งจบมาราธอนในอันดับที่ 133 ของโลก ซึ่งตำแหน่งแชมป์ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ‘เอลีอุด คิปโชเก้’ จากเคนย่านั่นเอง

บุญถึง ศรีสังข์ คว้าแชมป์คนไทยในรายการบุรีรัมย์มาราธอน 2019

พี่บุญถึงได้เปิดเผยว่า การวิ่งมาราธอนนั้นไม่ใช่การวิ่งเพื่อสุขภาพโดยสิ้นเชิง โดยปกติแล้ว นักวิ่งจะต้องใช้เวลาฝึกซ้อม 3-5 เดือน เพื่อการแข่งขันวิ่งมาราธอน 1 ครั้ง และหลังจากจบการแข่งขันนั้นต้องใช้เวลาพักฟื้นร่างกายอยู่พอสมควร เพราะระยะทาง 42 กิโลเมตร เป็นระยะทางที่ไกลมาก แต่สำหรับนักวิ่งมืออาชีพแล้ว ถ้าหากมีการเตรียมความพร้อมที่ดี การวิ่งจบมาราธอน 1 ครั้ง ไม่ถือว่ายากเย็นจนเกินไปนัก โดยการฝึกซ้อมไม่ได้วิ่งเต็มระยะในทุกครั้ง ซึ่งคิดโดยเฉลี่ยแล้วจะวิ่งสัปดาห์ละประมาณ 180-200 กิโลเมตร

บุญถึง ศรีสังข์ ในโอลิมปิกเกมส์ 2016
เอลีอุด คิปโชเก้ ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2016

เมื่อลงสนามแข่งขันจริง นอกเหนือไปจากความเหนื่อยล้าต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ตัวนักวิ่งเองต้องคิดวางแผนอยู่ตลอดเวลา พี่บุญถึงเล่าว่า ตลอดระยะทางเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ‘การวางแผน’ ทั้งสิ้น วางแผนในเรื่องของความเร็วในการวิ่ง วางแผนเรื่องของจังหวะการรับน้ำ สำรวจพลังงานที่หลงเหลืออยู่ในร่างกาย วางแผนการรับเกลือแร่ รวมไปถึงการวางแผนในเรื่องของคู่แข่ง ซึ่งข้อนี้เองเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้คิปโชเก้วิ่งได้เร็วกว่าปกติในภารกิจนั้น เพราะตลอดเส้นทาง คิปโชเก้แทบไม่ต้องวางแผน หรือคิดสิ่งใดเลย เนื่องจากมีทีมงานที่วางแผนมาให้ไว้หมดแล้ว สิ่งที่เขาต้องทำคือเตรียม ‘ตนเอง’ ให้พร้อมที่สุด และวิ่งอยู่ในความเร็วที่กำหนดไว้ให้ได้ตลอดเส้นทาง 

ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่คิปโชเก้ทำนั้นเป็นเรื่องที่ง่าย ในมุมมองของพี่บุญถึง ‘ตัวเอง’ คือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการวิ่งมาราธอน การเตรียมความพร้อมให้ร่างกายสมบูรณ์ที่สุดในวันแข่งต้องอาศัยทั้งวินัย ทัศนคติ ความรู้เรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬา การฝึกซ้อม การพักผ่อน ทุกอย่างต้องลงตัวและต้องปฏิบัติไปพร้อมกัน 

‘ตัวช่วย’ ที่คิปโชเก้มีนั้นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ เขามีทั้ง Pacemakers ที่คอยช่วยวิ่งกำหนดเวลาและบังลม มีรถเลเซอร์ มีทีมงานคอยให้น้ำโดยไม่เสียจังหวะในการวิ่ง ตัวช่วยเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมาก และอาจส่งผลต่อการวิ่งถึง 10 เปอร์เซนต์

ในมุมมองของพี่บุญถึง แต่ก่อนที่เราจะพูดถึงปัจจัยของตัวช่วยนั้น ปัจจัยข้อแรกที่สำคัญกว่านั่นก็คือ ‘นักวิ่งต้องเก่ง’ ซึ่งแชมป์ประเทศไทยอย่างพี่บุญถึงก็ไม่ปฏิเสธว่า คิปโชเก้ คือหมายเลข 1 ของโลกอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถทำลายกำแพงนี้ลงมาได้ 

การทำงานของรถเลเซอร์ และ แผนผังการวิ่งของ Pacemakers
ชัยชนะของมวลมนุษยชาติ

“กำแพง คำว่ากำแพง คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ดังนั้นจึงเป็นไปได้ถ้าเราจะสามารถทำลายสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเอง”

“ตัวเลข 2 ชั่วโมงนี้ก็คือสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาเอง ดังนั้นพี่เชื่อว่ามันจะต้องมีคนที่สามารถทำลายสถิตินี้ได้อยู่แล้วแน่นอน แต่ในคราวนี้มันเกิดขึ้นกับเอลีอุด คิปโชเก้ ทั้งการเตรียมความพร้อมของเขา การวางแผน บวกเข้ากับตัวช่วยที่ครบ ทุกอย่างมันต้องสมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซนต์ และเขาก็ทำสำเร็จ นี่จึงถือได้ว่าเป็นการทำลายขีดจำกัดของมนุษย์ ที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมาเอง” บุญถึง ศรีสังข์ กล่าว

ถึงในตอนนี้ กำแพงตำเลข 2 ชั่วโมงจะถูกทำลายลงเป็นที่เรียบร้อย ในขณะเดียวกัน คิปโชเก้ ก็ได้สร้างกำแพงใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม นั่นก็คือ กำแพงตัวเลข 1:59:40 และเชื่อเหลือเกินว่าในอนาคต จะต้องมีมนุษย์คนอื่นที่สามารถทำลายกำแพงตัวเลขนี้ลงได้อีกครั้ง แต่บทสรุปของภารกิจการวิ่งมาราธอนของคิปโชเก้ในครั้งนี้

กำแพงขีดจำกัด  0-1 มนุษย์

Reference & Bibliography

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411 Newspaper Workshop ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562

Writer

พีจูดาส ผู้ที่มีทุกอย่างยกเว้นเวลานอน

Writer

หัวหน้าฝ่าย Video Editor ของบ้านกล้วย ชอบการตัดต่อและสร้างสรรค์ผลงานผ่านวีดิโอเพื่อให้คนดูรู้สึกสนุกและได้ความรู้ไปพร้อมกัน ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา มีสไตล์การตัดต่อกับวิธีการเล่าเรื่องที่ไม่เหมือนใครและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง